xs
xsm
sm
md
lg

การเดินขบวนใหญ่ขับไล่นายกฯ 4 กุมภาพันธ์ กับการคืนพระราชอำนาจ (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

2. คืนพระราชอำนาจแปลว่าอะไร เป็นการดึงในหลวงมาเล่นการเมืองหรือไม่

ผมเห็นใจที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิด และแพร่ความคิดผิดๆ ว่า การถวายพระราชอำนาจคืนคือการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยม็อบ และขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เป็นการดึงในหลวงลงมาเล่นการเมือง ผู้ที่เข้าใจผิดเช่นนี้โดยสุจริตใจน่าจะมีมากกว่าผู้ที่เข้าใจผิดเพราะความเขลาและอวิชชา ตกอยู่ใต้ทฤษฎี วิธีคิดและอุดมการณ์บางอย่างอย่างมัวเมา กับทั้งระบบการปกครองและระบบการศึกษาของไทย ได้ปลูกฝังความคิดเรื่องพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจนเข้ากระดูกดำ จึงปล่อยให้พระมหากษัตริย์ของตนเองต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและการเมืองของเผด็จการเป็นเวลาหลายสิบปี เพราะไม่เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญของเผด็จการนั้นคือพิมพ์เขียวของการเมืองระบบเผด็จการที่บังคับในหลวง โดยสร้างทฤษฎีที่หลอกลวงว่าในหลวงอยู่เหนือการเมือง มีหน้าที่ลงพระปรมาภิไธยอย่างเดียว อย่างอื่นเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล

เรื่องนี้ คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการยังไม่ยอมเข้าใจ ทั้งๆ ที่ผมได้อธิบายกรณีของต่างประเทศเปรียบเทียบ และอัญเชิญพระราชดำรัส และคำอธิบายประกอบของรองราชเลขาธิการมาเขียนและพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งผมต้องยอมรับว่าผมเขียนภาษาคนไม่เป็น (ถึงผมจะได้รับพระราชทานทุนรางวัลภูมิพล ในการเขียนเรียงความก็ตาม) ผมขอลองอธิบายอีกครั้งดังนี้

1. เรื่องในหลวงอยู่เหนือและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขนั้นตามหลักมีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้น คือพระมหากษัตริย์จะไม่ลำเอียง ก้าวก่ายหรือเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่แข่งขันต่อสู้แย่งชิงกันจัดตั้งรัฐบาล

2. ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ อธิบายว่า มิใช่เรื่องเดียวแต่รวมถึงเรื่อง "การดำเนินการปกครองบ้านเมืองอันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง" ซึ่ง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงยึดมั่นอย่างเคร่งครัดว่า ต้องทรงดำรงฐานะอยู่เหนือการเมืองตลอดเวลา" ถ้าหากเข้าไปเกี่ยวข้องจะถูกมองว่าลำเอียงเข้าหรือไม่เข้ากับรัฐบาล

3. เกี่ยวกับเรื่อง 1 และ 2 นี้ ในหลวงรัชกาลปัจจุบันทรงมีพระราชดำรัสว่า "จำไว้ว่าสถาบันจะลงไปเล่นการเมืองเต็มตัวได้ก็ต่อเมื่อเกิดมี Void หรือสุญญากาศทางการเมืองขึ้นจริงๆ อย่างกรณี 14 ตุลาฯ แต่เมื่อได้ก้าวลงไปจัดการ จนช่องว่างดังกล่าวหมดไปแล้ว สถาบันกษัตริย์จะต้องรีบก้าวกลับขึ้นไปอยู่เหนือการเมืองอย่างเดิมให้เร็วที่สุด จะได้พร้อมที่จะลงมาช่วยได้อีก ถ้าเกิดสุญญากาศขึ้นมาอีก"

