xs
xsm
sm
md
lg

วิทยุชุมชนสะเทือนศาลตัดสินผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ศาลจังหวัดอ่างทองพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ ให้วิทยุชุมชนเขตไชโย ผิดกฎหมาย มีความผิด 2 กระทง ฐานนำเข้าเครื่องส่งวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาตและกระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน ปรับ 4 หมื่นบาท เจ้าตัวเตรียมยื่นอุทธรณ์ ห่วงวิทยุชุมชน 3-4 พันแห่งทั่วประเทศสะเทือน แฉอำนาจรัฐเริ่มแทรกแซงส่งตำรวจต่อรองวิทยุชุมชน ไม่ให้ถ่ายทอด และออกข่าว การชุมชุมเช็คบิล “ทักษิณ” วันที่ 11 ก.พ.นี้

วานนี้ (7 ก.พ.) ศาลจังหวัดอ่างทองพิพากษาคดีระหว่างอัยการจังหวัดอ่างทอง ฟ้องนายเสถียร จันทร เจ้าของสถานีวิทยุเขตไชโย จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน ซึ่งได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสังคม (SIF) โดยโจทย์ฟ้องว่ าจำเลยทำผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม 2498 ในข้อหาที่มีการนำเข้าเครื่องส่งวิทยุ และกระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ขณะที่นายเสถียรและพยานฝ่ายจำเลยได้โต้แย้งข้อกล่าวหา ว่าการดำเนินการ วิทยุชุมชนเป็นไปตามสิทธิ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 40 และมีมติ ครม.16 ก.ค. 2545 และมติ ครม. 24 มิ.ย. 2546 ผ่อนผันให้สามารถออกอากาศในนามจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน โดยไม่ถือว่าเป็นการจัดสรรคลื่นและตั้งสถานีวิทยุ ทั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทุน SIF ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ตั้งขึ้น จัดบุคลากรอบรมและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จังหวัดก็รู้เห็นและให้คำแนะนำการตั้งสถานี โดยไม่มีการเตือนว่าผิดกฎหมาย จึงถือว่าไม่มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย และเข้าใจว่ากระทำการได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตามคำพิพากษาของศาลอ่างทองระบุว่า แม้จะมีรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิ์ในการถือครองคลื่นความถี่ และดำเนินการกระจายเสียงส่งวิทยุ แต่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ โดยสมบูรณ์ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงยังมีอำนาจรักษาการตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม 2498 และ พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่มาตรา 80 ไม่เปิดช่องให้มีการจัดสรรคลื่นและออกใบอนุญาตประกอบการ

นอกจากนี้นายเสถียรยังมีส่วนเป็นกรรมการฝ่ายภาคประชาชน ในการประชุมกับภาครัฐและภาควิชาการในการแก้ปัญหาวิทยุชุมชนที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับรู้ว่าการมีเครื่องส่งและกระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิด ตามกฎหมาย จึงไม่อาจอ้างได้ว่ากระทำการโดยเจตนาบริสุทธิ์ไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย และไม่อาจอ้างว่าส่วนราชการไม่มีหนังสือเตือน

ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามีมติ ครม.เรื่องผ่อนผันเกี่ยวกับวิทยุชุมชน ศาลเห็นว่า มติ ครม.นั้นไม่ใช่กฎหมาย เป็นเพียงให้อำนาจนายกฯที่จะออกคำสั่งหรือกระทำการใด ๆ เมื่อนายก ฯ เห็นสมควรเท่านั้น แต่การจะให้มติ ครม.มีผลบังคับใช้ได้ต้องมีกฎหมาย รองรับด้วย กรณีนี้เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับ การจับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายก็ยังดำเนินการต่อไป

ศาลจังหวัดอ่างทองจึงได้พิพากษาให้มีความผิดสองกระทง คือความผิดฐานมี และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดฐานตั้งสถานีวิทยุ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกฐานความผิดละ 3 ปี ปรับ 30,000 บาท รวม 6 ปี และ 60,000 บาท แต่ศาลเห็นว่าการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อยู่บ้าง จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 2 ปี และปรับ 40,000 บาท รวมทั้งริบของกลางที่ประกอบด้วยเครื่องส่งวิทยุ เสาอากาศและสายส่งให้ตกเป็นของรัฐ

หลังฟังคำพิพากษา นายเสถียร และเพื่อนักจัดรายการวิทยุชุมชน ต่างมีสีหน้าสลด เพราะผลของคำพิพากษาอาจทำให้วิทยุชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน นอกจากนี้นายเสถียรซึ่งเป็นเกษตกร และดำเนินการวิทยุชุมชนแบบไม่หารายได้ ยังยากจนเกินกว่าจะหาค่าปรับมาให้ 40,000 บาทในทันที จนเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลนำตัวไปคุมขังชั่วคราว จนกระทั่ง น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ช่วยสำรองจ่ายวางเงินประกันจากกองทุนสู้คดีของ คปส. นายเสถียรจึงถูกปล่อยตัวออกมา

นายเสถียร กล่าวว่าคงจะต้องอุทธรณ์ต่ไป เพราะนึกถึงเพื่อนที่ทำวิทยุชุมชนทั่วประเทศ ปค้ก็ต้องขึ้นอยู่กับองค์กรภาคประชาชนจะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้วยหรือไม่ เพราะลำพังคนเดียวคงไม่มีปัญญาทำได้

