xs
xsm
sm
md
lg

เข้าใจลิขสิทธิ์เพลง ไม่ต้องเกรงถูกจับกุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในโลกปัจจุบันเป็นยุคที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการให้บริการ โดยจะต้องมีสิ่งจูงใจในการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งเพลงก็เป็นส่วนหนึ่งในการนำมาใช้สำหรับธุรกิจ เพราะนอกจากเพลงจะให้ความบันเทิงแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายและสร้างบรรยากาศในการทำกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าขณะนี้ธุรกิจบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า สถานออกกำลังกาย สปา โรงพยาบาล สถานบันเทิงต่างๆ ตลอดจนภัตตาคารหรือแม้แต่ในร้านอาหาร ยังต้องเปิดเพลงเพื่อให้ลูกค้าที่มาใช้บริการเกิดความเพลิดเพลินและผ่อนคลาย ขณะเดียวกันยังช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการอีกทางหนึ่งด้วยก่อนที่ผู้ประกอบการจะดำเนินธุรกิจใดๆ ก็ตาม จะต้องใช้เพลิงบริการลูกค้าไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานเพลงให้ดีเสียก่อน !!!
เพราะว่าเพลงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่เรียกว่า “งานดนตรีกรรม” ได้แก่ คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสาน ซึ่งผู้สร้างสรรค์คือนักแต่งเพลง หรือครูเพลงนั่นเอง งานประเภทที่สอง คือ งานสิ่งบันทึกเสียง ได้แก่ เทป ซีดีเพลง ที่เปิดแล้วฟังได้ยินแต่เสียงเพียงอย่างเดียว งานต่อไป คือ งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีซีดี หรือดีวีดี ที่เปิดแล้วมีทั้งภาพและเสียง ได้แก่ เพลงคาราโอเกะนั่นเอง สำหรับกรณีที่มีการเปิดเพลงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็จะเป็นงานลิขสิทธิ์อีกประเภทหนึ่ง ได้แก่ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น เพลงคาราโอเกะที่ให้บริการร้องเพลงด้วยคอมพิวเตอร์คาราโอเกะ
เพลงไม่ว่าจะอยู่ในรูปของงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ล้วนเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น ดังนั้น การเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ให้ลูกค้าหรือผู้รับบริการฟัง จึงต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน
สำหรับท่านใดที่กำลังจะประกอบธุรกิจประเภทร้านอาหาร ภัตตาคาร สถานบันเทิง ที่ให้บริการฟังเพลงหรือร้องเพลงคาราโอเกะ สิ่งที่ท่านจะต้องดำเนินการ ก็คือ ไปจดทะเบียนพาณิชย์ ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด และท่านต้องติดต่อขอใบอนุญาตฉายหรือให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์ที่กระทรวงวัฒนธรรม หรือสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ส่วนของผู้ประกอบการท่านใดที่ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงก็จะต้องขอใบอนุญาตในการเปิดสถานประกอบการต่อสถานีตำรวจในท้องที่นั้นๆ เพิ่มเติมอีก 1 ฉบับด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะขาดเสียเลยมิได้ ก็คือ จะต้องติดต่อขออนุญาตใช้งานลิขสิทธิ์จากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน มิฉะนั้น จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัวก็ได้ และอาจจะเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง หากมีการจับกุมเกิดขึ้น
อย่างที่กล่าวไว้แล้ว เนื่องจากงานเพลงๆ หนึ่ง มีเจ้าของลิขสิทธิ์หลายรายรวมกัน ได้แก่ ครูเพลง ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในคำร้อง ทำนอง หรือเรียบเรียงเสียงประสาน และค่ายเพลง ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสิ่งบันทึกเสียง หรือโสตทัศนวัสดุ โดยกฎหมายลิขสิทธิ์ให้สิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำ เช่น ก๊อปปี้ หรือไรท์แผ่น(ซีดี) ดัดแปลง เช่น นำทำนองเดิมไปใส่เนื้อร้องใหม่ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน เช่น เปิดเพลงในที่สาธารณะ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ใช้สิทธิต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น การนำเพลงไปเปิดในธุรกิจประเภทต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า มินิมาร์ท สถานออกกำลังกาย สปา ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบันเทิง ถือได้ว่าเป็นการนำเพลงออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน จึงจะสามารถนำไปเปิดได้ แม้ว่าการเปิดเพลงนั้นลูกค้าจะไม่ต้องจ่ายเงินค่าบริการในการฟังเพลงก็ตาม และเมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตแล้ว ผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ก็จะต้องจ่ายค่าตอบแทนในการใช้งานเพลงดังกล่าวด้วย
นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ในการใช้งานเพลงอันมีลิขสิทธิ์นั้น ผู้ประกอบธุรกิจรายใดที่ใช้งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อบริการลูกค้า เช่น การเปิดเพลงจากแผ่นซีดี ดีวีดี การแสดงสดหรือการให้บริการคาราโอเกะ นอกจากท่านจะต้องซื้อแผ่นซีดี ดีวีดี ที่ถูกต้องมาเปิดให้บริการแล้ว ท่านจะต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายค่าตอบแทนการใช้งานเพลงแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งเจ้าของงานดนตรีกรรม และเจ้าของสิ่งบันทึกเสียง รวมทั้งโสตทัศนวัสดุด้วย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จำนวน 12 ราย โดยแต่ละรายมีอัตราและเงื่อนไขในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.ipthailand.org
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการจ่ายค่าลิขสิทธิ์จะทำแค่การใช้งานเพลงอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้น สำหรับผู้ประกอบการรายใดที่มีการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์เพลง เช่น ดาวน์โหลดเพลงลงในคอมพิวเตอร์ ไรท์แผ่นซีดีเพลง หรือก๊อปปี้เพลงรูปแบบต่างๆ ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน
สิ่งสำคัญข้อสุดท้าย หากท่านได้ชำระค่าลิขสิทธิ์โดยถูกต้องแล้ว ขอให้เก็บเอกสารแสดงการชำระเงินดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน และติดใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ ณ สถานที่ประกอบการให้สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนด้วย เพื่อป้องกันการถูกจับกุมดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะท่านจะสามารถใช้เอกสารและหลักฐานเหล่านี้ยืนยันการชำระค่าลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่มีเจ้าของลิขสิทธิ์รายใดแวะเวียนมาหาถึงร้าน และทำให้การประกอบธุรกิจต้องชะงักงัน
กำลังโหลดความคิดเห็น