มีผู้ฉวยโอกาสบิดเบือนแปลพระราชดำรัสว่า สุญญากาศได้แก่การต่อสู้นองเลือด ซึ่งระงับลงเสียได้เพราะพระมหาบารมีหลายคราว ความจริงมิใช่ เช่น ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในหลวงมิได้ทรงลงมาเล่นการเมือง และมิได้มีสุญญากาศเกิดขึ้น เพราะสภาได้ทูลให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ต่างกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่นายกรัฐมนตรีลาออกหนีไปต่างประเทศ และสภานิติบัญญัติลาออกทั้งคณะ

สุญญากาศทางการเมืองไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเพราะการจลาจลสู้รบ แต่เกิดเพราะองค์กรทางการเมืองต่างๆ หรือทั้งหมดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือสลายไปด้วยเหตุใดๆ ก็ดี เช่น การลาออกทั้งคณะ หรือการไม่สามารถแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งได้ หรือ ส.ส.และ ส.ว.ลาออกจนไม่ครบองค์ หรือพรรคการเมืองบอยคอตประท้วงจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ทั้งหมดนี้คือ สุญญากาศทางการเมืองทั้งสิ้น ส่วนกรณีใดที่พระมหากษัตริย์จะทรงลงมาจัดการก็ขึ้นอยู่กับความเสียหายและพระราชอำนาจตามครรลองประชาธิปไตย

ในกรณีดังกล่าว สามารถนำมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันมาบังคับใช้ดังนี้ "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"

ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

มีตัวอย่างเรื่องพระราชอำนาจและการใช้พระราชอำนาจอยู่มากมายในประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สแกนดิเนเวีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อังกฤษ ซึ่งเราอ้างว่าเป็นต้นแบบของไทยพระราชอำนาจของกษัตริย์ประชาธิปไตยมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ พระราชอำนาจทั่วไป (Usual Powers) พระราชอำนาจพิเศษ (Sovereign or Royal Prerogative) และพระราชอำนาจสำรอง (Reserve Powers)

อำนาจทั่วไปได้แก่อำนาจที่จะแนะนำ (advise) ให้กำลังใจ (encourage) และเตือน (warn) รัฐบาลผ่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ส่วนอำนาจพิเศษและอำนาจสำรองนั้นมีมาก เช่น อำนาจในการแต่งตั้งรัฐบาล สมาชิกสภาขุนนาง อำนาจยุบสภาตามคำขอของนายกรัฐมนตรี หรือโดยพระมหากษัตริย์เองโดยไม่ต้องให้นายกรัฐมนตรีร้องขอก็ได้ในหลายๆ กรณี ฯลฯ

ในหลวงรัชกาลปัจจุบันทรงอธิบายเรื่องอำนาจทั่วไปไว้ดังต่อไปนี้

"ก็มีประเพณีเป็นที่ยอมรับกันในนานาประเทศแล้วมิใช่หรือว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้นน่ะสัมพันธ์กับรัฐบาลตามที่ได้ย่อไว้อย่างสั้นเป็นภาษาอังกฤษว่า "to advise and be advised" หมายความว่ารัฐบาลน่ะมีหน้าที่ต้องทูลเกล้าถวายรายงานเป็นประจำถึงสถานะโดยทั่วๆ ไปและเหตุการณ์ที่สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น ในอังกฤษ นายกฯ ของเขาจะต้องเข้าเฝ้าฯ พระราชินีของเขาทุกวันศุกร์เพื่อถวายรายงาน และไม่ว่าพระราชินีจะเสด็จไปไหน ในประเทศอังกฤษเองหรือต่างประเทศ ก็จะต้องมีที่เรียกว่ากระเป๋าดำตามไปตลอดเวลา ซึ่งรายงานสถานการณ์บ้านเมืองและรายงานข้อสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ในทางกลับกัน ถ้าหากรัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระราชทานคำปรึกษาหรือถ้าทรงเห็นว่าพระองค์ควรจะพระราชทานคำปรึกษาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติและทุกข์สุขของราษฎรไม่ว่าในเรื่องใด พระมหากษัตริย์ก็จำเป็นต้องพระราชทานคำปรึกษานั้นให้กับรัฐบาล"

