xs
xsm
sm
md
lg

โตโยต้ากับการก้าวสู่อันดับ 1 ของโลก

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ความยิ่งใหญ่ของรถยนต์โตโยต้าเริ่มจากความฝันอันยิ่งใหญ่ของนายซาคิชิ โตโยดะ ซึ่งถือกำเนิดมาในปี 2410 และจบเพียงแค่ระดับประถมศึกษา จากนั้นก็เริ่มฝึกงานกับบิดาเพื่อเป็นช่างไม้ แม้มีการศึกษาน้อย แต่เข้าได้พยายามค้นคว้าเพื่อประดิษฐ์เครื่องทอผ้า และต่อมาได้ก่อตั้งบริษัทโตโยดะซึ่งได้เติบโตกลายเป็นผู้ผลิตเครื่องทอผ้ารายใหญ่ของโลก

นายซาคิชิได้เดินทางไปสหรัฐฯ และพบว่าประชาชนใช้รถยนต์จำนวนมาก จึงเกิดความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะก่อตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ขึ้นในญี่ปุ่น โดยได้นำเงินจากการขายสิทธิบัตรเครื่องทอผ้าเพื่อนำมาวิจัยและพัฒนาด้านรถยนต์ แต่เขาเสียชีวิตลงเมื่อปี 2473 ก่อนที่จะสร้างความฝันให้เป็นความจริง

อย่างไรก็ตาม ความฝันอันยิ่งใหญ่ยังไม่ได้ดับมอดไป โดยมีผู้สืบทอดเจตนารมณ์เป็นบุตรชาย คือ นายคีชิโร โตโยดะ ซึ่งจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์เครื่องกล จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้จัดตั้งแผนกวิจัยด้านยานยนต์ขึ้นภายในโรงงานผลิตเครื่องทอผ้าเมื่อปี 2476 ดำเนินการในรูปแบบวิศวกรรมย้อนรอยหรือ Reverse Engineering โดยเริ่มจากนำรถยนต์เชฟโรเลตรุ่นปี 2476 มารื้อออกดูทีละชิ้น แล้ววาดภาพสเกตของชิ้นส่วนแต่ละชิ้น

ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2477 นายคีชิโรได้ผลิตเครื่องยนต์ต้นแบบออกมา มีขนาด 6 สูบ 3,387 ซีซี แต่เครื่องยนต์ที่ผลิตได้มีกำลังเพียง 30 แรงม้า นับว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์เชฟโรเลตซึ่งมีกำลังสูงถึง 60 แรงม้า แต่จากการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำลังของเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 50 แรงม้า และในที่สุดก็เพิ่มขึ้นเป็น 62 แรงม้า มากกว่าเครื่องยนต์ที่ตนเองได้ลอกแบบถึง 2 แรงม้า

ต่อมาในปี 2480 นายคีชิโรได้จัดตั้งบริษัทชื่อโตโยต้ามอเตอร์ขึ้น แม้ในระยะเริ่มต้นกิจการดีมาก เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นซื้อรถยนต์จำนวนมากเพื่อใช้ในราชการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่อมาบริษัทโตโยต้าได้เผชิญกับวิกฤติการณ์มากมาย โดยในวันที่ 14 สิงหาคม 2488 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเพียงวันเดียว เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้บินมาทิ้งระเบิดที่โรงงานโตโยต้าเพื่อส่งท้ายสงคราม ทำให้กำลังผลิตเสียหายไป 50%

สถานการณ์ภายหลังสงครามเลวร้ายลงตามลำดับ เนื่องจากรถยนต์ขายไม่ค่อยได้ จนต้องประสบปัญหาทางการเงินอย่างร้ายแรงใกล้ล้มละลาย จนถึงขั้นไม่มีเงินจ่ายแก่เจ้าหนี้และไม่มีเงินเดือนให้แก่พนักงาน

