xs
xsm
sm
md
lg

โทรทัศน์กับการเมืองภาคประชาชน

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ก็ตามความคาดหมาย สถานีโทรทัศน์ต่างๆ บรรดามีต่างก็นำเสนอเรื่องราวของขบวนการกู้ชาติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธุ์แบบกะปริดกะปรอยอย่างเสียมิได้กันทั้งสิ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อเอาอกเอาใจรัฐบาลอย่างทื่อๆ โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ทางวิชาชีพข่าวของตนเลย

ซ้ำร้าย ในบางกรณีถึงกับมีการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงง่ายๆ เช่นเกี่ยวกับจำนวนคนที่เข้าร่วม โดยไม่มีการรายงานสดในช่วงที่มีคนเข้าร่วมมากๆ เป็นต้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึง iTv ซึ่งได้แต่งตั้งตนเองเป็นประชาสัมพันธ์ประจำตัวนายกรัฐมนตรี ด้วยการเดินทางติดตามบุคคลดังกล่าวไปทุกหนทุกแห่งในภาคเหนือในวันที่ 4 กุมภาพันธุ์ในลักษณะที่เห็นได้ชัดว่าเป็นยุทธการตอบโต้เพื่อช่วงชิงพื้นที่ข่าว แล้ว iTv ก็นำเสนอรายงานเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ สารพัดประเภท "คนเมืองฮักกัน" เพื่อต่อสู้รบกับ "คนง่าว" แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง เพื่อกลบเกลื่อนเหตุการณ์ที่พระบรมรูปทรงม้า

จะยกเว้นก็แต่ ASTV และ Nation Channel เท่านั้นที่ได้เกาะติดสถานการณ์ โดยนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทว่าความที่สัญญาณของโทรทัศน์ทั้งสองแห่งนี้มีข้อจำกัดทางเทคนิคอย่างสำคัญ อีกทั้งในกรณีของ ASTV นั้นยังโดนกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมาเป็นเวลาหลายเดือน ลงท้ายแล้ว จำนวนคนดูทั้งหมดจึงคงไม่มากนัก

สำหรับนักข่าวโทรทัศน์ต่างประเทศที่ได้เดินทางมาทำข่าวนี้ไม่ใช่น้อยๆ ด้วยนั้น ความที่นักข่าวกลุ่มนี้มักจะเข้ามาทำงานแบบด่วนๆ รายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในข่าวจริงๆ คงจะค่อนข้างคลาดเคลื่อน เพราะบ่อยๆ นักข่าวพวกนี้มักจะมีความรู้เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยไม่เพียงพอที่จะประเมินคุณค่าและนำหนักของข่าวที่มีความสลับซับซ้อนขนาดนี้

"อคติ" ของระบบโทรทัศน์ดูฟรีอย่างช่อง 3 5 7 9 11 และ iTv ต่อเหตุการณ์ 4 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย เพราะนี่คือการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งในวัฒนธรรมการเมืองไทยมักจะถือว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทว่า "อคติ" ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ทว่ามีรากเหง้ามาจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน

ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว โทรทัศน์ได้ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับการเมืองภาคประชาชนมาโดยตลอด ทั้งในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และไม่ว่าจะมีความพยายามที่จะปฏิรูปโทรทัศน์กันทีไร ก็มักจะมีอันเป็นไปเสียทุกครั้ง ทั้งนี้ ก็เพราะผลประโยชน์มากมายที่มากับโทรทัศน์นั้นไม่เคยอนุญาตให้การปฏิรูปที่แท้จริงเกิดขึ้นได้สักที

มิหนำซ้ำ มาบัดนี้ สถานการณ์ประเภทความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก ก็เกิดขึ้น การปฏิรูปโทรทัศน์ในอนาคตก็จะกลายเป็นงานที่สลับซับซ้อนขึ้น ทั้งนี้ ก็เพราะสมบัติของการเมืองภาคประชาชนอย่าง iTv ได้ถูกโจรกรรมถึงสองชั้น นั่นก็คือ ครั้งแรกเมื่อถูกแปรสภาพให้กลายเป็นของบรรษัทของนายกรัฐมนตรี และอีกครั้งหนึ่งเมื่อบรรษัทที่ว่านั้นได้นำไปงุบงิบขายจนกลายเป็นสมบัติของรัฐบาลสิงคโปร์ไปเสียแล้ว เรื่องราวอันพิลึกกึกกือขนาดนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นในยุคใดได้นอกจากในยุคนี้

