xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ "สนธิ ลิ้มทองกุล" (2) สู่วารสารศาสตร์สายพันธุ์ใหม่?

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

เดิมที ตอนที่เขียน "ปรากฏการณ์ 'สนธิ ลิ้มทองกุล' ในฐานะที่เป็น 'ข่าว'" (ผู้จัดการรายวัน วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548) นั้น ผมก็เพียงอยากจะเข้าใจมากขึ้นว่า ทั้งๆ ที่มีเนื้อหาออกจะท้าทายขนาดนั้น ทำไมเรื่องราวของสนธิ ลิ้มทองกุลในกรณี "เมืองไทยรายสัปดาห์" (ทั้งฉบับช่อง 9 และฉบับสัญจร) จึงไม่ได้รับการนำไปเสนอเป็นข่าวในสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางเท่าที่ควร

เพราะความสงสัย ผมจึงไปขุดคุ้ยเอาตำราเก่าๆ ว่าด้วยวิชาการข่าวที่ตนไม่ได้เปิดเลยเป็นเวลานานนับสิบๆ ปีมาพลิกๆ ดู ครั้นเมื่อได้ตรวจสอบ "มาตรวัด" ว่าด้วยคุณค่าข่าว (newsworthiness) แล้วก็ทดลองนำเอามาตรเหล่านั้นมาประเมิน "เมืองไทยรายสัปดาห์" ก็ยิ่งประหลาดใจไปใหญ่ เพราะในทัศนะของผม นี่คือ "ข่าวใหญ่" อย่างแน่นอน

ก็เลยทำให้สงสัยต่อไปอีกว่า ชะรอยเราจะอาศัยตำราฝรั่งมาใช้วัดวารสารศาสตร์ไทยไม่ได้เสียแล้วกระมัง หลังจากนั้น จึงหันไปคิดค้นหาคำอธิบายอื่นๆ จึงถึงบางอ้อ สรุปว่าน่าจะเป็นเพราะมีหลายๆ ปัจจัยทั้งภายในและภายนอก (ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ของสื่อนานาชนิด รวมทั้งสายสัมพันธ์ทางการเมืองและการเงินระหว่างสื่อกับรัฐบาลในยุคปัจจุบัน) มากระทบการทำงานของสื่อต่างๆ อย่างลึกซึ้งนั่นเอง ลงท้าย สื่อแต่ละชนิดแต่ละแห่งจึงมีนโยบายเกี่ยวกับการนำเสนอปรากฏการณ์นี้ไม่เหมือนกัน

ครั้นเมื่อบทความเรื่องนั้นเผยแพร่ออกไปได้เพียงไม่กี่อึดใจ ลูกศิษย์ที่ทำงานข่าวคนหนึ่งก็ถือเป็นธุระโทรศัพท์มาหา เพียงเพื่อที่จะบอกขอบคุณที่เขียนบทความนั้นให้อ่าน และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่นานนัก ก็ดูเหมือนว่าวลี "ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล" จะไปปรากฏในสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง จนแม้กระทั่งสื่อในโลกตะวันตกก็พากันนำเอาวลีนั้นไปแปลเป็นภาษาอังกฤษแบบตรงๆ ด้วย

มาบัดนี้ หลังจากพสกนิกรทั้งหลายได้รับฟังกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันเฉลิมพระชนมพรรษาประจำปีนี้แล้ว พระอัจฉริยภาพของในหลวงของเราก็ได้ส่องแสงสว่างอันเป็นคุณูปการแก่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบรมราโชวาทมีนัยสำคัญที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจำเป็นต้องตัดสินใจถอนคดีความต่างๆ ที่มีต่อคุณสนธิ และในที่สุดก็คงจะต้องถอนคดีความอื่นๆ ต่อสื่ออื่นๆ รวมทั้งคดีความที่อ้างอิงถึงการละเมิดพระราชอำนาจด้วย

ในบรรยากาศที่ "เสรีภาพในการพูด" ดูเหมือนว่ากำลังเข้าสู่ยุคใหม่นี้ ปริศนาที่ผู้คนจำนวนมากสนใจก็คือรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" จะไปทางไหนต่อไป ข่าวล่าสุดระบุว่า ทั้งๆ ที่มีความเป็นไปได้ คุณสนธิก็ไม่มีความปรารถนาที่จะกลับเข้าไปทำรายการนี้ที่ช่อง 9 อีกแล้ว ทว่าเขายังยืนยันที่จะจัดรายการนี้ในรูปแบบของการสัญจรต่อไป

