xs
xsm
sm
md
lg

ดุลยภาพการพัฒนาทางวัตถุและการพัฒนาทางจิตใจ

เผยแพร่:   โดย: ลิขิต ธีรเวคิน

ประเด็นเรื่องการพัฒนาทางวัตถุและการพัฒนาทางจิตใจ มีการพูดถึงมาตลอดตั้งแต่สมัยโบราณ การมองประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้คงต้องมองจากหลายมิติ โดยจะไม่มองข้ามความเป็นจริงทางธรรมชาติของมนุษย์ ขณะเดียวกันมนุษย์ก็มีความสามารถที่จะปฏิเสธไม่ให้ถูกครอบงำโดยความต้องการทางวัตถุเนื่องจากความโลภจนเกินขอบเขต

ในเบื้องต้น มนุษย์ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีการพัฒนาทางวัตถุ ในแง่สิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์ด้วยกันมนุษย์เรียกตัวเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐเพราะมีความคิดที่ก้าวไกลกว่าสัตว์อื่น สามารถจะคิดค้นเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องทุ่นแรง เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ในการดำรงชีวิตได้ แต่โดยตัวของมนุษย์เองนั้นเป็นสัตว์ที่อ่อนแอที่สุด มนุษย์ไม่มีขนหนาเพื่อป้องกันความหนาวเหน็บของอากาศ มนุษย์ไม่มีเขี้ยวเล็บที่จะต่อสู้ทำร้ายสัตว์จนตายได้ ดังนั้น เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับเสือ สิงโต ช้าง หมี จระเข้ ปลาวาฬ งูเหลือมขนาดใหญ่ โดยสภาพจากสรีระของมนุษย์เองไม่สามารถจะนำชีวิตรอดได้เลย แต่มนุษย์ต้องใช้สมองอันชาญฉลาดและการมีตรรกะที่คาดการณ์ล่วงหน้าถึงเหตุและผลได้ด้วยการสร้างเครื่องไม้เครื่องมือในการต่อสู้กับสัตว์ร้าย รวมทั้งการต่อสู้กับมนุษย์ด้วยกันเอง

ในแง่ที่อยู่อาศัยมนุษย์รู้จักขุดเข้าไปในภูเขาเพื่อเป็นถ้ำ รู้จักใช้ไม้ก่อสร้างที่พักอาศัยโดยยกพื้นขึ้นมา หรือแม้กระทั่งสร้างบ้านบนต้นไม้ การก่อสร้างเช่นนี้มนุษย์ต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมืออันได้แก่การพัฒนาทางวัตถุ เช่น ใช้มีดซึ่งทำจากเหล็กตัดต้นไม้ ใช้ไม้และใบไม้ทำบ้านและหลังคา ในแง่อาหารการกินมนุษย์รู้จักใช้เครื่องมือในการล่าสัตว์ ทำภาชนะสำหรับเก็บอาหาร ดองอาหาร และเพื่อชดเชยกับการไม่มีขนอันหนาเพื่อป้องกันความหนาวเหน็บ มนุษย์รู้จักทำเสื้อผ้าเพื่อป้องกันความหนาวของอากาศ และเมื่อมนุษย์ลมป่วยลงมนุษย์ก็เรียนรู้ที่จะรักษาตัวเองจากการทดลองกินใบหญ้าและสมุนไพร ฯลฯ

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือความจำเป็นในทางวัตถุของเผ่าพันธุ์มนุษย์ และเมื่อมีการพัฒนาถึงระดับหนึ่งมนุษย์ก็สามารถจะสร้างปราสาทราชวัง สร้างเกวียน สร้างรถม้า สร้างเรือ อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จนมาถึงยุคเครื่องจักรไอน้ำ ยุคพลังจากน้ำมัน มนุษย์ก็สามารถจะสร้างแม้กระทั่งสิ่งซึ่งบินบนอากาศซึ่งเรียกว่า เรือเหาะ บอลลูน เครื่องบิน เรือที่แล่นบนน้ำ เรือที่แล่นใต้น้ำ รถยนต์ รถไฟ ฯลฯ

