xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิทางการเมืองของคนชายขอบ

เผยแพร่:   โดย: จุ๊ก-เชียงราย

บทนำ

โลกาภิวัตน์ทำให้โลกใบนี้แคบลงด้วยสาเหตุจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดเกิดจากการพัฒนาการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพ ด้านหนึ่งส่งผลให้เกิดกระแสการบริโภคนิยมขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมในชุมนุมภูมิภาคต่าง ๆ อย่างมากมายเกินกว่าจะบรรยาย กอปรกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกที่ครอบงำภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมไว้ ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจน โดยเฉพาะประเทศโลกที่สามที่พบว่าระบบการพัฒนาได้ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางการพัฒนาที่ถูกครอบงำด้วยระบบบริโภคนิยมตามกระแสทุนนิยม มีการแสวงหาทางออกใหม่ ๆ ให้กับชีวิต และชุมชน เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิคนพื้นเมืองเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตน รวมทั้งกระแสต่อต้านพลังของทุนนิยมโลกมากขึ้นทุกแห่ง เราเรียกการเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่า “กระแสท้องถิ่นนิยม” (Localism) สถานการณ์เหล่านี้ท้าทายระบบคิดแบบเดิม ๆ ที่ไม่สามารถหาคำตอบให้สังคมได้ดีเช่นที่ผ่านมา แต่ต้องมีระบบคิดเชิงซ้อนเข้ามาทำหน้าที่ในการทำความเข้าใจปัญหาต่าง ๆมากขึ้น

ในทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาชนชายขอบ หรือคนด้อยโอกาส (Subaltern Group) หมายถึงกลุ่มคนที่ถูกจัดความสัมพันธ์ทางสังคมว่าเป็น “คนอื่น” (Otherness) และถูกกีดกันหรือผลักดันให้ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจของสังคม (the Excluded or marginalization) ทั้งในแง่ของระยะทางและความสัมพันธ์ ต้องตกอยู่ในสภาพไร้อำนาจ หรือที่เรียกว่าสภาวะชายขอบของสังคม (Marginality) ทำให้คนเหล่านี้ต้องเสียสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาต่าง ๆ ในสังคม กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า “กระบวนการสร้างสภาวะความเป็นชนชายขอบ” (Marginalization) เช่น คนยากจนในชุมชนแออัดตามเมืองใหญ่ ชนกลุ่มน้อยบนพื้นที่สูง กลุ่มผู้หญิง เด็ก คนพิการ หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของสังคม เป็นต้น

แม้จะยอมรับกันว่าสังคมสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และมีความหลากหลายเป็นพหุสังคม (Plural Society) มากขึ้น แต่การจัดระบบความสัมพันธ์กับชนชายขอบเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมเพราะมีอคติต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ขาดความสนใจไยดีคนเหล่านี้เพราะมีความรู้สึกเสมือนว่าเป็นคนอื่น ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็เป็นสมาชิกร่วมกันของสังคม ควรมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ และบริการต่าง ๆ ของสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงต้องพยายามสร้างอัตลักษณ์ หรือความเป็นตัวตนของกลุ่ม (Identity Construction) ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การจัดและปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ(การเมือง)กับชนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ ๆ ขึ้น ตัวอย่างเช่น การต่อสู้ของสมัชชาคนจน การต่อสู้ของเครือข่ายป่าชุมชน สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น

สิทธิกับความสัมพันธ์ทางสังคม

-จอห์น ล็อค (John Lock – 1632 – 1704) มีทัศนะว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลและมีจิตใจเสรี ดังนั้นการจัดตั้งระบอบการปกครองขึ้นมาจะต้องมีการสร้างหลักประกันความมั่นคงของชีวิต ด้วยการปกป้องชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ การปกครองนั้นต้องมีการสร้างหลักการทางศีลธรรมของการปกครองขึ้นมาเป็น “สัญญาประชาคม” (Social contract) หรือพันธะต่อสังคมเพื่อให้ระบบการปกครองนั้นมีอำนาจบนความเชื่อถือและไว้วางใจว่าจะปฏิบัติตามสัญญาที่จะปกป้องเสรีภาพของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลหากมีการละเมิดก็จะถูกถอดถอนได้ ซึ่งแสดงถึงสิทธิของพลเมืองที่จะต่อต้านอำนาจ หรือระบบการปกครองที่ลุแก่อำนาจ (Civil Right of Resistance)

รากฐานของความคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติที่ว่ามนุษย์ต้องมีทรัพย์สินของตนเองไว้เลี้ยงชีพ ได้พัฒนามาเป็นความคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคล หรือ “กรรมสิทธิ์เอกชน” (Private Property) ซึ่งถือเสมือนว่าสิทธิในเรื่องทรัพย์สินเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับสิ่งของ” เท่านั้น แต่ในทางสังคมวิทยามานุษยวิทยาถือว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับคน” โดยมีสิทธิเป็นตัวเชื่อม การมีทรัพย์สินคือการมีสิทธิ ซึ่งผู้อ้างสิทธินี้สามารถบังคับเพื่อให้เกิดประโยชน์บางอย่างได้ตามกฎของสังคม สิทธิในทรัพย์สินจึงเป็นพื้นฐานให้สามารถศึกษาทำความเข้าใจ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนในสังคมได้ แต่สิทธิที่สำคัญยิ่งกว่าคือสิทธิในความเป็นตัวตน(Identity) ทั้งของบุคคลและของกลุ่มซึ่งยากที่จะยอมยกให้ใครไปดำเนินการให้ได้

