xs
xsm
sm
md
lg

“อ้อ-ณหทัย” แปลงวิกฤตเป็นโอกาส

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา *-*

สำหรับลูกผู้หญิงคนหนึ่ง การที่จู่ๆ ก็ต้องตกเป็น “ข่าวใหญ่” ประเภทท้อง-ไม่ท้อง กี่เดือนแล้ว กับใคร ใครคนนั้นยอมรับหรือไม่ และ ฯลฯ ในสื่อแทบทุกชนิด โดยตนเองไม่ค่อยรู้เหนือรู้ใต้นั้น ก็คงจะเป็นเรื่องใหญ่ที่คู่ควรกับความเห็นใจอย่างยิ่งด้วยกันทั้งนั้น

ทว่ากับคำถามที่ว่าควรจะดำเนินการอย่างไรดีกับเรื่องที่ว่านี้ และเพราะอะไร คงจะเป็นอะไรที่น่าจะพิจารณาให้ถี่ถ้วน ไม่ควรด่วนสรุปง่ายๆ

กรณีของ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม หรือคุณอ้อ ส.ส. กทม.พรรคไทยรักไทย ผู้ถูกกล่าวหาทางอินเทอร์เน็ตว่าแอบไปมีอะไรกับ “บิ๊ก” ในพรรคไทยรักไทย ยังผลให้เธอได้รับฉายาว่า “อ้อน้อย” จนกลายมาเป็นข่าวหน้าหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ หรือแม้กระทั่งบนจอโทรทัศน์ต่างๆ นั้น

ถึงแม้การกล่าวหาดั้งเดิมทางอินเทอร์เน็ตจะมีความคลุมเครือและอ้อมค้อมอยู่บ้าง ทว่าก็ไม่มากพอที่จะใครๆ จะพอเดาได้ว่าอาจจะเป็นใคร จนกระทั่งคุณอ้อต้องตัดสินใจออกมาตอบโต้แบบเรียบๆ เบาๆ ว่าเรื่องดังกล่าวนั้นไร้สาระ ที่ตนดูท้วมๆ ขึ้นมาสักหน่อยก็คงจะเป็นเพราะตนเองมีความสุขกับการรับประทานและไม่ค่อยมีเวลาเล่นกีฬา ทั้งนี้ ตนเองกำลังตกเป็นเหยื่อของการเล่นการเมืองแบบสกปรก และอยากให้ทุกอย่างจบๆ กันไปเพราะเป็นช่วงใกล้ปีใหม่นั้น ก็คงจะเป็น “ทางเลือก” อย่างหนึ่ง

ความหวังของคุณอ้อก็คงจะเป็นว่าความที่มันเป็นเรื่องไม่จริง การวางเฉยเสียก็น่าจะช่วยให้เรื่องราวดังกล่าวค่อยๆ เงียบหายไปเองในที่สุด นัยว่าคงจะดีกว่าการที่จะไปต่อความยาวสาวความยืด ซึ่งอาจจะทำให้ตนเองตกเป็นขี้ปากชาวบ้านมากขึ้นให้เสียความรู้สึกเปล่าๆ

ทางเลือกแบบนี้ดูจะเป็นไทยๆ ดี โดยมีสมมติฐานที่ว่าไม่เป็นไรดอกน่า ทนๆ ความรำคาญเอาสักหน่อย สักประเดี๋ยวคนก็จะลืมๆ กันไปเอง

