xs
xsm
sm
md
lg

จวกนโยบายสาธารณะรัฐบาล ขาดข้อมูล-เอื้อพวกพ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพน.ระดมนักวิชาการถกสร้างนโยบายสาธารณะที่ดี นักวิจัยมือฉมัง"อนุช"ชี้ 2 แนวคิดเผชิญหน้า เอาประเทศไทยให้รอด กับทำประเทศไทยให้เป็นสุข แนะวิธีตัดสินใจให้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ด้านสภาหอการค้า ระบุนโยบายสาธารณะที่ผ่านมา ด้อยความรู้ ขาดข้อมูลหลักฐาน เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ยกนโยบายส่งเสริมค้าปลีกรายใหญ่กับโชว์ห่วย ที่สุดท้ายไปด้วยกันไม่ได้ ขณะที่อดีตสป.อัดซ้ำทำสังคมกลายสอพลอ ฉกฉวย ยกย่องผู้มีอำนาจ จี้นักวิชาการต้องมีกระดูกสันหลังให้ข้อมูลสังคมถึงผลกระทบของนโยบายสาธารณะ อาจารย์จุฬาฯ เผยอยากให้สพน.เป็นหน่วยงานอิสระ ไกลจากนายกฯ

วานนี้ ( 19 ธ.ค.)สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ(สพน.)ได้จัดสัมมนาวิชาการระดมความคิดเห็นเรื่อง"อนาคตนโยนบายสาธารณะเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า" โดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะประธานจัดตั้งสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ(สพน.) กล่าวว่าในอดีตที่ผ่านมา คนกำหนดนโยบายสาธารณะจะเป็นพวกเทคโนแครตไม่กี่คน คนเหล่านี้จะใช้ความรู้ทางเทคนิค และมองว่าคนไทยต้องการอะไร แล้วกำหนดออกมาเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับต่างๆ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในการเลือกตั้งปี 44 ที่พรรคไทยรักไทยนำนโยบายสาธารณะมาหาเสียง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นำมาสู่คำถามว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ การกำหนดนโยบายสาธารณะสมบูรณ์แล้วหรือยัง

ทั้งนี้ กระบวนการให้เกิดนโยบายสาธารณะนั้นเห็นว่า 1. ต้องใช้ความรู้มาเป็นฐานในการกำหนด 2. ต้องมีความเข้าใจในนโยบายนั้นๆ 3. ต้องมีความยอมรับว่า มันถึงเวลา และมันจำเป็นที่ต้องดำเนินการแล้ว โดยการดำเนินการก็ต้องอยู่บนหลักที่ว่า กระบวนการนั้นต้องถูกต้อง เพราะถ้ากระบวนการผิดก็จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ผิด เช่นในอดีต มีสร้างสนามบินในต่างจังหวัดมาก เพื่อเอาใจฝ่ายการเมือง แต่วันนี้ชัดเจนว่า สนามบินเหล่านั้นไม่ได้ใช้งาน หรือการสร้างท่าเรือนครสวรรค์ ใช้เงินลงทุนไปหลายพันล้าน วันนี้ท่าเรือไม่มีเรือเข้า กลายเป็นที่ตากปลา ตากผลไม้แห้ง

"สิ่งสำคัญ คือการต้องมีผู้รับผิดชอบใน กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะในอดีตไม่มีสิ่งนี้ อย่างท่าเรือนครสวรรค์ที่สร้างขึ้นมาใช้ไม่ได้ ใครต้องรับผิดชอบ ซึ่งในระบบประชาธิปไตยคนตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็คือรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ต้องยอมรับว่าถ้าตัดสินใจผิด ก็อาจจะต้องถูกชี้นิ้วในวันหนึ่งว่า สิ่งที่ตัดสินใจทำไปนั้นผิด"

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามักพูดถึงแต่ Out Put In put โดยไม่พูดถึงเรื่อง Impact ที่มองไม่เห็น โดยเฉพาะผลกระทบระดับลึก ต่อสภาพสังคมและวัฒนธรรม