กระนั้นก็ตาม iTv เป็นเสมือนสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความเสียสละชีวิตของคนจำนวนมากในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ฉะนั้น ผู้รู้ทั้งหลายคงไม่มีใครยอมให้สิงคโปร์มาชุบมือเปิบไปได้ง่ายๆ ดอก แม้กระทั่ง Shin Corp ก็เถอะ ลงท้ายแล้ว น่าจะกลายเป็นประเด็นที่กระตุ้นให้เกิดกระแสชาตินิยมใหม่ในเมืองไทยในลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในขณะที่เราคงจะต้องรอดูว่าอนาคตของ iTv จะเป็นอย่างไรต่อไป ในตอนนี้ เราควรจะทำความเข้าใจที่มาที่ไปของโทรทัศน์ไทยให้ชัดเจนขึ้นไปพลางๆ ก่อน

นับตั้งแต่กำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2498 นั่นก็คือกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ด้วยความริเริ่มของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดูเหมือนว่าโทรทัศน์จะแปรสภาพจาก "ของเล่น" ของชนชั้นสูงที่กระจุกอยู่ในเมืองหลวง จนกระทั่งกลายเป็นอะไรที่มีอิทธิฤทธิ์เหนือบรรดามวลชนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหงได้กว้างขวางอย่างไม่น่าเชื่อ ตกถึงวันนี้ โทรทัศน์ก็คือ กลไกอันขาดไม่ได้สำหรับขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจการเมืองตามแรงกดดันของอุดมการณ์กระแสหลักของสังคมในแต่ละยุค

เนื่องจากมนต์สะกดของโทรทัศน์ที่มากับเทคโนโลยีสูงขึ้นเรื่อยๆ และความแพร่หลายที่เกิดขึ้นจากภาวะที่ราคาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ถูกลงตลอดเวลา จนกระทั่งเกือบจะเรียกได้ว่าใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของโทรทัศน์ส่วนตัวได้ ว่ากันว่าในเวลานี้เมืองไทยมีเครื่องรับโทรทัศน์จำนวนมากกว่า 15 ล้านเครื่องตั้งอยู่ในแทบทุกครัวเรือนของประเทศ ความที่เมืองไทยมีประชากรหกสิบกว่าล้านคน นี่หมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ในทุกๆ 4 คนจะมีโทรทัศน์ 1 เครื่อง ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงโทรทัศน์เคลื่อนที่สำหรับติดรถยนต์ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

ความที่การถือครองโทรทัศน์ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน การคิดตามนับจำนวนจึงกระทำได้ยาก ทว่าแนวโน้มก็คืออัตราการถือครองต่อประชากรมีศักยภาพที่จะพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะขนาดของครัวเรือนจะเล็กลงและลัทธิปัจเจกชนนิยมจะมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ความฝันของนักการตลาดและนักการเมืองในยุคปัจจุบันก็คือ การเป็นผู้จัดการธุรกิจโทรทัศน์ ในส่วนหนึ่งก็เพราะโอกาสในการพัฒนาตลาดของโทรทัศน์ยังสามารถขยายตัวไปได้อีกนานทั้งในแง่ของจำนวนเวลาในการถ่ายทอด รวมทั้งในเชิงปริมาณและประเภทคนดู เช่น หากอยากจะเพิ่มขนาดตลาด ก็กด "ระดับวัฒนธรรม" ของโทรทัศน์ลงไปเรื่อยๆ เพื่อเอาใจมวลชนที่ยังเข้าไม่ถึง หรือหากอยากจะเจาะตลาดเฉพาะจุด ก็ผลิตรายการที่มุ่งเอาใจกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ เป็นการเฉพาะไปเลย เป็นต้น

เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงผู้คนเป็นจำนวนมากๆ นี้เอง ทำให้โทรทัศน์ได้เปรียบสื่อประเภทอื่นๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำหรับการการโฆษณาทางการพาณิชย์ เกือบตลอดเวลาที่โทรทัศน์ปรากฏตัวขึ้น (นอกจากในช่วงแรกๆ ของการก่อตั้งที่เครื่องรับโทรทัศน์มีอยู่ในประเทศไม่มากนัก) กล่าวได้ว่าโทรทัศน์คือสื่อที่สามารถแก่งแย่งรายได้จากงบประมาณการโฆษณาทางการพาณิชย์ต่างๆ เป็นอันดับหนึ่งเสมอ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงโอกาสการพัฒนาสื่อประเภทอื่นๆ อย่างลึกซึ้ง

ในขณะที่ในทศวรรษที่ 1970 โทรทัศน์มีรายได้ประเภทนี้อยู่ในระดับเพียงพันล้านบาทต่อปี ในปัจจุบัน รายได้ประเภทนี้ของโทรทัศน์มีนับได้นับได้เป็นหมื่นๆ ล้านบาทต่อปี ทว่าคุณภาพของรายการต่างๆ ที่ผลิตขึ้นมาโดยผู้ผลิตรายการเพียงไม่กี่เจ้าภายใต้ระบบทุนนิยมแบบอุปถัมภ์ที่ไม่รู้จักการแสวงหาความเป็นเลิศใดๆ ทั้งสิ้น ทว่ากลับเต็มไปด้วยความมักง่ายและความซ้ำซาก ในแต่ละวัน คนดูโทรทัศน์มากมายหลายช่องจะเห็นหน้าคนทำรายการเพียงไม่กี่คนเดินสายหมุนเวียนไปๆ มาๆ ในทำนองแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ โดยแต่ละคนจะเดินสายไปทำรายการประเภทเดียวกันหรือคล้ายๆ กันจากช่องนั้นไปช่องนี้แบบผ่านๆ ลวกๆ

ทั้งนี้ โดยไม่มีความพยายามอย่างเป็นระบบใดๆ ในการขยายระบบการผลิตให้ใหญ่และหลากหลายขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันในการสร้างคุณภาพอย่างแท้จริงใดๆ ฉะนั้น หากจะมีรายการโทรทัศน์สักสี่หรือห้ารายการ ที่พอจะจัดได้ว่าพอจะมีคุณค่าบางด้านถึงขั้นดีมากหรือดีอยู่บ้าง ก็เป็นผลที่เกิดจากความตั้งใจของผู้ผลิตรายการนั้นๆ ล้วนๆ

ด้วยอำนาจในการเข้าถึงตลาดและการผลิตรายได้เช่นนี้เอง ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาหน่วยงานของรัฐจึงต่างพากันแย่งชิงการถือครองโทรทัศน์เอาไว้ในมือของตนในนามของอะไรต่างๆ และในช่วงที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีบทบังคับให้ปฏิรูปโทรทัศน์โดยคณะกรรมการอิสระฯ การก่อตั้งคณะกรรมการนี้จึงถูกแทรกแซงโดยกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เป็นเวลาหลายปีอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด จนกระทั่งศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เป็นโฆษะ จักต้องเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่ทั้งหมด ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว

ความที่โทรทัศน์เป็นศูนย์รวมของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองจำนวนมหาศาล ทั้งนี้โดยมีอำนาจในการกำหนดทิศทางวัฒนธรรมสารพัดชนิดพ่วงมาอีกต่างหาก อาทิ ในแง่ของการกำหนดมาตรฐานในการบริโภคและวิสัยทัศน์ทางการเมือง ตัวอย่างเช่น หากเพียงโทรทัศน์ทั้งระบบจงใจให้ความสำคัญกับเรื่องราวบางประเภทเป็นพิเศษ หรือในทางตรงกันข้าม ละเลยหรือบิดเบือนเรื่องราวอีกบางประเภท เพียงเท่านี้ โทรทัศน์ก็สามารถพาสังคมเข้ารกเข้าพงได้แล้ว

ด้วยอำนาจในการกำหนดความรู้สึกนึกคิดของคนดูโทรทัศน์เช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนดูโทรทัศน์ที่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ผลการสำรวจประชามติต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองไทยจึงมีอะไรโง่ๆ ให้เราได้รับรู้กันอยู่อย่างไม่เคยขาด