แต่คนจะลืมกันไปจริงๆ อย่างสมบูรณ์แบบหรือไม่นั้น ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ ในความเป็นจริง คนคงจะไม่ลืมอะไรแบบนี้ได้ง่ายๆ นัก ฉะนั้น ในระดับหนึ่งเรื่องแบบนี้จึงจะอยู่ในความทรงจำของคนจำนวนมากไปอีกนานเหมือนกัน แต่เมื่ออยู่ในความทรงจำแล้ว จะส่งผลอย่างไรกับคุณอ้อหรือคนอื่นๆ อย่างไรบ้างนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ปริศนาที่ว่า “ความทรงจำ” ดังกล่าวนี้จะส่งผลไปถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไปของคุณอ้อหรือไม่ อย่างไร และเพียงไร ยังเป็นคำถามที่ยังไม่มีใครทราบ แต่ข้อที่แน่นอนก็คือ ไม่ว่าเรื่องนี้จะจริงหรือไม่ก็ตาม มันคงจะส่งผลบางชนิดในแง่นี้อย่างแน่นอน

ทว่าในฐานะที่เป็นผู้เสียหาย ผู้บังเอิญเป็นนักการเมือง เป็นผู้หญิง และเป็นผู้บริหารการศึกษาหากเธอเลือกที่จะไม่ตอบโต้อะไรอย่างจริงจังเช่นนั้นจริงๆ ก็เป็นอะไรที่ออกจะน่าเสียดายอยู่เหมือนกัน เพราะจริงๆ แล้วนี่เป็นโอกาสที่จะแปลงเรื่องร้ายให้กลายเป็นดีได้ ไม่ใช่เรื่องร้ายเสียเลยทีเดียวนัก

หากจะว่าไปแล้ว คุณอ้อคงจะเป็นนักการเมืองคนแรกที่ตกอยู่ในฐานะอย่างนี้ เท่าที่ผมพยายามนึกๆ ดู ก็นึกไม่ออกว่าจะมีใครคนอื่นๆ ที่ต้องเจอกับอะไรเช่นนี้มาก่อน บทเรียนส่วนหนึ่งในที่นี้ก็คือ การเป็นนักการเมืองที่เป็นผู้หญิงที่ออกจะสวย เก่ง มีอนาคต และที่สำคัญเป็นโสดด้วยนั้น สามารถสร้างความลำบากให้แก่ตนเองได้ไม่น้อยเหมือนกัน

กระนั้นก็ตาม วิกฤตคราวนี้ก็ไม่ใช่อะไรที่เลวร้ายไปเสียทั้งหมด ทว่าสามารถแปลงมันให้กลายเป็นโอกาสได้ โอกาสในอันที่จะ “สร้าง” อะไรดีๆ ให้กับส่วนรวม เป็นโอกาสที่น้อยคนนักจะได้รับ

ในฐานะที่เป็นนักการเมือง คุณอ้อก็คงจะมีความปรารถนาลึกๆ ที่จะริเริ่มให้เกิดสิ่งที่ดีๆ งามๆ ในสังคมอยู่เหมือนกัน ไม่เช่นนั้น ความปรารถนาที่จะเป็นนักการเมืองก็คงจะอ่อนเหตุผลไปไม่ใช่น้อย

ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ผู้ดูเหมือนจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การเกิดเป็นผู้หญิงไทยนั้น มีความยากลำบากเป็นพิเศษตรงที่ต้องประสบกับความไม่ถูกต้องบางชนิดอย่างไม่เป็นธรรมสักเพียงใด มิหนำซ้ำ ดูเหมือนว่าคุณอ้อจะมีความสนใจเกี่ยวกับสิทธิสตรีเป็นพิเศษด้วย

และในฐานะที่เป็นผู้บริหารการศึกษา คุณอ้อย่อมถูกคาดหมายให้เป็น “ตัวอย่าง” แก่เด็กๆ จำนวนมาก ฉะนั้น การอุทิศตนเองต่อสู้กับความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นย่อมทำให้คุณอ้อกลายเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นใหม่ เพราะการหวานอมขมกลืนนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ออกจะล้าหลัง ไม่ค่อยสอดรับกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยเท่าไรนัก

