xs
xsm
sm
md
lg

วัฎจักรในวิถีชีวิตมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: ลิขิต ธีรเวคิน

ทฤษฎีวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ มีอยู่สองทฤษฎีใหญ่ๆ คือ วิวัฒนาการที่ดำเนินไปเป็นเส้นตรง (unilinear) หรือเป็นวัฎจักร (cyclical) ในทฤษฎีที่เป็นวัฎจักรนั้นจะมีจุดเริ่มต้นจากต่ำไปสู่จุดสูง จนถึงจุดสูงสุด แล้วก็จะเสื่อมสลายกลับมาที่เดิม เช่น อาณาจักรเล็กๆ ที่ขยับขยายเพิ่มอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และทางการทหารจนเป็นจักรวรรดิ จากนั้นก็จะมีกระบวนการทำลายตนเอง หรือถูกทำลายโดยจักรวรรดิอื่นจนเสื่อมสลายกลับมาสู่จุดเดิม หรือแม้ต่ำกว่าเดิม สังคมมนุษย์ก็ถูกมองเช่นนี้ว่ามีการพัฒนาจากจุดต่ำสุดจนถึงจุดสูงสุด และก็วกกลับมาที่เดิมหรือต่ำกว่าเดิม แล้วเริ่มต้นใหม่เป็นวัฎจักรอยู่ตราบชั่วนิรันดร์กาล

ส่วนทฤษฎีเส้นตรงจะมีการพัฒนาจากจุดต่ำไปสู่จุดสูงขึ้นตามลำดับจนถึงจุดสูงสุด และก็จะไม่กลับมาอีก ตัวอย่างเช่น ทางศาสนาคริสต์ถือว่ามนุษย์ที่ทำความดีเมื่อตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ จะมีวันตัดสินโดยพระผู้เป็นเจ้า ชะตาชีวิตของคนนั้นจะถูกกำหนดโดยกฎกรรมที่ทำ นั่นคือการพัฒนาที่เป็นเส้นตรง ซึ่งตรงกันข้ามกับศาสนาพุทธอันได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารและความไม่แน่นอน แต่ศาสนาพุทธก็มีการเสนอทฤษฎีเส้นตรงคือการบรรลุนิพพาน จะไม่กลับมาสู่วัฎจักรอีกต่อไป ในแง่นี้ถือได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างวัฎจักรและการเป็นเส้นตรง

จากการมองวิวัฒนาการสังคมทั้งสองรูปแบบแล้ว ยังมีวิธีที่สามก็คือมีการผสมผสานระหว่างวัฎจักรและเส้นตรงตามที่ได้กล่าวมาแล้วในส่วนของปรัชญาพุทธศาสนา ถ้าพูดถึงทฤษฎีสังคมที่ไม่ใช่ศาสนาก็มีลัทธิมาร์กซ์ที่มองวิวัฒนาการสังคมแบบผสมผสาน ในส่วนที่เป็นวัฎจักรที่ต้องมีการถูกทำลายนั้นก็ได้แก่ สังคมคอมมิวนิสต์ปฐมภูมิซึ่งจะต้องแตกสลายไปเมื่อเกิดสังคมทาสซึ่งเป็นสังคมในส่วนที่สอง จากสังคมทาสก็จะนำไปสู่การแตกสลายไปสู่สังคมฟิวดัล จากสังคมฟิวดัลก็จะพัฒนาไปสู่สังคมทุนนิยมและจะถูกทำลายโดยความขัดแย้งที่มีในตัวเองจนกลายไปสู่ระบบการเป็นสังคมนิยม และนั่นก็จะเป็นสังคมสุดท้ายซึ่งจะเป็นสังคมในอุดมคติ จะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการของสังคมในความเห็นของคาร์ล มาร์กซ์ นั้นเป็นการผสมผสานระหว่างการมองแบบวัฎจักรและการมองแบบเส้นตรง

ในแง่ของวิถีชีวิตมนุษย์นั้นเมื่อแรกเกิดก็เป็นเด็กทารก เติบโตเป็นเด็กวัยรุ่นจนกลายเป็นคนหนุ่มสาว และโตเต็มที่จนถึงวัยชรา ซึ่งเมื่อวัยชรานั้นจะมีอากัปกริยาเป็นเด็กอีกครั้งซึ่งเป็นกระบวนการของวัฎจักรจากต่ำไปหาสูง และกลับมาสู่ต่ำ

