xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มสร้างท่าเรือน้ำลึก 5,000 ล้านที่สตูลปี 50 ภาคธุรกิจหวั่นรัฐไม่เอาจริง-ทางรถไฟไม่คืบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล - คณะกรรมการสภาธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล พร้อมระบบสาธารณูปโภคครบครัน มูลค่า 5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในทางการค้าชายแดนใต้ ขณะที่หลายฝ่ายมั่นใจสามารถสร้างได้แน่ คาดเริ่มได้ต้นปี 2550 แล้วเสร็จปี 2553 ประธานสภาอุตสาหกรรมสงขลาระบุ โครงการสร้างทางรถไฟยังล่าช้า ชี้หากยังทำไม่เสร็จท่าเรือก็ไม่เกิด

เมื่อเร็วๆนี้ นายมานิต วัฒนเสน ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้เข้าร่วมประชุม คณะกรรมการสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ IMT - GT สัญจร ครั้งที่ 7 / 2548 ที่จัดขึ้นที่ห้องอาดัง โรงแรมพินนาเคิล วังใหม่ จ.สตูล โดยมีนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ ประธานสภาธุรกิจฯ นำคณะเข้าประชุม หาแนวทางการปฏิบัติงานของสภาธุรกิจฯ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ ของพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT - GT

ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ว่า ในปี 2553 โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จะก่อสร้างเสร็จ สามารถรองรับเรือสินค้าขนาด 50,000 ตันกรอส โดยท่าเรือแห่งนี้ จะมีองค์ประกอบที่จำเป็นในการขนถ่ายสินค้าครบถ้วน อาทิ ลานกองสินค้า สถานีบรรจุตู้สินค้าสู่คอนเทนเนอร์ ซึ่งการสำรวจออกแบบคำนึงถึงวิธีการก่อสร้าง ให้มีความเหมาะสมทางเทคนิคได้มาตรฐานสากล และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ทั้งนี้ หากท่าเรือแห่งนี้ก่อสร้างเสร็จ จะส่งผลให้ยุทธศาสตร์พัฒนากลุ่มจังหวัดชายแดนไทย มีการค้าขายระหว่างประเทศดึงเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศ และส่งเสริมสินค้าภาคการเกษตรไทย ออกสู่ตลาดโลกได้ง่ายยิ่งขึ้นทางช่องทางนี้

สตูล-ศูนย์กลางขนส่งทางน้ำ

ด้าน ร.ต.อ.ขจร เทศมาสา รองอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนทางด้านการขนส่งทางน้ำ ทั้งการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว ได้เล็งเห็นว่าจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดทางใต้ตอนล่าง ที่มีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางเรือ ที่สำคัญในประเทศและระหว่างประเทศ และเชื่อมโยงการขนส่งกับท่าเรือน้ำลึกสงขลาทางฝั่งอ่าวไทยได้

การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขึ้นทางฝั่งอันดามัน ก็ เพื่อจะเป็นการจุดประกาย อันนำไปสู่การเร่งรัดเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาวัตถุดิบต่างๆ และผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่จะส่งผลให้ประชาชนในเขต 5 จังหวัดชายแดนใต้ และจังหวัดบริเวณใกล้เคียง เกิดการจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความเข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น

"ปากบารา"ศักยภาพพร้อมสร้างท่าเรือ

จากผลการศึกษาทบทวนความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่บุโบย / ปากบารา มีความเป็นไปได้ที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่ปากบารา จังหวัดสตูล เนื่องจากมีศักยภาพเหมาะสมในหลายๆด้าน ทั้งการเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเล ที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ช่องแคบมะละกา ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูการค้ากับนานาชาติ ได้โดยตรง ด้วยระบบคอนเทนเนอร์ เพื่อขนส่งยางจากประเทศไทยไปสู่เอเชียตะวันออก

การมีประชากรเพียงพอ ที่จะเป็นแรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนมีทรัพยากรอย่างเพียงพอ เช่น ยางพารา ทรัพยากรแร่ธาตุ และการพัฒนาสินค้าแปรรูปอาหารกระป๋อง และสินค้าแช่แข็ง รวมทั้งมีแหล่งไม้แปรรูปจากประเทศอินโดนีเซียที่สามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมไม้แปรรูปได้

ในการนี้ กรมการขนส่งทางน้ำฯ จึงได้จัดให้มีการศึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียด เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล โดยมอบหมายให้กลุ่ม บริษัท ที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด และบริษัท แปซิฟิค คอนซัลแตนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สำรวจออกแบบ เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยมีระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 12 เดือน ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 48 - มิถุนายน 49

โครงการนี้ได้จัดให้มีการสัมมนาครั้งที่ 1 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ชี้แจงการดำเนินงานโครงการในขั้นสำรวจ ออกแบบ โดยเฉพาะการออกแบบเบื้องต้นของโครงการ พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก ผู้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อใช้ประกอบในการศึกษา รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ ที่ดีระหว่างประชาชน ภาครัฐ เอกชน นักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชน กับหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการในครั้งนี้ด้วย

