xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลที่ดี มีอะไรเป็นหลักประกัน ?

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

เป็นปุจฉาที่น่าวิสัชนายิ่งนักว่า เหตุไฉนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยบริหารประเทศแบบ “เด็ดขาด”มานานกว่าสี่ปี กลับไม่ได้ทำให้คนไทยทั่วไปรู้สึกมีความสุขสบายขึ้นตามอัตภาพ ?

มองไปที่ใดก็มีแต่ปัญหาเต็มไปหมด อะไรที่ว่าจะดีก็ไม่ดี มีแต่สิ่งฉาบฉวยหลอกให้คนไทยเพลิดเพลิน แล้วประสบวิกฤตในภายหลัง และเมื่อมองลึกลงไปก็พบว่าพรรคไทยรักไทยบริหารประเทศไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน แต่พอจะดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็ติดขัดเนื่องจากการแทรกแซงของฝ่ายบริหาร ทำให้เกิดบรรยากาศอึดอัดไปทั่ว

เมื่อปัญหาสะสมจนได้ที่ พลันความไม่เชื่อมั่นไม่ไว้วางใจในตัวผู้นำและรัฐบาลก็ระเบิดออกมา มีการขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลในการใช้อำนาจบริหารประเทศหลายแง่หลายมุม รวมทั้งบุคลิกภาพของผู้นำ ทั้งในด้านวิธีคิดและวิธีการทำงาน

จากท่าทีของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ว่า พรรคไทยรักไทยจะบริหารประเทศจนจบวาระคืออีกเกือบสี่ปีข้างหน้า ทำให้กลุ่มองค์กร และบุคคลต่างๆในหลายๆฝ่ายเริ่มมีแนวคิดตรงกันว่า จะต้องหามาตรการที่เป็นไปได้ในการยุติการใช้อำนาจบริหารประเทศของพรรคไทยรักไทย รวมทั้งดำเนินการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในระดับบูรณาการ เพื่อนำไปสู่กระบวนการปฏิรูปทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง

กระบวนการแก้ไขดำเนินไปพร้อมๆกับกระบวนการกล่าวโทษ

พิจารณาจากสิ่งที่กำลังดำเนินไปในทั้งสองด้านสองกระบวนการ มีแนวโน้มพัฒนาขยายตัวใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลไทยรักไทย โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นศูนย์กลาง ไม่สามารถให้คำตอบได้ทั้งสองด้าน คือไม่อาจหักล้างข้อกล่าวหาได้อย่างมีน้ำหนัก และไม่มีแนวเสนอที่จะนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองที่ดีกว่า

สรุปคือ ไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่า จะสามารถบริหารประเทศได้ดี เป็นรัฐบาลที่ดีได้อย่างไร ตามมาตรฐานที่สังคมไทยต้องการ ดังที่ได้ปรากฏอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี พ.ศ.2540

ทั้งนี้ทั้งนั้น มีการวิสัชนากันอย่างกว้างขวางว่า หากรัฐบาลพรรคไทยรักไทยยึดมั่นในกฎกติกาที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตย เคารพหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างแท้จริง อีกนัยหนึ่ง ไม่กระทำการใดๆในเชิงบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ใช้ช่องโหว่ที่มีอยู่ไปในทางที่อำนวยประโยชน์ให้แก่การใช้อำนาจของตนแต่ฝ่ายเดียว พรรคไทยรักไทยก็จะสามารถบริหารประเทศได้อย่างโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพขององค์กรอิสระและประชาสังคม จะผิดจะถูกอย่างไร ก็สามารถอธิบายได้อย่างเต็มที่ สนองตอบความเรียกร้องต้องการของประชาชนชาวไทยได้ไม่ยาก

พฤติกรรมของพรรคไทยรักไทย ที่มีต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทำให้หลายๆฝ่ายเกิดแนวคิดที่จะต้อง “ปรับแก้”กฎหมายรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ในระดับบูรณาการ(องค์รวม) มุ่ง “อุดช่องโหว่”ทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ได้

แต่ก็มีการตั้งปุจฉาอยู่เหมือนกันว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด รัดกุมที่สุด เอาเข้าจริงก็คงไม่สามารถป้องกันพฤติกรรมมิชอบของผู้ใช้อำนาจบริหารได้ หากว่าผู้ใช้อำนาจบริหารมีเจตนาไม่ดี หรือยอมจำนนต่อ “กฎเหล็ก”ของการเมืองเลือกตั้ง (ต้องใช้เงินตั้งพรรค ใช้เงินหาเสียงและซื้อเสียง พอได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศก็ต้องหาเงินเข้าพรรค ขยายฐานเสียง) ถึงแม้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะเลอเลิศแค่ไหน ก็คงไม่อาจป้องกันการกระทำที่ผิดๆได้ จะเกิดวิกฤตทางการเมืองที่นำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกไม่มีวันจบสิ้น