อย่างไรก็ตาม เหมือนกับมีโชคช่วย เกิดสงครามเกาหลีขึ้น ทำให้ขายรถบรรทุกจำนวนมากแก่กองทัพสหรัฐฯ เพื่อใช้ในราชการสงคราม ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของบริษัทดีขึ้นมาก แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ว่าเมื่อปี 2495 นายคีชิโรได้เสียชีวิตลงเมื่ออายุ 57 ปี ด้วยโรคหัวใจ ยังไม่ทันที่จะเห็นความสำเร็จของโตโยต้าตามที่ได้วาดฝันเอาไว้

แม้โตโยต้าจะสามารถฝ่าวิกฤติเพราะโชคช่วย แต่การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริษัทรถยนต์ชั้นแนวหน้าของโลก จะอาศัยโชคช่วยต่อไปไม่ได้อีกแล้ว แต่จะต้องพิสูจน์ฝีมือว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติและรถยนต์โตโยต้ามีคุณภาพดีเยี่ยม

ปัญหาสำคัญ คือ รถยนต์ญี่ปุ่นในช่วงนั้นมีคุณภาพต่ำมาก จนถึงขั้นสำนักงานตำรวจของญี่ปุ่นต้องขออนุญาตต่อรัฐบาลให้สั่งซื้อรถเก๋งผลิตจากต่างประเทศมาเป็นรถสายตรวจ โดยยกเหตุผลว่ารถเก๋งที่ผลิตในญี่ปุ่นแล่นช้า ความเร็วต่ำกว่า 100 กม./ชั่วโมง ไม่สามารถไล่ทันรถยนต์ของผู้ร้ายได้ ส่วนบริษัทแท็กซี่ของญี่ปุ่นจึงขออนุญาตจากรัฐบาลเพื่อนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศบ้าง โดยอ้างว่ารถยนต์ผลิตในประเทศมีคุณภาพต่ำ ไม่ทนทานต่อการใช้งาน

ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศ ถึงกับพยากรณ์ในช่วงนั้นว่าอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของญี่ปุ่นได้หมดอนาคตแล้ว ประเทศญี่ปุ่นควรเน้นผลิตเฉพาะรถบรรทุกจะดีกว่า ไม่คุ้มที่จะผลิตรถเก๋งเพื่อใช้เองภายในประเทศ

บริษัทโตโยต้าได้ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่จากเดิมที่ผลิตลอกเลียนแบบรถยนต์ต่างประเทศมาเป็นวิจัยและพัฒนารถยนต์ขึ้นมาเอง พร้อมกับพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพ โดยได้ติดต่อ ดร.เอ็ดวาร์ด เดมมิ่ง ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ เพื่อให้คำแนะนำเรื่องควบคุมคุณภาพโดยกำจัดจุดบกพร่องที่ต้นเหตุ จากนั้นได้นำระบบควบคุมคุณภาพมาใช้อย่างประสบผลสำเร็จ เพียงแค่ปีแรกของการดำเนินการ ปรากฏว่าจุดบกพร่องของรถยนต์ได้ลดลงมากถึง 50%

เดิมภาคอุตสาหกรรมมี 2 รูปแบบการผลิต รูปแบบแรก คือ รูปแบบการผลิตขนาดเล็ก ผลิตไม่มากนักตามแบบของ SMEs ส่วนอีกรูปแบบการผลิตหนึ่ง เป็นการผลิตขนาดใหญ่หรือที่มีคำศัพท์ว่า Mass Production

แต่ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทโตโยต้าได้คิดค้นรูปแบบการผลิตแบบใหม่ ซึ่งมีปรัชญาการผลิตว่าจะพยายามใช้ประโยชน์จากเวลา ทรัพยากรมนุษย์ สินทรัพย์ และผลิตภาพ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูงสุด ทำให้สามารถลดจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์ สามารถใช้พื้นที่โรงงานเพียงครึ่งหนึ่งของที่ใช้เดิม และลดเวลาที่ใช้ด้านวิศวกรรมลงเพลือเพียงครึ่งหนึ่งเช่นกัน

