xs
xsm
sm
md
lg

เรียลิตี้โชว์ภาคแท้จริง

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้

การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ที่เรียกว่า "เรียลิตี้ โชว์" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปิดฉากลงแล้วเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา นับว่าสร้างความสนใจระดับประเทศทีเดียว

เพราะได้ผู้แสดงนำเป็นถึงนายกรัฐมนตรี กำลังคนและค่าใช้จ่ายที่ลงไปสามารถผลิตรายการที่คนต้องติดตามดูรายการนี้ สำหรับยูบีซี เคเบิลทีวี จึงคุ้มที่สุดในการส่งเสริมการตลาด

ทั้งคนรักและคนเกลียดก็ต้องติดตามดูความเคลื่อนไหวตลอด 5 วัน 4 คืน ของการถ่ายทอดสด

ส่วนผลทางการเมืองของผู้นำรัฐบาลและพรรคไทยรักไทยจะได้เป็นบวกหรือผลลบนั้น ขึ้นอยู่กับคนมองในส่วนไหน

ขณะที่การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีคราวนี้บอกว่า เป็นการสาธิตปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจน โดยใช้อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ดกรณีตัวอย่าง

เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้ดูการทำหน้าที่การรับฟังปัญหาและวินิจฉัยโรคยากจนและการแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือเป็นตัวอย่าง

หากจะประเมินผลจากพื้นที่ข่าวผ่านสื่อต่างๆ ทุกวันตลอดสัปดาห์ของการอยู่ในพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคน

ภาพความใกล้ชิดเป็นกันเองกับชาวบ้านที่พากันมาต้อนรับ และหลายๆ คนได้รับความช่วยเหลือ เช่น แจกเงิน สิ่งของ ชุดนักเรียนนับร้อยชุด ทุนการศึกษาจากธนาคารออมสินทุนละ 2,000 บาท 10 ทุน

ชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์เหล่านั้นย่อมชื่นชม จนอำเภอข้างเคียงอยากเดินทางไปขอรับความช่วยเหลือ และยังมีประชาชนท้องถิ่นต่างๆ พากันไปยื่นเรื่องราวร้องทุกข์มากมาย

ดังนั้น ถ้าเห็นแต่ภาพ-ข่าวการลงพื้นที่คลุกคลี จับมือหรือแจกให้ชาวบ้านของผู้นำพรรคไทยรักไทยในฐานะนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ ย่อมมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นกิจกรรมหาเสียง

ซึ่งก็คิดว่าไม่น่าขัดข้องดังที่นายกฯ ทักษิณ โต้เสียงวิจารณ์ทำนองว่า "เป็นนักการเมืองก็ต้องหาเสียง แต่สำหรับผมจะหาเสียงด้วยการทำงาน..."

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า

การให้เงินช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนนั้นเหมือนเป็นการทำบุญทำทานด้วยความพอใจ

"ผมชอบทำทาน ใครจะมากระแนะกระแหนก็ช่างเถอะ มันเป็นความสุขของผม..."

สีสันการขี่มอเตอร์ไซค์ การรับประทานอาหารเมนูชาวบ้าน หรือการพักค้างในพื้นที่ที่กล้องโทรทัศน์และสื่อต่างๆ ถ่ายทอดให้สังคมรับรู้นั้นเป็นที่สนใจก็เพราะเป็นตัวนายกรัฐมนตรี

แต่หลังจากคณะผู้บริหารของรัฐบาลกลับกรุงเทพฯ ฉากละครที่อำเภออาจสามารถก็จะเงียบเหงาดังเดิม ครั้นจะหวังให้นายอำเภอเล่นบทช่วยเหลือชาวบ้านหรือสั่งให้หน่วยงานราชการหรือธนาคารของรัฐให้พิจารณาช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ก็คงไม่มีทางได้ผลเหมือนท่านผู้นำ

บทบาทของนายกรัฐมนตรีที่ได้ลงไปทำให้ดูตลอด 5 วันที่ผ่านมา จะถึงขนาดเป็น "ต้นแบบ" หรือที่มีคนเรียกว่า "อาจสามารถโมเดล" เพื่อให้อำเภอต่างๆ ทั่วประเทศไปประยุกต์ใช้ได้เชียวหรือ

ก็เพราะระยะเวลาและสถานการณ์ที่สะท้อนภาพความเป็นจริงของบุคคลต่างๆ แถมมิได้มีวาระในเชิงวิเคราะห์ข้อมูลหรือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

รายการ "เรียลิตี้แก้จน" จึงโดนสีสันที่เป็นกระพี้กลบส่วนที่เป็นสาระที่สังคมตั้งตารอว่า จะมีสูตรสำเร็จหรือนำเอาผลการวิจัยและข้อเสนอจากผลการศึกษาของสถาบันต่างๆที่มีมากมายมาทดลองสาธิตกับอำเภอนี้ เพื่อแก้จนให้ได้อย่างจริงจังก็ยังไม่เห็น

ด้วยเหตุนี้ก็คงต้องเป็นภาระของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยอมรับเป็นผู้อำนวยการ ไปประชุมต่อ

รัฐบาลนี้เคยประกาศเอาชนะความยากจนอันเป็นปัญหาของประเทศ และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กำหนดระยะเวลาทำให้สำเร็จภายใน 6 ปี

ดูเป้าหมายเวลาจะสอดคล้องกับการหาเสียงเพื่อเป็นรัฐบาลให้ครบเทอม

แต่เมื่อดูวิธีการเพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมาย ก็ยังต้องรอการทำเวิร์กช็อพกันอีกและฟังน้ำเสียงของ พล.อ.ชวลิต ที่ระบุการให้บทบาทนายอำเภอเป็นศูนย์กลางแก้จนจะไม่มีทางสำเร็จ และเตรียมปรับแนวคิดใหม่ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชน

ดูแล้วก็ยังว้าเหว่

ก็เหมือนดั่งการประกาศจะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้ามีความจริงใจและเอาจริง โดยเริ่มกำชับกับคนรอบตัวและทุกระดับว่าจะไม่ให้เกิดขึ้น

เมื่อมีประเด็นที่น่าสงสัยก็ชี้แจงหรือสั่งการให้มีกรรมการสอบสวนเอาผิดอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

ป่านนี้เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ก็คงไม่มีประเด็นให้หยิบยกตั้งข้อสงสัยให้สังคมตื่นตาตื่นใจกันทุกสัปดาห์

เราก็ยังเห็นการไม่สนใจสาระที่เป็นแก่นสารของปัญหา เบี่ยงเบนไปอ้างเป็นเหตุผลเพื่อกลบเกลื่อนปัญหา และใช้คนไปก่อกวนขัดขวางการแสดงออกเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม

นี่แหละ "เรียลิตี้โชว์" ภาคที่แท้จริงกำลังดำเนินต่อไปเพื่อพิสูจน์สัจธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น