xs
xsm
sm
md
lg

วารสารศาสตร์ตำรับท่านผู้นำ ว่าด้วยเรื่องเห่าๆ หอนๆ

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ในช่วงเกือบๆ ห้าปีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีนี้ คนไทยได้ประสบกับเรื่องราวแปลกๆ นานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งดังที่ได้รับรู้จาก "คำพูด" ของท่านบ่อยๆ ทั้งในส่วนที่พาดพิงถึงองค์กรระหว่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศเจ้าภาพผู้จัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ส่วนผู้นำทางการเมือง ชุมชนวิชาชีพ การศึกษา และการวิจัยระดับสูง รวมทั้งบุคคลประเภทอื่น เช่น "ผู้ก่อการร้าย" ในภาคใต้ "ราษฎรอาวุโส" หรือแม้กระทั่งราษฎรทั่วๆ ไปภายในเมืองไทยนั้น มักจะตกเป็นเป้าหมายแห่งการต่อว่าต่อขานแบบไม่เกรงใจใครเลยของท่านเป็นประจำอยู่แล้ว

จะด้วยเหตุผลกลใดบ้างก็ยังต้องวิเคราะห์กันต่อไป ทว่าข้อมูลเท่าที่มีๆ อยู่ ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการกล่าวได้แล้วว่าท่านมีความสนใจส่วนตัวในการพัฒนาวาทศิลป์แบบร้อนๆ เป็นพิเศษ ซึ่งน่าจะสามารถสรุปได้อย่างไม่คลาดเคลื่อนเลยว่าท่านคงจะเป็นผู้นำทางการเมืองที่สามารถใช้ "คำพูด" พลิกผันอุณหภูมิทางสังคมได้อย่างมหัศจรรย์ ทั้งนี้ คงนับตั้งแต่มีการก่อตั้งบ้านเมืองนี้ขึ้นมาเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นยุคใด

พูดง่ายๆ ดูไปแล้วก็คล้ายๆ กับว่าคนไทยกว่าสิบเก้าล้านคนนั้น ได้พร้อมใจกันเลือกพรรคไทยรักไทยให้มาเป็นรัฐบาลที่ตั้งหน้าตั้งตาด่าใครๆ เล่นอย่างนั้นแหละ สงสัยว่าปรากฏการณ์นี้อาจจะสามารถติดอันดับสูงๆ ใน Book of Records ระดับโลกได้โดยแทบจะไม่มีคู่แข่งเลยก็ว่าได้

ตัวอย่างเช่น ในช่วงเพียงไม่กี่วันของ พ.ศ. 2548 "เอแบคโพลล์" ก็สามารถสำรวจพบว่าประชาชนจำนวนมากได้แสดงความไม่พึงพอใจกับ "วาทะ" ของท่านไม่ใช่น้อยๆ ที่ติดสามอันดับแรกคือ "จะเลือกดูแลจังหวัดที่เลือกไทยรักไทยยกจังหวัด" "ยุบสภา ลาออก รอชาติหน้า" และ "ไม่ใช่ถึงเวลา แล้วก็มีคนไปนั่งเห่าแถวสวนลุมฯ"

ในขณะเดียวกัน การสำรวจครั้งเดียวกันก็พบว่าประชาชนมีความพอใจใน "วาทะ" ต่างๆ ของท่านเป็นพิเศษด้วย สามอันดับแรกคือ "ผมจะรับผิดชอบเอง ถ้าทำไม่ดี 3 ปีข้างหน้าก็ไม่ต้องเลือกกลับเข้ามาอีก" "ถ้าผมทำผิดก็ดำเนินคดีกับผมได้เลย" และ "ถ้าประชาชนไม่ต้องการแล้ว ขอโทษนะ...ผมไม่หน้าด้านอยู่" ในที่นี้ จุดที่น่าสังเกตก็คือ วาทะอันเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่หลักฐานแห่งความประทับใจในทางบวกเท่าไรนัก ทว่าล้วนส่อความหมายไปในทิศทางที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสุดของยุคที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลทั้งสิ้น