คดีของนายเสถียรถือว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ เนื่องจากในขณะนี้ทั่วประเทศมีการตั้งสถานีวิทยุชุมชนมากว่า 3,000-4,000 แห่ง เนื่องจากเห็นว่ามติ ครม.ผ่อนผันให้ดำเนินการ ภายใต้เงื่อนไข เสาสูง 30 เมตร กำลังส่ง 30 วัตต์ รัศมีกระจายเสียงไม่เกิน 15 กม.และไม่รบกวนคลื่นวิทยุการบินและวิทยุหลัก ซึ่งมีหลายสถานี ที่ถูกปิดเพราะทำผิดเงื่อนไขดังกล่าว แต่มีเพียงสถานีวิทยุชุมชนของนายเสถียรเท่านั้น ที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาการถือครองและตั้งสถานีอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว วิทยุชุมชนทั่วประเทศ ก็เข้าข่ายผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน

นายเสถียรยังเปิดเผยว่าอำนาจรัฐได้พยายามแทรกแซงวิทยุชุมชนมาตลอด ล่าสุดหลังจากที่วิทยุชุมชนหลายสถานีทั่วประเทศ ได้ถ่ายทอดและมีรายการวิเคราะห์ข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมกู้ชาติ ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ ที่ลานพระรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 4-5 ก.พ. ที่ผ่านมา จากนั้น 2-3 วันต่อมาก็ปรากฏว่ามีนายตำรวจระดับผู้การในพื้นที่ มาเจรจากับผู้ดำเนินการวิทยุชุมชน ในจังหวัด แจ้งว่า มีหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงสถานีตำรวจนครบาลและภูธรทั่วประเทศ ให้ดำเนินการปิดสถานีวิทยุชุมชนที่ส่วนราชการตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะให้ใช้คลื่น ใช้สถานที่ หรือมีบุคลากรไปร่วมรายการหรือไม่

แต่ตำรวจในพื้นที่หลายจังหวัดไม่อยากดำเนินการ เพราะเจ้าทุกข์ที่แท้จริง คือกรมประชาสัมพันธ์และกรมไปรษณีย์โทรเลข รวมทั้งตำรวจไม่มีเครื่องมือที่จะตรวจสอบว่าเคลื่อนวิทยุมีการรบกวนหรือไม่

อย่างไรก็ตามก็มีการเจรจาต่อรองว่าอาจใช้วิธีการระงับการออกอากาศชั่วคราวแทน หรือไม่ก็ให้รับปากว่าจะไม่มีการถ่ายทอด แพร่ข่าว กล่าวถึงการชุมนุมของ นายสนธิ ในวันที่ 11 ก.พ. เป็นการต่อรองให้สามารถดำเนินการต่อไปได้

ด้าน น.ส.สุภิญญา และคู่กรณีถูกบริษัทชินคอร์ปฟ้องฐานหมิ่นประมาท 400 ล้านบาท ซึ่งติดตามมาฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจกับนายเสถียร กล่าวว่า ผลของ คำพิพากษาครั้งนี้จะส่งผลโดยตรง สร้างความกังวลระส่ำระสายในหมู่วิทยุชุมชน และวิทยุท้องถิ่น เป็นมาตรฐานว่าวิทยุชุมชนผิดกฎหมายทั่วประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายให้ดำเนินการได้ แต่ก็มีอีกมุมหนึ่งที่รัฐบาลอยากจะกวาดล้าง

“ที่น่ากังวลคือในอนาคตถ้ารัฐบาลไปจับกุมดำเนินคดีกับวิทยุชุมชนอื่น ๆ จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งกลุ่มวิทยุชุมชนต่าง ๆ ควรจะต้องร่วมคุยกันและทวงถามนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐ ไม่อย่างนั้นจะเปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และอาจมีมิติของการ แทรกแซงเสรีภาพของสื่อในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยอ้างเรื่องกฎหมายมากีดกัน”

น.ส.สุภิญญายังเรียกร้องให้ประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ช่วยเหลือ การสู้คดีต่อไปของนายเสถียร ด้วยการให้กำลังใจ ระดมเงินทุนด้วยการบริจาค เข้ามาที่บัญชีของ คปส. ชื่อบัญชี คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนสิรินธรณ์ เลขที่ 7172179511 เนื่องจากลำพังทนายความจากสภาทนายความอย่างเดียวไม่อาจช่วยเหลือในการสู้คดีได้เต็มที่เพราะมีภาระคนละหลายคดีอยู่ แม้แต่วันพิพากษาก็ไม่อาจมาร่วมฟังด้วย

น.ส.สกาว สืบสายเชื้อ แกนนำเครือข่ายวิทยุท้องถิ่นไทย กล่าวว่า หากเป็นเช่นนี้ จะทำให้วิทยุชุมชนต้องถูกลดความเป็นสื่อของชุมชน อาจจะกลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ต้องอยู่กันอย่างสงบเสงี่ยมไปหมด เว้นแต่ว่ารัฐบาลบาลจะออกมารับรองสถานภาพให้ชัดเจน และรับรองสิทธิเสรีภาพของการเป็นสื่อ ไม่อย่างนั้นจะถูกแบ่งฝ่ายกลายเป็นวิทยุชุมชนฝ่ายหนึ่งที่เกรงกลัวรัฐบาล กับอีกฝ่ายหนึ่ง ที่อยากเป็นสื่อเสรี หรือไม่ก็รีบให้มีการเลือกตั้ง กสช. กันใหม่โดยเร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น