ลำพังเพียงการแก้ไขปัญหาทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะสามารถขับเคลื่อนการเมืองประเทศไทยพ้นจากวงจรอุบาทว์ได้

กระนั้นก็ตาม ก็ยังไม่มีใครนำเสนอทางออกที่ดีกว่าการแก้ปัญหาที่ตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยหวังว่า จะได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและอย่างมีสำนึกมากขึ้นเรื่อยๆ

อีกนัยหนึ่ง สังคมไทย(เริ่มจากคนบางส่วนบางกลุ่ม) กำลังตั้งความหวังอีกครั้งว่า ภายหลังจากการปฏิรูปทางการเมืองด้วยมาตรการทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญครั้งใหม่นี้ การเมืองของประเทศไทยจะดีขึ้น นั่นคือ เราจะได้พรรคการเมืองที่ดี มีนักการเมืองคุณภาพสูงยิ่งกว่าทุกครั้งในอดีต ทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชน

ทั้งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะอยู่ในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ขององค์กรอิสระ ทั้งที่เป็นองค์การสาธารณะและองค์กรเอกชน

พูดก็พูดเถอะ กระบวนวิธีคิดเกี่ยวกับการแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญครั้งใหม่นี้ ยังไม่พ้นกรอบวิธีคิดเมื่อครั้งยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540 ซึ่งทุกฝ่ายมาดหมายว่า ภายหลังการประกาศใช้แล้ว ประเทศไทยจะมีการเมืองที่ดีกว่าทุกๆยุคที่ผ่านมา แต่ผลกลับกลายเป็นว่า ประเทศไทยต้องตกเข้าสู่วังวนของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยกลุ่มทุน

คราวนี้เรามาดหมายว่า การแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ จะนำไปสู่การเมืองที่ปลอดจากการผูกขาดอำนาจของกลุ่มทุน แต่ก็ไม่อาจให้หลักประกันใดๆว่า การเมืองไทยจะไม่ตกเข้าสู่วังวนของการใช้อำนาจแบบผิดๆในรูปแบบอื่นๆอีก

อดไม่ได้ที่จะตั้งปุจฉาว่า การแก้ไขปัญหาตามแนวคิดดังกล่าว จะทำให้คนไทยจะหลุดพ้นจาก “วัฏฏะ”ของการ “หนีเสือปะจระเข้” ได้มากน้อยแค่ไหน ?

สำหรับผู้เขียน เห็นว่าการแก้ไขปัญหาตามแนวทางดังกล่าว เป็นการแก้ไขปัญหาจากบนลงล่าง เอาตัวบทกฎกติกาเป็นตัวตั้ง แล้วให้คนปฏิบัติตาม เป็นการแก้ไขปัญหาเพียงด้านเดียว ซึ่งจะไม่ได้ผลตามจุดมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาจากล่างสู่บนควบคู่กันไป นั่นคือ ภาคประชาชนจะต้องไม่รอคอยการแก้ไขปัญหาจากบนลงล่าง แต่จะต้องจัดตั้งกันขึ้นมา พัฒนาตนเองให้เข้มแข็งเติบใหญ่ ในรูปแบบต่างๆ สูงสุดก็คือพรรคการเมืองตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน โดยมีจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายสูงสุด ที่ดำเนินการเคลื่อนไหวช่วงชิงให้ได้มาซึ่งอำนาจการบริหารประเทศ ใช้อำนาจบริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน

ทำได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี !

รูปแบบการเคลื่อนไหวมีมากมาย หลักๆก็คือจัดตั้งมวลชน ขับเคลื่อนกระบวนการ “ประชาชนรู้แจ้ง” พัฒนาบุคลากร แสดงบทบาทเป็นกองหน้าของประชาชน สามัคคีพลังประชาชนดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิต และต่อสู้กับอำนาจอิทธิพลที่กดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเข้าร่วมในกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งที่โอกาสเปิดให้

พลังทางการเมืองที่เป็นจริงของประชาชนเช่นนี้ จึงจะเป็นหลักประกันสำคัญให้การขับเคลื่อนของกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองของประเทศไทยดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เกิดมรรคผลที่เป็นจริงแก่ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยถ้วนหน้า

เป็นการขับเคลื่อนจากล่างสู่บน ประสานกับการขับเคลื่อนจากบนสู่ล่าง อีกนัยหนึ่ง ในระยะนี้ พัฒนาการของพลังทางการเมืองที่แท้จริงของประชาชน ในรูปพรรคการเมืองของประชาชน จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางการเมืองด้วยการแก้ไขปรับปรุงหรือยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อกรุยทางไปสู่ความเติบใหญ่ของพลังทางการเมืองภาคประชาชน