อนึ่ง ในบทความที่กล่าวถึงข้างต้น ผมได้เสนอว่าคุณสนธิได้ใช้สิ่งที่ผมเรียกง่ายๆ หลวมๆ ว่า "วารสารศาสตร์เชิงระบบและโครงสร้าง" มาเป็นหลักในการทำ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ที่ขนานนามไปอย่างนั้นก็เพราะคำนึงถึง "องค์ความรู้" ของคุณสนธิ (ตามความเข้าใจของผมเอง) เป็นสำคัญ มาบัดนี้ คุณสนธิได้ออกมาบอกเล่าเป็นนัยๆ ให้เราฟังแล้วว่า "เมืองไทยรายสัปดาห์" จะก้าวไปทางไหน จนมีความจำเป็นต้องเขียนถึงเรื่องราวของเขาอีกครั้งหนึ่ง

"ขอได้โปรดเข้าใจว่าไม่ว่าก่อนหน้านี้สนธิ ลิ้มทองกุลจะเป็นใคร, มาจากไหน, ทำผิดถูกอะไรมาบ้าง แต่ประการหนึ่งก็คือคนคนนี้ไม่เคยเสแสร้ง มีแต่ประกาศต่อหน้าสาธารณะมาโดยตลอดว่า "...ผมเป็นสื่อมวลชนที่ไม่เป็นกลาง" คุณสนธิอธิบายเพิ่มเติมต่อไปด้วยว่า "อีกประการหนึ่ง ณ วันนี้คนคนนี้ถือว่า "....นับแต่นี้ต่อไปไม่ใช่สนธิ ลิ้มทองกุลคนเดิมอีกต่อไป ที่จะนึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจตัวเอง-หากแต่จะต้องถามประชาชนและองค์กรประชาชนต่างๆ ที่ให้ความเมตตาโอบอุ้ม" และ "ใครจะวิเคราะห์สนธิ ลิ้มทองกุลอย่างไร ขอให้รับรู้ไว้ด้วยว่า นี่คือจุดยืนที่ไม่มีวันทรยศต่อความเมตตาของประชาชน เพียงเพราะเกมตื้นๆ - แสร้งถอยเพื่อรุกกลับ (ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)" (ผู้จัดการรายวัน วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2548)

ข้อความสั้นๆ เหล่านี้มีนัยมากมาย ทว่าก่อนอื่น ผมควรจะเล่าให้ฟังเสียก่อนว่า "ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล" ที่ทำให้สื่อต่างๆ ทั้งภายในและนอกประเทศพากันนำเสนอรายงานและบทวิเคราะห์เรื่องราวของคุณสนธิอย่างจริงจังขึ้นนั้น ผลข้างเคียงส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ก็คือการที่นักหนังสือพิมพ์หลายๆ ท่านได้หันมาพินิจพฤติกรรมของสื่อด้วยกันเองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนด้วย

ตัวอย่างเช่น คอลัมน์ Bangkokian (The Nation, December 2, 2005) ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ระบุนามนั้น ได้อุตส่าห์ไปเรียบเรียงมาให้ดูอย่างน่าสนใจว่า "วารสารศาสตร์ไทย" นั้นมีหลายยี่ห้อ เช่น สื่อในกลุ่ม "ผู้จัดการ" นั้นอาศัยวารสารศาสตร์อยู่สามสายพันธุ์ กล่าวคือ radical journalism (วารสารศาสตร์ตำรับรุนแรง) militant journalism (วารสารศาสตร์แบบสู้รบ) และ suicide-bomb journalism (วารสารศาสตร์แนวพลีชีพ)

ในขณะที่ "ไทยโพสต์" และ "แนวหน้า" นั้นเป็นผู้บุกเบิก dark journalism (วารสารศาสตร์แห่งความมืด) "ไทยรัฐ" และ "เดลินิวส์" ใช้ comrade journalism (วารสารศาสตร์เชิงมิตรสหาย)

ส่วนสื่อในค่าย "มติชน" ก่อนหน้าที่จะโดนกลุ่มแกรมมี่แอบๆ ซ่อนๆ ช้อนซื้อหุ้นแบบเงียบๆ นั้นได้ใช้ "I-wont-hurt-you-but-I-can't-guarantee-your-friends journalism" (วารสารศาสตร์ฉบับฉันจะไม่ทำร้ายคุณ แต่ก็ฉันก็ไม่สัญญาว่าจะไม่เล่นงานเพื่อนๆ ของคุณนะ) ครั้นหลังจากพิษสงของการถูกเข้ายึดครองแบบไม่เป็นมิตร ก็หันมาใช้ disillusioned journalism (วารสารศาสตร์ตำรับตาสว่าง)

