xs
xsm
sm
md
lg

การสังหารภาพลักษณ์และการทำลายบุคลิกภาพ

เผยแพร่:   โดย: ลิขิต ธีรเวคิน

การสังหารภาพลักษณ์เป็นการแปลอย่างกล้อมแกล้มจากภาษาอังกฤษ ซึ่งได้แก่ character assassination การสังหารภาพลักษณ์เป็นกระบวนการของการทำลายล้าง เพื่อให้ภาพลักษณ์ที่ดีของบุคคลสำคัญในสังคม เช่น นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ ดาราภาพยนตร์ หรือคนมีชื่อเสียงในสังคม หรือในวิชาชีพต่างๆ ถูกทำลายลง วิธีการก็คือ คนซึ่งมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นที่ยอมรับ เป็นที่เคารพนับถือ เป็นที่ชื่นชม อาจจะถูกสังหารภาพลักษณ์ได้โดยศัตรูคู่แข่ง หรือผู้ที่อิจฉาตาร้อน หรือเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมือง เป็นต้นว่า บุคคลที่คนทั่วไปเชื่อว่าซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง ก็จะถูกสังหารภาพลักษณ์ด้วยการปล่อยข่าวว่ามีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการยักยอกเงินของทางราชการ การรับสินบนในโครงการประมูล หรือแม้กระทั่งในเรื่องความประพฤติส่วนตัว

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ก็เพื่อเป็นการสังหารภาพลักษณ์ของบุคคลผู้นั้น จุดประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือและทำให้เกิดความลังเลใจในหมู่คนในสังคม ความลังเลใจและความสงสัยที่เกิดขึ้นนั้นเมื่อมีการกล่าวย้ำหรือมีเหตุการณ์ที่ซ้ำเติมโดยเผอิญ ภาพลักษณ์ของบุคคลผู้นั้นก็จะถูกมองในทางลบ และนานวันส่วนที่เป็นทางบวกของภาพลักษณ์ก็จะค่อยๆ ถูกแปรเปลี่ยนเป็นภาพลักษณ์ในทางตรงกันข้าม ความเคารพนับถือก็จะกลายเป็นการดูถูกดูแคลน ผิดหวัง รวมตลอดทั้งเจ็บใจที่หลงผิด

ในทางการเมือง การสังหารภาพลักษณ์เกิดขึ้นโดยฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมือง ซึ่งอาจจะมีการกล่าววาจาที่เป็นเท็จในที่สาธารณะ โดยยอมเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท และกว่าศาลจะพิจารณาตัดสินคดีคนทั้งสังคมก็อาจจะถูกจูงให้เชื่อในภาพลักษณ์ที่ผิดๆ แล้ว

ในทางธุรกิจ บริษัทที่ต้องการจะทำลายภาพลักษณ์ของบริษัทคู่ต่อสู้ ก็อาจจะใช้วิธีทำลายภาพลักษณ์ของผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหาร เป็นต้นว่า อาจจะมีการปล่อยข่าวว่าเจ้าของหรือผู้บริหารนั้นเคยต้องคดีอาญามาก่อน หรือเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย แต่ได้ใช้เงินเป็นใบเบิกทางจนสามารถแปลงสัญชาติเป็นคนชาตินั้นได้ บางครั้งก็อาจจะมีการปล่อยข่าวว่าบุคคลผู้นั้นมีความวิปริตในพฤติกรรมทางเพศ มีจิตใจเหี้ยมโหด ฯลฯ

ที่กล่าวมานี้คือกระบวนการที่จะสังหารภาพลักษณ์ของบุคคลเพื่อผลประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง เป็นกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง และบ่อยครั้งผู้เสียหายก็ไม่สามารถที่จะหาทางแก้ไขได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ถ้าเป็นกรณีเข้าข่ายหมิ่นประมาทก็อาจจะพึ่งกระบวนการทางศาลยุติธรรม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มีการปล่อยข่าวโดยวิธีการใต้ดินก็ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้มากกว่านั้น

การปล่อยข่าวลือ การสร้างหลักฐานเท็จ การแจกใบปลิวโจมตีบุคคลที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการจะทำลาย เป็นวิธีการปกติทั่วไป แต่ที่น่าสังเกตมากที่สุดก็คือ กระบวนการดังกล่าวนั้นทำได้อย่างสัมฤทธิ์ผลโดยสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนมีขอบเขตที่กว้างขวาง เช่น สิ่งตีพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เมื่อปล่อยข่าวออกไปก็จะได้รับการอ่านหรือชมโดยคนจำนวนมาก แต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีคนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าข่าวที่ปล่อยออกมานั้นเป็นความจริง ยิ่งถ้าเป็นกรณีที่บุคคลที่ปล่อยข่าวออกมาเป็นที่น่าเชื่อถือในสังคม ก็จะมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้การสังหารภาพลักษณ์ก็จะบรรลุเป้าหมายจนกว่าจะมีหลักฐานมายืนยันและพิสูจน์เป็นอื่น แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้วกับบุคคลผู้นั้น