พูดง่ายๆ หากเราอยากจะได้เมืองไทยชนิดใด เราก็ต้องวางระบบจัดการให้โทรทัศน์ทั้งระบบทำหน้าที่จนก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างนั้นให้ได้ ไม่เช่นนั้น โทรทัศน์ก็จะกลายเป็นพลังที่คอยขัดขวางวัตถุประสงค์ใดๆ ก็ตามที่ขัดกับสิ่งที่มากับโทรทัศน์

ปริศนาที่น่าพิศวงก็คือ ทำไมโทรทัศน์จึงเป็นปฏิปักษ์กับการเมืองภาคประชาชนมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เมืองไทยเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองแต่ละครั้ง โทรทัศน์จะวางตัวเป็นฝ่ายของรัฐและทุนเสมอ ทั้งนี้ อาจจะกระทำแบบซื่อๆ ตรงไปตรงมาเช่นในทศวรรษที่ 1970 และ 1990 หรือกระทำแบบแอบๆ ซ่อนๆ โดยมีการวางแผนเอาไว้ก่อนล่วงหน้าเช่นในกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ และน่าจะเป็นในวันพรุ่งนี้คือวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ด้วย

ในประการแรก โทรทัศน์มี "อคติ" ต่อการเมืองภาคประชาชนก็เพราะในแง่ของการถือครองกรรมสิทธิ์ สัมปทาน หรือที่มาของผู้บริหาร รัฐบาลยังคงเป็นใหญ่อยู่อย่างสมบูรณ์แบบ และเนื่องจากรัฐบาลแบบไทยๆ มักจะนิยมความคิดล้าหลัง ทั้งนี้ ด้วยความเข้าใจว่าการปิดหูปิดตาประชาชนคือสิทธิของตน มิหนำซ้ำ ถือว่าเป็นความเฉลียวฉลาด ฉะนั้น ผู้จัดการที่ได้รับการคัดเลือกมาบริหารกิจการโทรทัศน์จึงมักจะยอมอนุโลมตามอย่างเซื่องๆ เพื่อความอยู่รอดของตนเอง โดยคิดให้เสียเองว่า การนำเสนอเรื่องราวที่เป็นประเด็นสำคัญของการเมืองภาคประชาชนนั้นจะต้องไม่มีเลย หรือมีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และในบางกรณี ก็ถึงขนาดที่ให้ความร่วมมือในการบิดเบือนเรื่องราวให้สอดคล้องกับความคาดหมายของรัฐบาลเสียเลย

ในเงื่อนไขอย่างนี้ โทรทัศน์จึงไม่เคยสนใจที่จะแสวงหาความเป็นเลิศในการทำข่าว งานข่าวในโทรทัศน์ก็คืองานการเมืองโดยตรง หรือไม่ก็เป็นธุรกิจที่ทำเพื่อเงินล้วนๆ ไปเลย ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าโลกใกล้จะแตก สึนามิจะมาถึง หรืออธิปไตยของเมืองไทยกำลังถูกนำแอบไปขายให้ต่างชาติโดยมีคนได้ผลประโยชน์ร่วมด้วยเพียงไม่กี่คน โทรทัศน์จึงมีความสามารถที่จะทำเป็นหูหนวกตาบอดได้ด้วยความสบายใจเป็นอย่างยิ่ง

บุคคลที่มักจะได้รับการคัดเลือกมาทำข่าวในโทรทัศน์จึงต้องเป็นคนประเภทเข้าทำนองใครจะฉิบหายก็ช่าง ขอให้ฉันอยู่ได้ไปวันๆ หนึ่งก็พอ ครั้นเมื่อมีคนข่าวที่เคารพงานของตนอย่างคุณสรรพศิริ วิริยะศิริ ซึ่งเป็นอำนวยการข่าวของสถานีโทรทัศน์ของรัฐแห่งหนึ่งผู้ตัดสินใจเผยแพร่ภาพความรุนแรงต่อนักศึกษาในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เขาก็ถูกปลดออกจากงาน กว่าที่เกียรติยศด้านข่าวของบุคคลผู้นี้จะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็ครั้งหนึ่งก็ต่อเมื่อคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้เขาเมื่อเกินกว่าหนึ่งทศวรรษให้หลังแล้ว

