ทำไปทำมา คุณวันนา ลาดี นักกีฬาพิการวัย 23 ปีจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งขาข้างซ้ายขาดถึงเข่า ผู้เพิ่งพิชิตสองเหรียญทองจากกรีฑาประเภททุ่มน้ำหนักและขว้างจักร และอีกหนึ่งเหรียญทองแดงจากการพุ่งแหลนจากงาน "พาราเกมส์" ครั้งที่สามในฟิลิปปินส์เมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็กลายเป็น "คนดัง" ในลักษณะที่เธอเองคงไม่ได้ตั้งใจเลยแม้แต่น้อย
เนื่องจากเรื่องแดงออกมาว่าหลังจากการแข่งขันเพียงไม่นานนัก เธอได้ให้กำเนิดแก่ลูกสาว ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลา ทั้งนี้ ด้วยความตกอกตกใจของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทว่าตัวเธอเองกลับทราบเป็นอย่างดีว่าตนเองตั้งท้องอยู่นานถึงแปดเดือน ทว่าจงใจเก็บความข้อนี้ไว้เป็นความลับ เพราะต้องการเดินทางไปร่วมในการแข่งขันในนามทีมชาติไทย ซึ่งเธอได้รับโอกาสเป็นครั้งแรก โดยเธอมีความเชื่อมั่นว่าตนเองจะได้รับชัยชนะ อันจะช่วยให้เธอได้รับเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนานักกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเธอบอกว่าต้องการที่จะนำไปดูแลครอบครัว
รวมความแล้ว สองเหรียญทองและหนึ่งเหรียญทองแดงที่คุณวันนาได้รับมาในครั้งนี้จะทำให้เธอได้รับเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนานักกีฬาแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 55,000 บาท กล่าวคือ 50,000 บาทสำหรับเหรียญทองสองอัน และอีก 5,000 บาทสำหรับเหรียญทองแดงหนึ่งอัน
สำหรับคนที่มีสตางค์จริงๆ เงินจำนวนนี้คือเศษเงินแท้ๆ ว่ากันตามจริง ยังไม่มากพอที่จะซื้อหาเสื้อหรือกางเกงที่พอดูได้มาใส่เพียงตัวหรือสองตัว หรือแม้กระทั่งเหล้าดีๆ ในระดับพอใช้ได้มาดื่มเพียงขวดเดียวด้วยซ้ำ ในประสบการณ์ของคนจำนวนไม่น้อยในกลุ่มนี้ นี่อาจจะเป็นราคาอาหารเพียงมื้อเดียวเท่านั้นเอง
สำหรับคนชั้นกลางระดับสูงจำนวนไม่น้อย เงินจำนวนนี้ถือว่าจิ๊บจ๊อย ซึ่งสามารถวางไว้ที่นั่นที่นี่แบบทิ้งๆ ขว้างๆ ได้ เพราะมันไม่พอแม้กระทั่งสำหรับการซื้อลำโพงประกอบเครื่องเสียงแบบธรรมดาๆ สักชุดด้วยซ้ำ อย่างดีก็อาจจะนำไปใช้ซื้อโทรศัพท์มือถือที่ทันสมัยพอสมควรได้เพียงเครื่องเดียวเท่านั้นเอง
สำหรับคนชั้นกลางแบบกลางๆ อย่างดีนี่ก็คือส่วนหนึ่งของรายรับเพียงครึ่งเดือนหรือเดือนเดียว ซึ่งยังไม่ทันคิดที่จะนำไปซื้อหาอะไรสักอย่างหนึ่ง เงินจำนวนนี้ก็หายวับไปเสียแล้วเพราะคนกลุ่มนี้มักจะเป็นหนี้เป็นสินมากมาย
ทว่าสำหรับชนชั้นกลางระดับล่างๆ ลงมาจนกระทั่งถึงคนยากจน เงินจำนวนนี้คืออะไรที่พวกเขามักจะไม่ค่อยได้เห็นพร้อมๆ กันในคราวเดียวกันบ่อยๆ ฉะนั้น มันจึงเป็นเงินจำนวนมากเหลือเกิน มากจนพวกเขามักจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่ามันสามารถทำอะไรได้อย่างมากมาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันมักจะทำอะไรได้ไม่เท่าไรนัก
ทั้งนี้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึงบุคคลพิการส่วนมาก ผู้มักจะเป็นที่ด้อยโอกาสด้วยประการทั้งปวงว่า เงินจำนวน 55,000 บาทนั้นจะดูมากมายเพียงใด ทั้งๆ ที่มันอาจจะไม่เพียงพอที่นำไปรักษาความพิการที่รบกวนเขาอยู่ด้วยซ้ำ