แน่นอน ในแง่หนึ่ง วาทะเหล่านี้คงจะเป็นผลมาจากความรู้สึกอึดอัด รำคาญ หรือแม้กระทั่งโมโหของท่านที่ถูกกระตุ้นด้วยคำพูดและการกระทำที่ไม่น่ารักของใครๆ สารพัด มิหนำซ้ำ นักจิตวิทยาชื่อดังท่านหนึ่งยังถือเป็นธุระส่วนตัวออกมาตั้งข้อสังเกตในที่สาธารณะในช่วงก่อนวันปีใหม่นี้เองว่า ท่านส่ออาการของคนที่กำลังไม่สบายในทางจิตเวช สมควรที่จะต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างเร่งด่วนอีกด้วย

ในขณะที่เรายังไม่สามารถแน่ใจได้ว่า จิตแพทย์เก่งๆ ที่มีอยู่จำนวนไม่ใช่น้อยๆ ในกรมสุขภาพจิตของกระทรวงสาธารณสุข ท่านใดบ้าง จะมีความแก่กล้าทางวิชาการมากพอที่จะออกมาตั้งตัวเป็นผู้ตรวจสอบหรือยืนยันข้อสรุปที่น่าตกใจเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีดังกล่าวนั้นหรือไม่ เมื่อเร็วๆ นี้เอง ท่านก็อดรนทนไม่ไหว ไม่ยอมเงียบอยู่เฉยๆ ดังที่เคยกระทำมาเป็นระยะเวลานานนับเดือน ที่ว่ากันว่าเป็นการกระทำเพื่อให้สอดรับกับอิทธิพลของดาวพุธดังที่เคยอ้าง (วันนี้ดาวพุธกำลังจรอยู่ในราศีธนู) ทว่ากลับออกมาแสดงความเห็นใหม่ๆ อีกสารพัดที่ล้วนประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการ "ก่อการร้าย" ต่อความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างปีระกากับปีจออย่างหนักหน่วง จนก่อให้เกิดความคับข้องใจถึงขนาดที่มีคนประกาศว่าตนจะนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลสถิตยุติธรรมว่า คำพูดส่วนหนึ่งของท่านเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลยทีเดียว

ตามที่ท่านได้เอ่ยถึง "การเห่า" ในสวนลุมฯ ด้วยอารมณ์รุนแรงจนสื่อมวลชนสามารถบรรยายได้ว่าเป็นอาการของภาวะ "สติแตก" โดยเป็นการแสดงความไม่พอใจของท่านต่อการจัดรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ฉบับสัญจรคุณสนธิ ลิ้มทองกุล อันเป็นปรากฏการณ์ที่ทั้งตอกย้ำและสร้างสรรค์ "วิกฤตความชอบธรรม" ให้แก่รัฐบาลพรรคเดียวของพรรคไทยรักไทยนั้น

ถึงแม้ความตั้งใจของท่านในการบรรจงเลือกใช้คำกริยาชนิดนี้ดูจะเน้นหนักไปในทางที่ต้องการดูแคลน ในความเป็นจริง การด่าครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของเจ้าของวาทะเท่าไรนัก เพราะคุณสนธิเอง รวมทั้งสื่อมวลชนต่างๆ โดยเฉพาะนักหนังสือพิมพ์ทั้งหลายนั้น คงจะไม่มีใครโกรธขึ้งอะไรท่านนักหนา ทั้งนี้ ก็เพราะว่าวงการหนังสือพิมพ์มักจะมีความภาคภูมิใจกันว่าการเป็น "หมาเฝ้าบ้าน" (watchdog) คือหน้าที่ขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของตนอยู่แล้วนั่นเอง

ในแง่หนึ่ง การที่ท่านกล่าวหาว่าคุณสนธิไปเห่าที่สวนลุมฯ น่าจะถือได้ว่าเป็นคำชมเสียด้วยซ้ำไป เพราะสำหรับ "หมาเฝ้าบ้าน" ขนานแท้และดั้งเดิมนั้น เมื่อได้เห็นหัวขโมยแอบๆ ซ่อนๆ เข้ามาฉกฉวยข้าวของภายในบ้านของตน มันก็ต้องเห่าให้ดังๆ ลูกเดียวเท่านั้น ยิ่งหัวขโมยไม่ได้ใส่ใจกับข้าวของเล็กๆ น้อยๆ เพียงเพื่อการประทังชีวิต ทว่ามีความมานะเหลือเกินที่จะเลือกๆ เอาแต่ข้าวของชิ้นใหญ่ๆ โตๆ ราคาแพงๆ "หมาเฝ้าบ้าน" ก็ยิ่งต้องเห่ากันขนานใหญ่เป็นธรรมดา

