ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ดำเนินมาจนบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายได้กลายเป็นอีก 1 กรณีที่ประชาชนระดับล่างต้องได้รับผลกระทบอย่างเจ็บปวดจากการมุ่งพัฒนาประเทศโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง ถึงแม้การคัดค้านไม่ให้มีการก่อสร้างโครงการของชาวบ้านจะประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม สิทธิ เสรีภาพ และรักษาไว้ซึ่งสภาพวิถีชีวิตและจิตวิญญาณแห่งความเป็นท้องถิ่น ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อฝ่าเท้าเปื้อนปฏิกูลของทุนนิยม ได้เหยียบย่ำลงบนผืนดินแห่งศรัทธาโดยไม่ยำเกรง
รัฐหนุนเอกชน"ฮุบ"ทางสาธารณะ
จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา พบว่า บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มขออนุญาตผ่านทางหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เดือน ส.ค.46 เพื่อขอโอนแลกเปลี่ยนและขอถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ ตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นเส้นทางอยู่ภายในพื้นที่เป้าหมายโครงการที่ทางบริษัทใช้ก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
โดยมีพื้นที่อยู่ใน ม. 6 ต.สะกอม ม. 2 และ ม.8 ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ และพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวทับเส้นทางสาธารณประโยชน์ 4 เส้นทาง ซึ่งต่อมาบริษัทได้ล้อมรั้วปิดกั้น รวมทั้งเปลี่ยนแปลง ทำให้เสื่อมสภาพในเส้นทางทั้งหมด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธครบมือคอยดูแลอารักขา ยังผลให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไป-มา และใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ดังเดิม
บริษัทผู้รับเหมาอ้างว่า ได้ขอแลกทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งนายก อบต.ตลิ่งชัน และ อบต.สะกอม เองก็ไม่ขัดข้อง รวมทั้งจากการสอบถามเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ พบว่าที่ซึ่งทางบริษัทกว้านซื้อเหล่านี้มีทางสาธารณประโยชน์ติดมาแต่เดิมแล้ว โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
โดยเป็นข้ออ้างที่ได้นำเสนอต่อสำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อให้วินิจฉัยเรื่อง "ที่ดินวะกัฟ"และจุฬาราชมนตรีสรุปว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทางสาธารณะดังกล่าวได้มาโดยการวะกัฟของชาวมุสลิม และหากการแลกเปลี่ยนนั้นไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนและเกิดประโยชน์มากขึ้น ก็สามารถแลกเปลี่ยนเส้นทางดังกล่าวได้ รวมทั้งชี้แจงว่าได้ส่งตัวแทนมาพยายามพบกับผู้ที่อ้างว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นทางวะกัฟ แต่ก็ไม่ได้พบกับใคร
ส่วนอ.จะนะ เองก็เห็นด้วยในการแลกเปลี่ยนดังกล่าวโดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าเส้นทางเดิมนั้นประชาชนก็ไม่ได้ใช้สัญจรไป-มาแล้วเนื่องจากเป็นทางเดินขนาดเล็ก ใช้สัญจรเป็นระยะทางสั้นๆ สภาพเส้นทางไม่ดีนัก
ใช้กม.สร้างความชอบธรรม
ต่อมาเมื่อประชาชนร่วมกันยืนยันว่า ยังใช้ประโยชน์ในเส้นทางดังกล่าวอยู่จนถึงปัจจุบันก่อนที่บริษัทจะเข้ามาดำเนินการ และยื่นหนังสือคัดค้าน ชี้แจงข้อเท็จจริง และขอมีส่วนร่วมในการดำเนินการไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
พร้อมกับเปิดเผยการดำเนินการที่ลัดขั้นตอนของทางบริษัท ภายหลังบริษัทเห็นว่าไม่สามารถขอแลกเปลี่ยนได้ต่อไปโดยง่าย จึงอาศัยกฎหมายหาช่องทางดำเนินการด้วยการขอใช้ที่ดินดังกล่าว ตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาจะนะ ได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน เมื่อวันที่ 22 พ.ย.47
ล่าสุดมีประกาศเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.48 มีการขอใช้ที่ดินดังกล่าวตามมาตรา 9 อีกครั้ง จึงชัดเจนว่าการดำเนินการก่อสร้างที่ผ่านมาของบริษัท เป็นการกระทำก่อนได้รับอนุญาตอย่างชัดเจน