"สพน.จึงไม่ใช่องค์กรที่จะมาดูว่า รัฐบาลต้องการอะไรแล้ว ตัวเองก็ไม่ทำ เพราะจะซ้ำกับสภาพัฒน์ แต่สพน.ต้องคิดนอกกรอบ โดยต้องดูว่าข้างนอกต้องการอะไรเป็นหลัก และพร้อมที่จะประสานกับองค์กรต่างๆ ทั้งที่อยู่ในระบบราชการและประชาสังคม ถ้าทำได้ก็จะเป็นคู่แฝดที่ทำงานคล้ายกันกับสภาพัฒน์ แต่ไม่เหมือนกับสภาพัฒน์ ก็จะเป็นประโยชน์ประเทศอย่างมาก"

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า การทำนโยบายสาธารณะเพื่อช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ แทบไม่มีในหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ คนเข้าใจเรื่องนี้น้อย เพราะเป็นเรื่องยาก ซึ่งกระบวนการนโยบายสาธารณะ ต้องมี 3 กระบวนการ ผนึกกันเข้ามา คือ 1. กระบวนการทางปัญญา 2. กระบวนการทางสังคม 3. กระบวนการทางศีลธรรม โดยมหาวิทยาลัยทุกแห่งควรมีบทบาทในเรื่องนี้ ขณะนี้มหาวิทยาลัยไม่ค่อยได้ทำในเชิงนโยบาย แต่ไปเน้นเชิงเทคนิค อยากเห็นมหาวิทยาลัยทุกแห่งเข้ามาวิจัยนโยบาย และนำสิ่งที่วิจัยไปสู่เวทีสาธารณะ ที่คนเข้ามามีส่วนร่วม ทุกฝ่ายเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ สื่อมวลชน ประชาชน

"เคยบอกอาจารย์บวรศักดิ์ว่าบ้านเมืองขาดเครื่องมือ ลำพังการประชุมครม.ไม่พอ ต่อไปกระทรวงจะทำนโยบายหรือทำยุทธศาสตร์ไม่ได้ เพราะยุทธศาสตร์ต้องมองข้ามกระทรวง นโยบายกับยุทธศาสตร์จะต้องเชื่อมโยงกัน นโยบายเราอยากทำอะไร จะจับจุดตรงไหน ปัญหามันร้อยแปด มันเหมือนพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ทุกด้าน เราจะตีออกทุกด้าน มันออกไม่ได้ จุดไหนมันเป็นจุดอ่อนที่จะออกไปได้ ขอให้ทะลุตรงนั้นออกไปได้ก่อน ตรงนั้นแหละเรียกว่าจุดยุทธศาสตร์"

จากนั้นได้มีการเปิดเวทีให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ตัวแทนจากภาคธุรกิจ และสื่อมวลชน ได้แสดงความคิดว่านโยบายสาธารณะที่ดีนั้นควรจะเป็นอย่างไร โดยนายอนุช อาภาภิรมย์ นักวิจัย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการเผชิญหน้ากันระหว่าง 2 คิด ที่เกี่ยวกับนโนบายสาธารณะ คือ 1. ฝ่ายที่คิดว่าจะเอาชาติรอดได้อย่างไร กับ 2. ฝ่ายที่คิดว่าจะทำให้ชาติมีความสุขได้อย่างไร บางคนอาจมองว่าการคุกคามจากข้างนอกไม่มาก แค่เราจัดในบ้านให้ดีก็พอ แต่อีกฝ่าย มองว่าแรงกดดันจากภายนอกมีสูง การแข่งขันจากภายนอกมีสูง ถ้าอยู่เฉยประเทศชาติไม่รอด นี่เป็นโจทย์ใหญ่ว่าเราจะเชื่อม 2 อย่างนี้ได้อย่างไร ซึ่งนโยบายสาธารณะที่ดีนั้น จะต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะเมื่อนำนโยบายไปปฏิบัติคนได้รับผลกระทบก็คือประชาชน จริงอยู่ที่รัฐบาลคือคนที่ตัดสินใจ หากประชาชนคิดว่าไม่ว่านโยบายที่รัฐนำมาปฏิบัติไม่ดีก็ไม่เลือกอีกใน 4 ปีข้างหน้า และรัฐบาลที่ตัดสินใจไปก็ต้องรับผิดชอบกับประวัติศาสตร์

