xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กจิ๋วทำส.ค.ส.ดอกไม้หลากสี เมินร่วมทัวร์นกขมิ้นแก้จนกับแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"บิ๊กจิ๋ว"ออก ส.ค.ส.2549 ตอกย้ำทฤษฎี"ดอกไม้หลากสี"สะท้อนแนวทางดับไฟใต้ เมินร่วมทัวร์นกขมิ้นแก้จนกับนายกฯ อ้างมีนัดเพื่อนต่างประเทศ ปฏิเสธไม่ขอวิพากษ์ปรับครม.เพราะมองคนละมุม ด้านอดีต ส.ส.ร.-กกต.-ฝ่ายค้านประสานเสียงหนุนแก้รธน.ปลดล็อก 90 วันปล่อยส.ส.ออกจากคอก ขณะที่ ครป.กระตุกกระแสแก้รธน.ต้องยึดประโยชน์ประชาชนไม่ใช่แก้เพื่อนักเลือกตั้ง

เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีได้จัดทำ ส.ค.ส.2549 เพื่ออวยพรปีใหม่แก่คนที่เคารพนับถือและบุคคลที่ใกล้ชิดรวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนง โดยด้านหน้าของ ส.ค.ส.เขียนว่า ดอกไม้หลากสี ส่วนด้านใน มีเนื้อหาสะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่ยังไม่สงบในเวลานี้ โดยมีใจความว่า มวลดอกไม้หลากสี เสียงดนตรีมากมายหลายหลากเสียง ปวงประชายิ่งมากหลากสำเนียง หล่อเลี้ยงสันติธรรมนำชาติไทย กาลเวลาพาปีใหม่ให้มาหา เพื่อนประชาไทยเราจะเศร้าไฉน มาเถิดสร้างสันติสุขทุกใกล้ไกล มาก้าวไปพร้อมกันสรรสร้างไทย

ทั้งนี้ พล.อ.ชวลิต ได้กล่าวด้วยว่า"เรื่องการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ได้แนะนำไปแล้ว ว่าควรจะใช้แนวทางใด แต่กลับไม่นำไปใช้"

พล.อ.ชวลิต ยังกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า ในช่วงนี้ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างที่คาดหวังไว้ หลังจากที่มีการปฏิรูปการเมืองมา ซึ่งเป็นห่วงเรื่องของระบบทุน และอำนาจที่เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้การปฏิรูปการเมืองไม่เดินหน้า ดูจะถอยหลังเหมือนเดิม

ส่วนเรื่องการปรับครม.คงให้ความเห็นไม่ได้ เพราะช่วงนี้ไม่ได้ติดตามการเมือง และไม่เคยเห็นฝีมือการทำงานของรัฐมนตรีใหม่ การปรับครม.ช่วงนี้ไม่เหมือนสมัยที่ตนเป็นนายกฯ การเลือกคนมาเป็นรัฐมนตรีจะดูจากบทบาทของการเป็น ส.ส.และการทำงานที่ผ่านมา แต่ตอนนี้คงมองเรื่องคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน ซึ่งไปพูดไม่ได้ เพราะยังไม่เคยเห็นการทำงาน เรื่องของการเมืองไม่อยากวิเคราะห์มาก เวลานี้ได้แต่ฟังธรรมะของท่านพุทธทาส และจากพระรูปอื่นๆ ฟังเพื่อเอาแนวคิดไปปฏิบัติและใช้

ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เชิญให้ไปรับหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า ความจริงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาการแก้ไขปัญหาความยากจน นายกฯได้ให้มานานแล้ว แต่ไม่ได้ให้อำนาจอะไร เวลามีประชุมก็เชิญ ตนก็ไปร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม หลังมีคำสั่งแต่งตั้งออกมาชัดเจน คงจะทำให้มีอำนาจการสั่งการมากขึ้น