เนื่องจากในเวลานี้ เมืองไทยเรายังไม่มีมาตรฐานทางกฎหมายว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต (รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย) ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในความเป็นส่วนตัว (right to privacy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่สัมพันธ์กับ “บุคคลสาธารณะ” (public figures) ในระดับต่างๆ อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ บุคคลที่เป็นผู้เสียหายมักจะไม่ค่อยเอาเรื่องเอาราวในทางกฎหมายในคดีประเภทนี้อย่างถึงที่สุด ยังผลให้ระบบยุติธรรมของเราไม่ค่อยมี “คดีตัวอย่าง” ดีๆ อันจะเป็นโอกาสของการสร้างมาตรฐานทางกฎหมาย

ฉะนั้น ความไม่ถูกต้องที่กำลังเกิดขึ้นกับคุณอ้ออย่างไม่เป็นธรรมในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอย่างยิ่ง เป็นโอกาสที่คุณอ้อจะสามารถฟ้องร้องเอาผิดทั้งกับผู้เขียนข้อความ ผู้จัดการเว็บไซต์ และสื่อมวลชนที่นำข้อมูลต่างๆ มาเผยแพร่ต่อไป ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งหากดำเนินการให้ถึงที่สุด ก็คงจะกระตุ้นให้เกิดข้อมูลและข้อสรุปใหม่ๆ ไม่ใช่น้อย ลงท้ายแล้ว ก็น่าจะเกิดมาตรฐานทางกฎหมายที่ชัดเจนขึ้นมาในได้หลายๆ เรื่อง

ในประการที่หนึ่ง การเผยแพร่ข้อความที่ไม่เป็นจริงทางอินเทอร์เน็ตนั้นมีความผิดหรือไม่ ความผิดนั้นๆ จะอาศัยมาตรฐานเดียวกันกับกฎหมายหมิ่นประมาทและละเมิดทั่วไปหรือไม่

ข้อสรุปนี้น่าจะเป็นประโยชน์มากกับการพัฒนา “วัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต” ในเมืองไทย เพราะเท่าที่เป็นอยู่ ดูเหมือนว่ากฎกติกามารยาทในการใช้สิทธิและเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของเรายังไปไม่ถึงไหน มีการเขียนด่าทอกันแบบไม่ต้องรับผิดชอบเพราะไม่มีการเผยแพร่ตัวตนของผู้เขียนกันอย่างกว้างขวาง

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อมีการเขียนเรื่องราวต่างๆ ลงไปทางสื่อชนิดใหม่นี้ เรื่องราวนั้นๆ ก็จะเผยแพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในลักษณะที่ผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะปกป้องตนเองได้อย่างสะดวก ถึงแม้ว่าการพูดถึงสิทธิและเสรีภาพอย่างไมมีขอบเขตทางอินเทอร์เน็ตจะเป็นอะไรที่ “ทันสมัย” ทว่าหากความทันสมัยที่ว่านี้สามารถสร้างความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้อย่างไร้ขอบเขต โดยหลักการแล้ว สิทธิและเสรีภาพที่ว่านี้ก็เป็นอะไรที่จำเป็นต้องอยู่ในความควบคุมในบางลักษณะเหมือนกัน

นั่นก็คือ การควบคุมตนเองของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเอง การควบคุมของเว็บมาสเตอร์ และการควบคุมของกฎหมายทั่วไป

หากนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล เรื่องราวของคุณอ้อ ก็จะกลายเป็น “กรณีตัวอย่าง” เพื่อเป็นมาตรฐานทางกฎหมายในอนาคต ซึ่งถือได้ว่าเป็นการริเริ่มให้เกิดหลักเกณฑ์ทางกฎหมายใหม่ๆ อีกทางหนึ่ง ในแง่นี้ ในฐานะที่เป็นนักการเมือง คุณอ้อก็น่าจะกลายเป็น “ตำนาน” ได้เหมือนกัน ในแง่ที่ว่าเป็นผู้ที่ต่อสู้ให้เกิดมาตรฐาน “วัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต” ขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่ว่าทำอย่างไร อินเทอร์เน็ตจึงจะเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นอันตรายกับมนุษย์