พระราชอำนาจดังกล่าวนี้ ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลได้นำมาใช้ให้เหมาะสมถูกต้อง การนำมาใช้หาจำเป็นต้องเดินขบวนหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ เพียงแต่รัฐบาลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกำหนดให้มีระเบียบวาระที่มีหมายกำหนดการและพิธีการแน่นอนในการเข้าเฝ้าฯ เป็นประจำ ก็ย่อมจะกระทำได้เลย ดีกว่าเป็นครั้งคราวแบบลำลอง เช่น ไปเล่นกอล์ฟผ่านมาก็ขอเข้าเฝ้าฯ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีวิธีอื่นๆ ที่เหมาะสมควรนำมาปฏิบัติอีกมากมาย

พระราชอำนาจในการแนะนำให้กำลังใจ ตักเตือน พระราชอำนาจพิเศษและสำรองทางการเมืองยังมีอยู่อีกมาก อำนาจดังกล่าวถูกเก็บขึ้นหิ้งบูชา เพราะทฤษฎีและความเข้าใจผิดๆ และความที่สังคมไทยไม่รู้หรือไม่เข้าใจประเพณีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศ เรื่องนี้รองราชเลขาธิการเคยให้อรรถาธิบายว่า

"การที่พูดกันอยู่ทั่วไปว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองนั้น ผมว่าต้องเข้าใจคำว่าการเมืองกันให้ถ่องแท้กันเสียก่อนนะครับ ถ้าการเมืองหมายถึงระบบการปกครองโดยทั่วๆ ไป อันหมายถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศโดยทั่วไป และการดำเนินการเพื่อการปกครองคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน ก็จะพูดว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองไม่ได้ มิฉะนั้น ก็หมดความหมายครับ พระมหากษัตริย์จะทำอะไร จะมีไว้ทำไม"

ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาแล้ว พระราชอำนาจของกษัตริย์ถูก "เม้ม" "เก็บงำ" หรือ "ลิดรอน" มิให้นำมาใช้เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง รัชกาลที่ 7 เคยพระราชทานวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ การแต่งตั้งวุฒิสมาชิก และอื่นๆ แต่รัฐบาลก็มิฟัง จนกระทั่งเมื่อสละราชสมบัติ พระองค์ทรงประกาศขอสงวนพระราชอำนาจต่างๆ ที่มีอยู่เดิม (รวมทั้งพระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตย) ไว้กับปวงราษฎร มิให้บุคคล หมู่ใดคณะใดนำเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน

รัฐบาลต่อๆ มาก็มิได้ดีขึ้นนัก แม้แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเชื้อพระวงศ์ที่เป็นนักกฎหมายก็ตาม อาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งยังเกรงกลัวอำนาจทหาร อีกส่วนหนึ่งยอมรับทฤษฎีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเหนือการเมืองอย่างสุดหัวใจ ผู้นำรัฐบาลบางคนกล่าวว่าในหลวง "เป็นคนรุ่นลูกรุ่นหลาน" จวบจนกระทั่งอวสานของรัฐบาลรัฐประหารเดือนกันยายน 2500 รัฐบาลจึงยกเชิดชูในหลวงขึ้น พระองค์ได้เสียสละพระวรกายออกคลุกคลีกับปวงราษฎรจนพระบารมีกระจรกระจาย ถึงกระนั้น พระองค์และปวงราษฎรก็ยังตกอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และการปกครองเผด็จการอย่างยาวนานอยู่ดี

รัฐบาลปัจจุบัน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีถูกสังคมตั้งข้อกล่าวหาว่าประพฤติไม่สมควรไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่รู้จักเคารพเชิดชูในหลวงอย่างจริงใจ เท็จจริงเป็นประการใดนายกฯ ไม่ควรโพล่งออกมาว่า "ถ้านายกฯ ไม่จงรักภักดี ผีที่ไหนจะจงรักภักดีวะ" ผมเห็นว่านายกฯ ควรขอพระราชทานอภัยในเรื่องนี้

ในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับพระราชดำรัสปี 2547 และ 48 หากนายกฯ มีสามัญสำนึกและตั้งใจจริงที่จะช่วยสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นายกฯ ควรเข้าเฝ้าฯ ขอพึ่งพระบารมีและขอให้พระราชทานคำแนะนำตักเตือน รวมทั้งกราบบังคมทูลอย่างจริงใจถึงความบกพร่องผิดพลาด รวมถึงการที่บุคคลของรัฐบาลได้ล่วงละเมิดต่อพระองค์ ในหลวงมีพระราชดำรัสว่า "แต่ที่เห็นอยู่ข้างหน้านี่ มีคนที่พูด ก็คงรู้ว่าแล้วใครพูด มีคนที่พูดว่าข้าพเจ้าไม่ดี พระเจ้าอยู่หัว ไม่ดี ทำอะไรผิด" ถึงป่านนี้ นายกฯ จะยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่มิได้

การเดินขบวนของสนธิในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นี้ รัฐบาลต้องงดเว้นการใช้กำลังเข้าปะทะหรือปราบปราม การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพึ่งพระราชอำนาจและบารมีในหลวงเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยและนิติราชประเพณี เมื่อพระองค์ได้รับเรื่อง ก็แล้วแต่จะทรงโปรดให้รัฐบาลชี้แจง หรือทรงปรารภความเดือดร้อนของผู้ถวายฎีกาผ่าน องคมนตรีหรือราชเลขาธิการอย่างหนึ่งอย่างใด

สำหรับการถวายคืนพระราชอำนาจนั้น กระทำได้ทั้งทางตรงทางอ้อม ไม่จำเป็นจะต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันให้เลือดนองแผ่นดิน ทางอ้อมก็คือรัฐบาลกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงมากขึ้น ทางตรงก็คือรัฐบาลกำหนดมาตรการนำเอาพระราชอำนาจที่ถูกลิดรอนเก็บงำออกมาปฏิบัติตามจารีตประเพณี ตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการถวายคืน ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเหตุขัดข้องตามรัฐธรรมนูญก็แก้ไขเสีย แม้แต่ข้อขัดข้องในมาตราที่ 303-305 เมื่อประชาชนห้าหมื่นคนกล่าวโทษ การไม่มี ป.ป.ช.หรือวุฒิสภาสิ้นสภาพ ก็แก้ไขได้โดยขอพึ่งพระราชอำนาจและนำมาตรา 7 มาใช้ดั่งนี้เป็นต้น

สำนึกและความรักชาติของนายกรัฐมนตรีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในเรื่องนี้ พวกเราคงจำวาทะอมตะของประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้ ท่านกล่าวว่า "อย่าถามว่าท่านจะได้อะไรจากแผ่นดินบ้าง จงถามว่าท่านจะให้อะไรกับแผ่นดินได้บ้าง"

แผ่นดินนี้ได้ให้นายกฯ ทักษิณกับครอบครัวจนเหลือคณานับแล้ว บัดนี้ถึงเวลาที่นายกฯ จะต้องตอบคำถามท่อนหลัง

เคนเนดี้ได้ชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีหัวก้าวหน้า มีคนรักมากกว่าคนชังทั่วโลกมิใช่แต่ในอเมริกา ถึงกระนั้นเคนเนดี้ก็ยังถูกลอบสังหารเพราะคนบางกลุ่มเชื่อว่า 4 ปีเป็นเวลาที่นานเกินรอ

การปิดทางเลือกทางการเมืองนั้นจะทำให้ความโหดร้ายทางการเมืองเพิ่มขึ้น พวกเราคนไทยจงช่วยกันเปิดทางเลือกที่สันติ โดยขอพึ่งพระราชอำนาจ และนำจารีตประชาธิปไตยมาปฏิบัติให้ถึงที่สุดเถิด
กำลังโหลดความคิดเห็น