สำหรับการทัวร์นกขมิ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ในช่วงกลางเดือนหน้าที่นายกฯ เชิญไปร่วมด้วยนั้น คงจะไม่ไปร่วมด้วย เพราะมีรัฐมนตรีและนักวิชาการไปด้วยเยอะแล้ว และตนเองก็ติดภารกิจด้วย ต้องไปพบเพื่อนที่ประเทศจีน และกัมพูชา ซึ่งนัดไว้และบ่ายเบี่ยงมาหลายครั้งแล้ว

**ไม่เชื่อ"สนั่น-เสนาะ"สุมหัว"เฉลิม"

นายโสภณ เพชรสว่าง ส.ส.บุรีรัมย์ แกนนำกลุ่มวังน้ำยม พรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตหัวหน้าพรรคมวลชน ออกมาเปิดเผยถึงการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ชื่อพรรคทางเลือกใหม่ว่า ตามรัฐธรรมนูญการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ร.ต.อ.เฉลิม เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน น่าจะตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ส่วนตัวไม่เชื่อว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน และนายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย จะย้ายมาอยู่กับพรรคทางเลือกใหม่ ส่วนตัวอยากเห็นการตั้งพรรคการเมืองใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคแรงงาน พรรคเกษตรกร หรือพรรคชาวนา

"มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ตอนนี้คนจนไม่มีโอกาสตั้งพรรคการเมือง หรือมีพรรคการเมืองได้ จึงอยากเรียกร้องให้มีพรรคของคนจนเกิดขึ้น เพื่อให้คนจนมาแก้ไขปัญหาของคนจน เพราะหากจะรอให้นายทุนมาแก้ไขปัญหาของคนจน คงทำได้ยาก ที่ผมพูดไม่ได้โจมตีนายทุน แต่อยากให้พรรคของคนจนมาแก้ไขปัญหาคนจน เพราะหากยึดนโยบายทุนนิยมก็จะมองข้ามปัญหาของคนจน แต่ไปแก้ปัญหาแต่ด้านเศรษฐกิจมากกว่า"นายโสภณ กล่าว

**หนุนแก้รธน.ปลดล็อก 90วัน

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กทม.อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)กล่าวถึงกรณี ส.ส.เสนอแนวคิดแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 107 (4) ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างน้อย 90 วัน โดยเห็นด้วยว่า ควรแก้ไข ทั้งนี้ สมัยที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีความวุ่นวายมากเรื่องการย้ายพรรค ทำให้เป็นปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล คณะผู้ร่างจึงกำหนดกฎกติกาเพื่อล็อกเรื่องดังกล่าวไว้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันมีการใช้อำนาจคุม ส.ส.แบบแข็งเกิน จนทำให้ ส.ส.ต้องอยู่ในระเบียบทั้งหมด และขาดความเป็นอิสระ เพราะกลัวว่าย้ายพรรคแล้วจะมีการยุบสภาบ้าง หรือการไม่ส่งลงสมัครสมัยหน้าบ้าง

"การแก้ไขประเด็นนี้ไม่ใช่ไปปลดล็อกจน ส.ส.อิสระมาก กลายเป็นไร้ระเบียบวินัย ทำให้การเมืองไม่เข้มแข็ง แต่ควรแก้แบบพบกันครึ่งทาง คือหากจะมีการย้ายพรรค หลังครบวาระหรือยุบสภาก็ให้ทำได้โดยง่าย ขณะดำรงตำแหน่ง ส.ส.อยู่ ก็ให้ใช้กฎเดิม เพื่อให้ ส.ส.ยังอยู่ในระเบียบวินัย และรัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมือง"ส.ว.กทม.กล่าว

นายปริญญา นาคฉัตรีย์ กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าถ้าส.ส.ต้องการแก้ไขเกี่ยวกับการปลดล็อก 90 วัน ก็คิดว่าดี แต่ทั้งนี้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารต้องร่วมกันพิจารณา เมื่อมีผลใช้บังคับกกต.ก็พร้อมจะปฏิบัติ