ในกรณีของคุณสนธิ หากจะต้องเลือก เขาอาจจะใช้คำว่า "เห่าจนสุดฤทธิ์สุดเดช" ทั้งนี้ ก็เพื่อส่งสัญญาณให้หมาตัวอื่นๆ ได้รับรู้ร่วมกัน เพื่อที่จะได้มารวมหัวกันเห่าให้ดังสนั่นลั่นเมืองจนทะลุโลกไปเลยนั่นแหละ เพราะสำหรับหัวขโมยรายสำคัญๆ นั้นบางทีการเห่าเดี่ยวๆ เพียงตัวเดียวอาจจะเอาไม่อยู่ ต้องระดมเอาสรรพกำลังทั้งหมดเท่าที่จะคิดออกมาช่วยกันตะลุมบอนเลยทีเดียวแหละ

"ข่าวดี" ก็คือในตอนนี้การระดมสรรพกำลังดังกล่าวของคุณสาธิยังคงวนเวียนอยู่เพียงภายในประเทศเป็นหลัก ยังไม่มีความจงใจที่จะออกแบบและจัดการข้อมูลเพื่อเป้าหมายที่จะเผยแพร่ออกไปไกลๆ ถึงระดับโลกอย่างจริงจัง เมื่อถึงเวลานั้น เมืองไทยก็จะกลายเป็นแหล่งข่าวที่ดังไปทั่วโลกจนแทบจะไม่เว้นแต่ละวันเลยแหละ แต่ก็ไม่มีอะไรควรกังวลนัก เพราะการประจัญบานระหว่างสื่อกับรัฐนั้นเป็นสัญญาณว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยกำลังรุ่งโรจน์ ความคิดแบบนี้จะผิดถูกอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนมากแล้ว นักทฤษฎีฝรั่งจะเชื่อกันอย่างนี้

ที่จริงแล้ว "หมาเฝ้าบ้าน" นั้นเป็นปรัชญาที่กำเนิดขึ้นมาจากโลกตะวันตก นักประวัติศาสตร์ว่าด้วยพัฒนาการของวัฒนธรรมประชาธิปไตยคิดกันว่าการขุดคุ้ยหาร่องรอยแรกๆ ของความเชื่อในทำนองนี้ สามารถย้อนไปไกลถึงช่วงปลายๆ คริสต์ศตวรรษที่สิบเจ็ดเลยทีเดียว

ในช่วงกว่าสองศตวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีความหมายที่แตกต่างกันบ้างในที่ต่างๆ ของโลก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐนั้นๆ มีประเพณีด้านเสรีภาพในการแสดงออกในระดับใด ในส่วนของโลกตะวันตกเองนั้น ปรัชญา "หมาเฝ้าบ้าน" ได้รับการพัฒนาให้รุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมากด้วยความก้าวหน้าของวารสารศาสตร์แนวสืบสวน (investigative journalism) ทั้งนี้ ด้วยความช่วยเหลือของพัฒนาการว่าด้วยทฤษฎีประชาธิปไตยในยุคหลังๆ เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ อันยังผลให้เกิดตำราว่าด้วยวารสารศาสตร์แนวสืบสวนมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ในปัจจุบัน ประเทศที่มีความเจริญทางการเมืองมากๆ นั่นก็คือ การเมืองภาครัฐถูกถ่วงดุลด้วยการเมืองภาคประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ มักจะมีการจัดตั้งสมาคมนักข่าวแนวสืบสวนขึ้นมาเป็นการต่างหาก เพราะนักข่าวประเภทนี้เขามีความภาคภูมิใจในตนเองเป็นพิเศษว่าตนไม่ใช่นักข่าวธรรมดาๆ

