xs
xsm
sm
md
lg

ยุบร.ส.พ.สนองทุนการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแก้ไขปัญหาการขาดทุนขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ซึ่งทีมงานที่ปรึกษาของนายภูมิธรรม เวชยชัย รมช.กระทรวงคมนาคม ทำข้อเสนอไว้ 2 ทางเลือก คือ ผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูกิจการ และปิดหรือขายกิจการ ในที่สุด นายภูมิธรรม ก็ตัดสินใจเลือกใช้วิธีการยุบทิ้ง ทั้งที่แผนผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูฯ ได้วิเคราะห์รายธุรกิจของ ร.ส.พ. ว่ายังมีธุรกิจที่มูลค่าและผลตอบแทนสูงอยู่ในมือซึ่งสามารถทำกำไรได้ คือ ธุรกิจขนส่งห่อวัตถุด่วน, งานเหมาคันรถยนต์, งานขนส่งระหว่างประเทศ, งานบริการ และงานโรงพิมพ์ โดยมีธุรกิจที่ถดถอยมี 2 ธุรกิจ คือ งานขนส่งที่ท่าเรือ และงานขนส่งทางน้ำ
วานนี้ (27 ธ.ค.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ยุบกิจการองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณพ์ (ร.ส.พ.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งยืนยันว่า ทุก กิจกรรมและสิทธิพิเศษต่างๆ ของร.ส.พ. ก็จะหมดไปด้วย โดยคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษายุบ ร.ส.พ.ได้ภายใน 30 วันหลังจากนี้ ซึ่งในส่วนของพนักงานจะได้รับการดูแลเป็นอันดับแรก

ดังนั้น ในระหว่างรอกระบวนการยุบกิจการ ช่วงเดือนม.ค.- ก.พ. 2549 ร.ส.พ.จะมีปัญหาไม่มีเงินพอที่จะจ่ายเงินเดือนพนักงาน เพราะเหลือเงินอยู่เพียง 5 ล้านบาท จึงเสนอขอครม.เพื่อให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ประมาณ 34 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานใน 2 เดือนจากนี้

นอกจากนี้ ในแผนการยุบกิจการได้ขอให้กรมธนารักษ์เข้ามาประเมินทรัพย์สิน ทั้งอาคารและรถ ณ 30 มิ.ย. 2548 ซึ่งเบื้องต้นคาดว่ามีมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อนำรายได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวมาใช้คืนค่าใช้จ่ายในส่วนที่ใช้สำหรับดูแลพนักงาน เช่น เงินค้างจ่ายพนักงานเกษียณอายุ และค่ารักษาพยาบาลค้างชำระของพนักงาน รวมประมาณ 600-700 ล้านบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายทดแทนกรณีการยุบกิจการสำหรับพนักงานที่ไม่รับโอนไปทำงานในหน่วยงานอื่นๆ

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ได้เจรจากับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งจะรับพนักงานเรือขนานยนต์ในพื้นที่จ.นราธิวาส ประมาณ 48 คนแล้ว ส่วนพนักงานขับรถ มีงานรองรับที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 300 ตำแหน่ง บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 100 ตำแหน่งและรถร่วมบริการ 100 ตำแหน่ง

สำหรับพนักงานที่ต้องการประกอบอาชีพเองจะได้รับสิทธิ์ในการซื้อรถของร.ส.พ.ในราคาถูก และนำไปให้บริการในเขตท่าเรือได้ โดยจะมีเงินทุนเบื้องต้นเพื่อนำไปประกอบธุรกิจแข่งขันกับเอกชนรายอื่นได้ โดยได้ประสานกับ ธนาคาร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและธนาคารออมสินไว้แล้ว โดยรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้ 300-500 ล้านบาท เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนอาชีพได้ แต่ยืนยันว่า พนักงานของร.ส.พ. จะไม่ได้อภิสิทธิ์ใดๆ ในการขนส่งกับท่าเรือ จะต้องผ่านการประมูล

“ผมยอมรับว่าการแก้ปัญหาร.ส.พ.ที่ยืดเยื้อมานานนี้ต้องใช้ความกล้าตัดสินใจ ส่วนการแก้ปัญหาบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) ที่ให้มีการร่วมทุนกับสมาคมเจ้าของเรือไทยนั้นผมถือว่าเป็นการตัดสินใจโดยมองอนาคตและการเติบโตด้านการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยเป็นหลัก จึงถือว่าเป็นการทำงานที่ชัดเจนมาก”นายภูมิธรรมกล่าว

*** สหภาพฯ เดินหน้าค้าน

เมื่อเวลา10.00 น. วานนี้( 27 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ฝั่งถนนราชดำเนินนอก สมาชิกจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์( ร.ส.พ.) พร้อมตัวแทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจหลายองค์กร กว่า 200 คนพร้อมใจกันสวมเสื้อสีแดงเดินทางมายื่นหนังสื่อถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกองค์กร และขอให้รัฐบาลยกเลิกแนวความคิดยุบเลิก ร.ส.พ. โดยขอให้เปลี่ยนเป็นการฟื้นฟูกิจการแทน แต่ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังเคลื่อนขบวนเพื่อไปยื่นหนังสือนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กมากั้นพร้อมตรึงกำลังรอบบริเวณกว่า 50 นาย กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลส่งตัวแทนออกมารับหนังสือคัดค้านดังกล่าวแทน