ความที่ The Bangkok Post กำลังถูกแทรกแซงทางการเมือง มิหนำซ้ำยังโดนคดีความที่มีป้ายราคาแพงถึงหนึ่งพันล้านบาท หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จึงหันไปพึ่งใบบุญของ soft journalism (วารสารศาสตร์สำนักนิ่มนวล)

สำหรับกลุ่มเนชั่นนั้น ผู้เขียนคอลัมน์ท่านนี้อธิบายว่าตั้งแต่แต่ไรมาจะมองดู พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรด้วยสายตาที่ไม่เชื่อใจ โดยออกจะค่อนไปทางการมองในแง่ร้ายๆ สักหน่อย ฉะนั้น จึงพอจะกล่าวได้ว่ากลุ่มเนชั่นใช้ sceptical journalism (วารสารศาสตร์ฉบับไม่ค่อยเชื่อใจ)

ส่วนของพิธีกรทางโทรทัศน์ที่ชอบเอาหนังสือพิมพ์มากางอ่านหน้าจอแบบสบายใจเฉิบ โดยเข้าใจเอาเองว่า อย่างนี้แหละคือ "การทำงาน" นั้น คอลัมนิสต์ท่านนี้เรียกว่า fast-food journalism (วารสารศาสตร์ตำรับแดกด่วน) ในขณะที่คุณสมัคร สุนทรเวชและคุณดุสิต ศิริวรรณ ยึดเอา dinosaur journalism (วารสารศาสตร์ตำรับไดโนเสาร์) เป็นสรณะ iTV ได้หันไปอาศัยแนวทาง my TV journalism (วารสารศาสตร์สำนักทีวีของฉัน) ที่ผมยกเอาข้อสังเกตของคอลัมนิสต์นิรนามท่านนี้มาเสนอในที่นี้ นอกจากจะเพราะชื่นชอบอารมณ์สนุกๆ ที่แฝงอยู่แล้ว ก็เพราะเห็นว่ามันเป็นนิทัศนอุทาหรณ์อีกส่วนหนึ่งที่แสดงให้เราเห็นว่าการเมืองตามตำรับที่อาจจะเรียกว่ารวบหัวกินหาง (eat-all politics) ในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้นสามารถสร้างความเพี้ยนให้แก่วงการสื่อสารมวลชนของเมืองไทยได้มากเพียงใดด้วย

ยิ่งไปกว่านี้ ผมยังต้องการใช้ข้อมูลชุดนี้เป็นภูมิหลังเพื่อที่จะเดาต่อไปว่า "ดูเหมือน" ว่าคุณสนธิกำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของความพยายามที่จะพัฒนาวารสารศาสตร์สายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาประดับวงการอีกแล้ว ทั้งนี้ ก็เพราะว่าหากเราจะนำ "คำประกาศ" ล่าสุดของคุณสนธิที่ยกมาอ้างถึงข้างต้นนั้นมาผสมกับกิจกรรมต่างๆ ก่อนหน้านี้ของ "เมืองไทยรายสัปดาห์" แล้ว ผมเดาเอาว่าเค้าโครงของวารสารศาสตร์แนวใหม่อาจจะค่อยๆ เกิดขึ้นนับไปจากนี้

นอกจากวลีสำคัญๆ อย่างเช่น "ผมเป็นสื่อมวลชนที่ไม่เป็นกลาง" "นับแต่นี้ต่อไปไม่ใช่สนธิ ลิ้มทองกุลคนเดิมอีกต่อไปที่นึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจตัวเอง-หากแต่จะต้องถามประชาชนและองค์กรประชาชนต่างๆ ที่ให้ความเมตตาโอบอุ้ม" และ "จุดยืนที่ไม่วันทรยศต่อความเมตตาของประชาชน" ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในโอกาสที่เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2548 เขายังได้กล่าวย้ำ "จุดยืนทำหน้าที่สื่อเป็นยามเฝ้าแผ่นดิน" ที่จะต่อสู้ในสามประเด็นหลักคือ (1) เพื่อให้รัฐบาลบริหารบ้านเมืองด้วยความโปร่งใสทั้งในอดีตและอนาคต (2) เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อไม่ให้มีการปิดกั้น และ (3) เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองเพราะเห็นว่าบ้านเมืองจะเดินต่อไปไม่ได้หลังจากมีการตั้งโต๊ะกินรวบ