การสังหารภาพลักษณ์ (character assassination) เป็นเรื่องที่คาดหวังได้ในทางการเมือง แต่โดยทั่วไปจะเป็นเรื่องปกติ เพราะนี่คือกระบวนการที่มีอยู่ในการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูการเลือกตั้ง หรือเมื่อมีจุดประสงค์เพื่อจะทำลายล้างคู่ต่อสู้ในทำนองเลื่อยขาเก้าอี้ ก็จะใช้วิธีปล่อยข่าวหรือใช้การกล่าววาจาเพื่อสังหารภาพลักษณ์ของบุคคลผู้นั้น ผู้ที่จะถูกกระทำในกระบวนการสังหารภาพลักษณ์มักจะเป็นผู้ที่มีความสำคัญทางสังคม มีฐานะ มีตำแหน่งการงาน และมีชื่อเสียง

การทำลายบุคลิกภาพ (personality destruction) อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยความตั้งใจของผู้ที่มุ่งทำลายบุคลิกภาพของผู้อื่น หรือเกิดขึ้นโดยสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาชีพการงานซึ่งอยู่ในองค์กรจัดตั้ง โดยทั่วไปมนุษย์ต้องการมีความอิสระ มีความคิดของตัวเอง มีความเคารพตนเอง และรู้สึกว่าตนมีคุณค่า ที่สำคัญมนุษย์ต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเองในการมองปัญหา วิเคราะห์ปัญหา และแก้ปัญหา กล่าวอีกนัยหนึ่งในการทำงานและในการตัดสินใจนั้น มนุษย์ต้องการมีความอิสระในระดับหนึ่ง

แต่เมื่อมนุษย์ต้องอยู่ในองค์กร บุคลิกภาพที่มีอยู่เดิมก็จะถูกทำให้แปรเปลี่ยนโดยค่านิยมและปทัสถานขององค์กรนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปอยู่ในองค์กรที่เป็นองค์กรจัดตั้ง ยกตัวอย่างเช่นองค์กรทหารซึ่งจะต้องมีการเน้นการมีระเบียบวินัย พูดจาฉะฉาน กระฉับกระเฉงว่องไว ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มีกรอบความคิดที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม ปักใจเชื่อมั่นอยู่ในกฎเกณฑ์บางอย่าง เมื่อเข้าไปอยู่ในองค์กรดังกล่าวเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งก็จะผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงความคิด เปลี่ยนแปลงวิธีคิด เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ จนส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เรียกว่าเป็นการละลายพฤติกรรม บุคคลผู้นั้นก็จะไม่เป็นตัวของตัวเองอีกต่อไป หรือถ้าจะมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่บ้างก็จะถูกบดบังโดยบุคลิกที่เกิดขึ้นใหม่ ดังนั้น บุคลิกที่เกิดขึ้นใหม่จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการทำลายบุคลิกภาพเดิม

ในองค์กรการเมืองก็เช่นเดียวกัน สมาชิกที่อยู่ในองค์กรการเมืองจะต้องอยู่ในกรอบของอุดมการณ์ ระเบียบวินัย การมองปัญหา วิธีคิด ฯลฯ เมื่ออยู่ในองค์กรการเมืองถึงระดับหนึ่งก็จะกลายเป็นคนละคนกัน กรณีดังกล่าวมานี้จะเห็นเด่นชัดในกรณีที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคนาซีในเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง การเข้าสู่องค์กรทางการเมืองจึงเป็นการสูญเสียบุคลิกภาพดั้งเดิม โดยบุคลิกภาพดั้งเดิมจะถูกทำลายจากกระบวนการกล่อมเกลาเรียนรู้ รวมทั้งจากพฤติกรรมของคนร่วมองค์กร