"ถ้าแก้ไขได้ก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ กับกกต.แต่ถ้าจะแก้จาก 90 วันเหลือ 30 วัน คงไม่แตกต่าง เพราะไม่รู้ว่าผู้นำฝ่ายบริหารจะมีการยุบสภาเมื่อใด ถึงแม้จะแก้ให้เหลือเวลาที่จะสังกัดพรรคน้องลง ก็คงไม่ทันอยู่ดี ถ้ามองระยะสั้นการสังกัดพรรคคิดว่าดีกว่าในระยะยาว เพราะส.ส.ที่ต้องการจะย้ายสังกัดพรรคจะได้มีเวลาหาสังกัดพรรคอยู่ใหม่ และสามารถช่วยให้ส.ส.ตัดสินในได้เร็วขึ้นสังคมก็ได้รับรู้เร็วขึ้น แต่ก็ต้องดูตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่า ทำไมถึงให้สังกัดพรรค 90 วัน ดังนั้นคิดว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องไปทำวิจัยดูว่า การสังกัดพรรค 90 วัน 60 วัน 30 วัน หรือไม่ต้องสังกัด อย่างไหนที่จะเหมาะสม หรือ ส่งเรื่องให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ทำวิจัย รวมถึงต้องสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนว่า ต้องการให้ ส.ส.สักกัดพรรคการเมืองระยะเวลากี่วัน ก่อนที่จะมีการสมัคร ส.ส.หรือไม่อย่างไร"

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เดิมตนเห็นสอดคล้องกับผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่า การมีข้อกำหนดสังกัดพรรค 90 วันก่อนเลือกตั้งเหมาะสม เพราะคนจะเป็นนักการเมืองจะต้องรู้ว่าตัวเองมีอุดมการณ์ ความคิดให้สอดคล้องกับพรรคการเมืองนั้น แต่พอมาดูในทางปฏิบัติกลับรู้สึกเห็นใจ ส.ส.ที่สังกัดพรรคไทยรักไทย ที่ขณะนี้มีความรู้สึกอึดอัด และรู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพรรค โดยไม่ได้หลอมรวมอุดมการณ์ แต่มาในลักษณะถูกผูกมัด และจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งการที่ผูกไว้เช่นนี้กลายเป็นเครื่องมือในการกำกับควบคุมส.ส.ในพรรค แทนที่จะเป็นเครื่องมือในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นส่วนตัวจึงเห็นว่า หากมาขอคะแนนให้แก้ไขในประเด็นนี้ก็จะร่วมลงชื่อด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ได้หารือในประเด็นนี้

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า วิปฝ่ายค้านได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยยังไม่มีการตกลงว่าจะเสนอเป็นร่างแก้ไขหรือไม่ แต่ตั้งใจให้เป็นประเด็นที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยเป็นไปได้ที่วิปฝ่ายค้านจะเปิดเวทีสาธารณะครอบคลุม 3 ประเด็น คือ 1. องค์กรอิสระ ทั้งเรื่องการสรรหา อำนาจหน้าที่ และการตรวจสอบองค์กรอิสระ 2 .การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่ขณะนี้แทบจะไม่ได้ผล และ 3.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางการเมือง แต่ยังไม่แน่ใจว่าประเด็นที่กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.เป็นสมาชิกพรรคการเมือง 90 วัน จะพิจารณาด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคชาติไทยยกมาหารือในที่ประชุมวิปฝ่ายค้าน การที่พรรคชาติไทยเสนอปลดล็อกให้เหลือ 30 วันนั้น เป็นความเห็นส่วนตัว

"ต้องยอมรับว่า ประเด็นปลดล็อก 90 วัน ในการเมืองมีความเห็นไม่ตรงกัน แม้แต่ในพรรคเดียวกัน บางส่วนเห็นว่าต้องมีอยู่ เพื่อไม่ให้นักการเมืองตั้งหรือย้ายพรรคบ่อยๆ เพราะในอดีตมีปัญหามาก อีกพวกบอกว่า ประเด็น 90 วัน ทำให้พรรคการเมืองอย่างพรรคไทยรักไทยได้เปรียบ และขี่คอ ส.ส.ได้ แต่ก็มีปัญหาว่าจะปลดเท่าใดจึงจะเหมาะสม"