สำหรับท่านที่สนใจใคร่ทราบว่า "วารสารศาสตร์แนวสอบสวน" (อันเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับ การทำหน้าที่เป็น "หมาเฝ้าบ้าน" อย่างมีประสิทธิภาพ) ว่ามีความตื้นลึกหนาบางอย่างไรบ้าง ก็ขอเชิญไปค้นห้องสมุดอ่านกันเอาเองจากหนังสือที่ผมเป็นผู้เขียนเล่มหนึ่งก็ได้คือ ระหว่างกระจกกับตะเกียง กุศโลบายสื่อศึกษา (สำนักพิมพ์คบไฟ กทม : พ.ศ. 2542) ในโอกาสนั้น ผมได้เขียนเอาไว้สามเรื่อง ความยาวรวมกันทั้งสิ้น 26 หน้า กล่าวคือ ในแง่นิยามทางวัฒนธรรมและข้อพิจารณาทางจริยธรรม อีกทั้งยังได้ยกเอาแนวทางการตรวจสอบสถาบันทางการเงินด้วยวารสารศาสตร์แนวสืบสวนมาอธิบายเป็นนทัศน์อุทาหรณ์ด้วย

จุดที่น่าสังเกตเหมือนกันก็คือโอกาสที่พูดถึงการเห่านั้นเกิดขึ้นในวันคริสต์มาส ณ อินดอร์สเตเดียมหัวหมาก โดยผู้รับคำเชิญมาร่วมงานหลายพันคนล้วนเป็นพนักงานคนขับแท็กซี่ ข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ระบุว่ามีการกล่าว "คำปราศรัย" ในลักษณะปลุกใจ โดยมีการจับฉลากชิงรางวัลเป็นบ้านและรถยนต์ ที่ว่ากันว่ามาจาก "เงินส่วนตัว" ทว่าคำถามก็คือการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในบทบาทของนายกรัฐมนตรี อันเป็นตำแหน่งทางการเมืองผู้มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของคนทั้งประเทศ ฉะนั้น การเลือกปฏิบัติด้วยการให้ความเอาใจใส่กับบุคคลบางกลุ่มเป็นพิเศษอย่างนี้มีความหมายอะไรบ้าง เช่น ในแง่ของจริยธรรมและวาระซ่อนเร้น

ถ้าสื่อมวลชนต่างๆ เช่นคุณสนธิเกิดนึกอยากจะจัดงานในทำนองเดียวกัน โดยเชิญแม่ค้าแผงลอยและหาบเร่มาร่วมกันจับฉลากชิงรางวัลเป็นทองคำแท่งและอั๋งเปาด้วย "เงินส่วนตัว" ในวันตรุษจีนที่จะมาถึงนี้ แล้วก็มีการกล่าวคำปราศัยในลักษณะปลุกใจบ้าง จะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อตกถึงวันปีใหม่ ท่านผู้นำก็สร้างความฮือฮาอีกครั้งหนึ่งด้วยการออกมา "ขอร้อง" ไม่ใช่ "ก้าวล่วง" ว่าสื่อมวลชนไทยว่าอย่าทำตัวเป็น "ฝ่ายค้าน" ด้วยการตรวจสอบรัฐบาล ทั้งนี้ โดยขยายความว่าสื่อต้องเป็นกลาง และมีหน้าที่เพียงเสนอข่าวให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ตัดสินเอง ทั้งนี้ ท่านระบุด้วยว่าต้องไปเปิด "ตำรานิเทศศาสตร์" กันใหม่ ทว่าท่านก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นตำราเล่มไหนอย่างจะจะ

นอกจากนี้ ท่านยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าเมืองไทยเป็น "สังคมเล็ก" จึงขอให้สื่อมวลชนไทยลดการนำเสนอ "ข่าวการเมือง" ลงอย่างสำคัญ นัยว่าการนำเสนอข่าวการเมืองมากๆ จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่มีประโยชน์อะไร โดยท่านเสนอให้สื่อมวลชนปรับเปลี่ยนนโยบายด้านข่าวให้สร้างสรรค์ขึ้น นั่นก็คือ หันไปให้น้ำหนักกับข่าวประเภทอื่นอย่างเช่นเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น

ในโอกาสเดียวกันนั้น ท่านยังได้เอ่ยถึง "การเมือง" ในความหมายที่ค่อนข้างจำกัด เช่น "ไอ้เรื่องมุ้งต่างๆ ไม่มีปัญหา ยกมือทีไรก็เรียบร้อย ไม่มีปัญหา ไม่ต้องห่วง ผมดูแลได้"