ในบริบทแห่งความเป็นจริงเช่นนี้เอง "วันนา ลาดี" จึงต้องสู้ และในกรณีของเธอนั้น มันคือการสู้ที่ไม่ธรรมดา ทว่าเป็นการสู้ยิบตา เพราะในฐานะของคนที่กำลังจะเป็นแม่ สัญชาตญาณจะต้องบอกว่าเธอกำลังนำชีวิตของเธอเองและลูกไปสุ่มเสี่ยงกับอันตรายที่ประเมินไม่ได้ ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังกับเงินรางวัลที่เธอ "อาจจะ" ได้รับเพียงไม่กี่มากน้อย
ถึงแม้ว่าเธอจะแสดงความมั่นใจว่าตนเองจะต้องได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน ทว่าจริงๆ แล้ว นั่นก็เป็นเพียง "ความหวัง" ลอยๆ ที่เธอไม่มีเหตุผลอันหนักแน่นใดๆ มารองรับ ฉะนั้น หากเธอพ่ายแพ้ขึ้นมา มันก็อาจจะลงเอยด้วยการที่เธอไม่ได้รับเหรียญหรือรางวัลใดๆ เลยก็ได้ มิหนำซ้ำ เธออาจจะต้องพบกับความสูญเสียส่วนตัวอย่างไม่คาดไม่ถึงก็ได้
ทว่าคุณวันนาก็ได้ตัดสินใจสุ่มเสี่ยง ด้วยการออกเดินทางไปแข่งขันในสนามกีฬาที่จริงๆ ทั้งๆ ที่เธอไม่สามารถมั่นได้ดอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่เธอมีอยู่ในใจก็คือความหวังอย่างเงียบๆ ว่าเธอจะได้รับชัยชนะที่มันจะมีมูลค่าเป็นเงินสดจำนวนหนึ่ง ซึ่งสำหรับเธอและครอบครัว มันคงจะเป็นจำนวนมากเหลือเกิน และอาจจะมากที่สุดเท่าที่เธอเคยได้เห็นด้วยตาตนเองมาตลอดชีวิต เพราะความหวังลึกๆ อย่างนี้เอง เธอจึงกลั้นใจนำชีวิตตนเองและลูกในท้องไปสุ่มเสี่ยง
เรื่องราวของคุณวันนาจึงไม่ใช่เป็นอะไรที่ธรรมดาๆ ที่เราควรจะปล่อยให้ผ่านๆ ไปโดยที่ไม่ช่วยกันครุ่นคิดอย่างจริงจังว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย เราจึงปล่อยให้คุณวันนาต้องตัดสินใจไปทำอะไรๆ อย่างที่ไม่ควรจะกระทำเลยอย่างที่เธอได้กระทำไปแล้ว
ถึงแม้ว่าเราควรจะร่วมกันแสดงความยินดีกับความสำเร็จของคุณวันนาอย่างแน่นอน ทั้งสำหรับชัยชนะและความปลอดภัยของตัวเธอเองและลูกสาวที่ได้รับการตั้งชื่อว่า "มะนิลา" ทว่าในขณะเดียวกัน เราก็ควรที่จะตั้งคำถามและหาคำตอบให้ได้ว่าสังคมไทยมีความผิดปกติอะไรบ้างหนอ เราจึงปล่อยเหตุการณ์ที่ค่อนข้างร้ายแรงถึงขนาดนี้ให้เกิดขึ้นได้
นั่นก็คือ เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้หญิงพิการคนหนึ่งถึงกับตัดสินใจนำชีวิตของตนและลูกในท้องไปสุ่มเสี่ยง เพื่อหวังในเงินรางวัลเพียงไม่เท่าไรนัก
ความจริงก็คือ คุณวันนาต้องสู้ยิบตาก็เพราะเธอบังเอิญโชคไม่ดีที่เกิดขึ้นมาเป็นคนพิการในสังคมที่พิการอย่างยิ่ง ไม่ว่านักวิชาการจะสรรหาถ้อยคำอันวิจิตรพิสดารมาสาธยายกันอย่างไรก็ตาม พูดกันอย่างง่ายๆ เธออยู่ในสังคมประเภทตัวใครตัวมันที่ออกจะเถื่อนๆ เลยทีเดียวแหละ
ทั้งหมดนี้ดำเนินไปในนามของระบบการเมืองที่ได้รับการขนานนามออกจะขึงขังว่าประชาธิปไตย อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "หนึ่งคน หนึ่งเสียง" โดย "ผู้แสดงนำ" ในระบบมีความชำนาญในการเสแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นว่าเสียงจำนวนมากเป็นเสียงที่ตนเองสามารถซื้อขายกันได้ในราคาที่ไม่แพงนัก และด้วยกลเม็ดเด็ดพรายที่มากมายและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกที รวมทั้งการซื้อเสียงด้วยเงินของผู้ขายเสียงเอง!
