xs
xsm
sm
md
lg

ถ้ายังเจ็บไม่พอ 4 ก.พ.เชิญนอนรออยู่ที่บ้าน

เผยแพร่:   โดย: พชร สมุทวณิช

ผมห่างเหินการเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน มาเป็นเวลาประมาณ 3 ปีกว่า หันเหมาทำหน้าที่บรรณาธิการนิตยสาร mars ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนด้วยเหตุผล 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก อยากเรียนรู้ระบบงานนิตยสาร โดยตัดสินใจที่จะเลือกระบบการทำงานหนังสือรูปแบบรายเดือน เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานในหนังสือพิมพ์รายวันนั้น มีข้อจำกัดของเวลาที่เร่งรัดลักษณะวันต่อวัน ทำให้ความอยากและไอเดียที่จะทำเรื่องราวบางอย่างถูกเงื่อนไขดังกล่าวจำกัดเอาไว้ ไม่มีโอกาสได้เริ่มลงมือ

เหตุผลประการที่ 2 ก็คือ ความเบื่อและเอียนกับ “ข่าวการเมือง” ซึ่งเมื่อนึกทบทวนดูแล้ว เหตุผลข้อนี้อาจจะเป็นเหตุผลที่แท้จริง โดยทำเป็นมีเหตุผลข้อแรกที่พูดข้างต้นกล่าวอ้างเพื่อให้ดูมีน้ำหนักสร้างความชอบธรรมในการเปลี่ยนงานก็เป็นได้ (แอบสารภาพผิด)

ผมเข้ามาทำงานกับผู้จัดการรายวัน ตั้งแต่ปี 2535 เข้ามาก็รับบทหนักเนื่องจากเจอเข้ากับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของประเทศไทย นั่นก็คือเหตุการณ์ที่เรียกกันติดปากว่า “พฤษภาทมิฬ” จากนั้นไปเรียนต่อ พอกลับมาก็ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่โต๊ะการเมืองของผู้จัดการรายวัน ระหว่างการทำงานที่นี่ ก็มีเตร็ดเตร่ไปฝ่ายโน้นฝ่ายนี้บ้าง แต่เอาเข้าจริงก็กลับมาตายที่โต๊ะการเมืองทุกที

ที่เบื่อ “ข่าวการเมือง” สุดๆ ก็ครั้งช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการก็ประสบปัญหากับเขาด้วยอย่างที่รู้กัน คุณสนธิกลับมาเป็น บก.ใหญ่ ลงมือประชุมข่าวทุกเช้าด้วยตัวเองอีกครั้งเหมือนยุคหนุ่มๆ ครั้งนั้นทีมงานเหลือไม่กี่คน ถ้าจำไม่ผิดหน้าการเมืองเราเหลือคนปิดข่าวในออฟฟิศแค่ 2 คน เรียกได้ว่าใครคนนึงอย่าได้ป่วย ไม่งั้นอีกคนที่เหลือก็ขี้แตก

ด้วยสถานการณ์บีบรัด ไอ้เด็กยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม มือยังไม่ถึงขั้นปรมาจารย์แก่กล้าทางข่าวการเมือง ยังต้องรับผิดชอบคอลัมน์วิเคราะห์การเมืองที่ต้องเขียนทุกวัน ซึ่งคอลัมน์ระดับนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต่างมีปรมาจารย์ระดับอาวุโสร่ายกระบี่น้ำหมึกสาดใส่กระดาษ มือเขียนไม้จิ้มฟันแทงกระดาษอย่างผม (อ่อนชั้นมั่กๆ) ต้องขวนขวายทำการบ้าน เขียนวิเคราะห์การเมืองทุกวัน 2 ปีกว่า พอสถานการณ์ดีขึ้นเริ่มมีจอมยุทธ์ระดับปรมาจารย์กลับมาประจำสำนัก ผมเลยมีโอกาสได้ถอยออกมาพักหายใจ หลังจากเกือบจะเป็นโรคประหลาดเรื้อรังคืออ้วกเช้าอ้วกเย็นออกมาเป็นข่าวการเมือง

สาเหตุหนึ่งที่ผมเบื่อกับงานข่าวการเมือง ก็คือ เมื่อคุณรู้ข้อมูลมากเข้าๆ ทั้งแบบข้อมูลทั่วไปประมาณนักการเมืองสองฝั่ง อันประกอบด้วย ฝั่งได้เป็นรัฐบาลกับฝั่งหวังจะได้เป็นรัฐบาลด่ากันไปด่ากันมา และแบบข้อมูลด้านลึก ซึ่งรู้แล้วขนพองสยองเกล้า คุณก็จะเบื่อมัน

เวลาคุณอ่านข่าวนักการเมืองเหี้ยๆ แล้วคุณอยากจะอาเจียนกับความต่ำช้าของสิ่งที่เกิดขึ้น ในฐานะนักข่าวสายการเมือง ผมอ้วกแตกไปเรียบร้อยแล้วครับ


ไอ้อาการเอียนการเมืองสุดขีดของผมในตอนนั้น ท่าจะกลายเป็นโรคเรื้อรังซึ่งอาจจะนำไปสู่อาการสมองฝ่อได้ ในที่สุด ผมเลยตัดสินใจมาทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือไลฟ์สไตล์รายเดือนที่ชื่อ mars

