xs
xsm
sm
md
lg

ตีกลับแผนปิดโรงงานปุ๋ย NFC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดปุ๋ย NFC ตีกลับแผนปิดโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี สั่งให้ไปทบทวนใหม่อีกครั้ง หลังฝ่ายบริหารเสนอขอปิดโรงงานเป็นการถาวร อ้างต้องลงทุนซ่อมโรงงานกว่า 200 ล้านบาท และรัฐส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี แล้วหันไปทำธุรกิจลอจิสติกส์และท่าเทียบเรือแทน คาดเสนอผลศึกษาชงบอร์ดชี้ขาดอีกครั้งภายใน 1เดือน และพลิกแผนปลดพนักงานโรงงานออก โดยทำโครงการเออรี่ รีไทร์แทน "วิชัย ทองแตง"ผู้ถือหุ้นNFC ไม่เคยรู้ว่าจะปิดโรงงาน ขอดูข้อมูลอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจถือหุ้นต่อไปหรือไม่

นายบัณฑิต สะเพียรชัย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ NFC เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริษัท วานนี้ (20 ธ.ค.) ว่า คณะกรรมการมีมติไม่เห็นด้วยกับการหยุดการผลิตปุ๋ยเคมีเป็นการถาวรในทันที ตามที่ฝ่ายบริหารนำเสนอ และเห็นว่าการลงทุนซ่อมแซมโรงงานอีก 238 ล้านบาท เป็นการลงทุนที่สูงเกินไปไม่น่าจะคุ้มกับการลงทุนในระยะยาว และรัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมีในอนาคต ดังนั้นคณะกรรมการจึงให้ฝ่ายบริหารนำกลับไปทบทวนก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ประเด็นที่คณะกรรมการให้ฝ่ายบริหารนำกลับไปพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก ทบทวนและตรวจสอบสภาพเครื่องจักรเพื่อประเมินความสามารถในการนผลิต กำลังคน และเงินลงทุนที่จะต้องใช้ทั้งหมด เพื่อทำให้โรงงานสามารถเดินเครื่องผลิตต่อไปได้ตามกำลังผลิตที่ต้องการ

ประเด็นที่ 2 ให้ดำเนินการผลิตต่อไปด้วยความระมัดระวังจนกว่าวัตถุดิบจะหมะหรือเท่าที่สภาพเครื่องจักรจะสามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้ด้วยความปลอดภัย และประเด็นสุดท้ายเพิ่มเติมโดยมุ่งเน้นธุรกิจระยะยาวและการใช้ประโยชน์จากช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัทที่มีอยู่

นายบัญฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝ่ายบริหารจะนำข้อเสนอของคณะกรรมการกลับมาพิจารณาก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้การเดินเครื่องผลิตปุ๋ยตามวัตถุดิบที่เหลืออยู่นั้น คาดว่าวัตถุดิบจะหมดภายใน 2-3 เดือนในกรณีที่เดินเครื่องผลิตต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมีมติอื่นๆ ที่สำคัญประกอบด้วย การอนุมัติการกู้เงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จำนวนประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระหนี้ของบริษัท ท่าเรือระยอง จำกัด (อาร์บีที) ให้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รวมถึงการเพิ่มวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจลอจิสติกส์ หลังจากที่บริษัทได้ปรับแผนการดำเนินงานให้มีขอบข่ายที่กว้างขึ้น เพราะปัจจุบันธุรกิจของบริษัทไม่ได้อิงกับการผลิตปุ๋ยเป็นหลักเพียงอย่างเดียว

ส่วนประเด็นที่จะมีการเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น นายบัณฑิต กล่าวว่า บริษัทจะส่งแผนการดำเนินธุรกิจที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาอีกครั้ง หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของตลาดหลักทรัพย์ว่าจะดำเนินการอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการยังไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย ที่จะจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยขึ้นมาพิจารณาแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันผู้ถือหุ้นรายย่อยถือหุ้นอยู่เพียง 1.7% โดยเดิมบริษัทฯมีแผนจะจัดสรรวอร์แรนต์ให้รายย่อยเพื่อให้ถือหุ้นตามเกณฑ์ที่ตลาดฯกำหนดไว้ 10%

**พลิกแผนปลดพนง.เป็นเออรี่ รีไทร์

นายกิจจา สมัญญาหิรัญ ผู้อำนวยการแผนธุรกิจและบริหาร บมจ.ปุ๋ยเอ็นเอฟซี กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้โรงงานปุ๋ยเคมีของบริษัทฯได้หยุดซ่อมบำรุงเป็นเวลา 1 เดือนนับตั้งแต่กลางธ.ค.48-ม.ค. 49 เชื่อว่าระหว่างนี้ฝ่ายบริหารจะดำเนินการทบทวนเรื่องต่างๆก่อนที่จะเสนอต่อบอร์ดบริษัทฯในอีก 1 เดือนข้างหน้า หากฝ่ายบริหารยืนยันความจำเป็นต้องปิดโรงงานปุ๋ยนี้ เชื่อว่าบอร์ดก็คงเห็นชอบ เพราะปัจจุบันการบริษัทฯขาดทุนทุกตันปุ๋ยที่ผลิต เนื่องจากโรงงานไม่ได้รับการซ่อมแซม ทำให้กำลังการผลิตจากเดิม 1 ล้านตัน/ปีลดเหลือ 3-4 แสนตัน/ปี

หากอนาคตโรงงานปุ๋ยปิดตัวลง ทางฝ่ายบริหารก็จะเน้นทำธุรกิจด้านลอจิสติกส์และท่าเทียบเรือ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ฝ่ายบริหารมีควาามชำนาญ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มนายณัฐภพ สนใจเข้ามาถือหุ้นในบริษัทปุ๋ยเอ็นเอฟซี

