xs
xsm
sm
md
lg

เลี่ยงกฎหมายและไร้จริยธรรม : ข้อกังขาในตัวผู้นำ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

กติกาที่สังคมใช้เพื่อทำให้สังคมมนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีอยู่ 3 ประการคือ

1. จารีตประเพณี อันได้แก่ แนวทางการดำเนินชีวิตที่แฝงไว้ในรูปของพิธีกรรมต่างๆ มีทั้งที่อิงอาศัยศาสนาและลัทธิต่างๆ และถ้าผู้คนในสังคมคนใดคนหนึ่งล่วงละเมิดจารีตประเพณี ก็จะถูกลงโทษด้วยการตำหนิติเตียนเป็นการตักเตือนเบื้องต้น และหากยังดื้อดึงล่วงละเมิดต่อไปก็จะถูกขับออกจากหมู่ในทำนองไม่คบค้าสมาคมด้วย

2. ศาสนาอันได้แก่คำสอนที่ศาสดาทรงสั่งสอนไว้แก่สาวกของพระองค์มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่ทุกศาสนาก็มีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้คน

ถ้าปรากฏศาสนิกคนใดไม่เชื่อถือ และปฏิบัติตามคำสอนก็จะมีบทลงโทษใน 2 ระดับคือ ในระดับของศีลหรือข้อห้าม ก็จะมีการลงโทษในแง่ของการปกครอง ยกตัวอย่าง พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาถ้าล่วงละเมิดพระวินัย ก็จะถูกลงโทษโดยการปรับอาบัติโดยการให้บอกกล่าวแก่พระภิกษุด้วยกันหรือที่เรียกว่าแสดงอาบัติ ในกรณีที่ต้องอาศัยอย่างเบา แต่ถ้าล่วงละเมิดอาบัติร้ายแรงก็ให้พ้นจากความเป็นภิกษุไป เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน ถ้าล่วงละเมิดในส่วนของธรรมหรือไม่ปฏิบัติตามธรรมก็จะได้รับผลของการกระทำนั้นตามกฎแห่งกรรมคือ ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน ทั้งทางกายและทางใจหนักเบาตามผลแห่งกรรมที่ตนเองได้กระทำ

3. กฎหมายอันได้แก่ บทบัญญัติที่ฝ่ายปกครองจัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการปกครองผู้คนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยความเสมอภาคกัน

ถ้าปรากฏว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งทำผิดกฎหมาย ก็จะได้รับโทษหนักเบาตามที่ตนเองกระทำ โดยผ่านกระบวนการยุติธรรม

ถึงแม้ว่ากติกาของสังคม 3 ประการนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือที่สังคมกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

แต่ก็มีข้อแตกต่างกัน และความแตกต่างที่ว่านี้ก่อให้เกิดข้อเด่นและข้อด้อย ดังนั้น จึงต้องใช้ทั้ง 3 ประการนี้ประกอบกันในลักษณะเกื้อกูล จะใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมไม่ก่อให้เกิดผลสมบูรณ์

ใน 3 ประการนี้ แต่ละประการมีข้ อดีและข้อด้อยต่างกัน จึงเป็นช่องว่างให้คนที่หาช่องทางหลบเลี่ยงล่วงละเมิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการลงโทษผู้ล่วงละเมิดตัวอย่างเช่น เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งล่วงละเมิดจารีตประเพณีก็จะถูกลงโทษ ถูกผู้คนในสังคมตำหนิติเตียน และถ้าผู้ที่ล่วงละเมิดเป็นคนดื้อด้านไม่ใส่ใจคำด่า ไม่ฟังเสียงตำหนิ ก็ไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ ในอันที่จะทำให้บุคคลเยี่ยงนี้กลับตัวกลับใจเป็นคนดีได้

แต่ในกรณีของศีลธรรมอันเป็นคำสอนของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพุทธศาสนา เมื่อสาวกทำผิดวิสัยสงฆ์ก็จะได้รับโทษหนักเบาของศีลที่ล่วงละเมิด มีตั้งแต่ให้บอกความผิดของตนแก่เพื่อนภิกษุด้วยกัน ที่เรียกว่า แสดงอาบัติ ไปจนถึงไล่ออกจากหมู่สงฆ์ โดยการพ้นจากวามเป็นภิกษุ

แต่ไม่ว่าจะลงโทษในระดับใด ศีลธรรมหรือคำสอนในศาสนาล้วนแล้วแต่เกิดจากความสำนึกผิดของผู้กระทำผิด หรือเกิดจากความร่วมมือของเพื่อนภิกษุด้วยกันแสดงโทษ และร่วมกันไล่ให้พ้นจากหมู่ ที่เรียกว่า อัปเปหิ คือขับออกจากหมู่