ที่ผ่านมาตลอด 2 ปีกว่า เป็นช่วงเวลาแห่งการทำหนังสือที่สนุกสนานที่สุดของผม ได้ทำงานรูปแบบใหม่ๆ ได้เจอคนในแวดวงกลุ่มใหม่ๆ ได้บริหารงานหนังสือโครงสร้างที่เล็กกว่าหนังสือพิมพ์รายวัน จึงมีโอกาสได้เรียนรู้งานทั้งระบบ รวมไปถึงต้องรับผิดชอบงานขายโฆษณาควบคู่ไปกับงานกองบรรณาธิการ ได้เรียนรู้งานถ่ายแฟชั่น ได้เดินทางไปเจออะไรแปลกๆ ทั่วโลก แม้จะเหนื่อยพอกันกับเมื่อครั้งทำงานหนังสือพิมพ์รายวัน แต่ก็สนุกสุดเหวี่ยง

เมื่อถึงช่วงเวลาเข้มข้นขึ้นในภาวะที่ “สื่อ” อย่างรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ถูกปิดกั้น จากที่จัดกันในห้องส่ง คุณสนธิระเห็จออกมาตั้งเวทีสัญจร สถานการณ์เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ด้วยข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามาจากทั่วสารทิศ จนบรรดารุ่นพี่ๆ ตกใจกับระบบการหน้าด้านโกงชาติที่พัฒนาขึ้นมาอย่างเหนือชั้น แต่ผมก็ยังคงอยู่ในสถานะ “ดูและฟัง” เหมือนเวลาดูรายการวิเคราะห์ข่าวหน้าจอทีวี เมื่อครั้งโดนนายกฯ ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นพันๆ ล้าน โดยมีชื่อผมเป็นผู้ถูกฟ้องเนื่องจากเป็นกรรมการบริษัท ไทยเดย์ ก็ยังขำๆ

เพราะเราคิดว่าเราทำอะไรไม่ได้กับปัญหาเน่าเฟะอันยิ่งใหญ่ของระบบการเมือง คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” เขาไป

ผมคิดว่า คนไทยอีกหลายคนโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ หรือแม้กระทั่งในนาทีนี้ก็มีอาการเหมือนผม นั่นคือพวกเรายังสนใจติดตามข่าวการเมือง ติดตามความเคลื่อนไหวของระบบการเมืองไทย แต่ก็ในฐานะ “คนดู” ไม่ได้ก้าวเท้าเข้าไปในพื้นที่ของ “การแก้ไขปัญหา” โดยคิดว่า นั่นเป็นหน้าที่ของ “ผู้ที่เกี่ยวข้อง”

แต่แท้จริงแล้ว การมีส่วนร่วมใน “ประชาธิปไตย” คงไม่ใช่แค่ “สนใจและนั่งดูข่าวสารทางการเมืองจากจอทีวี” หรือแค่ “นั่งด่านักการเมืองอย่างสนุกสนานกันในหมู่เพื่อนฝูง” แต่การมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย คือการร่วม “ต่อสู้และรักษาประชาธิปไตย” ที่คุณเชื่อและศรัทธา

ผมยอมรับว่า ผมเป็น 1 ใน 19 ล้านเสียงที่ไว้ใจเลือกคุณทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจยกประเทศไทยให้เขาไปดูแล เปรียบเทียบง่ายๆ ภาษาชาวบ้านก็เหมือนกับ ผมเป็นพ่อแล้วตัดสินใจยกลูกสาวไปให้คุณทักษิณที่มาสู่ขอตามประเพณี มีสินสอดทองหมั้นเรียบร้อย มีการจดทะเบียนรับลูกสาวผมไปเป็นภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

อยู่มาวันหนึ่ง ผมได้ข่าวว่าคุณทักษิณ ตบตีกระทำชำเราลูกผม เอาทรัพย์สมบัติที่ผมยกให้เป็นสินสมรสเอาไปปู้ยี่ปู้ยำ มิหนำซ้ำที่ทุเรศและทนไม่ได้ก็คือ เกิดไปถูกอกถูกใจเพื่อนข้างๆ บ้าน มีผลประโยชน์ร่วมกัน แล้วยอมให้เพื่อนข้างบ้านเดินเข้ามาล่อลูกสาวผมถึงในบ้าน และอื่นๆ อีกมากมายจาระไนไม่หมด

เป็นคุณ คุณจะทำยังไง คงไม่ใช่นั่งดูมันเฉยๆ หรือแค่บ่นนิดๆ หน่อยๆ กับเมียและญาติพี่น้องกระมัง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเดินไปที่หน้าบ้านมันแล้วตะโกนด่าใช่ไหม และที่สำคัญอย่าไปมัวคิดว่า “ถ้าไม่ใช่ไอ้นี่ แล้วจะเอาใครมาเป็นผัวลูกกูดี”

และเมื่อถึงตอนนี้ สำหรับผมถือว่าทะเบียนสมรส ไม่มีความหมายอีกต่อไป

เมื่อถึงอดจริงๆ ก็ต้องเดินไปหามันแล้วทวงคืนลูกของผมคืน

ถึงเวลาที่จะต้อง “ทวงประเทศไทยคืน”


ผมจะไปร่วมชุมนุมวันที่ 4 กุมภาฯ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ไม่ใช่ในฐานะกรรมการบริษัท ไทยเดย์ฯ ไม่ใช่ในฐานะพนักงานบริษัทของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และไม่ใช่ไปเชียร์คุณสนธิในฐานะที่เราสนิทกันเหมือนอากับหลาน

แต่เป็นในฐานะประชาชนที่จะต่อสู้และรักษาสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ในทางที่ผมเชื่อและศรัทธา

หวังว่าเราคงเจอกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น