xs
xsm
sm
md
lg

"ทางเดินของปัญญาชนสยาม ": ปัจจุบันถึงอนาคต(จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุรพงษ์ ชัยนาม

3. อนาคต

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ได้แล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงในอดีตที่ได้นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของสังคมของทุกประเทศส่วนใหญ่เป็นผลมาจากพลังแห่งความคิดของกลุ่มปัญญาชนเพื่อประชาชนหรือปัญญาชนที่อยู่นอกกระแสหลักของสังคม ไม่ใช่จากความคิดของปัญญาชนที่จัดอยู่ในกระแสหลักของสังคม

สำหรับอนาคตของทางเดินของปัญญาชนสยามนั้น นอกเหนือจากอิทธิพลของพลังของยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งได้เป็นผลก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของไทย รวมทั้งต่อบทบาทและการดำเนินงานของปัญญาชนทุกประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อปัญญาชนของประชาชน (Public Intellectuals) ยังกล่าวได้อีกด้วยว่า ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคใหญ่หลวง ทั้งต่อการสร้างปัญญาชนเพื่อประชาชนขึ้นมาใหม่ (ดังที่เคยมีมาในอดีต) และต่อการกลับเข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวางของปัญญาชนเพื่อประชาชน คือรัฐบาลแบบประชานิยมที่มีอำนาจผูกขาดการเมืองและเศรษฐกิจรัฐไทยในปัจจุบัน ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าระบบประชานิยมไม่ว่าจะมีอยู่ในประเทศใด เป็นระบบที่ทั้งปฏิเสธและต่อต้านปัญญาชน (Anti-Intellectuals) สถาบันด้านวัฒนธรรมและการศึกษาของระบบประชานิยม มองประชาชนและให้การปฏิบัติต่อประชาชนในฐานะเป็นเพียงผู้บริโภคที่รอการป้อนความคิดจากรัฐบาลประชานิยม ระบบประชานิยมจะให้การปฏิบัติต่อประชาชนเสมือนประชาชนเป็นเด็กในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งจะทำหน้าที่อบรมสั่งสอนให้หลงผิดว่า ผลประโยชน์เฉพาะหน้า (Immediate Interests) ของประชาชน คือผลประโยชน์แท้จริงของประชาชน (Real Interests) รัฐบาลประชานิยมส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมก็เพียงเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียงการมีส่วนร่วมด้านพิธีกรรมและด้านสัญลักษณ์เท่านั้น หาได้มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดและตัดสินนโยบายแต่ประการใด ถือได้ว่าวิธีการสัมผัสกับประชาชนดังกล่าว มีผลทำให้ประชาชนอยู่ในสภาพว่านอนสอนง่าย ในสภาพการณ์เช่นนี้จึงเป็นการยากที่จะมีสาธารณชน (Public) ที่มีความเป็นอิสระทางความคิดและอยู่ในฐานะที่จะทั้งแสดงความเห็นและรับรู้ความเห็น ตรงกันข้ามสิ่งที่มีขึ้นคือ ฝูงชน (Mass) ที่ตกอยู่ในสภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และไม่อยู่ในฐานะที่จะมีความเห็นของตัวเองแต่จะบริโภคความเห็นของฝ่ายอื่นมากกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะโดยธรรมชาติของมันแล้ว ฝูงชนจะปราศจากความเป็นอิสระความเป็นตัวของตนเอง เนื่องจากจะถูกแทรกแซงและครอบงำโดยตัวแทนของอำนาจรัฐประชานิยม กล่าวได้ว่าบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบันเอื้อต่อการพัฒนาให้เกิดฝูงชนมากกว่าสาธารณชน ทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากการผูกขาดทางวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจของรัฐบาลประชานิยมไทยรักไทย

