xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกายัน มี ‘สมัครใจ’ ถึงโอนไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - กฤษฎีการะบุ การเพิ่มเงื่อนไข “สมัครใจ” ทำให้ไม่สามารถบังคับถ่ายโอนโรงเรียน เผยต้องเป็นไปตามความสมัครใจของครู บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาทุกครั้งจึงจะถ่ายโอนได้ ส่วนสถานะของข้าราชการยังคงเดิม เว้นแต่ผู้นั้นสมัครใจและยื่นความจำนงขอโอนเอง ด้านองค์กรครูเล่นบทโหด วางแผนย้ายผอ.ที่อยากโอนไปอยู่โรงเรียนขนาดเล็ก และตั้งคนที่ไม่อยากย้ายไปอยู่โรงเรียนใหญ่ นำร่องสมุทรปราการเป็นแห่งแรก แจ้งความจับ “จาตุรนต์” 18 ธ.ค.นี้


นายนิพนธ์ ชื่นตา ประธานสหภาพครูแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่มีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีการเพิ่มข้อความว่าสมัครใจในวรรคสอง ของมาตรา 30 ขณะเดียวกันก็มีการต่อต้านคัดค้านให้ตัดคำว่าสมัครใจออก ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการได้รับความกระจ่างในการแก้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้แจงในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกัน

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทำหนังสือคำชี้แจงร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนฯ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยระบุว่า การเพิ่มความเป็นวรรคสองของมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนฯ จะไม่มีผลบังคับให้รัฐต้องถ่ายโอนภารกิจที่ดำเนินการอยู่ แต่ต้องเป็นตามเงื่อนไขที่กำหนดคือ อปท.ต้องสมัครใจและมีความพร้อมที่จะจัดการศึกษา ส่วนหน่วยงานของรัฐที่จัดการศึกษา หากจะโอนการจัดการศึกษาให้ อปท. ก็ต้องได้รับความสมัครใจจากครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และกรรมการสถานศึกษา

นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนสถานะของครู และบุคลากรทางการศึกษานั้น ในคำชี้แจงได้ระบุว่า เมื่อบุคคลใดเป็นข้าราชการย่อมมีสถานะตามที่กฎหมายกำหนด และไม่อาจเปลี่ยนสถานะ เพราะการโอนหน้าที่หรือทรัพย์สิน เว้นแต่มีแต่กฎหมายบังคับโดยเฉพาะ ดังนั้น แม้จะมีการตกลงโอนสถานศึกษา แต่ครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ยังคงมีสถานะอย่างเดิมไม่เปลี่ยนไปเป็นพนักงานของ อปท. เว้นแต่บุคคลนั้นจะสมัครใจและแสดงความจำนงขอโอนด้วยตนเอง

สำหรับการกำหนดเงื่อนไขความสมัครใจนั้น ก็ได้มีการชี้แจงว่า การจะโอนสถานศึกษาของรัฐให้ อปท.บริหารแทนนั้นจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขของมาตรา 30 วรรคสอง คือ ต้องมีความสมัครใจของผู้เกี่ยวข้องทุกครั้ง แต่หากไม่บัญญัติเงื่อนไขความสมัครใจไว้ในกฎหมายก็จะทำให้ไม่มีเงื่อนไขบังคับในเรื่องนี้ ทำให้การโอนสามารถดำเนินการได้ภายใต้ความตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐกับ อปท.

ด้าน นายธนารัชต์ สมคเณ ผู้ประสานงานองค์กรพันธมิตรเพื่อปกป้องการศึกษาชาติ กล่าวว่า เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินหน้าเตรียมพร้อมเรื่องการถ่ายโอนการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขณะนี้แกนนำของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา จะย้อนศรทวงคืนและแก้ลำ ศธ.ด้วยการย้ายผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องการจะถ่ายโอนไปอยู่โรงเรียนขนาดเล็ก แล้วให้ผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่ย้ายไม่ถ่ายไม่โอนขึ้นมาแทน ซึ่งอำนาจการย้ายนี้เป็นของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ

ทั้งนี้ อ.ก.ค.ศ.ที่จะเริ่มก่อนคือที่จังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งแนวความคิดนี้เริ่มกระจายไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว เพราะครูยังยืนยันเจตนาเดิมคือไม่ย้ายไม่ถ่ายไม่โอนและไม่สมัครใจ สำหรับความเคลื่อนไหวยังดำเนินยุทธการดาวกระจายต่อไป และจะเริ่มเน้นที่ภาคกลาง ภาคใต้และภาคเหนือ ตอนนี้แกนนำเริ่มรวมกันพร้อมชุมนุมขับเคลื่อนต่อไปแล้ว ซึ่งการชุมนุมของครูไม่ได้ตี ศธ.แต่ตีนโยบายพรรคไทยรักไทย โดยเป็นการสร้างความเข้าใจกับประชาชน

นอกจากนี้ ในวันอาทิตย์ที่ 18 ธ.ค.นี้จะเดินทางไปแจ้งความกับกองปราบปรามให้ดำเนินคดี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะถือว่าได้นำประเด็นที่เห็นว่าทำผิดกฎหมายไปแจ้งให้ทราบแล้วไม่ใส่ใจจะทำเพื่อครู

นายอวยชัย วะทา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคัดค้านการถ่านโอนสถานศึกษาให้แก่ อปท.กล่าวว่า การย้ายผู้บริหารเพื่อเป็นการย้อนศร ไม่ใช่ความคิดขององค์กร และไม่ใช่จะย้ายกันได้ง่าย ๆ เพราะการย้ายจะต้องเจ้าตัวทำเรื่องขอย้ายเองหรือผู้บังคับบัญชาสั่งย้าย แต่หากไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความเสียหายก็คงไม่สามารถไปสั่งย้ายได้ และการย้ายตามแนวคิดนี้ก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาการถ่ายโอนสถานศึกษาด้วย อีกทั้งช่วงนี้ก็ไม่ควรมีการฟ้องร้องอะไรอีกแล้วแต่ควรมีการทำความเข้าใจร่วมกันทุกฝ่าย เพราะเป็นช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ก็ควรคุยกันด้วยความรู้สึกที่ดี อย่างไรก็ตามเมื่อมีแนวคิดนี้ขึ้นมาตนก็พร้อมจะนำไปคุยในองค์กรฯเพื่อฟังความเห็นของครูด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น