xs
xsm
sm
md
lg

รัฐศาสตร์ จุฬาฯ : เลือกที่จะคำรามอย่างสิงห์ ไม่ใช่เห่าอย่างหมา

เผยแพร่:   โดย: พชร สมุทวณิช *-*

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านคณบดี ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ และคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตกเป็นข่าวหลายครั้งหลายครา เนื่องจากการแสดงเจตนารมณ์และจุดยืนทางการเมืองต่อสังคม พุ่งเป้าที่ไป “การบริหารชาติบ้านเมือง” และ “จริยธรรม” ที่ต้องยืดหยัดคู่กัน โดยระบุว่าการขาดจริยธรรมในการบริหารบ้านเมืองของนายกรัฐมนตรีเป็นอันตรายต่อศรัทธาและความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย จึงเรียกร้องให้นายกฯ “ลาออกไป”

หลังจากนั้น ท่านอธิบดีปิยะพันธ์ จำปาสุต ในฐานะนายกสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ ออกมาโจมตีในเรื่องนี้ และมีการสร้างกระแสกดดันให้ อ.อมรา ลาออกจากตำแหน่งคณบดี


รับฟังข่าวเรื่องนี้ ทำให้ผมคิดถึง “คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ” ขึ้นมาจับใจ

ชีวิตของผม มีความผูกพันกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพิเศษ เนื่องจาก ผมเดินไปเดินเตร่ไปเตร่มาอยู่แถวนั้น ตั้งแต่สมัยยังเรียนขาสั้นอยู่มัธยม เหตุเพราะต้องไปรอกลับบ้านพร้อมพ่อ (ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช) ที่สอนอยู่ที่นั่น

ผมคุ้นเคยกับตึกเรียนต่างๆ ของคณะ คุ้นเคยกับสนามหญ้า คุ้นเคยกับโต๊ะม้านั่งต่างๆ ที่เรียงรายกันอยู่รอบบริเวณคณะ คุ้นเคยกับพวกพี่ๆ ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของพ่อ คุ้นเคยกับพี่ๆ ลุงๆ ป้าๆ ที่ขายของอยู่ที่โรงอาหาร และที่สำคัญคุ้นเคยกับครูบาอาจารย์ในฐานะเพื่อนร่วมงานของพ่อ ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะกลายมาเป็นอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนผมจริงๆ ในภายหลัง

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์หลายต่อหลายคน นอกจากมีฐานะเป็นอาจารย์ของผม แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นเปรียบเหมือนญาติ เป็นเหมือนลุงๆ ป้าๆ น้าๆ อาๆ ที่ให้ความเมตตากับผมมาโดยตลอด

เพราะความผูกพันของผมที่มีต่อคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ประกอบกับที่สมัยเด็กๆ ผมชอบเรียนวิชาสังคมศึกษา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบ้านการเมือง อาจจะเพราะที่บ้านผมนั้นเต็มไปด้วยหนังสือหนังหาประเภทนี้ ผมจึงเรียนวิชาหมวดสังคมศึกษาอย่างข้อมูลแน่นปึ้ก และมักจะได้คะแนนดีๆ ในหมวดนี้เสมอๆ

อย่างที่บอกว่าผมชอบอ่านหนังสือเรื่องราวของการเมืองไทยตั้งแต่ยังเด็ก ตัวอย่างที่พอจะหยิบยกได้ก็คือ นักการเมืองอาวุโส สมัคร สุนทรเวชนั้น ผมรู้จักมาตั้งแต่สิบกว่าขวบ จำได้ว่าหนังสือที่เขียนถึงคุณสมัคร จะอ่านสนุกกว่าหนังสือเล่มอื่นๆ เพราะมีทั้งคนชมคุณสมัครและด่าคุณสมัครด้วยลีลามันหยดเร้าใจเหมือนหนังจีนกำลังภายใน คุณสมัครสำหรับเด็กอย่างผมในตอนนั้นจึงเป็นตัวละครที่เร้าใจทางการเมืองอย่างยิ่ง ผมเลือกจดจำเรื่องราวของคุณสมัครในด้านดี เนื่องเพราะเด็กอย่างผมถูกสั่งสอนมาให้รู้จักเรียนรู้ในแง่มุมที่ดีของคน

ช่วงนี้ หลายคนมาบอกเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่า คุณสมัครพูดออกทีวีด่าพ่อผมหลายครั้ง และพยายามโยงมาถึงว่าเพราะผมทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการของคุณสนธิ ที่เป็นคู่ชกโดยตรงของนายกฯ ที่ท่านสมัครผูกพันรักใคร่ หลายคนบอกว่าให้ผมเขียนด่าคุณสมัครบ้าง ในความไม่รู้จักแยกแยะ และเคารพในความเชื่อความเห็นในฐานะปักเจกชนของผมและพ่อผม แต่ผมบอกว่า ไม่มีทางที่ผมจะเขียนด่าคุณสมัคร เพราะผมอยากจะจดจำ “ด้านดีๆ” ของคุณสมัครเอาไว้

อย่าลืมสิว่า อะไรที่มันเหลือน้อยมากๆ จนเกือบจะสูญพันธุ์ มันคือของควรค่าแห่งการสะสม