แต่ถ้าผู้กระทำการล่วงละเมิดที่ว่านี้ไม่ยอมรับผิด และดื้อด้าน วินัยก็ไม่สามารถมีผลบังคับให้ผู้กระทำผิดนั้นต้องรับโทษได้ ยิ่งกว่านี้อาจกลายเป็นเหตุให้มีการแยกหมู่แยกคณะแข็งข้อต่อสงฆ์ที่ตนเองสังกัดอยู่ได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง กติกาทางสังคม คือ กฎหมาย จึงต้องเกิดขึ้นเพื่อเกื้อหนุนกติกาทางสังคมในประการที่หนึ่ง และให้มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ในประการที่สองโดยการลงโทษอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปรับ จำคุก ไปจนถึงประหารชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของความผิด และพยายามหาหลักฐานที่จะนำมามัดให้ผู้กระทำผิดต้องจำนน และรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น จึงอาจพูดได้ว่า กฎหมายก็คือศีลธรรมที่แปรรูปนั่นเอง

เมื่อกฎหมายและศีลธรรมเป็นกติกาที่ต้องใช้ควบคู่กัน ทั้งยังช่วยเกื้อกูลกันในการปกครองด้วย ดังนั้น ในการใช้กฎหมายเพื่อลงโทษคนกระทำผิดจึงต้องพิจารณาใน 2 ระดับ คือ

1. เจตนารมณ์ในการออกกฎหมาย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ วัตถุประสงค์ในการตรากฎหมายในมาตรานั้นๆ เพื่ออะไร

2. ความหมายตามตัวอักษรของบทบัญญัติแห่งกฎหมายในมาตรานั้น ครอบคลุมถึงประเด็นไหน อย่างไร และกว้างขวางเพียงใด เพื่อจะพิจารณาการกระทำของผู้ต้องหาว่าเข้าข่ายตามเนื้อหาในมาตรานั้นๆ หรือไม่

แต่ไม่ว่าจะพิจารณาในระดับหนึ่งหรือสอง สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการลงโทษผู้กระทำผิดก็คือ พยานหลักฐาน ซึ่งมีทั้งพยานแวดล้อม วัตถุพยาน และประจักษ์พยาน

เมื่อใดมีผู้กระทำผิดกฎหมายตกเป็นผู้ต้องหาในคดีและถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดี ถ้าหากมีพยานหลักฐานเพียงพอก็จะถูกพิพากษาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ในทางตรงกันข้าม ถ้าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ผู้ต้องหากระทำผิดจริง ก็จะได้รับการพิพากษาให้หลุดพ้นจากการต้องรับโทษ

ด้วยเหตุนี้ ถ้าพิจารณาเพียงพยานหลักฐาน และความหมายตามตัวอักษร ไม่นำเอาเจตนารมณ์ในการออกกฎหมายมาประกอบด้วย โอกาสที่คนทำผิดแต่มีการเตรียมการเพื่อหลบเลี่ยงการถูกลงโทษทางกฎหมายตามที่ตัวอักษรระบุไว้ ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในกรณีขายหุ้นชินคอร์ปของ 2 ทายาทของผู้นำรัฐบาลที่ได้กลายเป็นข่าวใหญ่อยู่ในขณะนี้ และจากข่าวนี้ ถ้าดูจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลในทุกวงการ โดยเฉพาะวงการท่านผู้รู้เกี่ยวกับกฎหมาย ส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เอาผิดในแง่ของกฎหมายยาก ทั้งนี้เนื่องจากได้มีการเตรียมการหลบเลี่ยงการเสียภาษีไว้อย่างแยบยล แต่ในแง่ของจริยธรรมที่ผู้นำควรจะมีแล้ว ก็พูดได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในขณะนี้ ตกเป็นจำเลยทางสังคมในข้อหาขาดจริยธรรมที่ผู้นำควรจะมีแน่นอน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.ก่อนที่จะเข้ามาสู่วงการเมือง ผู้นำท่านนี้ได้พูดไว้ในทำนองว่า ร่ำรวยพอแล้วอยากเข้ามาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