นอกจากนี้ ในโอกาสเดียวกัน เขายังได้กล่าวถึงตนเองว่า "ผมต้องกล้าจุดเทียน" ให้เกิดแสงสว่างจนมีคนอื่นๆ เช่นประชาชนและสื่อมวลชนสามารถเข้ามาร่วมจุดเทียนได้ ทั้งนี้ "ผมไม่ได้สู้เพื่อตัวผม ผมสู้เพื่อพวกคุณ สู้ที่พวกคุณในวันหนึ่งข้างหน้า คุณจะมีสิทธิที่จะทำข่าวได้โดยเสรี สู้ที่จะให้คนรุ่นใหม่มีที่ยืนในสังคม มีบรรทัดฐานที่ดี" แทนที่จะต้องจำใจอยู่ "ในสังคมที่ไทยรักไทยเป็นเจ้าของประเทศ"

หากเราจะนำองค์ประกอบทางความคิดในแต่ละวลีเหล่านี้มาบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างมีความหมาย วารสารศาสตร์สายพันธุ์ใหม่กำลังก่อรูปขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย นั่นก็คือ วารสารศาสตร์ที่มุ่งแสวงหาหนทางในปลดปล่อยเมืองไทยให้หลุดพ้นจากระบบการเมืองกินรวบ ทั้งนี้ ด้วยการเป็นผู้นำในการ "จุดเทียน" เพื่อเปิดโอกาสให้ใครๆ สามารถเลือกที่จะเข้ามาร่วมจุดเทียนด้วยกัน จนเกิดแสงสว่างขึ้น กระทั่งเมืองไทยได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันจะก่อให้เกิดระบบสังคมและวัฒนธรรมใหม่ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงมากขึ้น

เมื่อได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้ ก็ทำให้ผมระลึกถึงประสบการณ์ของตนเองในช่วงทศวรรษที่ 1990 ที่รับเชิญไปเยือนมหาวิทยาลัย สื่อและมูลนิธิเกี่ยวกับวารสารศาสตร์หลายสิบแห่งในอเมริกา ในยุคนั้น ไม่ว่าจะไปที่ไหนๆ ก็จะมีใครๆ มาคอยเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวงการวิชาการและวิชาชีพสื่อในอเมริกากันทั้งสิ้น ทั้งนี้ ก็เพราะในตอนนั้นอเมริกาฟื้นตัว (ในทางจิตวิทยา) จากความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามในทศวรรษที่ 1970 อย่างสมบูรณ์แล้วเพราะ "ชัยชนะ" ทางการทหารในสงครามอ่าวเปอร์เซียในตอนต้นๆ ทศวรรษที่ 1990 ทว่าการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นในทศวรรษที่ 1980 กลับทำให้อเมริกาหันรีหันขวางคล้ายๆ จะกำลังหลงทาง ไม่รู้ว่าตนเองควรจะวางตัวในโลกต่อไปอย่างไร

สภาพทั่วไปก็คือความเชื่อถือต่อสื่ออเมริกันตกต่ำอย่างหนัก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความกริ้วโกรธและความไม่ไว้วางใจของประชาชนที่เพิ่มสูงเรื่อยๆ ต่อสถาบันสาธารณะต่างๆ ในอเมริกา รวมทั้งระบบการเมืองและบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ในบริบทดังกล่าวนี้ หากสื่อใดๆ ไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ได้ ก็จะกลายเป็นเพียงอีกสื่อหนึ่งที่เป็นเหมือนๆ กับสื่ออื่นๆ

หนึ่งในบรรดากระบวนการที่มาแรงๆ ในระยะนั้นก็คือแนวความคิดที่เรียกว่าวารสารศาสตร์แห่งพลเมือง (civic journalism) หรือวารสารศาสตร์เพื่อสาธารณะ (public journalism) อันมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้าง "สัมพันธภาพใหม่" ระหว่างสื่อกับพลเมืองขึ้น จุดเริ่มต้นสำคัญของแนวความคิดนี้ก็คือความเชื่อที่ว่าสื่อมีความรับผิดชอบสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่วัฒนธรรมพลเมือง ทั้งนี้ โดยการแสวงหาทางสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยใหม่ๆ ที่สามารถทำงานสอดรับกับยุคสมัยมากขึ้น ฉะนั้น การที่สื่อจะอยู่เฉยๆ โดยแยกตัวจากพลเมืองและชีวิตสาธารณะนั้นได้กลายเป็นอะไรที่ใช้ไม่ได้เสียแล้ว