ด้านนายพิพัฒน์ ไทยอารี อาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่อยากให้ สพน.ผูกพันอยู่กับนายกฯ มากไป เพราะไม่เช่นนั้นนโยบายที่ออกจาก สพน.จะไม่ใช่นโยบายสาธารณะ แต่จะเป็นนโยบายนายกฯ แทน จึงอยากเห็นสพน.มีแนวทางที่เป็นอิสระทั้งในแง่ของการทำงานและงบประมาณ เพราะถ้าไปผูกพันกับรัฐบาลมากแล้วก็จะเป็นปัญหาได้ ทำให้แม้วางแผนดีอย่างไรก็ยากจะสัมฤทธิ์ผล รวมทั้งสพน.ควรผูกพันกับหลายศูนย์ เช่น รัฐสาภา ยุติธรรม สถาบันทางสังคมอื่นๆด้วย ไม่ต้องการให้เป็นแบบ สศช.ซึ่งจบไปแล้วในสายตาของประชาชน

ด้านร.อ.จิตร์ ศิริธรานนท์ กรรมการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ในกระบวนการให้ได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะ มีข้อด้อยในเรื่องของความรู้ การกำหนดนโยบายสาธารณะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นประเภทเกิดจากความคิดชั่วแล่น ขาดข้อมูลหลักฐาน วิจารณญาณที่ดี หรือกำหนดขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง อย่างนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลบอกว่า ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ขณะเดียวกันก็บอกว่าส่งเสริมธุรกิจห้องแถว แต่วันนี้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเปิดจะครบ 150 สาขาแล้ว ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกรายย่อย หรือโชว์ห่วย กำลังจะตาย เพราะรัฐมีการกำหนดกรอบการจัดเก็บภาษีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการแข่งขัน

"การกำหนดนโยบายสาธารณะจึงต้องชัดเจน ไม่ใช่ทำแบบเรื่องนี้ บอกต่างชาติก็เอาคนในประเทศก็เอา แต่สุดท้ายคนในประเทศก็แข่งขันสู้ไม่ได้ โดยรัฐไม่ได้เหลียวแลอะไร และถ้าเอาเรื่องนี้ไปถามชาวบ้านก็จะกลายเป็นทำให้ชาวบ้านแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่ชอบของถูก ก็บอกว่าธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ดี เพราะตัวเองได้ซื้อของถูก แต่พวกที่ประกอบอาชีพโชว์ห่วย ก็บอกว่าไม่ดีเพราะมาแย่งอาชีพคนไทย ดังนั้นรัฐต้องเอาให้ชัดว่าจะเอาคนนอก หรือคนในประเทศ ถ้าบอกเอาคนนอกก็ คนในประเทศที่ประกอบอาชีพเปิดร้านโชว์ห่วยจะได้รู้ว่าตัวเองควรไปหาอย่างอื่นทำเสีย"

ด้านนายชนะ รุ่งแสง อดีตสมาชิกสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมสอพลอ ฉกฉวย ยกย่องผู้มีอำนาจ ซึ่งการจะกำหนดนโยบายสาธารณะดีควรที่จะต้องมีการวิจัย ศึกษาหาข้อมูลที่ชัดเจน โดยเฉพาะนักวิชาการทั้งหลายต้องมีกระดูกสันหลัง เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสาธารณะก็ต้องออกมาให้ข้อมูลความรู้กับสังคมว่านโยบายเหล่านี้ดีไม่ดีอย่างไร

ด้านนายเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จริงอยู่ที่รัฐบาลอาจจะต้องคิดในเรื่องทำอย่างไรให้ประเทศรอด แต่การที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เกิดคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อคนที่ลงคะแนนให้หรือเปล่า อย่างเรื่อง การทำเอฟทีเอ หรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในแง่ประโยชน์กับประชาชนอาจจะมี เช่น ได้ใช้สินค้าอุปโภค บริโภคในราคาที่ถูกลง แต่ในอีกมุมหนึ่งรัฐบาลก็ต้องคำนึงว่าการเปิดตลาดอาจทำให้คนไทยต้องไร้อาชีพ ดังนั้นรัฐก็มีหน้าที่ในการต้องรับผิดชอบและปกป้องประชาชนเหมือนกัน แต่ปัญหาที่เกิดเวลานี้คือมองในเรื่องเทคนิคเยอะ โดยลืมเรื่องอุดมการณ์ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น