อันโตนีโอ กรัมชี่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับอำนาจว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายมากไปกว่าเพียงแค่การครอบงำ (Dominance) สำหรับกรัมชี่ อำนาจเกี่ยวข้องกับทั้งการครอบงำและการเป็นผู้นำทางความคิดและทางจริยธรรม (Intellectual and Moral Leadership) กลุ่มสังคมกลุ่มหนึ่ง (Social Group) จะแสดงความมีสถานภาพเหนือกลุ่มอื่นๆ ได้สองทาง กล่าวคือ โดยการครอบงำ หรือโดยการเป็นผู้นำทางความคิดและจริยธรรม เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในทัศนะของกรัมชี่ สิ่งที่เรียกว่าอำนาจจะประกอบด้วยส่วนผสมทั้งของการบีบบังคับ (Coercion) และการแสวงหาความนิยม (Consent) การบีบบังคับหมายถึงการใช้กำลังหรือการขู่ที่จะใช้กำลังไม่ว่าจะเป็นชนชั้นหรือกลุ่มสังคม หรือพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต่างก็ต้องการครองความเป็นใหญ่ในสังคม (Hegemonic Power) แต่ฝ่ายที่จะสามารถครองความเป็นใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์ คือฝ่ายที่มุ่งพึ่งการแสวงหาความยินยอม ทั้งนี้เพราะหากได้รับความยินยอมจากส่วนใหญ่ของสมาชิกของสังคมย่อมหมายถึงการประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำทั้งทางความคิดและทางจริยธรรมและการจะได้รับความยินยอมจากสังคมนั้นย่อมหมายถึงการเน้นเรื่องขอความยินยอมเป็นหลักและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง รวมทั้งการมองว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นเพียงคู่แข่งทางการเมือง (Adversary) ไม่ใช่ศัตรูทางการเมือง

นอกจากนั้นในความคิดของกรัมชี่เกี่ยวกับอำนาจ กรัมชี่มองว่ามีพื้นที่บริเวณเชื่อมต่อระหว่างการบีบบังคับกับการขอความยินยอมซึ่งกรัมชี่เรียกว่าเป็นพื้นที่สีเทาที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่นและการฉ้อฉล สภาพการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายที่มีอำนาจประสบกับความยากลำบากในการดำรงการครองความเป็นใหญ่ และเป็นการเสี่ยงมากเกินไปหากจะใช้กำลังเข้าจัดการกับอุปสรรคและปัญหา ( โปรดดู Antonio Gramsci : Prison Note Books edited by Quintin Hoare and Geoffrey Nowell Smith 1971 หน้า 80) ในสภาพการณ์เช่นนี้ ฝ่ายผู้มีอำนาจจะใช้วิธีการทำลายขวัญและกำลังใจ กลุ่มที่ถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ตกอยู่ในสภาพที่เป็นอัมพาตทางการเมือง ด้วยการซื้อกลุ่มผู้นำของฝ่ายตรงกันข้ามทั้งโดยเปิดเผยและโดยทางลับ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความโกลาหลและสับสนให้กับสมาชิกระดับล่างของกลุ่มที่ผู้นำถูกซื้อไปแล้ว

จากความคิดและการวิเคราะห์ข้างต้นของกรัมชี่ หากเรานำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับสภาพการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยยุครัฐบาลแบบประชานิยมเป็นใหญ่เราจะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการเมืองไทยไม่ได้แตกต่างไปมากจากการดำรงอยู่ในพื้นที่สีเทาตามที่กรัมชี่ได้ให้คำอธิบายไว้ข้างต้น ( เช่นการซื้ออดีตพรรคความหวังใหม่และอดีตพรรคชาติพัฒนา) จะแตกต่างก็ตรงที่ในกรณีของการเมืองไทยยุคประชานิยมเป็นใหญ่มีการซื้อกันทั้งพรรคแทนการซื้อเฉพาะระดับผู้นำของพรรค ซึ่งเหตุผลสำคัญประการหนึ่งของการดำเนินการเช่นนี้ ก็เพื่อหวังตบตาประชาชนให้เห็นว่าพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทนของผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว เป็นเพียงข้ออ้างของฝ่ายมีอำนาจเพราะที่จริงแล้ว คือการยัดเยียดผลประโยชน์ของพวกพ้องฝ่ายมีอำนาจให้เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม

ในเมื่อปัจจุบันรัฐบาลประชานิยมของไทยได้ทำการผูกขาดสังคมการเมือง (Political Society) ( ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีหน่วยงานทั้งหมดของทางราชการ องค์กร สถาบันต่างๆ ที่เป็นของรัฐ ตลอดจนการเมืองในระบบรัฐสภา) แต่ยังไม่สามารถผูกขาดประชาสังคมได้ (หมายถึงองค์กรเอกชนต่างๆ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน เอนจีโอต่างๆ ตลอดจนชมรมและสมาคมต่างๆ ที่ไม่ใช่เป็นของรัฐ) อนาคตของปัญญาชนสยามและของระบอบประชาธิปไตยจะถูกตัดสินชี้ขาด ก็ในพื้นที่ของประชาสังคมเป็นสำคัญ และแม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วรัฐบาลไทยรักไทยได้ใช้อำนาจบีบให้พื้นที่สาธารณะของประชาสังคมมีจำนวนจำกัดและแคบลงไปอย่างมากแต่ในปัจจุบันถือได้ว่าประชาสังคมเป็นที่มั่นสุดท้ายที่ยังเปิดให้กับการชุมนุมเพื่อรื้อฟื้นขบวนการปัญญาชนขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อยืนหยัดร่วมกับประชาชนต่อสู่ตามครรลองประชาธิปไตยเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงกลับคืนมาสู่บ้านเมือง แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบรรดาปัญญาชนนักวิชาการและปัญญาชนอื่นๆ ที่ปัจจุบันยังสังกัดอยู่กับบรรษัทองค์กรและสถาบันต่างๆ และที่ยังอิงอยู่กับกระแสหลัก พร้อมที่จะเดินหน้าออกมาจากจุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบันเพื่อเข้ามาร่วมรับบทบาทของปัญญาชนเพื่อประชาชน (Public intellectuals) โดยประสานร่วมมือย่างแนบแน่นกับประชาชนกับกลุ่มปัญญาชนอีกกลุ่มที่กรัมชี่เรียกว่า ปัญญาชนอินทรีภาพ (Organic intellectuals) หรือกลุ่มปัญญาชนที่ไม่ใช่เป็นนักวิชาการหรือนักคิด แต่เป็นนักเคลื่อนไหว นักจัดตั้ง นักรณรงค์นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม เช่น ปัญญาชนในสาขาอาชีพต่างๆ เป็นต้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำหน้าที่เป็นปัจจัยหล่อหลอมให้กลุ่มปัญญาชนร่วมกันรับบทบาทของปัญญาชนเพื่อประชาชนคือ การส่งเสริมให้เกิดวาทกรรมประชาธิปไตย (Democracy Discourse) ที่ยั่งยืนขึ้นในสังคมไทยและพึ่งปัญญาบารมี (Intellectual authority) เป็นเครื่องชี้นำประชาชนไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงที่มีคุณธรรมและความยุติธรรมเป็นสิ่งค้ำจุน แต่หากไม่สามารถร่วมกันทำหน้าที่เป็นปัญญาชนทั้งของและเพื่อประชาชนได้ ก็มั่นใจได้ว่านั่นหมายถึงการสูญพันธ์ของปัญญาชนของประชาชนและสังคมไทยก็จะมีแต่ปัญญาชนกระแสหลักและผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ประชาชนก็จะตกเป็นเหยื่อของอธรรมและอำนาจเผด็จการอยู่ร่ำไป

สรุป

ในฐานะประชาชนเป็นหน้าที่โดยตรงของเราที่จำต้องตั้งคำถามแก่ตัวเราเองว่า อะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ เราต้องไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้นำ หรือของรัฐบาลที่จะเป็นผู้บอกเราว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ เหตุผลที่พูดเช่นนี้ ก็เป็นเพราะว่านักการเมืองเกือบทั้งหมดคือนักโกหกมืออาชีพ หมายความว่านักการเมืองไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความจริง นักการเมืองให้ความสนใจและให้ความสำคัญมากที่สุดกับเรื่องของอำนาจและการดำรงอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด ซึ่งการที่รัฐบาลและผู้นำจะดำรงอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด จำเป็นต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดำรงอยู่ในความโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้จักแยกแยะความจริงจากความเท็จ ไม่รู้แม้กระทั่งความจริงเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าประชาชนถูกห้อมล้อมด้วยความเท็จ และถูกมอมเมาด้วยความเท็จที่รัฐบาลทักษิณป้อนให้บริโภคอยู่ทุกวัน เพราะฉะนั้น หากไม่เกิดการรวมตัวของปัญญาชนเพื่ออกมาทำหน้าที่ปัญญาชนของประชาชนได้อย่างแท้จริง รัฐบาลแบบประชานิยมก็จะยังสามารถผูกขาดอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจได้อีกต่อไป และประชาชนตกอยู่ในฐานะเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งทางการเมืองที่รัฐบาลไทยรักไทยสามารถนำมาใช้เพื่อการดำรงอยู่ในอำนาจของรัฐบาล ซึ่งก็เท่ากับอำนาจและอธิปไตยของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยถูกรัฐบาลปล้นไปจนหมดสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น