โดยสรุปข้อเท็จจริงที่ประชาชนได้พยายามชี้แจงและมีหลักฐานยืนยัน เพื่อคัดค้านการบุกรุกเส้นทางดังกล่าวมาตลอด มีรายละเอียดประกอบด้วย
1.เส้นทางสาธารณะดังกล่าว มิได้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าไร้ประโยชน์ตามที่ทางบริษัทกล่าวอ้าง ตรงข้ามเป็นเส้นทางสำคัญที่ประชาชนใน ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม อ.จะนะ และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงใช้สัญจรระหว่างตำบล และไปทำมาหากิน เช่น เดินทางไปทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงวัว หาของป่า นำกระจูดไปจักสาน ไปจับสัตว์น้ำใน"พรุ"รวมทั้งขนส่งสินค้าทางการเกษตร ฯลฯ อันเป็นเส้นทางสำคัญในการดำเนินวิถีเกษตรกรรมมายาวนานจนถึงปัจจุบัน หากมีการแลกเปลี่ยนก็สร้างความเดือดร้อน กระทบการทำมาหากินของชาวบ้านไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่
2. อบต.สะกอม ยืนยันและได้ชี้แจงไปยังหน่วยงานต่างๆ ภายหลังจากรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว ว่า อบต.สะกอม ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลที่ดินสาธารณประโยชน์ ในเขต ต.สะกอม รวมตลอดทั้งที่ดินซึ่งบริษัทขออนุญาตใช้ก็ไม่เคยรับการแจ้งหรือชี้แจง หรือเรียกจากบริษัทหรือหน่วยงานราชการใดๆ ให้นำชี้หรือระวางแนวเขตในการรังวัดที่ดินสาธารณประโยชน์แต่อย่างใดทั้งสิ้น
การรังวัดและกำหนดแนวเขตที่ดิน เพื่อกำหนดเนื้อที่ดินตามที่บริษัทขออนุญาต จึงไม่น่าจะถูกต้อง การกล่าวอ้างจากบริษัทถึงเนื้อที่ของเส้นทางดังกล่าวก็ไม่ถูกต้องแน่ชัด เนื่องจากการยื่นเรื่องขอแลกเปลี่ยนเมื่อ ส.ค.46 ระบุว่า มีเนื้อที่ 7-1-91 ไร่ ต่อมาการขอใช้ที่ดินเมื่อวันที่ 22 พ.ย.47 กลับระบุว่า 6-1-69 ไร่
รวมทั้ง อบต.สะกอม ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.47 ไม่เห็นชอบให้ใช้ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว และหากจะกล่าวอ้างถึงการเห็นชอบของนายก อบต.สะกอม ให้แลกเปลี่ยนเส้นทางเมื่อวันที่ 7 ส.ค.46 ก็เป็นเพียงความเห็นชอบของนายกองค์การฯ (ในขณะนั้น) เพียงผู้เดียวไม่ได้ผ่านการประชุมสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
เลี่ยง กม. ถมที่ปิดทางน้ำ-ป่าพรุ
3.การขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ของบริษัทดังกล่าว เป็นการใช้ในลักษณะเปลี่ยนแปลงสภาพของที่ดินจากเดิมที่มีลักษณะเป็นทางสาธารณะแต่กลับถมที่ดินบริเวณดังกล่าว และที่ดินโดยรอบ รวมทั้งพรุและทางระบายน้ำตามธรรมชาติ ให้เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ดินผืนเดียวกัน เพื่อเป็นที่ตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพนี้เป็นการกระทำที่ปิดกั้นทางระบายน้ำธรรมชาติ อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณรอบ ๆ พื้นที่ตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และทำให้ระบบนิเวศของป่าพรุได้รับความเสียหาย ซึ่งไม่อาจเยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ และแหล่งอาหารตามธรรมชาติ รวมทั้งพื้นที่ทำการประมงพื้นบ้านของประชาชนได้รับความเสียหายจนไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม
4.หลังบริษัทได้ดำเนินการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งตามระยะเวลาระบุว่า ขออนุญาตใช้ประโยชน์เพียง 5 ปีก็ขัดต่อความเป็นจริง เนื่องจากโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ แท้จริงแล้วจะต้องใช้ประโยชน์ในพื้นที่โรงแยกก๊าซไปอย่างน้อยที่สุด 20 ปี หากได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินบริษัทก็จะถม และปรับสภาพให้เป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ อันมิอาจปรับที่ดินคืนสู่สภาพเดิม เมื่อครบกำหนด 5 ปี ได้แน่นอน การขออนุญาตใช้ที่ดินโดยกำหนดระยะเวลาเพียง 5 ปี จึงเป็นการขอในลักษณะที่เลี่ยงกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์ของการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ต้องไม่นานเกินสมควร
กรรมการสิทธิฯระบุไม่ชอบด้วยกม.