เดิมเราเรียกรูปแบบนี้ว่า “การผลิตแบบโตโยต้า” เนื่องจากเริ่มใช้ในบริษัทโตโยต้าเป็นครั้งแรก แต่ปัจจุบันรูปแบบการผลิตนี้ได้มีการตั้งชื่อว่า “การผลิตแบบ Lean” มีจุดเด่น คือ ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ใช้แรงงานน้อยกว่า คุณภาพรถยนต์เหนือกว่า และจุดบกพร่องต่ำกว่า ส่งผลให้โตโยต้าก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำของโลกในด้านยนตรกรรม

อย่างไรก็ตาม เดิมโตโยต้ามีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ราคาประหยัดที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ แต่ไม่มีรถยนต์ในระดับหรูหรา ศักดิ์ศรียังเป็นรองรถยนต์ยุโรป เช่น เมอร์เซเดส-เบนส์, BMW, โรลสรอยส์ หรือจากัวร์ ทั้งๆ ที่หากวิเคราะห์เปรียบเทียบความสามารถด้านยนตรกรรมแล้ว โตโยต้าไม่ได้เป็นที่สองรองใคร อาจจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ

ในปี 2526 บริษัทโตโยต้าได้ตัดสินใจจะผลิตรถยนต์หรูหราที่ดีเยี่ยมที่สุดในโลก กำหนดวิสัยทัศน์ว่าต้องเป็นรถยนต์ที่ยอดเยี่ยมในทุกด้านไม่ว่าจะด้านความเร็ว ความปลอดภัย ความสบายในห้องโดยสาร รูปลักษณ์ที่สง่างาม ตลอดจนถึงการบริการลูกค้าภายหลังขาย ซึ่งนับว่าเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงมาก เนื่องจากที่ผ่านมารถยนต์หรูหราจะต้องมีสัญชาติเยอรมนีหรืออังกฤษเท่านั้น

บริษัทโตโยต้าได้ปรับปรุงในด้านยนตรกรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าการลดช่องว่างระหว่างตัวถังจากเดิม 7 มม. ลดลงเหลือเพียง 4 มม. เพื่อให้รถยนต์มีเสียงเงียบลงขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง ชิ้นส่วนเครื่องยนต์จะต้องมีความเที่ยงตรงแม่นยำถึงขั้นวัดเป็นไมครอน เพื่อให้มั่นใจถึงสมรรถนะและความเงียบ

ผลที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ เมื่อรถยนต์เล็กซัสของโตโยต้าเริ่มผลิตและวางจำหน่ายในปี 2532 วารสารรถยนต์ทุกฉบับได้กล่าวยกย่องชมเชยว่าแล่นได้รวดเร็วกว่าและนุ่มนวลกว่ารถยนต์คู่แข่ง โดยเฉพาะเสียงเครื่องยนต์ที่เงียบมากจนแทบจะรู้ว่ากำลังติดเครื่องหรือไม่ กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของรถยนต์หรูหราราคาแพง โดยได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐฯ เนื่องจากคนสหรัฐฯ จะซื้อรถยนต์เพื่อใช้งาน ไม่ได้ซื้อมาเพื่ออวดความมั่งมี ดังนั้น หากรถยนต์ใดก็ตามที่มีสมรรถนะเป็นเยี่ยมและมีความสบายในห้องโดยสารเหนือกว่าแล้ว รถยนต์แบบนั้นๆ จะขายดีมากในสหรัฐฯ