เริ่มสร้างท่าเรือปี 50

นายเฟื่อง พานิชกิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการ ขณะนี้อยู่ในขั้นสำรวจออกแบบ โดยงบฯค่าเวนคืนที่ดินได้มาแล้ว โดยมีจังหวัดเป็นผู้เตรียมที่ดินทำทางเข้า ส่วนตัวท่าเรือหลังมีการสำรวจออกแบบแล้ว จะของบฯก่อสร้างในระยะเวลา 3 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2550 แล้วเสร็จในปี 2553 หากโครงการไม่สะดุดในปี 2553 ก็สามารถเปิดใช้ท่าเรือได้ โดยตัวเลขในการก่อสร้างท่าเทียบเรือในครั้งนี้ แม้จะยังไม่นิ่งแต่อยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาทโดยท่าเรือฯ นี้สามารถรองรับเรือขนาด 30,000 ตัน กินน้ำลึก 3 เมตรก็เทียบได้กับน้อง ๆ แหลมฉบัง

สำหรับการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือน้ำลึกปากบาราแห่งนี้ จะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ถึง 1 ล้านตู้เมื่อเทียบกันก็เท่ากับท่าเรือกรุงเทพ ก็ถือว่าเป็นท่าเรือขนาดใหญ่พอสมควร ในขณะที่ท่าเรือสงขลาสามารถรองรับตู้สินค้าได้แค่ 4 แสนตู้เท่านั้นเอง

"ความคล่องตัวของสินค้าของท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จากการศึกษาพบว่าหากสินค้าภาคใต้ของเรามาขึ้นยังท่าเรือฯแห่งนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้าของไทยเราจะไปประเทศมาเลเซียเสียส่วนใหญ่ พอร์ตกลาง หรือ พอร์ตปีนัง หากท่าเรือนี้เกิดจะสามารถดึงสินค้ากลับเข้ามาได้เยอะ สำหรับในเรื่องของปัญหาอุปสรรคของโครงการคือต้องมีเส้นทางรถไฟเข้าเชื่อม เพื่อเสริมให้สินค้าจากกทม.บางส่วนเข้ามาด้วย โดยเส้นทางรถไฟจะเป็นตัวเชื่อมการขนส่งสินค้าตัวนี้ได้ดี" นายเฟื่องกล่าวและว่า

จากการศึกษาของโครงการแม้จะพบว่า มีสินค้าเพียง 20 % เท่านั้น ที่จะผ่านช่องนี้ไปยังต่างประเทศ หากมีการเกิดขึ้นของโครงการจริงก็จะเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างที่แหลมฉบังตอนเปิดขึ้นใหม่ๆ ไม่มีสินค้าเลย แต่ตอนนี้ปรากฏว่าสินค้าเข้าไปล้นแหลมฉบัง จะเห็นได้ว่าต้องให้เกิดท่าเรือก่อนสินค้าจึงจะตามมา

สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู ค่อนข้างจะมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่นอน เพราะขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสำรวจออกแบบการดำเนินโครงการแล้ว และได้ค่าที่ดินเวนคืนแล้ว ก็คิดว่าโครงการได้เริ่มต้นไปเกินครึ่งแล้ว

ทางรถไฟไม่มาไม่มีท่าเรือ

ด้านนายโอฬาร อุยะกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา และนักธุรกิจ ในจังหวัดสตูล แสดงความเห็นว่า การเปิดเวทีโครงการสำรวจออกแบบ เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราครั้งนี้ ทำให้เห็นความร่วมมือของชาวสตูล ในการสนับสนุน เพื่อให้เกิดโครงการนี้ และอยากให้รัฐบาลรับทราบว่า ชาวสตูลมีความต้องการโครงการนี้เพียงใด และคิดว่าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกฯ นี้จะช่วยผลักดันในยุทธศาสตร์พัฒนากลุ่มจังหวัดสตูล-สงขลา ให้ก้าวหน้าไปในระดับโลก

"หากมีการเริ่มก่อสร้างในปลายปีหน้า และไปแล้วเสร็จในปี 53 แต่กว่าเราจะได้ใช้จริงฃคิดว่าอีก 3-5 ปีกว่าจะติดตลาดเพราะมันจะต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายด้าน ไม่ใช่ตัวท่าเรืออย่างเดียว เพราะจะต้องเกี่ยวเนื่องไปในเรื่องของระบบถนน ระบบรางรถไฟ มาเสริมในการผลักดันให้สินค้าหันมาใช้ท่าเรือแห่งนี้ และถือว่าตรงนี้เป็นหัวใจหลักเลยทีเดียว

สำหรับเรื่องที่ต้องบอกว่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ โครงการขนส่งทางรางรถไฟ ต้องยอมรับว่าเคลื่อนไหวช้ามาก ตรงนี้อยากให้รัฐเข้ามาดูแลอย่างมาก ส่วนถนนเราพอมีอยู่แล้วเพียงแค่ขยายให้มันใหญ่ขึ้น แต่หากรางรถไฟไม่มา โครงการนี้ก็ยังไม่สัมฤทธิผลในเร็ววัน"นายโอฬารกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น