ในแง่อาหารนั้นมนุษย์สามารถจะผลิตอาหารได้เกินความต้องการจนสามารถจะบริโภคได้อย่างฟุ่มเฟือย การบริโภคจึงไม่ได้อยู่ที่การรักษาชีวิตรอดเท่านั้น แต่อยู่ที่การหาความสำราญจากการบริโภคโดยมี เนื้อสัตว์ทุกประเภท รวมทั้งเครื่องดื่มของมึนเมาหลากชนิด ผ้าแพร ผ้าไหม ผ้าต่วน ผ้าฝ้ายอย่างดี กลายเป็นเครื่องนุ่งห่มที่บ่งชี้ถึงฐานะทางสังคมด้วย

ที่กล่าวมานี้คือความเจริญทางวัตถุ วัตถุธรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของมนุษย์ จะบอกว่าไม่จำเป็นต้องอาศัยวัตถุเลยนั้นคงผิดไปจากความจริง มนุษย์จำเป็นที่จะต้องมีวัตถุเพื่อการดำรงชีวิตในขั้นพื้นฐาน และสำหรับบางคนบางกลุ่มก็อาจจะเกินเลยไปจากพื้นฐาน คือความหรูหรา ฟุ่มเฟือย และความหมกมุ่นจนกลายเป็นวัตถุนิยม และบริโภคนิยม

ในขณะที่มนุษย์ต้องอาศัยวัตถุในการดำรงชีวิต มนุษย์ก็ต้องหาความสมดุลระหว่างการหาความสุขจากวัตถุกับการมีความสุขหรือความสงบทางใจ ซึ่งได้แก่ความพอใจ การมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย มีความเคารพตนเอง มีความอบอุ่น และมีความรัก ความเมตตาที่จะเผื่อแผ่ให้กับคนอื่น การสร้างดุลยภาพระหว่างความจำเป็นทางวัตถุกับความสุขสงบทางใจนั้น นอกจากจะมีความจำเป็นแล้วยังเป็นศิลปะอันสูงส่งของมนุษย์ที่มีปัญญา การสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งจะไม่สอดคล้องกับทางสายกลางของพุทธศาสนา และรังแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์ของมนุษย์นั่นเอง รวมทั้งมนุษย์อื่นที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ผู้นั้นเช่นญาติโกโหติกา ความสุดโต่งที่มุ่งเน้นทางจิตใจเห็นได้จากอินเดียสมัยโบราณ มีนักบวชที่นุ่งลมห่มฟ้า ละทิ้งทุกอย่าง ไม่อาบน้ำ ปล่อยหนวดเคราให้รุงรัง ดำรงชีวิตอยู่พอจะรอดตายไปวันๆ หนึ่ง และมีการบำเพ็ญทุกกริยาด้วย เช่น กำมือจนเล็บหงอกทะลุออกทางหลังมือ เป็นต้น

พระพุทธองค์เองก็เคยบำเพ็ญทุกขกริยา มุ่งเน้นหาสัจธรรมทางจิตใจ และพยายามปฏิเสธวัตถุจนพระองค์ได้ค้นพบทางสายกลาง จากตัวอย่างการขึงสายพิณ ตึงเกินไปก็จะขาด หย่อนเกินไปก็ไม่สามารถจะเปล่งเสียงที่ไพเราะออกมาได้ พระพุทธอิงค์จึงทรงสร้างความสมดุลระหว่างความจำเป็นทางวัตถุกับจิตใจ โดยในทางวัตถุนั้นพระองค์ก็ยังห่มจีวรเพื่อกันความหนาว และเสวยพระกระยาหาร ดำรงชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไปที่เป็นชีวภาพที่จำเป็นต้องรักษาชีวิตไว้ แต่ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตซึ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ในส่วนนี้ต้องถือว่าพระพุทธองค์มุ่งเน้นที่โลกุตรธรรม แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นโลกียะธรรมอย่างอ่อน คือ การเสวยพระกระยาหารและน้ำ รวมทั้งการห่มจีวร การบรรทมในที่ที่ปลอดภัยเพื่อให้พ้นจากสัตว์ร้าย