ในความเป็นจริง การเมืองคงไม่ได้จำกัดอยู่กับเรื่องมุ้งๆ อย่างนั้น ทว่าเป็นเรื่องราวว่าด้วยระบบการจัดการผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม (ทั้งปัจจุบันและอนาคต) ของสังคมทั้งหมดมากกว่า

หากการจัดการดังกล่าวของรัฐบาลสามารถก่อให้เกิดความพอใจกับ "สาธารณชนทางการเมือง" อย่างกว้างขวาง ข่าวการเมืองก็ย่อมมีไม่มากนัก เพราะใครๆ ย่อมจะไปสาละวนอยู่กับการนั่งนับผลประโยชน์ที่ตนเองได้รับอย่างเพลิดเพลิน ไม่มีเวลามาสนใจกับการทะเลาะเบาะแว้งเท่าไรนัก ข่าวการเมืองก็จะฝ่อไปเอง บ้านเมืองก็จะเต็มไปด้วย "ข่าวดี" ที่เต็มไปด้วยการเฉลิมฉลองต่างๆ นานา อุตสาหกรรมแห่งความบันเทิงและระดับการบริโภคนานาชนิดก็จะพุ่งสูงขึ้นท่ามกลางตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนห้ามไม่อยู่

แน่นอน ในสังคมที่มีความสุขทางวัตถุและจิตวิญญาณอย่างนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะผู้บริหารของท่านย่อมตกเป็นเป้าแห่งการสรรเสริญด้วยถ้อยคำอันไพเราะที่แม้กวีใหญ่ๆ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ต้องอดมิได้ที่จะชื่นชมในความสามารถของประชาชนในการสร้างสรรค์ถ้อยคำอันวิจิตรเพื่อส่งมอบให้แก่รัฐบาลที่เขารักใคร่

ฉะนั้น การที่มีข่าวการเมืองมากๆ ก็แปลว่าการจัดการผลประโยชน์ต่างๆ กำลังมีปัญหามากกว่า คงไม่ใช่เป็นเพราะพวกสื่อมวลชนเป็นโรคจิตจนชอบไปขุดคุ้ยหาความขัดแย้งมาทำเป็นสินค้าขาย จริงๆ แล้ว สื่อมวลชนก็เป็นมนุษย์เดินดินธรรมดาๆ ฉะนั้น เขาก็คงจะอยากได้รัฐบาลดีๆ ที่สามารถสร้างสรรค์และแจกจ่ายความมั่งคั่งให้กระจายไปถึงสื่อมวลชนเองให้มากขึ้นด้วย จะได้ไปเอาไปเสพสุขกันให้มากขึ้นเรื่อยๆ บ้าง ก็เหมือนๆ กับบรรดานักการเมืองที่มหาเศรษฐีนั่นแหละ

ตามข้อเสนอของท่านผู้นำที่ให้สื่อมวลชนลดความสนใจกับข่าว "การเมือง" ลงนั้น นอกจากจะมีปัญหาในแง่ความจำกัดอย่างยิ่งของนิยามของคำว่า "การเมือง" แล้ว ดูเหมือนว่าจะมีปํญหาด้วยว่า ตรรกะแบบนี้ส่อความหมายว่าพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลอยู่ก็คือ "เจ้าของบ้าน" นั่นเอง ไม่ใช่ผู้อาสามาจัดการผลประโยชน์ชั่วคราวตามคำมั่นสัญญาในช่วงการเลือกตั้ง

ด้วยตรรกะเช่นนี้ ไม่ว่า "เจ้าของบ้าน" จะหยิบฉวยอะไรไปจากบ้านเมือง ก็ต้องถือว่าอะไรๆ ล้วนเป็นของตนเองทั้งสิ้น สามารถกระทำได้โดยไม่มีใครมีสิทธิ์ทักท้วงได้เลย เนื่องจากทุกอย่างเป็นข้าวของภายในบ้านของตนเอง รัฐบาลนึกจะทำอะไรอย่างไรก็ได้สบายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับความไว้วางใจจากคะแนนเสียงตั้งกว่าสิบเก้าล้าน อันเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงทั้งหมดนั้น จึงย่อมไม่มีใครมีสิทธิ์ใดๆ มากล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นหัวขโมยเป็นอันขาด