5.เส้นทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว เป็นที่ดินซึ่งชาวมุสลิม "วะกัฟ" อันเป็นการอุทิศเพื่อพระผู้เป็นเจ้าให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน การที่บริษัทมาขอใช้ประโยชน์เป็นส่วนตนและเปลี่ยนสภาพจากทางสาธารณะเป็นพื้นที่ตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ย่อมขัดต่อหลักศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนมุสลิม
ประชาชนในชุมชนได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.อ.จะนะ ไว้แล้วและได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบเรื่องนี้ไปแล้วและทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รายงานการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.47
ปรากฏว่า บริษัทกระทำการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการใดๆ และยังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งให้บริษัทดำเนินการปรับสภาพที่ดินให้กลับคืนสู่สภาพเดิมจนถึงขณะนี้ก็ยังมิได้ดำเนินการ
อบต.ลงมติทวงคืนที่ดินสาธารณะ
ล่าสุดวันที่ 24 ก.ค.48 สภา อบต.สะกอม มีมติเป็นเอกฉันท์ต่อเรื่องดังกล่าวดังนี้
1.ดำเนินการนำที่ดินวะกัฟ ตามหลักศาสนาอิสลาม และที่ดินสาธารณประโยชน์กลับมาเป็นของชุมชน
2.คัดค้านประกาศของสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาจะนะ ฉบับลงวันที่ 30 มิ.ย.48 เรื่องบริษัท ทรานส์ฯ ขออนุญาตใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ในบริเวณสถานที่ก่อสร้างโรงแยกก๊าซ ตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินในหมู่ที่ 6 ต.สะกอม หลังจากมีมติให้ อบต.ดำเนินการดังนี้ คือ ยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ชุมชนยังใช้ประโยชน์และเป็นที่ดิน"วะกัฟ"จริง, ไม่อนุญาตให้บริษัททรานส์ฯใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวตามที่ร้องขอ
3.ให้ตรวจสอบกรณีการบุกรุกที่ดินของบริษัท ว่ามีหน่วยงานหรือบุคคลใดให้การอนุญาตและให้การสนับสนุน
4.ให้นำผลการตรวจสอบเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีคำสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและดำเนินการกับบริษัททรานส์ฯ ในข้อหาบุกรุก
5.ให้ยื่นฟ้องร้องกล่าวโทษกับหน่วยงานรัฐ ที่ให้การสนับสนุนบริษัทบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ถือเป็นการร่วมกระทำความผิด ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และฟ้องร้องกล่าวโทษกับบริษัททรานส์ฯในความผิดฐานบุกรุก
"วะกัฟ"บริสุทธิ์เกินกว่า"ทุนนิยม"
ทั้งนี้ หลักการในศาสนาอิสลามประกอบด้วย 3 ส่วนคือ หลักศรัทธา หลักคุณธรรมและหลักปฏิบัติ ซึ่งหลักการดังกล่าวครอบคลุมถึงการวะกัฟด้วยเช่นกัน การวะกัฟ ในความหมายตามศาสนาอิสลามนั้นหมายถึง การอุทิศเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