สังคมยุคปัจจุบันเป็นสังคมที่ความเจริญทางวัตถุเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในหลายๆ สังคมของมนุษย์มีอาหารเหลือเฟือ มีเครื่องดื่มที่เป็นประเภทน้ำหวานและแอลกอฮอล์มากมายก่ายกอง มีเสื้อผ้าที่เกินจากความจำเป็นอย่างมาก และมีที่อยู่อาศัยที่อำนวยความสะดวกสบายทุกอย่าง จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า
มนุษย์ปัจจุบันมีชีวิตที่สุขสบายกว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฤดูหนาวก็มีเครื่องทำความร้อน ฤดูร้อนก็มีเครื่องปรับอากาศ ต้องการฟังคอนเสิร์ตก็ใช้แผ่นซีดีเพียงแผ่นเดียว การเดินทางเป็นไปได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เครื่องบิน อาหารการกินก็เหลือเฟือ เสื้อผ้าแพรพรรณใส่กันไม่หวาดไหว ท่ามกลางความสมบูรณ์พูนสุขนี้ ประเด็นเรื่องจิตใจและจิตวิญญาณก็กลายเป็นปัญหา มนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ที่กล่าวมาแล้วหลายคนกลายเป็นคนไม่มีความสุข หาความสงบทางใจไม่ได้โดยเฉพาะนักธุรกิจที่มีกิจการใหญ่โตนั้นต้องวิ่งแข่งกับตัวเอง และวิ่งแข่งกับนักธุรกิจคู่แข่งจนไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเอง การประกอบธุรกิจนั้นแทนที่จะได้ทรัพย์สินเงินทองมาดำรงชีวิต กลับกลายเป็นการประกอบธุรกิจเพื่อการเติบโตของธุรกิจเพราะเป็นที่มาแห่งการขยายกิจการ ตอบสนองต่อความมันทางอารมณ์ สร้างอาณาจักรอำนาจ และผลสุดท้ายก็ไม่ทราบจุดประสงค์ที่แท้จริงว่าทำไปเพื่ออะไร

และนี่อาจจะเป็นเหตุที่ทำให้นักธุรกิจบางคนลาบวชโดยไม่สึก ปล่อยให้ลูกหลานดูแลกิจการต่อไป บางคนก็ขายกิจการและนำเงินจำนวนมากไปบริจาคให้กับวัด เพราะเข้าใจลึกซึ้งแห่งสัจธรรมของชีวิต แต่คนจำนวนมากยังจมปลักอยู่กับวัตถุนิยม วัดคุณค่าความเป็นมนุษย์กับทรัพย์สินเงินทอง

ในยุคโลกาภิวัตน์อาจจะถึงจุดที่มนุษย์พยายามที่จะหาความสงบทางใจโดยการยึดเหนี่ยวสิ่งที่เรียกว่า ลัทธิคลั่งศาสนา (religious cult) หรือยึดมั่นตัวบุคคลที่เป็นบุคลาธิษฐาน (personality cult) เพราะมีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ไม่สามารถจะตอบคำถามได้ก็คือ มนุษย์ตายแล้วจะไปไหน เป็นคำถามที่ง่ายๆ แต่เป็นคำถามที่ทุกคนมีอยู่ในใจตลอดเวลา เพราะรู้ตัวว่าวันหนึ่งก็จะมาถึงจุดนั้น ระหว่างที่ยังไม่ถึงจุดดังกล่าวหลายคนก็อาจจะจมปลักกับวัตถุซึ่งเป็นครรลองตามธรรมชาติ แต่สำหรับมนุษย์ที่ไม่ประมาทก็พยายามที่จะสร้างดลุยภาพระหว่างวัตถุและจิตใจตั้งแต่แรกเริ่ม และมีการเตรียมพร้อมทางใจเพื่อเผชิญกับจุดสุดท้ายของชีวิตอย่างเข้าใจและสงบในระดับหนึ่ง

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
www.dhiravegin.com
e-mail: likhit@dhiravegin.com
กำลังโหลดความคิดเห็น