xs
xsm
sm
md
lg

"ทางเดินของปัญญาชนสยาม ": ปัจจุบันถึงอนาคต

เผยแพร่:   โดย: สุรพงษ์ ชัยนาม

1. คำจำกัดความของคำว่า ปัญญาชน

• คนทั่วไปมักเข้าใจกันว่าปัญญาชน คือ ผู้ที่มีการศึกษาสูงหรืออีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ที่ใช้แรงงานสมองมากกว่าแรงงานทางฝีมือ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่มาก ทั้งนี้เพราะบุคคลที่มีการศึกษาสูงและประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานหรือกำลังทางสมองโดยเฉพาะ ไม่จำเป็นเสมอไปว่าบุคคลเหล่านี้มีฐานะเป็นปัญญาชน อีกทั้งระดับของการศึกษาไม่ใช่เป็นหลักเกณฑ์หรือเครื่องวัดความเป็นปัญญาชนของแต่ละบุคคล

• ถึงแม้ว่าคำจำกัดความของคำว่าปัญญาชนจะมีหลากหลาย แต่ที่แน่นอนที่สุดจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. จะต้องเป็นบุคคลผู้ที่นอกเหนือจากความสนใจที่มีต่อสาขาอาชีพของตนโดยเฉพาะแล้ว ยังต้องเป็นบุคคลที่ต้องสนใจและมีบทบาทต่อพัฒนาการของสังคม ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า โดยมีผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นเป้าประสงค์สำคัญ ซึ่งย่อมหมายความว่า เราจำเป็นต้องแยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เรียกว่าแรงงานสมอง (Intellectual labor) กับสิ่งที่เรียกว่าปัญญาชน (Intellectuals) ทั้งนี้เพราะอัตลักษณ์ของปัญญาชนก่อตัวและเกี่ยวพันกับความสนใจในด้านต่างๆ นอกเหนือไปจากความสนใจที่มีต่องานในหน้าที่และฐานะทางสังคมของตน

2. ความเป็นปัญญาชนไม่ได้อยู่ที่อาชีพของแต่ละบุคคล หากแต่อยู่ที่การดำเนินงานและพฤติกรรมของแต่ละบุคคลว่ามองตนเองอย่างไรและยึดถือค่านิยมแบบใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งความเป็นปัญญาชนไม่ได้อยู่ที่ว่าบุคคลผู้นั้นประกอบอาชีพอะไร แต่อยู่ที่ว่าบุคคลผู้นั้นดำรงชีวิตอยู่เพื่อความคิดหรือเพื่ออุดมการณ์อะไร และได้นำความคิดความรู้และความเชี่ยวชาญที่มีไปรับใช้กิจกรรมทางการเมืองเพื่อประโยชน์และความก้าวหน้าของส่วนรวมหรือไม่

3. จริงอยู่การดำรงชีวิตเพื่อความคิดเพื่ออุดมคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องของจิตนิยมของความเพ้อฝัน แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาย่อมเป็นสิ่งยืนยันให้เราเห็นได้ว่า การมีชีวิตอยู่เพื่อความคิดเพื่ออุดมการณ์เป็นปรากฏการณ์ที่ได้มีผลสร้างแรงบันดาลใจให้กับมนุษย์และได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สร้างสรรค์ในสังคมของทุกประเทศมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะพลังของความคิดของมนุษย์ที่มีบทบาทเป็นปัญญาชน

4. ค่านิยมสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ปัญญาชนยึดมั่นคือ การสามารถดำรงความเป็นอิสระทางความคิด ความหมายก็คือปัญญาชนจะต้องมีเสรีภาพที่จะดำเนินการตามความเชื่อมั่นที่ตนมี ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะปฏิบัติได้ง่าย เพราะมีกฎระเบียบข้อบังคับค่านิยมต่างๆ ของสังคมเข้ามาตีกรอบกดดันควบคุมเป็นผลทำให้บ่อยครั้งมีความเป็นปัญญาชนน้อยลง การใฝ่หาความเป็นอิสระนั้นเกิดจากความเข้าใจที่ว่า การพัฒนาความคิดในด้านต่างๆ นั้นจะไม่สามารถกระทำได้ หากต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลชี้นำและควบคุมขององค์กรหรือสถาบันหนึ่งสถาบันใดโดยเฉพาะ ทั้งนี้เรื่องของความจำเป็นที่ปัญญาชนจำต้องไม่สังกัดกับองค์กรหรือสถาบันใด เพื่อสามารถรักษาความเป็นอิสระทางความคิด จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการมีความคิดสร้างสรรค์

5. จริงอยู่ปัญญาชนสามารถเป็นลูกจ้างขององค์กรหรือสถาบันได้ แต่หากผลงานของความคิดถูกจำกัดขอบเขตอยู่เพียงการดำเนินงานขององค์กรหรือสถาบัน ปัญญาชนเหล่านี้ก็ต้องแปรสภาพเป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และในที่สุดก็จะถูกสถาบันกลืนจนหมดสภาพความเป็นปัญญาชน