อย่างไรก็ตาม เมื่อบอร์ดบริษัทฯมีมติไม่เห็นชอบในการปิดโรงงานปุ๋ย ทำให้แผนการเลิกจ้างพนักงานในส่วนโรงงานและคลังสินค้าของบริษัทต้องไม่สามารถทำได้ ดังนั้นบริษัทฯจึงมีโครงการเกษียณก่อนกำหนด (เออรี่ รีไทร์)ขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ โดยจะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายกำหนด 100% ส่วนพนักงานที่สำนักงานกรุงเทพฯนั้น สืบเนื่องจากบริษัทฯจะย้ายออฟฟิศจากอาคารเล่าเป้งง้วน ไปที่อาคารเอสซี ที่บางนาในต้นปีหน้า ทำให้มีพนักงานประมาณครึ่งหนึ่งของพนักงานจำนวน 80 คน ตัดสินใจลงนามในสัญญาเลิกจ้างมาตั้งแต่เดือนพ.ย. 48 โดยรับเงินชดเชยตามตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีอัตราการจ่ายเงินต่ำกว่าการเลิกจ้างถึง 50% โดยพนักงานเหล่านี้ไม่ทราบมาก่อนว่าบริษัทฯมีแผนจะปิดโรงงานปุ๋ยมาก่อน

**"วิชัย"ลังเลถือหุ้นNFCต่อ

นายวิชัย ทองแตง หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของNFC กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ฝ่ายบริหารNFC เสนอปิดโรงงานปุ๋ยเคมี รวมไปถึงบอร์ดบริษัทฯตีกลับในเรื่องนี้ หากในอนาคต NFC ต้องปิดโรงงานไป ตนยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะถือหุ้นNFC ต่อไปหรือไม่ คงต้องขอดูรายละเอียดข้อมูลต่างๆก่อนตัดสินใจ เพราะการเข้ามาถือหุ้นในNFC จำนวน 8%นั้น มีวัตถุประสงค์ต้องการลงทุนระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ตนคงไม่ใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นคัดค้านการปิดโรงงานดังกล่าว เพราะเมื่อตัดสินใจมอบอำนาจการบริหารงานให้กลุ่มนายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ซีอีโอของNFC ไปแล้ว ก็จะไม่เข้าไปสร้างปัญหาหรือทำให้เกิดความปั่นป่วนกับทีมบริหารงานของNFC

**เปิดตำนานปุ๋ยNFC

โครงการปุ๋ยแห่งชาติ (บมจ.ปุ๋ยเอ็นเอฟซี) เป็นโครงการริเริ่มมาตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2525 ที่ต้องการให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีในราคาที่ถูก ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยจัดตั้งเป็นบริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ ขึ้นมาแต่ช่วงนั้นยังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ จนกระทั่งปี 2535 โครงการนี้ได้ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยมี บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ และได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 185 ล้านบาท เป็น 650 ล้านบาท และแต่งตั้งให้นายณัฐ จามรมาน เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ

ต่อมาปี 2537 ปุ๋ยแห่งชาติได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 4,000 ล้านบาท และกลุ่มผู้ถือหุ้นได้เปลี่ยนแปลงไป หลังจากผาแดงฯตัดสินใจลดการถือหุ้น โดยมีการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ถือหุ้นใหญ่จำนวน 25% รองลงมาเป็นธนาคารออมสิน 15 % บรรษัทอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) 15% สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 10% กระทรวงการคลัง 8.11% และปีถัดไป บริษัทฯตัดสินใจสร้างโรงงานปุ๋ยเคมีแห่งแรกของไทย ด้วยเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินกู้ 6 พันล้านบาทที่เหลือเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น

ในปี 2539 บริษัทปุ๋ยแห่งชาติได้เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากนั้นก็ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้กลุ่มธนาคารผู้ให้กู้ระงับการเบิกถอนเงินกู้งวดสุดท้ายจำนวน 530 ล้านบาท และความต้องการใช้ปุ๋ยในประเทศลดลงอย่างมาก ทำให้บริษัทต้องหันไปพึ่งพาตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ต่อมาในปี 2542 ปุ๋ยแห่งชาติได้ปรับโครงสร้างหนี้ โดยแปลงหนี้เป็นทุน และผู้ถือหุ้นใส่เงินส่วนทุนเข้ามาเพิ่ม เพื่อนำไปซื้อวัตถุดิบ โดยช่วงนั้นได้มีการเจาะตลาดปุ๋ยในส่วนราชการ จนมีการผลิตปุ๋ยสูงถึง 5 แสนตันต่อปี แต่ทุกตันปุ๋ยที่ขายได้นั้นประสบปัญหาการขาดทุน เนื่องจากเสนอขายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน จนบริษัทฯต้องประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากนั้นได้มีความพยายามที่จะปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยเจรจากับเจ้าหนี้ รวมทั้งจัดประมูลหาผู้ร่วมทุนใหม่ พบว่ากลุ่มไทยพีคอนและกลุ่มซิหยางจากจีนชนะการประมูล แต่เนื่องจากกลุ่มผู้ชนะประมูลไม่สามารถที่เพิ่มทุนได้ตามกำหนด เป็นผลจากกลุ่มซิหยางถอนตัวไป ทางไทยพีค่อนจึงได้ดึงกลุ่มเอสซี (นายณัฐภพ )ที่มีประสบการณ์ด้านโลจิติกส์ เข้ามาร่วมทุนแทน ในช่วงปี 2547

จากแนวทางการบริหารงานระหว่างกลุ่มไทยพีค่อน กับกลุ่มณัฐภพ แตกต่างกัน ทำให้นายณัฐภพ ไล่ซื้อหุ้น NFC และทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ สุดท้ายกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แทนกลุ่มไทยพีค่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น