ลงท้าย เมื่อใครได้เสียงมามากกว่า ก็ถือว่าได้รับชัยชนะ นึกจะทำอะไรก็กล้อมแกล้มทำๆ กันไปในนามของ "เสียงส่วนใหญ่" ที่ซื้อหามาได้ โดยไม่ค่อยยอมให้มีการตรวจสอบว่า "เสียงส่วนใหญ่" ได้รับประโยชน์อะไรอย่างทัดเทียมกันหรือไม่ และ "เสียงส่วนน้อย" ได้รับความเสียหายอันสุดแสนจะทนทานหรือไม่
ส่วนผลดีผลเสียต่อสังคมส่วนรวมในระยะสั้น กลางและยาวของนโยบายต่างๆ คืออะไรบ้างก็ไม่เคยถูกตั้งเป็นคำถามในสังคม ฉะนั้น ความเสียหายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงเป็น "ความลับ" ที่มักจะไม่มีคำตอบใดๆ จนกระทั่งมันเกิดขึ้นแล้วนั่นเอง นับตั้งแต่เรื่องการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จนกระทั่งถึงภาวะถังแตกในวันนี้!
พวกฝรั่งที่เป็นผู้คิดค้นสิ่งที่เรียกๆ กันว่าประชาธิปไตยขึ้นมานี่ หากมาเจอสถานการณ์แบบเมืองไทยในวันนี้ก็คงมีความรู้สึกสำนึกผิดอยู่มากเหมือนกัน อย่างน้อยๆ นักทฤษฎีบางคนที่ตรวจสอบดูผลกระทบต่างๆ ในทางลบอย่างทั่วถึง ก็ต้องเกิดความสว่างขึ้นมาในใจละว่า การนำเข้า "รูปแบบ" ของประชาธิปไตย โดยไม่มี "เนื้อหา" ที่สำคัญอื่นๆ ที่จะทำให้มัน "ทำงาน" อย่างได้ผลตามทฤษฎีนั้น อาจจะนำไปสู่ความฉิบหายได้เพียงไหน
ในขณะที่คุณวันนาตัดสินใจด้วยตนเองเดินทางไปแข่งขันทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเองไม่อยู่ในความพร้อมอย่างเต็มที่นั้น ผมเชื่อว่าคุณวันนาคงไม่ได้คิดถึงความไม่เอาไหนที่ผมเอ่ยถึงข้างต้นนั้นดอก ทว่าเธอคงคิดในระดับของประสบการณ์ส่วนตัวว่าสภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวว่าไม่ได้มีทางเลือกอะไรในอนาคตมากนัก
มองไปข้างหน้า เธอคงจะเห็นแต่ความมืดมน นอกจากนี้ เธอก็คงจะคิดถึงภาพของนักกีฬาไทยหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬา จนกระทั่งได้รับเงินรางวัลและชื่อเสียงมากมายในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะไม่กี่ปีมานี้
ไม่กี่ปีในยุคของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้ริเริ่มการแจก "รางวัล" สารพัดกับบุคคลที่ประสบความสำเร็จทางการกีฬา โดยเป็นรางวัลที่มีคุณค่าในระยะสั้นๆ เฉพาะกิจ ให้แล้วก็จบๆ กันไปเหมือนกับละครเรื่องหนึ่ง ทว่ามันก็เป็นกิจกรรมที่ทำๆ กันบ่อยๆ จนกลายเป็นกระแส ในความหมายที่ว่าสื่อมวลชนต้องพากันหันมาให้ความสนใจกับนักกีฬาที่เป็นผู้ชนะในลักษณะที่เขาเป็น "คนดัง" อีกชนิดหนึ่ง ครั้นเป็นอย่างนี้ บรรดานักการเมืองและพ่อค้ารายใหญ่ๆ ทั้งหลายก็ต้องไปเสาะหาเงินทองต่างๆ มากบ้างน้อยบ้าง มาตกเป็นรางวัลให้แก่นักกีฬากลุ่มนี้กันบ้าง ทั้งนี้ ก็เพื่อที่ตนเองจะได้ "เป็นข่าว" กับเขาบ้างว่าตนเองก็รักชาติอะไรประมาณนั้น