การทำลายบุคลิกภาพยังเกิดขึ้นกับคนที่เข้าสู่องค์กรอื่นๆ เช่น องค์กรธุรกิจ องค์กรศาสนา ฯลฯ ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าบุคคลใดมีบุคลิกภาพที่แตกต่างจากบุคลิกภาพที่เกิดขึ้นเมื่อได้เข้าไปอยู่ในองค์กรนั้นอย่างมาก ก็อาจนำมาซึ่งความไม่สบายใจและปัญหาในการปรับตัว ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ชอบคิดอิสระ เป็นเจ้าความคิด อยากรู้อยากเห็น ขวนขวายหาความรู้ตลอดเวลา เมื่อเข้าไปอยู่ในองค์กรที่ต้องคิดและเชื่ออย่างศรัทธาโดยไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น หรือมีความกังขาใดๆ บุคคลผู้นั้นก็จะเกิดความอึดอัดเพราะค่านิยมขององค์กรนั้นขัดกับบุคลิกภาพของตนโดยสิ้นเชิง ถ้าบุคคลผู้นั้นยังดันทุรังอยู่ในองค์กรดังกล่าวก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีความสุข และอาจส่งผลถึงภาวะทางสุขภาพจิตได้ด้วย

นอกจากการสูญเสียบุคลิกภาพเนื่องจากสภาพแวดล้อมในองค์กรแล้ว ปัจเจกบุคคลที่อยู่รอบตัวก็อาจมีผลกระทบต่อบุคลิกภาพของคนผู้นั้น รวมตลอดทั้งสภาพแวดล้อมด้วย ตัวอย่างเช่น คนซึ่งมีชีวิตครอบครัวกับบุคคลหนึ่งก็จะถูกอิทธิพลของอีกคนหนึ่งครอบงำ จนบางครั้งเปลี่ยนนิสัยและบุคลิกภาพเหมือนกับบุคคลนั้น หรือในกรณีที่มีชีวิตอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความรุนแรง การส่งเสียงดังในการเจรจาพาที ไม่ช้าไม่นานบุคคลผู้นั้นอาจจะสูญเสียบุคลิกภาพเดิมที่เป็นคนเงียบๆ นิ่มนวล โดยการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมอันใหม่จนกลายเป็นบุคลิกภาพใหม่ของตน

แต่ประเด็นเรื่องการทำลายบุคลิกภาพที่สำคัญก็คือ คนบางคนรู้ตัวว่าถ้าเข้าไปอยู่ในองค์กรนั้นๆ จะสูญเสียบุคลิกภาพดั้งเดิมของตน แต่ก็ยังยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเนื่องจากผลตอบแทนอาจจะคุ้มค่า แต่ในหลายกรณีบุคลิกภาพของบุคคลผู้นั้นอาจจะถูกทำลายโดยตนไม่เต็มใจ แต่จำใจต้องทนกับสภาพดังกล่าวเนื่องจากไม่มีทางเลือก เช่น คนซึ่งมีความเมตตาและมีจิตใจอ่อนโยน แต่เมื่ออยู่ในหมู่คนที่มีจิตใจเหี้ยมโหด เอารัดเอาเปรียบ เห็นการทำลายซึ่งกันและกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน บุคลิกภาพของบุคคลนั้นก็จะแปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ในหนังสือที่เกี่ยวกับซุ้มมือปืนได้มีการพูดถึงมือปืนที่ยอมสารภาพว่า ตอนเป็นเด็กนั้นได้เห็นความชื่นชม การแสดงความนับถือบุคคลที่เป็นมือปืนรับจ้างในท้องที่ของตน ทำให้เกิดความต้องการที่จะพัฒนาบุคลิกภาพเช่นเดียวกับมือปืนผู้ที่ตนชื่นชม

มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความคิด มีความต้องการอิสระทั้งทางกายและทางใจ มนุษย์ต้องการพัฒนาตัวเองไปในทิศทางที่ตนชื่นชอบ แต่บ่อยครั้งมนุษย์มักจะถูกเพื่อนมนุษย์ด้วยกันสังหารภาพลักษณ์หรือทำลายบุคลิกภาพ ทั้งๆ ที่ตนไม่เต็มใจที่จะรับชะตากรรมดังกล่าวแต่จำต้องรับชะตากรรมเนื่องจากไม่มีทางเลือก รุสโซ่จึงกล่าวว่า “มนุษย์เกิดมาอิสระ แต่ทุกแห่งที่เขาดำเนินไปนั้นจะมีโซ่ตรวนพันธนาการเขาอยู่เสมอ” โซ่ตรวนที่พันธนาการเขานั้นก็คือ ค่านิยมและปทัสถานของสังคม ขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งของอำนาจสูงสุดอันได้แก่รัฐ

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
www.dhiravegin.com
e-mail: likhit@dhiravegin.com
กำลังโหลดความคิดเห็น