สิทธิในทรัพย์สินเริ่มมาจาก “จารีตประเพณี” ที่ถือปฏิบัติกันอยู่ในแต่ละสังคมแต่ละท้องถิ่น แต่ต่อมาภายหลังสังคมท้องถิ่นต่าง ๆ ถูกผนวกรวมกับสังคมรัฐประชาชาติขนาดใหญ่ภายใต้ระบบกฎหมายเดียวกัน ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างจารีตประเพณี กับกฎหมายจึงเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น สิทธิทำกินในเขตป่า ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของจารีตกับกฎหมาย บางเรื่องรุนแรงจนคนในชุมชนต้องรวมตัวกันต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของชุมชน( Community Right)ตนเอาไว้

สิทธิทางการเมืองและการสร้างความเป็นตัวตน

การศึกษาทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยาในปัจจุบัน เปลี่ยนความสนใจในเรื่องความหมายของสิทธิจากแบบสารัตถะนิยม (Essentialism) ไปที่การสร้างความหมายใหม่ทางสังคมของสิทธิ (Social construction of Right) ดังเช่น การกล่าวถึงสิทธิในการสร้างความเป็นตัวตนของกลุ่มชนต่าง ๆ
กลุ่มคนที่เป็นคนชายขอบ หรือคนด้อยโอกาส (Subaltern Group) ล้วนแต่ถูกกดดันหรือถูกกันออกจากโอกาสต่าง ๆ ด้วยอคติจากความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของคนเหล่านี้ แล้วมองพวกเขาเสมือนเป็นบุคคลอื่น (Otherness) ทั้งที่คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสมาชิกร่วมสังคมเดียวกัน ซึ่งควรจะมีสิทธิเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ในสังคมคนเหล่านี้จึงต้องพยายามสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่ม (Identity Construction) ขึ้นใหม่ เพื่อจัดหรือปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม เพื่อเปิดพื้นที่ที่ยืนทางการเมือง (Political Area) ของกลุ่ม คือ เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิต การกำหนดแนวนโยบายของสังคม เพื่อสร้างสรรค์ประชาสังคมขึ้นใหม่ โดยไม่ถูกบีบขับออกไปเป็นคนชายขอบ เช่นที่ผ่านมา

บทสรุป – การประท้วงต่อต้าน FTA ที่ เชียงใหม่

มาถึงวันนี้คนชายขอบได้พิสูจน์ถึงการมีนิยามใหม่เรื่องของสิทธิอำนาจทางการเมืองแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จากการเป็นผู้ตั้งรับ รอคอยความเป็นตายจากระบบราชการ หรืออำนาจรัฐ กลายมาเป็นการลุกขึ้นต่อสู้ เรียกร้อง ตามสิทธิของตนมากขึ้น ตัวอย่างล่าสุดคือการประกาศตัวขึ้นต่อสู่ของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กับกลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ และเหล่ามวลชนแนวร่วมต่าง ๆ เพื่อต่อต้านคัดค้านการทำข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าไทย –สหรัฐอเมริกาที่จะจัดขึ้นที่ จ. เชียงใหม่ในห้วง 9-13 มกราคม 2549 นี้ จึงไม่อาจมองข้ามปรากฏการณ์เหล่านี้โดยปราศจากการเรียนรู้ เพราะนี่คือการเปิดพื้นที่ทางการเมือง (Politial Area) ของคนชายขอบเพื่อทวงถามถึงสิทธิของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง อย่างน้อยการชุมนุมประท้วงโดยสงบก็เป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพอย่างหนึ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ ตราบใดที่ยังมีความสามัคคีเป็นพลัง ซึ่งนักสังคมศาสตร์ชอบเรียกกันว่า “อาวุธของคนยาก” (Weapons of the weak)

แล้วถามต่อไปว่าฝ่ายรัฐควรมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร สิ่งแรกสุดคือต้องตระหนักว่ากลไกของรัฐในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ได้ ภาคราชการต้องปรับระบบคิดเพื่อยอมรับระบบคิดที่ซับซ้อนมากกว่าเดิม และต้องเปลี่ยนมุมมองเรื่องสิทธิเสียใหม่ จากการใช้สิทธิในการครอบครองมาเป็นสิทธิในการเข้าถึง (Right of Access) ซึ่งอาจจะขัดกับแบบธรรมเนียมของระบบทุนนิยมบ้างแต่จะเป็นทางออกที่เกื้อกูลกันในสังคมของคนทุกกลุ่มมากขึ้น เพราะจริง ๆ แล้วสิทธิต่าง ๆ สามารถทับซ้อนกันได้ (Complexity of Rights)

มิเชล ฟูโก (Michel Foucault 1926-1984) เป็นนักคิดที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ อำนาจดำรงอยู่ทุกหนแห่ง” เดิมเราเชื่อกันว่าอำนาจกระจายเป็นทางเดียวจากบนลงล่าง หรือมีเพียงแหล่งเดียวคือ องค์อธิปัตย์ รัฐ หรือ ชนชั้นปกครอง แต่ในความเห็นของ ฟูโก อำนาจไม่เคยถูกผูกขาดอยู่ที่ศูนย์กลางแห่งเดียวแต่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปเหมือนเครือข่าย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจจึงสอดแทรกในทุกส่วนของสังคม นอกจากนั้นอำนาจมิได้มีแต่ด้านลบ (ด้านกดดันหรือบังคับควบคุม) แต่ยังมีด้านบวก คือสามารถสร้างสรรค์อำนาจ (Empowerment) ขึ้นมาได้ จึงไม่มีใครผูกขาดอำนาจได้เพียงผู้เดียว และอำนาจเกิดได้ในทุกที่แม้แต่จากกลุ่มคนที่ซึ่งไร้อำนาจมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น