ประการที่สอง ในฐานะที่เป็นผู้หญิง การต่อสู้ทางกฎหมายดังกล่าวนี้ น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะมันจะกลายเป็นแบบอย่างสำหรับผู้หญิงคนอื่นๆ ว่าไม่ควรยอมรับความไม่ถูกต้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองอย่างง่ายๆ โดยหวังว่าเรื่องราวผิดๆ จะเงียบหายไปเอง ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติทั่วไปในเมืองไทย ซึ่งยังผลให้ผู้ผลิตข้อความเพื่อการสื่อสารสาธารณะจำนวนมากไม่ค่อยระมัดระวังว่า ตนเองอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่นได้อย่างไรบ้าง

ความที่ผู้หญิงไทยจำนวนมากมักจะยอมรับความไม่เป็นธรรมต่างๆ แบบเงียบๆ การต่อสู้ของคุณอ้อจึงจะเป็นการสร้าง “แบบอย่าง” ใหม่สำหรับผู้หญิงยุคใหม่ของเมืองไทย ที่ไม่ควรจะยอมรับฐานะของการเป็นผู้ถูกกระทำโดยไม่เต็มใจใดๆ ทั้งสิ้น

และประการที่สาม ความที่คุณอ้อก็เป็นบุคคลสาธารณะชนิดหนึ่ง การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเองในกรณีนี้ก็จะก่อให้เกิดมาตรฐานทางกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมาได้ว่า (1) "บุคคลสาธารณะ" มีกี่ชนิด กี่ระดับ (2) บุคคลเหล่านี้มี "สิทธิในความเป็นส่วนตัว" เพียงใด และอย่างไรบ้าง และ (3) สื่อใหม่ๆ อย่างอินเทอร์เน็ตและสื่อมวลชนต่างๆ จำเป็นต้องสร้างหลักเกณฑ์และจริยธรรมในการบริหารงานใหม่ๆ ขึ้นมาหรือไม่ เป็นต้น

พูดง่ายๆ หากคุณอ้อใช้วิกฤต (เล็กๆ) ที่เกิดขึ้นกับตนเองเป็นเหตุในการดำเนินการต่อสู้เพื่อให้เกิดมาตรฐานทางวัฒนธรรมใหม่ๆ ในทางกฎหมายขึ้นมาได้ คุณอ้อก็จะกลายเป็น "นักการเมืองตัวอย่าง" ประเภทหนึ่ง ที่ใครๆ ก็จะจดจำได้ไปอีกนานแสนนานว่าเป็นผู้ที่อุทิศตนเองในการต่อสู้ให้เกิดความถูกต้องขึ้นในเมืองไทย

ความสำเร็จในการต่อสู้ครั้งนี้ย่อมจะกลายเป็น "ภาพลักษณ์" ของคุณอ้อต่อไปในอนาคต การทำงานการเมืองก็คงจะง่ายขึ้น เพราะกลายเป็นคนที่มี "ยี่ห้อ" ของตนเอง ไม่ใช่นักการเมืองธรรมดาๆ ที่โหนกระแสที่คนอื่นสร้างขึ้น ซึ่งย่อมไม่ใช่อะไรที่ยั่งยืนอะไรนัก

ถึงจะต้องเสียความรู้สึกที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับผู้ที่ทำร้ายตนเอง อีกทั้งต้องเสียเวลาไม่ใช่น้อยๆ แต่นี่ก็คือการทำงานการเมืองอย่างแท้จริง เพราะนี่คือโอกาสที่จะสร้างความก้าวหน้าทางกฎหมายขึ้นมาได้อย่างเห็นได้ชัดๆ หากไม่มีใครยินดีทำตัวเป็นผู้เสียหายในคดีประเภทนี้เสียแล้ว ระบบยุติธรรมของเราก็ต้องรอกรณีอื่นๆ จึงจะสามารถสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมาได้