กระทั่งเวลา 13.00 น. นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการนายสุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ รมว.อุตสาหกรรม จึงเดินทางมารับหนังสือคัดค้านโดยรับปากกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่าจะนำหนังสือดังกล่าวไปมอบให้รัฐบาลและยืนยันว่านายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจจริงในการพัฒนาประเทศเพื่อพี่น้องประชาชนทุกคน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและเลขานุการคณะกรรมการสมานฉันท์ แรงงานไทย กล่าวว่า เบื้องหลังการยุบทิ้งร.ส.พ. ของรัฐบาล มีข่าวว่าอาจมีบริษัทซึ่งเป็นของนักการเมืองคนหนึ่งเข้ามาดำเนินกิจการต่อ และเหตุผลที่ร.ส.พ.ขาดทุนนั้นไม่ใช่ความผิดของพนักงานแต่เป็นความผิดของรัฐบาลที่บริหารขาดทุน แล้วมาปัดความรับผิดชอบโดยการยุบทิ้ง เมื่อแผนยุบเลิกกิจการ ร.ส.พ. เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรเราก็จะสู้ต่อไป

*** แฉแผนการเมืองเข้าฮุบ

นายศิริชัย ไม้งาม เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ตั้งคำถามว่า ตอนแรกรัฐบาลมีแผนจะฟื้นฟู ร.ส.พ.ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่มาวันนี้ทำไมกลับรีบยุบทิ้ง เรื่องนี้เป็นเพราะผลประโยชน์อย่างเดียว และอยากถามว่าผลประโยชน์นี้จะตกไปอยู่ในมือเอกชนรายใด

นายศิริชัย กล่าวต่อว่า ความจริงแล้ว ร.ส.พ.มีลูกค้าชั้นดีที่ทำสัญญาสัมปทานขนส่งให้อยู่แล้ว เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ทหาร, ท่าเรือ, โรงงานยาสูบ และลูกค้าเอกชนที่เหมาคันรถก็ใช้ร.ส.พ. อยากถามว่า เมื่อยุบทิ้ง ร.ส.พ. แล้ว สัญญาสัมปทานเหล่านี้เอกชนรายใดเข้าไปสวมแทน แล้วจ่ายผลประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติบ้าง ธุรกิจของร.ส.พ. ที่มีลูกค้าอยู่แล้วก็ดำเนินไปได้ มีกำไร ทำไมไม่เลือกเอาส่วนดีไว้ ทำไมยุบทิ้งทั้งหมด

“กรณีนี้เหมือนกับบริษัทไทยเดินเรือทะเล ไม่มีผิด มีนักการเมืองเตรียมเอารถเข้ามาทำมาหากิน และไม่ฟังเสียงของพนักงานที่ขอให้มีการฟื้นฟูกิจการเลย” เลขาธิการ สรส. กล่าว และยังย้ำว่า ร.ส.พ.จะบริหารให้มีกำไรก็ได้ แต่ความผิดพลาดขาดทุนที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการบริหารงานของผู้บริหาร ซึ่งเป็นจุดที่ต้องแก้ไขไม่ใช่เลือกยุบทิ้ง

นายศิริชัย ยังบอกว่า การเลิกกิจการ ร.ส.พ. โดยมีบริษัทของกลุ่มทุนการเมืองเข้ามาสวมแทน เป็นการต่อจิ๊กซอร์ในธุรกิจลอจิสต์ติก ในทางบก จากก่อนหน้านี้ได้เข้าคุมน่านน้ำแทนบริษัทไทยเดินเรือทะเล ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ และน่านฟ้าผ่านทางสายการบินโลว์คอสต์

นายบุญมา ป๋งมา กรรมการ สรส. ซึ่งเข้ามาเป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน ร.ส.พ. กล่าวว่า ร.ส.พ.มีโอกาสฟื้นฟู เพราะทรัพย์สินกับหนี้สินยังบาลานซ์กันอยู่ แต่คุณภูมิธรรม ไม่ฟังเสียงพนักงานเลย บอกให้ยุบอย่างเดียว และในวันที่ 26 ธ.ค. บอร์ดก็มีมติให้ยุบทิ้งและเอาเข้าครม.เมื่อวานนี้ (27 ธ.ค.) ทันที

“มันมีความไม่ชอบมาพากลอยู่ ผู้บริหารก็ทุจริตกันจนขาดทุน การรีบยุบส่วนหนึ่งก็เพื่อหนีการตรวจสอบเพราะงบดุลของ ร.ส.พ. ปี 46 – 47 นั้นยังไม่ผ่านการตรวจของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่สำคัญที่น่าสงสัยก็คือ ก่อนนี้ร.ส.พ.วิ่งขนส่งให้ท่าเรือและโรงงานยาสูบ วันดีคืนดีก็มีคำสั่งให้รถของ ร.ส.พ.เลิกวิ่ง แล้วก็มีรถของบริษัทเอกชนที่เป็นของพวกพ้องนักการเมืองมารับวิ่งแทน” นายบุญมา กล่าว