กรณีของสังคมจีนโบราณจะมีสิ่งที่น่าสังเกตอยู่สองส่วนด้วยกันที่มีลักษณะเป็นวัฎจักร นั่นคือส่วนที่เกี่ยวกับวัฎจักรของราชวงศ์และเศรษฐกิจของสังคมจีนโบราณ ในส่วนของราชวงศ์นั้นถ้าศึกษาจากประวัติศาสตร์จะพบว่าผู้ปกครองได้แก่ฮ่องเต้ที่ขึ้นมาครองราชย์ใหม่ๆ หลังจากมีการขับไล่ราชวงศ์เดิมไปแล้ว ก็จะเอาใจใส่ในการทำนุบำรุงบ้านเมือง ซ่อมแซมฝายกั้นน้ำ ส่งเสริมการเพาะปลูก ลดการเก็บภาษี เปิดระบบสอบให้คนดีมีความรู้เข้ามารับราชการ ดูแลเอาใจใส่ในการปรับปรุงสวัสดิภาพและสวัสดิการสังคม ประชาราษฎร์ต่างก็แซ่ซ้องสรรเสริญ ที่สำคัญธำรงตนอยู่ในฐานะเป็นจักรพรรดิที่ดี แต่เมื่อนานไปก็จะถูกแวดล้อมด้วยเหล่าขุนนางที่ประจบสอพลอโดยเฉพาะเหล่าขันที ปล่อยให้ขุนนางกังฉินครองแผ่นดิน เริ่มมีการเก็บภาษีแบบรีดนาทาเร้น ใช้อำนาจข่มเหงบีฑากรรมประชาราษฎร์ ฟังแต่เสียงเพ็ดทูลที่เป็นความเท็จเนื่องจากต้องการเอาใจองค์จักรพรรดิ

นอกจากนี้องค์จักรพรรดิยังหมกหมุ่นอยู่ในความสุขทางโลก ร่ำสุราหานารี หลงใหลอยู่ในกามคุณ บางครั้งอยู่ภายใต้อิทธิพลของเหล่าอิสตรีจนบ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย ก็จะมีการก่อการกบฏนำโดยนักคิดผู้ซึ่งเป็นหัวหน้า ข้ออ้างองค์จักรพรรดิได้รับอาณัติจากสวรรค์ในการปกครองแผ่นดินจะเสื่อมความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเช่น การไม่ดูแลเอาใจใส่ทำนุบำรุงบ้านเมือง ปล่อยให้ขุนนางกังฉินครองแผ่นดิน โจรผู้ร้ายชุกชุม มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง บางครั้งก็เกิดภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย โรคระบาด ฯลน ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้จะถูกตีความว่าคือสัญญาณที่บ่งบอกว่าสวรรค์ได้ถอนอาณัติจากองค์จักรพรรดิ์เนื่องจากไม่ทรงอยู่ในทำนองคลองธรรม กลุ่มกบฏก็จะล้มราชวงศ์และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นมา จักรพรรดิ์องค์ใหม่ซึ่งมาจากการปราบดาภิเษกก็จะเริ่มทำนุบำรุงบ้านเมือง แก้ไขปัญหาต่างๆ ดังเช่นเดียวกับจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ที่ถูกล้มไป และจากนั้นไม่นานเนื่องจากระบบขุนนางและขันที และขาดการตรวจสอบ วัฎจักรของความเสื่อมของราชวงศ์ใหม่ก็จะเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นวัฎจักรของแต่ละราชวงศ์ ประวัติศาสตร์จีนห้าพันปีจึงมีการปกครองโดยราชวงศ์ต่างๆ หลายราชวงศ์