6. คุณสมบัติสำคัญอีกประการหนึ่งของปัญญาชนคือ จะต้องกล้าท้าทายความคิดและค่านิยมที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปของสังคม โดยไม่กลัวการถูกกล่าวหาถูกตำหนิหรือแม้กระทั่งถูกประณามจากสังคม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการเป็นปัญญาชนหมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ในเมื่อปัญญาชนอยู่เพื่อความคิดเพื่ออุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จำเป็นต้องพยายามหาทางดำเนินการเพื่อให้ความคิดของตนมีอิทธิพลต่อสังคม ซึ่งจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อปัญญาชนยอมเข้ามารับผิดชอบต่อสังคมและต้องมีจุดยืนทางการเมืองที่แน่ชัดไม่โลเลวอกแวกหวั่นไหวกับอำนาจและกระแสการเมือง จึงเห็นได้ว่าความเป็นปัญญาชนมิได้อยู่ที่ระดับของการศึกษาของคน แต่ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมและมีข้อผูกพันกับโครงการเพื่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นปัญญาชนคือ ผู้ที่จะไม่ยอมรับสถานภาพที่เป็นอยู่ (Status quo) จะต้องเป็นคนที่พร้อมต่อสู้ทางความคิด เพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า โดยสามารถชนะจิตใจและความคิดของประชาชน

7. อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าเราสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญญาชนได้ดีที่สุดโดยศึกษาพิจารณาจากปริมณฑลแห่งความคิด (Realm of ideas) และแม้ว่าปัญญาชนแต่ละคนจะมีความคิดมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ที่แน่ชัดคือปัญญาชนทุกคนมีจุดมุ่งหมายและจุดแสวงหาที่เหมือนกันประการหนึ่ง นั่นคือการเสาะหาความจริง (Truth) และความคิดที่หลากหลายตลอดจนมีความปรารถนาร่วมกันที่จะมีอิทธิพลทางความคิดต่อโลกมนุษย์ ซึ่งการแสวงหาความจริงถือเป็นการควบคุมให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองต้องใส่ใจและรับผิดชอบต่อสังคม

2. สังคมปัจจุบันกับปัญญาชน

กล่าวได้ว่าความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ได้มีผลทำให้บทบาทและความสำคัญของปัญญาชนตกต่ำลง ปัจจุบันคืออิทธิพลของการตลาดในสังคมทุนนิยม อำนาจและอิทธิพลของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ อิทธิพลและการเติบโตของชนชั้นผู้เชี่ยวชาญ นโยบายการดำเนินการของภาครัฐและภาคเอกชนที่มุ่งทั้งโน้มน้าวและบีบให้ปัญญาชนต้องเข้าสังกัดอยู่กับองค์กรและสถาบันต่างๆ ตลอดจนการที่รัฐใช้อำนาจบีบพื้นที่สาธารณะให้เหลือน้อยที่สุด โดยรัฐบาลประชานิยมพยายามเข้าผูกขาดพื้นที่ของประชาสังคมทำให้มีพื้นที่สาธารณะที่จำกัดมาก อันถือได้ว่าเป็นการดำเนินการของรัฐบาลประชานิยมเพื่อริดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเป็นอิสระทางความคิดของปัญญาชน

จากผลของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างดังกล่าว ส่งผลโดยตรงทำให้บทบาทและอิทธิพลของความคิดของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มมืออาชีพได้เข้ามาบดบังและแทนที่อิทธิพลของความคิดของปัญญาชนที่เคยมีมาในสังคมไทย สังคมและการเมืองระบอบทุนนิยมสนับสนุนและส่งเสริมการมีชนชั้นผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เพราะผู้เชี่ยวชาญมีความชำนาญในการให้บริการมากกว่าส่งเสริมความคิดต่างๆ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของรัฐทุนนิยม ทั้งนี้เป็นเพราะระบบทุนนิยมเสรีไม่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมความรู้เพื่อความรู้ แต่จะมองความรู้จากแง่มุมของการเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น เป้าหมายทางเศรษฐกิจหรือทางการเมืองเป็นต้น (Instrumentalist approach) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งระบบทุนนิยมในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับความรู้ความคิด หากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เป็นลักษณะกิจกรรมของปัญญาชน เช่น การวิจารณ์สถานภาพที่เป็นอยู่ (Status quo) การทำหน้าที่เป็นจิตสำนึกของสังคมตลอดจนการเสาะแสวงหาสัจธรรมโดยไม่หวั่นไหวกลัวผลที่จะติดตามมา ไม่ใช่เป็นหน้าที่รับผิดชอบของชนชั้นผู้เชี่ยวชาญหรือพวกมืออาชีพทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะความเป็นมืออาชีพ หมายถึงการไม่ทำตัวนอกคอกไม่ขัดแย้งฝ่ายใด ไม่มีความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองอย่างใด แต่หมายถึงการทำตัวให้เป็นที่ขายได้หรือเป็นที่ต้องการของตลาด