ยิ่งในสถานการณ์ที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลในระยะห้าปีมานี้ "อคติ" ของโทรทัศน์ต่อการเมืองภาคประชาชนยิ่งรุ่งเรืองไปกันใหญ่ เมื่อผู้นำรัฐบาลได้ส่งสัญญาณตลอดเวลาว่าตนเองไม่ต้องการความคิดเห็นใดๆ ที่สวนทางกับความต้องการของตนเองเลย ซ้ำร้าย ยังได้ดำเนินการให้บรรษัทของตนเข้าซื้อหุ้นใหญ่ใน iTv ในแบบฉบับที่เต็มไปด้วยเรื่องค้างคาใจผู้คนเป็นจำนวนมากมาจนบัดนี้

ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงการใช้ iTv เป็นเครื่องมือทางการเมืองส่วนตัวด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส รวมทั้งกรณีที่พันธมิตรทางการเมืองของผู้นำรัฐบาลอย่างแกรมมี่ได้พยายามเข้ายึดครองกิจการของหนังสือพิมพ์มติชนและบางกอกโพสต์เมื่อเร็วๆ นี้

"อคติ" ในอีกระดับหนึ่งดูเหมือนจะเกิดขึ้นจากการที่โทรทัศน์ไม่ให้ความสำคัญกับงานข่าวอย่างที่ควรเป็น ในขณะที่ไม่ค่อยยอมลงทุนกับการผลิตข่าวด้วยตนเองอย่างจริงจัง โทรทัศน์กลับชอบที่จะนำข่าวต่างๆ ที่หนังสือพิมพ์ได้มาด้วยความยากลำบากมา "ตกแต่ง" ขายต่ออย่างไม่มีความละอายใจใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ โทรทัศน์จึงไม่จำเป็นต้องมีการจ้างนักข่าวขนานแท้และดั้งเดิมมาประจำการเลย มีแต่คนประเภทครึ่งสุกครึ่งดิบที่ชอบทำอะไร "คล้ายๆ กับข่าว" เท่านั้นเอง

ความหมายในที่นี้ก็คือ โทรทัศน์มองเห็นว่าข่าวเป็นเพียงสินค้าเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการขาย ไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น ผิดๆ ถูกๆ ขาดๆ วิ่นๆ ก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่ขายได้ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แทนที่จะมองเห็นว่าการแสวงหาความเป็นเลิศในการทำข่าวคือ "หน้าที่" ของตนเองในการขุดคุ้ยหา "ความจริง" สำคัญๆ มาให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเพื่อที่เขาจะเตรียมตัวอยู่ในโลกได้อย่างดีที่สุด

ด้วยประการฉะนี้ นอกจากข่าวเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนจะทำให้บุคคลในรัฐบาลรำคาญแล้ว มันยังไม่สามารถผลิตผลตอบแทนทางการเงิน หรือตอบสนองความเป็นเลิศทางวิชาชีพของคนโทรทัศน์อีกด้วย

ไม่ว่าเหตุการณ์วันที่ 4 และ 11 กุมภาพันธุ์จะปรากฏในโทรทัศน์อย่างไรก็ตาม สิบกว่าปีของการต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปโทรทัศน์กำลังลงเอยด้วยความตระหนักว่า การต่อสู้ที่ว่านั้นเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง

ความหวังก็คืออย่างน้อยๆ การต่อสู้เพื่อการปฏิรูปโทรทัศน์คราวนี้ได้เริ่มต้นขึ้นจากความตระหนักอย่างแท้จริงว่าความพยายามดังกล่าวนั้น จะประสบความสำเร็จไม่ได้โดยปราศจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง อันแตกต่างไปจากกระแสการปฏิรูปโทรทัศน์ในครั้งที่ผ่านมาที่บังเกิดขึ้นในเงื่อนไขที่เต็มไปด้วยความไร้เดียงสา

บางทีภาวะที่ iTv กำลังตกไปอยู่ในมือของทุนต่างชาติคงจะเป็นชนวนที่ทำให้การต่อสู้เพื่อการปฏิรูปโทรทัศน์รอบนี้สนุกขึ้นกว่าเดิมมากก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น