ข้อเสนอดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมในทางทฤษฎีได้เหมือนกัน แต่ระบบตรรกะภายในน่าจะมีอะไรขัดแย้งกัน เพราะระบบการเมืองจะเปิดก็ต้องเปิด จะปิดก็ต้องปิด จะลักปิดลักเปิดเอาตามความสะดวกของผู้นำทางการเมืองคงไม่ได้

ด้วยประการฉะนี้ หลังจากการเลือกตั้งแบบเปิดสิ้นสุดลงแล้ว การเมืองต้องปิดลงทันที ท่านจึงเสนอว่าหมาไม่มีสิทธิ์ใดๆ ที่จะมาเห่าเจ้าของบ้านได้เลย เพราะการเห่านั้นมีลักษณะไม่เป็นมิตร คล้ายๆ กับเป็นการตะโกนให้ "เจ้าของบ้าน" ตัวจริงออกมาจัดการกับความไม่ชอบมาพากลที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านของตน ทั้งนี้ อาจจะด้วยการไล่จะเพิดหรือแม้กระทั่งการไล่กัดให้เจ็บๆ ด้วยก็ได้

ตามแนวความคิดเช่นนี้ อย่างดีๆ สื่อมวลชนจะทำได้ก็แต่การหอนเท่านั้น จากการเก็บข้อมูลด้วยการพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่รักหมาหลายๆ คน เขาบอกผมว่า หมาจะเห่าก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าตนเองกำลังพบกับอะไรที่ไม่ชอบมาพากลสักอย่าง ทว่าตอนที่หอนนั้น หมาจะทำด้วยเหตุผลเพียงสองประการเป็นสำคัญ

ในประการแรก เขาหอนก็เพราะว่าเขากำลังสร้างสมดุลยภาพทางอารมณ์ให้แก่ตนเอง คล้ายๆ กับว่ารู้สึกเครียดหรืออึดอัด พอหอนเสียนิดหน่อย ก็จะรู้สึกสบายตัวสบายใจขึ้น

ในประการต่อมา เขาหอนก็เพราะกำลังพบกับอะไรที่ออกจะประหลาด เช่น เห็นพลังเหนือธรรมชาติอย่างผีเป็นต้น เมื่อหอนก็แปลว่าเป็นการแสดงความเป็นมิตร ขอให้ต่างคนต่างอยู่ อย่าได้ยุ่งอะไรกันเลย อะไรในทำนองนี้

ถ้าสื่อมวลชนของเราไม่ยอมเห่า เอาแต่หอนอย่างเดียว จะเกิดอะไรขึ้นในเมืองไทยและคนไทยต่อไป ใครจะร่ำรวยขึ้นบ้าง และใครจะยากจนลงบ้าง นี่เป็นปริศนาที่วารสารศาสตร์ตำรับท่านผู้นำจะต้องอธิบายให้ชัดเจน ก่อนที่จะได้รับการพิจารณานำไปใช้อย่างกว้างขวางต่อไป ในระหว่างนี้ ก็ฟังๆ เสียงเห่าไปก่อน

และหากรัฐบาลอยากจะให้เสียงเห่าเบาๆ ลงไป และเสียงหอนดังขึ้นเรื่อย ผู้เกี่ยวข้องในฝ่ายรัฐบาลก็น่าจะลงทุนมากกว่านี้ ด้วยการระดมทรัพยากรต่างๆ มาช่วยกันเรียบเรียงข้อมูลและบทวิเคราะห์ออกมาแจกจ่ายสื่อมวลชนอย่างกว้างขวางเสียเลยก็ได้ว่า ในแต่ละวัน นโยบายต่างๆ ของตนได้ก่อให้เกิดความสุขสบายแก่ใครบ้าง และสร้างความทุกข์ทรมานแก่ใครบ้าง และจะทำอย่างไรกับคนที่ได้รับความทุกข์ทรมานนั้นๆ ด้วยวิธีการอย่างไรและเมื่อไร

จริงๆ แล้ว ใครๆ ย่อมเลือกที่จะฟังเสียงเห่าให้เป็นอะไรที่ไพเราะราวกับเสียงจากสวรรค์ก็ได้ และในทำนองเดียวกัน เสียงหอนอันโหยหวนนั้นอาจจะเป็นอะไรที่น่าหวาดหวั่นเสียด้วยซ้ำไป ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็ขึ้นอยู่กับโลกทัศน์ของคนฟังเองนั่นแล
กำลังโหลดความคิดเห็น