สำหรับองค์ประกอบของการวะกัฟ ประกอบด้วย ผู้วะกัฟ สิ่งที่ถูกวะกัฟ ถ้อยคำที่ใช้ในการวะกัฟ ซึ่งเป็นขณะที่ผู้กล่าวมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ผู้รับรู้การวะกัฟ (พยาน) ซึ่งทางวะกัฟในพื้นที่ดังกล่าวมีองค์ประกอบครบถ้วนทั้ง 4 ประการ ดังตัวอย่าง เช่น เส้นทางวะกัฟหมายเลข 1 มีนายหมีด มะสะเร๊ะ (จูหมีด) อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตลิ่งชัน อายุ 73 ปี และนายตะหา สะเม๊าะ (วะหา) อายุ 71 ปี เป็นพยานยืนยันว่ารับรู้ว่านายล่าเต๊ะ สะเม๊าะ และนายดอเล๊าะ สะเม๊าะ สองพี่น้อง
รวมทั้งนายตะเล๊ะ เป็นผู้วะกัฟเส้นทาง นอกจากนั้นยังเป็นผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ร่วม"ยกทาง"ที่ดินซึ่งนายเจะหลี เม๊าะมุ เป็นผู้วะกัฟ เมื่อประมาณ 55 ปีที่แล้วโดยมีหะยีหีม หมัดเส๊าะ (มูละดอยี) อดีตโต๊ะอิหม่ามบ้านตลิ่งชัน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเป็นบุคคลสำคัญในการบุกเบิกเส้นทางดังกล่าวและได้ชักชวนประชาชนกว่า 50 คนในหมู่บ้านตลิ่งชัน (เดิมเป็นหมู่ที่ 4 ต.บ้านนา) ต.ลิ่งชัน อ.จะนะ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมกันถางปรับปรุงพื้นที่เพื่อทำถนนและเส้นทางในพื้นที่ที่มีผู้วะกัฟ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้โดยสะดวก ทั้งยังเป็นเส้นทางสำคัญระหว่าง ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน อีกด้วย
ประชาชนทั่วไปจึงใช้ประโยชน์จากเส้นทางวะกัฟดังกล่าวในการสัญจรไปทำมาหากิน รวมทั้งขนส่งสินค้าทางการเกษตรอันเป็นเส้นทางสำคัญในการดำเนินวิถีเกษตรกรรมมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน โดยยอมรับและเข้าใจตรงกันมาจนถึงลูกหลานรุ่นหลัง รวมทั้งยืนยันได้ว่า "บรรพบุรุษได้วะกัฟเอาไว้"
การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งกล้าปฏิเสธทั้งที่รู้ว่า "ที่ดินนั้นเป็นเส้นทางวะกัฟ และอนุญาตให้แลกเปลี่ยนได้เพราะเห็นแก่สิ่งใดก็แล้วแต่" ถือว่า "เป็นบาปตามหลักการศาสนาอิสลาม หากบุคคลใดยึดครองที่ดิน (วะกัฟโดยอธรรม) แผ่นดินนั้นเจ็ดชั้นจะทับร่างและพันคอเขา" ซึ่งท่าน "รสูลุลลอฮฺ ศ็อลฯ" เคยกล่าวไว้ว่า "สิ่งที่ถูกวะกัฟไว้จะขายมันไม่ได้ จะยกให้ไม่ได้ และจะรับมรดกกันไม่ได้"
ดังนั้น กรณีการบุกรุกทางสาธารณประโยชน์ หรือทางวะกัฟ ภาครัฐและบริษัทผู้รับผิดชอบโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซหาได้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหา ดำเนินโครงการให้อยู่บนความถูกต้อง เพียงแต่หาทางหลบเลี่ยงและสร้างภาพให้เกิดความชอบธรรมเพื่อให้ได้ดำเนินโครงการต่อไปเท่านั้น
ไม่เพียงจะอาศัยช่องทางตามกฎหมายทุกวิถีทางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัท ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยไม่ใส่ใจต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว ยังละเลยต่อหลักการทางศาสนา วิถีชุมชนอันมีค่าเกินกว่าจะเอาแนวคิดจากรัฐมาจัดการได้ทั้งหมด การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ จึงก่อให้เกิดความเสียหาย ความแตกแยก ความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างไม่มีทีท่าจะหยุดยั้ง