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ในหลายๆ กรณี จุดสนใจหลักของคนพวกนี้อาจจะไม่มีอะไรมากไปกว่าการเกาะกระแสให้ตนเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของ "ข่าวใหญ่" ในต้นทุนที่ค่อนข้างถูกเสียด้วยซ้ำ ความหมายลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ในประโยคนี้ดูจะน่ารังเกียจไม่ใช่น้อยๆ ทว่าก็น่ากลัวจริงๆ ว่ามันจะไม่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงเท่าไรนัก
จริงๆ การตกรางวัลอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นอะไรที่เลวร้ายในตัวมันเองดอก ทว่ามันดูไม่ดีเลยหากมันจะเป็นเพียงอย่างเดียวที่เราส่งมอบให้กับนักกีฬาคนเก่งของชาติ ทว่ากลับไม่เอาใจใส่กับนักกีฬาระดับชาติมากมายหลายคนที่มีข่าวออกมาว่าพากันตกทุกข์ได้ยากถึงขนาดระเหเร่ร่อน
อย่างน้อยๆ สิ่งที่วงการกีฬาอาจจะทำได้ทันทีก็คือ การวางระบบให้คนเก่งๆ ในอดีตเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตของเขาได้อย่างมีเกียรติตามสมควรเช่น ในฐานะของ "โค้ชกิตติมศักดิ์" ซึ่งก็น่าจะกระทำได้ด้วยเงินทองที่ไม่มากมายอะไรนัก ทว่าก็ไม่เคยได้ยินอะไรอย่างนี้ ทุกวันนี้ นักมวยระดับแชมป์โลกของเราหลายคนกำลังอยู่ในสภาพที่ไม่มีสง่าราศีจนน่าตกใจ
จุดที่น่าสนใจมากเหมือนกันก็คือ สิ่งที่เรียกว่า "เงินโบนัส" ซึ่งนักกีฬาที่ประสบความความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาระดับโลกและระดับภูมิภาคต่างๆ นั้น นักกีฬาพิการจะได้รับเงินรางวัลและเกียรติยศไม่มากเท่ากับนักกีฬาที่มีร่างกายปกติ ราวกับว่ามีมิติแห่งชนชั้นอยู่อย่างนั้นแหละ ทั้งๆ ที่ในแง่หนึ่ง ความพยายามของนักกีฬาพิการนั้นคงจะถือในเชิงเปรียบเทียบได้ว่ามีมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
นอกจากการตกรางวัลเฉพาะกิจที่กลายเป็น "เหตุการณ์เทียม" (pseudo-event) ชนิดหนึ่งที่เน้นผลด้านการประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ตกรางวัลเป็นสำคัญแล้ว การตกรางวัลแบบนี้ยังเป็นภาพสะท้อนของสังคมที่เน้นการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายประเภท "แพ้คัดออก" ด้วย นี่หมายความว่าสังคมของเราคือสังคมที่แสดงความยินดีกับ "ผู้ชนะ" เท่านั้น ส่วน "ผู้แพ้" นั้นไม่ค่อยมีที่ยืนนัก
ในความเป็นจริง "ผู้ชนะ" ย่อมมีไม่มากนัก ทว่า "ผู้แพ้" ย่อมจะมีมากมายมหาศาลกว่านัก ด้วยประการฉะนี้ สังคมของเราจึงเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคนที่มีความทุกข์จากความพ่ายแพ้
เมื่อคนที่มีความทุกข์มีมากกว่าคนที่มีความสุข คนที่มีความสุขก็มักจะเข้าใจผิด บ่อยๆ ถึงกับเหิมเกริมด้วยความหลงใหลใน "ความสำเร็จ" ของตนเอง ทั้งๆ ที่ "ความสำเร็จ" นั้นอาจจะมีคุณค่าที่แท้จริงเพียงชั่วคราวและไม่มากมายอะไรนัก ส่วนคนที่มีความทุกข์ก็ไม่ค่อยมีใครเห็นอกเห็นใจ เมื่อเป็นอย่างนี้ พวกเขาก็ยิ่งมีความทุกข์มากยิ่งขึ้น ลงท้ายแล้ว สังคมของเราจึงเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาอันโง่เขลาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากความโหดเหี้ยมของระบบอำนาจที่จัดตั้งขึ้นมาในนามของประชาธิปไตยแบบพิลึกกึกกือที่เอ่ยถึงข้างต้น ซึ่งผลลัพธ์อย่างหนึ่งก็คือการแข่งขันแบบแพ้คัดออก จะเป็นแรงผลักดันให้คุณวันนาต้องตัดสินใจแอบๆ ซ่อนๆ ความเป็นจริงที่ว่าตนเองตั้งครรภ์อยู่เพื่อให้เธอมีโอกาสได้สู้ยิบตา เพราะการมีโอกาสได้เป็นนักกีฬาทีมชาติที่มีโอกาสได้รับการตกรางวัลนั้นหาได้ยากเย็นยิ่งนักแล้ว ในอีกระดับหนึ่ง คุณวันนายังถูกกดดันด้วยโครงสร้างแห่งความชั่วร้ายขนาดมหึมาอีกหลายๆ ชั้นด้วย
แรกเลยทีเดียว ความที่คนพิการทั้งประเทศคงจะมีไม่มากนัก ฉะนั้น ในแง่ของการเป็นฐานเสียงทางการเมืองจึงอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากนักการเมืองเท่าไรนัก สรุปแล้ว สิทธิของคนพิการในอันที่จะได้รับจากนักการเมืองจึงลดน้อยถอยลงไปด้วย หากจะมีบ้าง ก็ดูจะเป็นในระดับพื้นฐานจริงๆ เท่านั้น
กระนั้นก็ตาม ในสังคมที่มีคุณภาพใดๆ ก็ตาม การให้ความสำคัญแก่คนพิการก็คือจุดพิสูจน์ระดับแห่งการเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ย่อมไม่มีใครต้องการเป็นคนพิการ และในทางทฤษฎีแล้ว ความพิการย่อมสามารถบังเกิดขึ้นกับใครๆ ก็ได้โดยไม่คาดหมาย
ฉะนั้น เมื่อคนพิการอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกับเรา การที่เราให้ความดูแลเขาอย่างพอเพียง ก็มีค่าเท่ากับเป็นการให้ความเคารพใน "ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์" ของเราเองนั่นเอง
ทว่าคำถามก็คือ หลักการคิดเช่นนี้มี "ที่ลง" หรือไม่ในสังคมไทยวันนี้ที่นักการเมืองต่างพากันทำมาหากินแบบเข้าพกเข้าห่อด้วยความร่าเริง โดยดูเหมือนว่าไม่มีความสนใจอย่างจริงจังที่จะทำอะไรให้แก่ใครๆ ด้วยความสำนึกในหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ใจทั้งสิ้น แม้กระทั่งคนที่ตนต้อนไปลงคะแนนเสียงให้ตนเองก็ยังถูกละเลยหลังจากหมดประโยชน์ไปแล้วในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ความที่คนพิการคงไม่ใช่ "ผู้ผลิต" ในทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากนัก ทั้งนี้ ก็เพราะพวกเขายังไม่ได้รับโอกาสต่างๆ เท่าที่ควร ทั้งในแง่ของการฝึกอบรมทักษะต่างๆ โอกาสในการประกอบอาชีพ รวมทั้งการยอมรับนับถือจากกลุ่มสังคมต่างๆ ทั้งๆ ที่คนพิการหลายๆ ท่านที่มีบังเอิญได้รับโอกาสดีสักหน่อย ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว เขาสามารถดำรงตนอย่างมีคุณค่าต่อตนเองและคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
ใครอยากจะได้คำยืนยันในความจริงข้อนี้ โปรดไปถามเอาได้จาก "คุณอุ้ม" ผู้หญิงตัวเล็กๆ ทว่ามีหัวใจที่ยิ่งใหญ่แห่งวงการบันเทิง ผู้อุทิศตัวให้ความช่วยเหลือแก่คนตาบอดด้วยความคึกคักอย่างยิ่งในวันนี้