ที่สำคัญ ในการทำคดีความอย่างนี้ คุณอ้อก็จะมีใครๆ อาสาออกมาช่วยเหลืออย่างมากมาย เริ่มต้นตั้งแต่นักการเมืองในพรรคไทยรักไทยเอง ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ที่ต้องออกมาให้ความช่วยเหลืออย่างไม่มีเงื่อนไขอยู่แล้ว พูดอย่างสั้นๆ นี่เป็นอะไรที่น่าจะสนุกสนานมากกว่าเหน็ดเหนื่อย เพราะจะมีใครๆ มาให้กำลังใจมากมายโดยธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลอื่นๆ ที่มักจะตกอยู่ในปัญหาคล้ายๆ กันกับคุณอ้อด้วย นั่นก็คือ บรรดาดาราในวงการบันเทิงทั้งหลาย ที่มักจะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์คล้ายๆ กัน ถึงแม้ว่าจะไม่เหมือนกันเลยทีเดียวนัก การต่อสู้ของคุณอ้อก็จะกลายเป็น "ธงนำ" ยังผลให้คุณอ้อกลายเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของ "บุคคลสาธารณะ" ที่เป็นสุภาพสตรีไปโดยปริยาย

นี่คือโอกาสในการสร้างฐานการเมืองใหม่ๆ ของตนเองอย่างสวยงาม ไม่มีอะไรเสียหาย มีแต่ประโยชน์ มีแต่ความสร้างสรรค์ เพราะการกระทำคราวนี้อาจจะเป็นอะไรที่เป็นคุณูปการแก่คุณภาพชีวิตของผู้หญิงไทยเป็นจำนวนมากก็ได้ เอาถึงขนาดตั้ง "ศูนย์สิทธิสตรีกับสื่อมวลชน" เพื่อทำงานกันอย่างครอบคลุมไปกันนานๆ เลยจะดีไหม ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว

ในความเป็นจริง ในประเทศที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตกันมานานๆ แล้วอย่างอเมริกา นักกฎหมายก็ยอมรับแล้วว่าการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตก็คือการสื่อสารอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ได้เหมือนกัน การที่อ้างว่าใครๆ ก็จะเข้ามาเขียนข้อความที่ตนเองต้องการในทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่ต้องแสดงตัวและไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยนั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะในทางเทคนิคแล้ว โอกาสในการขุดคุ้ยหาบุคคลอันเป็นผู้รับผิดชอบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมนั้นสามารถกระทำได้ ถึงแม้ว่าจะต้องผ่านความยุ่งยากมากกว่าปกติสักหน่อยก็ตาม

ไม่ว่าคุณอ้อจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป ในระยะนี้ การแสวงหาความเพลิดเพลินจากการรับประทานอาหารอาจจะต้องเพลาๆ ลงสักหน่อย ส่วนการออกกำลังก็คงต้องมากขึ้นสักนิด ก็อย่างที่เขาว่าๆ กันแหละครับ "ความจริง" เป็นอย่างไรนั้น บางทีก็ไม่สำคัญเท่ากับ "ความเข้าใจ" ของคนอื่น ถ้าเราดูฟิตๆ เสียอย่าง ใครจะมีสิทธิ์มาคิดเลอะๆ เทอะๆ หาว่าเราท้องได้เล่า แค่นี้ปัญหาก็ลดไปเยอะแยะแล้ว

อ้อ การแปลงวิกฤตเป็นโอกาสในที่นี้ ก็มีความหมายเพียงแค่นี้นะครับ รัฐบาลไม่ควรฉวยโอกาสฉวยในการลิดรอนสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อโดยพลการ ไม่เช่นนั้น การต่อต้านก็จะมีมากอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียวแหละ
กำลังโหลดความคิดเห็น