พูดง่ายๆ สื่ออเมริกันไม่ยอมยืนดูความตกต่ำที่กำลังเกิดขึ้นแบบเมินเฉย ทว่าได้ก้าวออกมาแสวงหาบทบาทใหม่เพื่อฟื้นฟูทั้งตนเองและอเมริกาโดยรวม ฉะนั้น สื่ออเมริกันที่เชื่อในวารสารศาสตร์ประเภทนี้จึงพยายามสร้างความเชื่อมโยงกับชีวิตสาธารณะอย่างมีความหมายขึ้น นั่นหมายความว่าสื่อกำลังยกเลิกจุดยืนแบบ "เป็นกลาง" ต่อบางประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้ประชาชาชนเข้าร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาสาธารณะมากยิ่งขึ้น การดึงชุมชนต่างๆ เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชนมากขึ้น และการร่วมกันตั้งคำถามว่านักการเมืองกำลังอะไรกันอยู่มากขึ้น

ถึงแม้ว่านี่จะไม่ได้หมายความว่าสื่อจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนในทุกๆ เรื่อง ทว่าก็เห็นได้ชัดว่าสื่อไม่สามารถวางเฉยกับอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในนามของความเป็นกลางได้อย่างสะดวกอีกต่อไป ทว่าจำเป็นต้องแสดง "ความเป็นพลเมือง" มากขึ้น

แม้เค้าโครงทางปรัชญาของวารสารศาสตร์แห่งพลเมืองจะมีรากเหง้ามาจากความสับสนของอเมริกาในทศวรรษที่ 1980 ทว่าในแง่ของสายพันธุ์แล้ว วารสารศาสตร์สายพันธุ์นี้ดูจะมีความสัมพันธ์บางอย่างกับวารสารศาสตร์ตำรับที่มีเป้าหมาย (advocacy journalism) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในอเมริกาในทศวรรษที่ 1960 และ 1970 อันหมายถึงวารสารศาสตร์ประเภทที่ถูกนำมาใช้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองและสังคมบางอย่างแบบจงใจ

กล่าวโดยสรุป วารสารศาสตร์ในสายพันธุ์เหล่านี้ปฏิเสธการแอบๆ ซ่อนๆ อยู่ข้างหลังความสะดวกที่มากับสิ่งที่เรียกๆ กันว่า "ความเป็นกลาง" หรือ "ภารกิจวิชาชีพ" อันมักทำให้สื่อห่างไกลจากปัญหาแท้จริงของสังคมและประชาชนมากยิ่งขึ้นทุกที ทว่าใช้สื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาของสังคมและประชาชนอย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ดูเหมือนว่าหากเราจะนำเอาองค์ประกอบทางความคิดใหม่ๆ ที่สนธิ ลิ้มทองกุลเพิ่งจะประกาศนั้นมาผสมผสานกับกิจกรรมต่างๆ ของ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ก่อนหน้านี้ มีเค้าลางว่าเขากำลังจะสร้างวารสารศาสตร์สายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาอย่างเต็มรูป นั่นก็คือ เป็นวารสารศาสตร์ที่ไม่เป็นเป็นกลาง ทว่ามีเป้าหมายที่จะสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อการร่วมมือกันหาทางปฏิรูปชีวิตทางการเมืองไทยให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงมากขึ้น

หากข้อสรุปนี้ถูกต้อง สิ่งที่คุณสนธิได้ทำมาแล้วและกำลังทำอยู่คงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสำนึกในความรับผิดชอบที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ อาจจะสมบูรณ์ตามนัยของจอห์น ดี.ร็อกกีเฟลเลอร์ จูเนียร์ ผู้ประกาศว่า "สิทธิทุกประการย่อมหมายถึงความรับผิดชอบ โอกาสทุกประการย่อมหมายถึงข้อผูกมัด การครอบครองทุกประการย่อมหมายถึงหน้าที่"

แม้นสิ่งที่คุณสนธิพยายามกระทำนั้นอาจจะดูเหมือนว่าไม่ใช่อะไรที่ธรรมดานัก ทว่าในภาวะที่ไม่ค่อยปกติแบบเมืองไทยในปัจจุบัน บทบาทของเขาคือการหาทางฟื้นฟูความปกติให้เกิดขึ้นในเมืองไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น