นายสาทิตย์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ควรลงลึกถึงเนื้อหา เพราะความเห็นยังไม่ตรงกัน แต่ควรแก้ในมาตรา 313 ก่อน เพื่อเปิดทางให้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญมาก และพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยต่อการทำการเมืองโดยไม่มีอุดมการณ์ คือ ย้ายพรรคบ่อย และประเด็น 90 วัน จำเป็นต่อสถานการณ์ในขณะนั้น แต่หลังจากใช้ไประยะหนึ่งก็เกิดปัญหา ความเห็นในพรรคยังไม่ตกผลึกว่าจะปลดล็อกหรือไม่ ต้องดูข้อดีข้อเสียก่อน

"คนที่เสนอความเห็นเรื่อง 90 วัน เพื่อประสงค์ให้การเมืองดีขึ้นจริง แล้ว ส.ส.มีอิสระในการเลือกพรรคจริง หรือเป็นเพียงการสร้างอำนาจต่อรองในพรรคของตัวเอง ผมว่า ต้องอ่านการเมืองให้ลึก ปัญหาหนึ่งคือ เกิดความอึดอัดขึ้นในพรรคไทยรักไทยแน่นอน ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ เพียงแต่ว่า การคลายความอึดอัดก็มีวิธีการคลายความอึดอัดเฉพาะตัวของพรรคไทยรักไทยอยู่แล้ว เช่น ต้องการได้ของขวัญปีใหม่ไปดูแลในพื้นที่ ใครจะไปรู้ เหมือนเป็นเกมภายในของเขา"ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าว

**ต้องแก้ไขเพื่อประโยน์ประชาชน


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรจะเป็นเพียงการแก้ไขเฉพาะกิจ หรือเอื้อประโยชน์ต่อนักเลือกตั้งเท่านั้น โดยไม่สนใจผลประโยชน์ของประชาชน ถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาและทุกฝ่ายจะทบทวนรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สังคมส่วนรวมได้ประโยชน์จริงๆ โดยเฉพาะการฟื้นฟูระบบถ่วงดุลตรวจสอบ การแก้ปัญหาธนกิจการเมือง ผลประโยชน์ทับซ้อน การกระจายอำนาจ และการเพิ่มอำนาจของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

"ถ้าถกเถียง และแก้เฉพาะประเด็นต้องสังกัดพรคอย่างน้อย 90 วันก่อนสมัครเลือกตั้งแล้วจบ ก็ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนเกินไป รัฐบาลที่มีอำนาจผูกขาดแบบนี้อาจเอาไปเป็นผลงานโฆษณาอวดอ้างประชาชนเพื่อหลบเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน การแทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่งจำเป็นต้องทบทวนแก้ไขอย่างเร่งด่วนด้วย"

นอกจากนี้อยากให้สังคมจับตาเกมยื่นหมูยื่นแมวของกลุ่มมุ้งต่างๆ ในพรรคไทยรักไทย ที่อาจฉวยโอกาสเอากระแสแก้รัฐธรรมนูญเสนอประเด็นที่เอื้อประโยชน์หรือเพิ่มอำนาจต่อรองให้กลุ่มตนเอง เช่น กลุ่มวังต่างๆ ในพรรคไทยรักไทย อาจจะเอาประเด็นการปลดล็อก 90 วัน แลกประเด็นกับกลุ่มทุนในรัฐบาลที่จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 110 หรือ 208 เพื่อให้รัฐมนตรี สามารถถือหุ้นส่วน หรือเป็นเจ้าของบริษัทได้

ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรยึดหลัก 3 ประการ คือ 1.ต้องครอบคลุมผลประโยชน์ของประชาชนไม่ใช่แก้เฉพาะประเด็นปัญหาของนักเลือกตั้ง 2.ต้องให้ประชาชนและสังคมมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางทุกขั้นตอน 3.ต้องทบทวนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มองทั้งระบบ ถ้าเลือกมองบางประเด็นบางมาตราอาจสร้างปัญหาใหม่ๆตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น