ในส่วนของเศรษฐกิจจีนโบราณนั้นก็จะมีลักษณะของวัฎจักรในแง่ของการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย และการขาดการลงทุนในการทำอุตสาหกรรมและการค้า โดยในเบื้องต้นตามคติของขงจื๊อนั้น สังคมจีนแบ่งชนชั้นสังคมเป็นสี่ชนชั้น คือ นักปราชญ์ราชบัณฑิตซึ่งจะสอบแข่งขันเพื่อรับราชการ ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า ช่างฝีมือได้แก่ ผู้ทำสินค้าอุตสาหกรรม พ่อค้าได้แก่ผู้ทำการค้าขาย ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าก็ดี ผู้เป็นตัวแทนสินค้าก็ดี เป็นบุคคลชั้นต่ำของสังคม ชนชั้นผู้นำจีนที่เป็นนักปราชญ์และผู้บริหารจะพยายามเป็นเจ้าของที่ดินให้มากที่สุดเพื่อทำการผลิตทางเกษตร โดยมีลูกจ้างเกษตรกรซึ่งเป็นชนชั้นลำดับสองของสังคมต่อจากนักปราชญ์เป็นผู้ทำการผลิต เงินทั้งหมดจะทุ่มไปที่การซื้อที่ดินทำการผลิตทางการเกษตรมากกว่าการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ในกรณีที่มีการเก็บเกี่ยวได้ผลใน 3 ปีติดต่อกันก็จะมีการเก็บหอมรอมริบได้เงินเป็นโลหะมีค่าเช่นทองคำ แต่เมื่อได้เงินจำนวนนั้นไม่นานผู้สูงอายุที่สุดในครอบครัวเช่นปู่อาจจะถึงแก่กรรม ก็จะใช้เงินทั้งหมดเพื่องานศพอันหรูหราเพื่อแสดงถึงหน้าตาและความมั่งคั่ง จนเงินออมที่เป็นทองคำนั้นหมดไป ก็ต้องรอการเก็บหอมรอมริบจากการเก็บเกี่ยว 3 ปีที่ดีอีกต่อไป เมื่อครบ 3 ปีลูกชายคนโตก็อาจเข้าสู่พิธีวิวาห์ซึ่งต้องใช้เงินออมทั้งหมดเพื่องานอันหรูหรานั่นอีก เป็นการแสดงออกของหน้าตาของตระกุล เงินออมของตระกูลก็จะกลับไปสู่เลขศูนย์อีก และถ้าการเก็บเกี่ยวยังมีผลดีอีก 3 ปี เงินออมที่เก็บได้ก็อาจใช้เป็นการจัดงานศพของคุณย่า หรือมิฉะนั้นก็คืองานวิวาห์ของลูกชายคนที่สอง วนเวียนอยู่กับงานศพและงานแต่งงาน ซึ่งอาจจะดำเนินไปถึง 6 รอบ ก็จะเป็นเวลา 18 ปี ทรัพย์สินของตระกูลก็จะกลับมาที่เดิม เศรษฐกิจีนโบราณจึงไม่สามารถพัฒนาจากระบบฟิวดัลโดยมีพื้นฐานเกษตรไปสู่เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมทุนนิยมเหมือนเช่นตะวันตก และนี่คือวัฎจักรเศรษฐกิจของสังคมจีนโบราณ เป็นการโชคดีที่การเก็บเกี่ยวได้ผลถึง 18 ปี ถ้าถูกคั่นด้วยข้าวยากหมากแพง ทุพภิกขภัย ก็จะเกิดความปั่นป่วนไปหมดทั้งครอบครัว ทั้งตระกูล หรือทั้งสังคม

วัฎจักรหรือวิถีชีวิตมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่มองเห็นอยู่ ถ้าสนใจศึกษาก็สามารถจะดึงบทเรียนจากปรากฏการณ์ของวิถีชีวิตมนุษย์ได้ แม้กระทั่งฤดูกาลก็ยังอาจนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ฤดูใบไม้ร่วงเปลี่ยนเป็นฤดูใบไม้ผลิ ฤดูหนาว และฤดูร้อน อันเป็นการบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ วิถีชีวิตมนุษย์ก็อาจจะมีกระบวนการเช่นเดียวกับฤดูกาล มีขึ้นก็ต้องมีลง มีตกก็ต้องมีขึ้น ศาสนาพุทธจึงมีปรัชญาอันเฉียบแหลมที่ให้ยอมรับสภาพการเปลี่ยนแปลงโดยมองทุกอย่างเป็นเรื่องความไม่แน่นอนหรือเป็นอนิจจังแห่งชีวิต และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้ามนุษย์สามารถจะดึงประเด็นเรื่องวัฎจักรมาเป็นภูมิปัญญาในการดำรงชีวิต การทำงาน และการแก้ปัญหาหรือดักปัญหา

ตัวอย่างที่จะยกมาให้เห็นก็คือตัวอย่างเรื่องการประกอบธุรกิจของคนในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ที่มีเชื้อสายจีน มีการตั้งข้อสังเกตว่าธุรกิจของคนไทยเชื้อสายจีนก็ดี อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์เชื้อสายจีนก็ดี จะมีปรากฏการณ์ดังต่อไปนี้ คือ