แต่จากการเป็นนายกรัฐมนตรี 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่าได้ทำอะไรที่บ่งบอกอย่างเป็นรูปธรรมว่าคนไทยโดยรวมได้ประโยชน์โดยปราศจากการเมืองแฝงเร้น หรือไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง หรือพรรคพวกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง แม้แต่นโยบายประชานิยมที่รัฐบาลนี้คุยนักคุยหนาว่าเป็นผลงาน เช่น กองทุนหมู่บ้าน และ 30 บาทช่วยคนไทยห่างไกลโรค ที่แท้ก็คือต้องการฐานเสียงเพื่อการเลือกตั้งทางการเมืองมากกว่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศโดยรวม เพราะในขณะนี้ปรากฏค่อนข้างชัดเจนว่า นโยบายลักษณะนี้สร้างภาระทางด้านการเงินให้กับประเทศมากมายถึงขนาดให้เงินสำรองเหลือน้อยลง และก่อหนี้สาธารณะมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง ทั้งยังเป็นการเพิ่มความกดดันให้แก่บุคคล และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีที่ต้องเป็นการรีดภาษีเพื่อให้เข้าเป้าที่วางไว้ ก่อความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กทั่วหน้า

2.ในการประกาศนโยบายปราบคอร์รัปชัน จากวันที่บอกว่าไม่ต้องมีใบเสร็จก็จะดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต จนถึงวันนี้ ไม่ปรากฏว่ามีนักการเมืองคนใดจากพรรคไทยรักไทยถูกจับกุมดำเนินคดีสักราย ไม่ว่าเกี่ยวกับคดีทุจริตลำไยอบแห้ง กล้ายาง หรือซีทีเอ็กซ์ 9000

แต่ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษนักการเมืองฝ่ายค้านในทันทีโดยไม่รีรอ จะเห็นได้จากกรณีของโครงการประมูลของ กทม. เป็นต้น มันก็แสดงให้เห็นชัดว่าเลือกปฏิบัติ อันบ่งบอกถึงการขาดจริยธรรมที่ผู้นำจะพึงมี คือข้อไม่มีอคติ

3. เมื่อเกิดข่าวการขายหุ้นชินคอร์ปของทายาทของตนเองในทำนองว่าหลบเลี่ยงภาษี ก็ได้โยนให้ทนายออกมาแก้ตัวแก้ต่างโดยยึดข้อความตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่พูดถึงจริยธรรมที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะพึงมีใน 2 สถานะ คือ

1) ในฐานะพลเมืองของประเทศไทยที่จะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐเมื่อตนเองประกอบธุรกิจและมีกำไรเยี่ยงพลเมืองคนอื่นที่ต้องถูกไล่เก็บภาษี แม้กระทั่งธุรกิจที่มีรายได้เพียงเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเทียบกับรายได้ 7 หมื่นกว่าล้านบาทของทายาท 2 คนจากการขายหุ้นที่เกิดขึ้นแล้ว เรียกได้ว่าแค่เศษเงินเท่านั้น

2) ในฐานะผู้นำประเทศที่ควรจะเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนพลเมืองธรรมดาทั่วๆ ไป ในเรื่องการเสียภาษีให้แก่ประเทศชาติที่ตนเองได้พึ่งพาอาศัยทำมาหากินจนร่ำรวยล้นฟ้า อันถือได้ว่าการกระทำเยี่ยงนี้ขาดจริยธรรมที่ผู้นำจะพึงมีโดยสิ้นเชิง

4. ในการไม่เสียภาษีในครั้งนี้ ถ้าดูจากการเตรียมการไปจดทะเบียนตั้งบริษัท แอมเพิล ริช เพื่อถือหุ้นและขายคืนให้ทายาทตนเองในราคาต่ำกว่าตลาดแล้วขายต่อในราคาตลาดเพื่อทำกำไรแล้ว จะมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเตรียมการเพื่อหลบเลี่ยงภาษีโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายตามคำแนะนำของทนายที่มีความเปรื่องปราดแต่ขาดจริยธรรม และขาดตกบกพร่องในการทำหน้าที่ของพลเมืองที่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ด้วยเหตุ 4 ประการดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยที่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐโดยไม่มีการหลบเลี่ยงมาตลอด จะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากผู้นำประเทศในเรื่องนี้ และพร้อมกันนี้ ควรจะถามหาสปิริตของการเป็นนักการเมืองที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ ความสามารถแต่ขาดคุณธรรมเยี่ยงนี้ ควรจะลาออกไปพร้อมกับขอโทษประชาชน 19 ล้านคนที่เลือกเข้ามาด้วย จะได้ชื่อว่าสำนึกบาป และควรแก่การได้รับการให้อภัย แต่ถ้ามีการเรียกร้องแล้วไม่มีการตอบสนองใด และมีอันต้องออกจากตำแหน่งเพราะทนแรงกดดันไม่ไหว ก็คงหนีไม่พ้นคำว่า จำนนต่อเหตุการณ์หาใช่การสำนึกบาปไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น