ดังนั้นเมื่องานทางความคิดถูกทำให้เป็นอาชีพอย่างหนึ่งความคิดย่อมขาดความเป็นอิสระและศักยภาพที่จะตั้งคำถามกับสังคม

ในอดีตปัญญาชนส่วนใหญ่มักต่อต้านระบอบทุนนิยม แต่ปัจจุบันปัญญาชนส่วนใหญ่ มักยอมรับอิทธิพลของตลาดทุนนิยม พร้อมทั้งพยายามบรรลุความทะเยอทะยานของตนผ่านระบบการตลาด ซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติดังกล่าวมีผลทำให้ปัญญาชนให้ความสำคัญกับเรื่องของการมีอิสรภาพทางความคิดน้อยกว่าเรื่องของการได้รับการยอมรับการสรรเสริญจากบรรดาสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่มีอิทธิพลในสังคมทุนนิยม จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นที่ประจักษ์ให้เราได้เห็นแล้วว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ของปัญญาชนนักวิชาการ (Academic intellectual) วิ่งเข้าหาหรือเสนอตัวเข้าสังกัดองค์กรและสถาบันต่างๆ ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งไม่แตกต่างอะไรไปจากความพยายามของบรรดาศิลปินและนักแสดงต่างๆ ที่ต้องการเข้าสังกัดอยู่ในค่ายของบรรดาบรรษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบันเทิง จึงกล่าวได้ว่าพัฒนาการดังกล่าวถือเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ได้มีผลทำให้สังคมขาดแคลนปัญญาชนของสาธารณะชนหรือของประชาชน (Public Intellectual) ที่จะคอยทำหน้าที่เป็นจิตสำนึกของสังคม (Conscience of Society) เป็นผู้แสวงสัจธรรม และเสนอความคิดที่ยึดมั่นในความจริง

กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันสังคมไทยขาดแคลนกลุ่มบุคคลที่จะทำหน้าที่สวมบทบาทเป็นปัญญาชนของประชาชนในความหมายที่ได้กล่าวไว้ทั้งหมดข้างต้น และมีแนวโน้มสูงที่ปัญญาชนของประชาชนจะสูญพันธุ์ไปจากสังคมไทยในไม่ช้า ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสำคัญ เนื่องจากปัญญาชนประเภทนักวิชาการส่วนใหญ่ได้กลายพันธุ์ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือหากยังคงสถานะเป็นปัญญาชนก็เป็นปัญญาชนที่สังกัดอยู่ในองค์กร บรรษัทหรือสถาบันต่างๆ ที่อยู่ในกระแสหลักของสังคม และด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงมักไม่ใส่ใจและไม่ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องออกมาต่อสู้กับอำนาจการเมืองที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆของประชาชน อีกทั้งไม่เห็นถึงความสำคัญของการต่อสู้เพื่อความคิดที่ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผล (Conformist Intellectuals) และที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่า อำนาจ อิทธิพลของปัญญาชนประเภทดังกล่าวได้มาจากการเป็นลูกจ้างขององค์กร บรรษัท หรือสถาบันที่ตนสังกัดอยู่ ความจำเป็นที่ต้องมีความเป็นอิสระจึงไม่เกิดขึ้น เป็นผลทำให้ความสัมพันธ์ที่มีกับสังคมภายนอกหรือกับประชาชนเป็นความสัมพันธ์ที่มีลักษณะของความแปลกแยกอย่างค่อนข้างเด่นชัด ความคิดที่จะโต้แย้ง วิพากษ์ วิจารณ์ นโยบายความและการกระทำของกลุ่มผู้กุมอำนาจรัฐ จึงไม่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับยินดีทำหน้าที่เป็นล่ามหรือเป็นผู้แปลความถ่ายทอดนโยบายและความประสงค์ของกลุ่มผู้มีอำนาจให้กับประชาชนเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นดีเห็นชอบด้วย ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าเมื่อนักคิดหรือปัญญาชนของประชาชนถูกเบียดและเข้ามาแทนที่โดยผู้เชี่ยวชาญจึงมีผลทำให้ประชาชนขาดความสนใจในการเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีอภิปรายหัวข้อเรื่องสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของระบอบประชาธิปไตยและความก้าวหน้าของประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยพอใจที่จะรอให้รัฐบาลป้อนความคิด ความหวัง คำตอบและข้อมูล ( ที่เป็นความเท็จเสียส่วนใหญ่) ในทุกๆ เรื่อง (Spoon-Feeding) ซึ่งสังคมที่เลิกคิดย่อมเป็นยอดปรารถนาของรัฐบาลแบบประชานิยมอยู่แล้ว (อ่านต่อวันพรุ่งนี้)
กำลังโหลดความคิดเห็น