จากผลสำเร็จอันท่วมท้น ทำให้บริษัทโตโยต้าก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากบริษัท GM และบริษัทฟอร์ดเท่านั้น และต่อมาในปี 2546 บริษัทโตโยต้าได้แซงหน้าฟอร์ดกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กล่าวคือ โตโยต้า (รวมถึงบริษัทในเครือ คือ ฮีโน่และไดฮัทสุ) มียอดผลิตรถยนต์ในปี 2546 จำนวน 6.78 ล้านคัน เฉือนเอาชนะฟอร์ดที่มียอดผลิต 6.72 ล้านคัน แต่ยังตามหลัง GM ค่อนข้างห่าง โดยในปี 2546 บริษัท GM ผลิตรถยนต์ 8.8 ล้านคัน

ต่อมาในปี 2547 โตโยต้าเริ่มทิ้งห่างบริษัทฟอร์ด โดยโตโยต้ามียอดผลิตรถยนต์ 7.52 ล้านคัน ขณะที่ฟอร์ดผลิตรถยนต์ 6.8 ล้านคันเท่านั้น ส่วน GM ยังคงครองความยิ่งใหญ่เป็นอันดับ 1 โดยผลิตรถยนต์ 9.1 ล้านคัน

แต่ปัจจุบันความยิ่งใหญ่ของโตโยต้าอยู่ในสภาพไปไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ขณะที่บริษัทคู่แข่งสำคัญ คือ บริษัทจีเอ็มและบริษัทฟอร์ดกำลังเผชิญวิกฤติการณ์ทางการเงินเข้าขั้นโคม่า โดยเฉพาะบริษัท GM ขาดทุนมากถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 160,000 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 แต่บริษัทโตโยต้ากลับมีกำไรมากเป็นประวัติการณ์

สำหรับบริษัท GM ครองตำแหน่งผู้ผลิตรถยนต์อันดับ1 ของโลกติดต่อกันมานานถึง 73 ปี เริ่มมีคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะยังคงเป็นอันดับ 1 ของโลกอีกนานแค่ไหน เนื่องจากถูกท้าทายจากบริษัทโตโยต้าอย่างไม่เคยมีก่อน โดยในปี 2548 คาดว่า GM ผลิตรถยนต์ 9 ล้านคัน ขณะที่โตโยต้าเริ่มไล่ตามมาติดๆ คือ 8.1 ล้านคัน

ยิ่งไปกว่านั้น ยอดการจำหน่ายรถยนต์โตโยต้ามีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในปี 2549 เนื่องจากเป็นรถยนต์ประหยัดน้ำมัน ทำให้ขายดีในยุคน้ำมันแพง ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงคาดว่าโตโยต้ามีโอกาสสูงที่จะแซงหน้า GM ขึ้นเป็นบริษัทรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลกในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า

สุดท้ายนี้ แม้โตโยต้ากำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง แต่ผู้บริหารของโตโยต้าเองกลับไม่ค่อยสบายใจนัก โดยเมื่อกลางปี 2548 นาย Hiroshi Okuda ผู้บริหารของโตโยต้าได้มาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยกล่าวว่าหากบริษัท GM และฟอร์ดเผชิญวิกฤติถึงขั้นล้มละลายแล้ว จะส่งผลกระทบต่อบริษัทโตโยต้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เขาให้เหตุผลว่าทั้ง 2 บริษัท เปรียบเสมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ดังนั้น หากล้มลงแล้ว จะปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชนสหรัฐฯ ซึ่งจะกระตุ้นให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาช่วยเหลือโดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่อรถยนต์ญี่ปุ่น

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ บริษัทโตโยต้าพยายามออมไม้ออมมือ ไม่มุ่งโค่นล้มบริษัท GM และบริษัทฟอร์ดให้เข้าตาจน โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทโตโยต้าได้ให้ความช่วยเหลือแก่ทั้ง 2 บริษัทโดยทางอ้อม โดยได้ประกาศขึ้นราคารถยนต์ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ หลายครั้ง เพื่อให้รถยนต์โตโยต้ามีราคาแพงยิ่งขึ้น ส่งผลให้ 2 บริษัทสามารถแย่งลูกค้ากลับคืนมาบางส่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น