เมื่อมีการอพยพมายังภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ใหม่ๆ คนจีนซึ่งอยู่ในวัยฉกรรจ์จะมาพร้อมกับเสื่อหนึ่งผืนและหมอนหนึ่งใบ มีความรู้จำกัด แต่มีแรงกาย กำลังใจในการสร้างเนื้อสร้างตัว ต่อสู้ชีวิต มีวินัย มีความขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ ประหยัด และชาญฉลาดในการสร้างความสัมพันธ์มนุษย์ ภายในหนึ่งชั่วคนก็จะสร้างฐานะจนเป็นคนร่ำรวยได้พร้อมกับครอบครัวซึ่งอาจจะมีภรรยามากกว่าหนึ่งคน ลูกชายจำนวนหนึ่ง ขยายกิจการหลายสาขาโดยมีบุคลากรสำคัญคือ ลูกชายซึ่งมีจำนวนมาก เมื่อมาถึงรุ่นลูกทั้งพ่อและลูกๆ ก็ยังอยู่กันอย่างสามัคคี ทำทุกอย่างเพื่อตระกูล ขยันขันแข็งหมั่นเพียร เนื่องจากมีตัวอย่างของพ่อ

แต่เมื่อมาถึงรุ่นที่สามคือรุ่นหลานก็มักจะไปศึกษายังต่างประเทศเช่นเริ่มที่ฮ่องกง จากนั้นก็ไปออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยเรียนวิชาการสมัยใหม่ บุคลิก อุปนิสัย ค่านิยม ปทัสถาน จะไม่เหมือนรุ่นปู่หรือรุ่นพ่อ เมื่อกลับมาจากต่างประเทศก็เริ่มจะมองไม่เห็นความสำคัญของกิจการของบรรพบุรุษ หรือถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ก็อาจจะมีการแย่งตำแหน่งและขัดแย้งกันเอง จนบางครั้งเกิดศึกสายเลือด และที่สำคัญเมื่อมีการแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา ความขัดแย้งของครอบครัวซึ่งมีสะใภ้มาจากหลากที่ก็อาจจะสร้างความสับสนวุ่นวายในระบบธุรกิจเป็นแบบครอบครัว (family business) ซึ่งมีเตี่ยและพี่ชายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ยิ่งถ้าปู่ตายลงและไม่มีย่าที่มีบุคลิกที่แข็งแกร่งคอยควบคุมไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมของธุรกิจ รวมทั้งความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้

จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจที่เริ่มจากคนจีนในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฯลฯ ในรุ่นที่สามนั้นถ้าไม่ให้มืออาชีพเข้ามาบริหาร หรือบริหารอย่างมืออาชีพ หรือต่างคนต่างแยกย้ายกันไป โดยขยายประเภทของธุรกิจตามถนัด ธุรกิจดั้งเดิมมักจะล่มสลายลงในรุ่นที่สาม ซึ่งก็มีข้อมูลมาพิสูจน์ให้เห็นอยู่หลายกรณีด้วยกัน

ข้อสังเกตดังกล่าวมาเกี่ยวกับคนเชื้อสายจีนนั้น ความจริงสามารถจะครอบคลุมไปถึงคนเชื้อสายอื่นด้วย ในอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ก็เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพี่กับน้องในบริษัทใหญ่ Reliance จนเกือบจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต ส่วนบริษัทตาตา (Tata) ในอินเดีย เนื่องจากไม่มีบุตรสืบเชื้อสายจึงให้มืออาชีพบริหารจึงไม่เกิดปัญหาอย่างบริษัท Reliance ตระกูลใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ เช่น ร็อคกี้ เฟลเลอร์ เป็นต้น ก็ถึงแก่การเสื่อมทั้งในอำนาจเงินและบทบาทในสังคม และในแง่หนึ่งตระกูลเคเนดี้ก็กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

การศึกษาวัฎจักรของวิถีชีวิตมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่เพิ่มความเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งในทางธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เช่นในแง่เศรษฐกิจนั้นนักเศรษฐศาสตร์ยอมรับกันทั่วไปว่าจะมีสภาพของวงจร (cycles) คือจะเกิดเศรษฐกิจตกต่ำ เศรษฐกิจรุ่งเรือง สลับกลับความตกต่ำ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง แต่ข้อสังเกตในเรื่องวัฎจักรนั้นไม่จำกัดเฉพาะเศรษฐกิจแต่สามารถมองได้ในส่วนอื่นๆ ของวิถีชีวิตมนุษย์รวมทั้งปรากฏการณ์ทางสังคม

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
www.dhiravegin.com
e-mail:likhit@dhiravegin.com
กำลังโหลดความคิดเห็น