นอกเรื่องไปหน่อย กลับเข้าเรื่องดีกว่า ในที่สุดผมก็สอบติดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เลือกไว้เป็นอันดับหนึ่ง และได้เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในคณะ ในฐานะสิงห์ดำอย่างเต็มตัว เป็นสิงห์ดำรุ่นที่ 41 (สลับตัวเลขกับพ่อ พ่อผมรุ่น 14)

อย่างไรก็ดี ผมอยากจะสารภาพเสียตรงนี้ว่า ตอนเรียนอยู่คณะ ผมไม่ได้ใส่ใจที่จะทำอะไรต่ออะไรให้คณะมากมายนัก เป็นช่วงชีวิตวัยรุ่นที่เรียนบ้าง เล่นบ้าง เมากับเพื่อนตั้งแต่หัววันบ้าง และสนุกสนานไปจีบหญิงที่คณะบัญชีบ้าง(แล้วก็ได้ภรรยามาหนึ่งคน 555) กิจกรรมต่างๆ ทำบ้างไม่ทำบ้าง

ผมก็อายตัวเองเหมือนกันที่ไม่ได้ทำอะไรให้คณะรัฐศาสตร์มากมายอะไรนัก จบออกมาก็ไม่ได้ช่วยงานของสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ อะไรมากมาย ไม่เหมือนกับท่านๆ ทั้งหลายที่มีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตในราชการ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เมื่อผมไปงานที่คณะทีไร ผู้ที่ได้รับการยกย่องและชื่นชมที่สุดในสายตาของผมมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือคณาจารย์ของคณะที่ประสิทธิประสาทวิชาให้พวกเราชาวสิงห์ดำ และบรรดาพวกพี่ๆ สิงห์ดำที่มีตำแหน่งใหญ่โตในหน้าที่ราชการ ทั้งท่านพี่ปลัดกระทรวง ท่านพี่อธิบดี ท่านพี่ผู้ว่าฯ ทั้งหลาย

สิ่งที่ตรึงใจในความทรงจำของผมมากที่สุด ตั้งแต่วันแรกที่เข้าคณะ ผมถูกสอนให้หัด “ประกาศนาม” หรือถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็ที่ส่วนใหญ่เขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “บูม” นั่นแหละ

“ประกาศนาม” คือการแสดงตนเป็นสิงห์ดำ มีทั้งแบบตะโกนห้วนๆ ดังๆ และแบบเอื้อนช้าๆ ยืดๆ ซึ่งผมชอบมากว่า เพราะได้ดื่มด่ำกับความหมายไประหว่างร้องเพลง ใจความของ “รัฐศาสตร์ ประกาศนาม” มีอยู่ว่า...

“นี่แหละนัก รัฐศาสตร์
นี่แหละสิงห์ สีหราช
ใครๆ ผู้ใด ไม่อาจจะมาข่มขวัญ
เล่นด้วยใจเป็นนักกีฬา ใครมาท้าเรากล้าประจัญ
เราเชียร์ เราเชียร์ เราเชียร์ ให้รัฐศาสตร์”


นักรัฐศาสตร์ เราเรียกตัวเองเป็นสิงห์ ทุกๆ คณะรัฐศาสตร์ในแต่ละมหาวิทยาลัย ก็ยืนยันความองอาจของสีหราชนี้ แล้วให้ความแตกต่างเป็นสีที่ต่างกันไป อย่างรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็สิงห์ดำ รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็สิงห์แดง เป็นต้น

พวกเราคือสิงห์ สิงห์ที่ไม่เกรงกลัวต่อใครหรือผู้ใดที่จะมาข่มขวัญ เรามีใจเป็นนักกีฬาที่หาญสู้กับอยุติธรรมไม่ว่าหน้าไหนๆ

ผมจำได้ว่า ผมเคยรำพึงรำพันถึงความเสียใจที่ไม่ได้ทำอะไรมากมายให้กับคณะมากเท่าไร รุ่นพี่และคณาจารย์ที่ผมเคารพหลายคนบอกผมว่า อย่าไปกังวล เพราะสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเป็น “สิงห์สีหราช” ที่แท้จริง น่าจะการทำตนสมคำประกาศนาม คือการ “กล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง” โดยไม่เกรงกลัวต่อ “ใครๆ ผู้ใด” แม้ว่าบรรดาคนเหล่านั้นจะถืออำนาจ-วาสนา-ทรัพย์สินเงินทอง ที่จะมา “ข่มขวัญ” ให้เรา เกรงและกลัว

รุ่นพี่ของผมคนหนึ่งบอกผมว่า “หากคุณไม่ยึดหลักการดังกล่าว เวลาคุณประกาศนามออกไป เสียงที่ออกมาให้ได้ยิน คือเสียงเห่าของหมา ไม่ใช่เสียงคำรามอย่างสิงห์”

++++++++

หมายเหตุ : ถึงตอนนี้ ผมขออนุญาตประกาศผ่านทางคอลัมน์นี้ว่า ผมขอลาออกจากความเป็นสมาชิกของสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น