แน่นอน หากสังคมของเราสามารถสร้างพื้นที่ให้แก่บุคคลทุกประเภท (รวมทั้งคนพิการ) ได้อย่างครบถ้วน โดยไม่คำนึงถึง "ความสามารถในการผลิต" ของแต่ละคนอย่างเกินความพอดี สังคมของเราก็จะมีระดับทางวัฒนธรรมที่สูงขึ้นเนื่องจากความเอื้ออาทรที่เราส่งมอบให้แก่บุคคลที่อ่อนแอกว่าอย่างเพียงพอและเป็นระบบนั้นจะช่วยยกระดับจิตวิญญาณของเราให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ลงท้ายแล้ว พลังแห่งการให้นั้นก็จะแผ่รัศมีไปทั่วสังคม ยังผลให้สังคมของเรามีความรักและความอบอุ่นจากการอยู่ร่วมกันมากขึ้น
ฉะนั้น หากมีการวิจัยถึงขนาดและลักษณะของปัญหา จัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม และวางระบบการบริหารจัดการที่ดีเพียงพอ โอกาสที่คนพิการจะทำหน้าที่เป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมจึงเป็นไปได้เสมอ ทว่าทั้งๆ ที่เป็นไปได้ในทางทฤษฎี ทว่าในความเป็นจริงก็ยังสงสัยอยู่ว่าอะไรอย่างนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ไหม ถึงแม้ว่าจะมีโครงสร้างและกลไกที่ดูแลคนพิการอยู่บ้างแล้ว ทว่าดูเหมือนจะไม่ค่อยเพียงพอกับระดับของปัญหา
พิจารณาถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่ค่อนข้างล้าหลังเพราะความเห็นแก่ได้อย่างไม่รู้จักสิ้นสุด จนทรัพยากรของชาติถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ในกระเป๋าของใครๆ โดยไม่ถูกต้องอย่างเป็นระบบ ซึ่งในไม่ช้าไม่นานนักก็อาจจะไม่มีทรัพยากรอะไรเหลือให้ใครๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่อ่อนแอกว่าในสังคมเดียวกัน อันเป็นพลังที่ผลักดันให้คุณวันนามองไม่เห็น "ทางเลือก" อะไรที่ดีไปกว่าการตัดสินใจสู้ยิบตา ด้วยการนำชีวิตของตนเองและลูกในท้องไปสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งนั้น สังคมไทยยังมีอะไรที่จะต้องทำให้แก่คนพิการอีกมาก
ก็ลองหลับตานึกดูก็แล้วกันว่า หากคุณวันนาและลูกของเธอเกิดเป็นอะไรไป ไม่ได้โชคดีอย่างที่เป็นอยู่ พวกเราแต่ละคนจะมีความรู้สึกรันทดสักเพียงใด ทั้งต่อความไม่เอาไหนของสังคมของเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่แยแสของเราแต่ละคนในอันที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมของเราให้ดีขึ้น
เมื่อคุณวันนากลับมาถึงเมืองไทยพร้อมๆ กับลูกสาวของเธอในไม่กี่วันข้างหน้า ก็ผลัดกันคนละไม้ละมือ "อัดฉีด" รางวัลเพิ่มเติมให้เธอกันไปตามกระแสที่จะเกิดขึ้นกันไปตามสบายเถิด ในกรณีนี้ ไม่มีใครถือได้ว่าเป็นความผิดดอก ทว่าก็อย่าให้กระแสนั้นๆ กลบเกลื่อนปัญหาที่สำคัญกว่าที่มองเห็นได้ยากกว่า จนกระทั่งหลงลืมที่จะแก้ไขเสียก็แล้วกัน
นั่นก็คือ ความพิการต่างๆ สารพัดภายในสังคมและหัวใจของเราเองที่ผลักดันให้คุณวันนาจำใจต้องเอาชีวิตของเธอและลูกไปสุ่มเสี่ยงอย่างน่าหวาดเสียวตั้งแต่แรก