xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเลือกปฏิบัติ

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้

ผมมักได้รับคำถามนี้อยู่บ่อยๆ จากคนที่ติดตามเหตุการณ์บ้านเมือง และอยากรู้ว่า "ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล" จะส่งผลต่อไปอย่างไร

ที่สำคัญ "เกมนี้จะจบอย่างไร"

ผมก็ได้แต่ตอบตามความเข้าใจของตัวเองว่า รายการที่จัดขึ้นทุกเย็นวันศุกร์ที่ลุมพินีสถานนั้น คุณสนธิ ลิ้มทองกุล และคุณสโรชา พรอุดมศักดิ์ ก็ทำหน้าที่สนทนาในประเด็นที่น่าสนใจ และจี้จุดเป็นคำถามที่น่าข้องใจหรือน่าสงสัยในความถูกต้องโปร่งใสให้ผู้นำรัฐบาลตอบ (แต่ประชาชนยังไม่ได้รับคำตอบ)

จึงเป็นการทำหน้าที่สื่อของรายการโทรทัศน์ที่มาบันทึกรายการถ่ายทอดสดจากนอกห้องส่งของสถานีโทรทัศน์ที่กรรมการ อสมท สั่งปลดรายการเพื่อเอาใจผู้นำรัฐบาล

ด้วยประเด็นเรื่องราวที่ถูกนำมาตีแผ่ และกระทุ้งด้วยคำถามที่โดนใจสังคม รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร เย็นวันศุกร์จึงถูกจับตา และติดตามอย่างหนาแน่นของผู้คนตั้งแต่ระดับชนชั้นกลางขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ที่ได้รับประเด็นและข้อมูล

และมักจะตามมาด้วยการรำพึงด้วยความตื่นตาตื่นใจว่า "ถึงขนาดนี้เชียวหรือ!"

คุณสนธิเองเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็ยังเปิดเผยว่าขณะนี้วงการราชการที่เห็นความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมมีการส่งข้อมูลมาให้มากเรื่องม ากประเด็น

ชนิดที่จัดกันต่อเนื่องไม่มีวันหมดประเด็น

รายการนี้จึงเป็นช่องทางในการรับรู้ข่าวสารอีกด้านหนึ่งที่สังคมต้องการ และมักกลายเป็นข่าวใหญ่ตามหนังสือพิมพ์ที่มองเห็นความโดดเด่นตามหลักวิชาชีพ

ปรากฏการณ์ของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จึงนับว่าเป็นพัฒนาการด้านการสื่อสารมวลชนอีกลักษณะหนึ่ง ที่ช่วยยกระดับการรับรู้ "ข่าวสารข้อมูล" ขึ้นเป็น "ความรู้" และต่อเนื่องเป็น "ปัญญา"

เป็นการบรรยายสดท่ามกลางมวลชนที่ "ลุมพินีสถาน" และถ่ายทอดสดทางเครือข่ายวิทยุชุมชน 97.75 และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียว ASTV

นอกจากมิติการรับรู้ข่าวสารของประชาชนได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญผ่านกลไกสื่อสารมวลชนยุคใหม่ ที่พยายามสกัดกั้นของกลไกรัฐยังทำไม่ได้เต็มที่

ขณะที่มิติการตรวจสอบจากสื่อก็ได้พัฒนารูปแบบไปด้วยเช่นกัน

สังคมจึงต้องการสิ่งชดเชยการทำงานกลไกขององค์กรการตรวจสอบตามระบบการเมืองที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ได้ถูกนักการเมืองแทรกแซงให้เดินเครื่องไม่ได้เต็มที่

น่าเสียดายที่ประเด็นซึ่งถูกหยิบยกจนสังคม "ตาโต" อยากรู้คำตอบจากรัฐบาล แทนที่จะมีการชี้แจงด้วยข้อเท็จจริงอย่างจะแจ้ง หากยืนยันว่าทำถูกหรือยอมรับความบกพร่องแล้วรีบแก้ไข

ลิ่วล้อที่ออกมาตอบโต้กลับทำได้แค่ถ้อยคำสำนวนแบบ "โต้วาที" หรือเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อหวังทำลายความน่าเชื่อถือ

ดังนั้น เมื่อคุณสนธิยืนยันว่าไม่ได้มองว่านายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นศัตรู แต่จะเปิดประเด็น เปิดโปงนักการเมืองที่ทุจริตกอบโกยเพื่อเครือญาติและพวกพ้อง โดยหากินกับผลประโยชน์ของชาติตลอดไป

รายการนี้จึงสามารถจัดไปได้เรื่อยๆ เพราะมีคนของรัฐบาลทั้ง "เชียร์แขก" และสร้างเรื่องสร้างประเด็นที่น่าสงสัยให้ได้พูดกันไปไม่หมดมุกแน่

ส่วนจำนวนคนที่ติดตามไปดูสดๆ หรือดูการถ่ายทอดทางวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนั้น มากมายอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องมาโต้เถียงกันเรื่องตัวเลขจำนวนคน

เพราะสาระประเด็นที่น่าสงสัยในความถูกต้องเป็นธรรมสำคัญกว่ามิใช่หรือ

แต่ถ้ากลไกของระบบถูกทำให้ง่อยเปลี้ยเพราะอำนาจอิทธิพลทางการเมือง ความถูกต้องเป็นธรรมก็ไม่เกิดขึ้นได้ เพียงแต่ข้อมูลเรื่องราวก็จะถูกเก็บกดสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่กลไกการทำงานตามปกติมีการอบรมสัมมนาปลุกจิตสำนึกให้ทำงานอย่างมีคุณภาพและคุณธรรม แต่ถ้าปรากฏการณ์ที่เป็นจริงที่เบี่ยงเบนไปเพราะความเกรงอำนาจนักการเมือง

ราวกับภาพในจินตนาการให้ทำดีกับความเป็นจริงที่ได้รู้เห็นในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจอิทธิพล ก็จะยิ่งขัดแย้งเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ

อีกตัวอย่างก็เกิดจากดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาสอบสวนเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต แถลงเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติของกรมสรรพากร

เรื่องนี้เกิดเพราะได้รับร้องเรียนจากคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซึ่งเคยถูกกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษี เนื่องจากซื้อหุ้นบริษัททางด่วนกรุงเทพ จากพ่อตัวเองในราคาถูกกว่าราคาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสรรพากรชี้เห็นว่าตั้งราคาต่ำกว่าราคาตลาด ถือเป็นผลประโยชน์ที่ต้องนำไปคำนวณรวมกับการเสียภาษีเงินได้ประจำปี และเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีกประมาณ 2 หมื่นบาท แต่ต่อมากรมสรรพากรได้ทำหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าภาษีคืน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำเรื่องขอคืน

กรณีนี้ถูกตั้งข้อสงสัยกรมสรรพากรต้องรับคืนเงินภาษี เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบต่อครอบครัว ชินวัตร ซึ่งมีการโอนขายหุ้นโดยตั้งราคาต่ำกว่าราคาในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้โดยการตีความใหม่ว่า แม้จะมีส่วนต่างๆ ราคาหุ้น แต่เพราะยังไม่มีการขายออกไปประโยชน์นั้นจึงยังไม่ต้องเสียภาษี

แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ายึดตามการรณรงค์ตามหลัก "ค่านิยมสร้างสรรค์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ" ที่ระบุให้

1. กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง 2. ซื่อสัตย์และมีความรับผิดชอบ 3. โปร่งใสและตรวจสอบได้ 4. ไม่เลือกปฏิบัติ 5. มุ่งผลสำเร็จของงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น