มองในระดับองค์รวม ณ วันนี้ การเมืองภาคประชาชน ที่มีพรรคการเมืองตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนเป็นกองหน้า จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกับกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองด้วยการแก้ไขปรับปรุงหรือยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ

การเคลื่อนไหวจากล่างสู่บนและจากบนสู่ล่างเช่นนี้ จะประกอบเข้าเป็นสองด้านของเหรียญ จึงสามารถให้หลักประกันว่า การเมืองของประเทศไทยจะสามารถพัฒนาก้าวหน้า พาตัวเองหลุดพ้นจาก “วงวัฏฏะ”ได้อย่างแท้จริง

มิเช่นนั้น การเมืองประเทศไทยก็มีแต่จะวนอยู่ในอ่าง ประเทศชาติไม่ได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริง ประชาชนชาวไทยจะยังต้องจมอยู่ในกองทุกข์ไปอีกนานเท่านาน

ในภาวะเช่นนี้ การขับเคลื่อนทางการเมืองภาคประชาชน ที่มีพรรคการเมืองตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนเป็นกองหน้าและแกนนำ จะต้องดำเนินไปในทันที อย่างเป็นผู้กระทำ !

ปัจจุบัน บางพรรคบางฝ่ายที่กำลังนำเสนอแนวทางการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ ได้เสนอให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปรับปรุงหรือยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ สำหรับขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองของประเทศไทยอีกครั้ง ถ้าจะให้เป็นไปตามแนวคิดที่ผู้เขียนนำเสนอ ก็จะต้องมีพรรคการเมืองตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นตัวเป็นตน อย่างเป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเอง

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา ก็เป็นเพียงแนวคิด ไม่ใช่คำตอบ เพราะการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนจะมีขึ้นได้อย่างไร จะต้องให้การปฏิบัติมาเป็นคำตอบ

กระนั้นก็ตาม ในเมื่อกล้าที่จะนำเสนอแล้ว ผู้เขียนก็ขอนำเสนอต่อไปในขั้นของการก่อตั้งพรรคว่า พรรคตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนจะต้องประกอบไปด้วยบุคคลที่พร้อมอุทิศตัวให้แก่ภารกิจต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่คำนึงว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะมาจากคนชั้นไหน ฐานะอะไร

ทุกคนที่เข้ามาร่วมการก่อตั้งพรรค จะต้องถือเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เริ่มจากผลประโยชน์ของประชาชนและเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในบั้นปลายเสมอ

ณ ที่นี้ ความหมายของคำว่าผลประโยชน์ของประชาชนเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างสมบูรณ์ นั่นคือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ของประเทศชาติ ย่อมจะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชน และสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประชาชน ย่อมจะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศชาติเสมอ

ณ ที่นี้ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จึงเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนจะต้องเชิดชู ปกป้อง และรักษา ควบคู่ไปพร้อมๆกันกับการทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน

หลักๆก็คือ สามัคคีบุคคลและกลุ่มบุคคลทุกระดับชั้นของสังคม ดำเนินการเคลื่อนไหวพัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศชาติ ในรูปของการร่วมกันกำหนดแนวนโยบายพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ระดมปัจจัยที่เป็นไปได้ทั้งภายในและต่างประเทศมาเสริมเข้าไปในกระบวนการพัฒนาประเทศให้ด้านต่างๆ โดยเปิดกว้างอย่างแท้จริงให้แก่การพัฒนาขยายตัวของพลังการผลิตของชาติ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน นั่นคือ ระดมปัจจัยการผลิตในระดับบูรณาการเข้าสู่กระบวนการผลิต ด้วยกลไกตลาดที่เอื้ออำนวยต่อการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม โดยปราศจากการผูกขาดตัดตอน เพื่อให้การผลิตทางเศรษฐกิจของไทยมีประสิทธิภาพในระดับองค์รวม สู้กับแรงเสียดทานที่มาจากการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจโลกได้ดี

ที่สำคัญคือ จุดมุ่งหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ อยู่ที่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคน ซึ่งก็คือคนไทยทั้งประเทศ ความเจริญทางเศรษฐกิจจะต้องรับใช้คุณค่าของความเป็นคน นั่นคือ คนไทยจะได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจทั้งทางวัตถุและจิตใจ ไม่เพียงกินดีอยู่ดี แต่จะต้องมีสุขได้ตามอัตภาพ ซึ่งก็คือ ปลอดหรือรอดพ้นจากการเบียดเบียนทั้งทางกาย วาจา มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิต เช่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ในการศึกษาหาความรู้ ในการรับรู้ข่าวสาร ในการเดินทาง ในการเข้ามีส่วนร่วมพัฒนาสังคมประเทศชาติ

สรุปคือ คนไทยมีสิทธิ์กำหนดชะตาชีวิตของตนได้อย่างแท้จริง บนพื้นฐานของการเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น