แหล่งข่าวสหภาพแรงงานฯ ร.ส.พ.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะที่รัฐมนตรี กำลังเร่งรีบยุบทิ้ง ร.ส.พ.นั้น ก็เกิดมีบริษัทที่เพิ่งจดทะเบียนขึ้นมาใหม่ สดๆ ร้อนๆ ชื่อ บริษัทพัสดุภัณฑ์ไทย จำกัด บริษัทมีพฤติกรรมที่น่าจับตาคือ เข้ามารับงานขนส่งของร.ส.พ. โดยปิดประกาศที่ข้างรถว่า มาทำหน้าที่แทน ร.ส.พ. และยังเชิญชวนพนักงานให้เข้าร่วมทำงานด้วย

“บริษัทนี้ มีอดีตผู้บริหารของร.ส.พ. มีส่วนเกี่ยวข้อง และโยงใยไปถึงนักการเมืองด้วย ไม่เช่นนั้นก็คงไม่รีบยุบ” แหล่งข่าว กล่าว

นอกจากนั้นแล้ว หลังคณะรัฐมนตรี มีมติให้เลิกกิจการ ปรากฏว่า ผู้บริหารของ ร.ส.พ. มีคำสั่งให้หยุดบริการลูกค้าในทันที ทั้งที่ความจริงแล้ว การยุบเลิกจะมีผลก็ต่อเมื่อมีราชกิจกานุเบกษา ก่อน ส่งผลให้ลูกค้าที่ดีลกันไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งสินค้า พัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศ และข้ามแดน ก่อให้เกิดความเสียหาย

“สั่งปิดโดยที่ร.ส.พ.ไม่ได้แจ้งให้ลูกค้ารู้ล่วงหน้า แต่ทางหนึ่งก็จะมีบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการแทนทันทีในวันรุ่งขึ้น (28)” แหล่งข่าว กล่าว

*** ยื่นฟ้องศาลปกครองวันนี้

ในวันนี้ (28 ธ.ค.) สหภาพแรงงาน ร.ส.พ. นำโดยนายอภิเดช นามมนตรี ประธานสหภาพฯ จะยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินระงับมติครม.ที่ให้มีการยุบเลิกกิจการ ร.ส.พ. เพราะเป็นการกระทำโดยไม่ชอบ เนื่องจากไม่ได้รับการเห็นชอบจากพนักงานและสหภาพแรงงานฯ และรัฐมนตรี และผู้บริหาร ร.ส.พ. ไม่ยอมเจรจากับพนักงานตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงานเรื่องการเลิกจ้าง

ทั้งนี้ ร.ส.พ. มีพนักงาน รวม 1,768 คน เป็นลูกจ้างประจำ 1,439 คน และลูกจ้างรายวัน 329 คน

อนึ่ง ผลศึกษาทางเลือกของร.ส.พ.โดยทีมที่ปรึกษาของนายภูมิธรรม ได้สรุปข้อเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย กรณียุบทิ้งกิจการเอาไว้ คือ ข้อดี 1. ช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐในการอุดหนุนการขาดทุน 2. ช่วยลดภาระของรัฐมนตรี ในการดูแลหน่วยงาน 3. ทำให้การแข่งขันการขนส่งเป็นไปอย่างเสรี และทัดเทียมกัน 4. การเจรจาเพื่อขอลดหนี้จากเจ้าหนี้จะง่ายขึ้น และ 4. เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดบทบาทให้รัฐบาลให้เปลี่ยนมาเป็นผู้กำกับดูแลและวางนโยบายแทนการเป็นผู้ให้บริการเอง

ส่วนข้อเสีย คือ 1. พนักงานจำนวน 1,768 คน (ไม่รวมครอบครัว) ต้องตกงาน และอาจมีผลกระทบทางการเมือง 2. เสียโอกาสในการพัฒนาธุรกิจที่ดี ช่วยลดต้นทุนของประเทศ 3. ส่งผลกระทบต่อลูกค้าประจำหลายหน่วยงานโดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ อาจไม่สามารถหาผู้ให้บริการที่มีปริมาณรถบรรทุกมากพอ 4. ร.ส.พ.เป็นผู้นำในการกำหนดราคาขนส่ง ที่เอกชนรายอื่นใช้เป็นแนวทาง ถ้ายุบร.ส.พ.อาจจะทำให้เอกชนในตลาดแข่งขันตัดราคากันมากขึ้น จนทำให้รายเล็กไม่สามารถแข่งขันในระยะยาวได้ และ 5. รัฐบาลจะขาดตัวเชื่อมงานขนส่งทางบกในการพัฒนาระบบลอจีสติกส์ของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น