ผู้นำทางการเมืองคือบุคคลที่ต้องมีคุณลักษณะพิเศษ สามารถเข้าถึงใจมวลชน บริหารประเทศได้โดยสามารถแก้ปัญหาทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความสามารถพิเศษในการใช้คนให้ถูกกับงาน ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีวิสัยทัศน์ และมีวุฒิภาวะในการทำงาน รวมทั้งการดำรงชีวิตส่วนตัว ฯลฯ
ถ้าจะกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้นำในอุดมคตินั้น คงจะมีหลายประการด้วยกัน แต่ที่เด่นๆ มีอยู่ 4 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ
ประการแรก ผู้นำจะต้องมีความรู้ กล่าวคือ มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาต่างๆ และจะต้องมีข้อมูลอย่างพร้อมสรรพเพื่อใช้ประกอบในการวิเคราะห์หาสาเหตุ ขณะเดียวกันต้องสามารถที่จะใช้ข้อมูลและใช้ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา วิเคราะห์สาเหตุต่างๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่และหาหนทางแก้ไข ขณะเดียวกันจะต้องมีวิสัยทัศน์มองไปข้างหน้า วางแผนเพื่อการพัฒนาต่อไปในอนาคต ความรู้ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากการขวนขวายหาอ่านเอาเอง สังเกตสังกา ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งในสังคมที่ตนมีชีวิตอยู่และสังคมต่างประเทศ
ที่สำคัญนอกเหนือจากข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบัน สิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับความรู้คือการมีมิติแห่งประวัติศาสตร์ จะต้องเข้าใจที่มาที่ไปของการพัฒนาสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันมิติแห่งประวัติศาสตร์นั้นน่าจะมีการเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ด้วย เพื่อจะได้มีความเข้าใจกระจ่างยิ่งขึ้น และหรือสามารถจะดึงบทเรียนจากสังคมอื่นๆ มาใช้ประโยชน์ เมื่อนำปัจจุบันไปใส่หลังฉากของมิติประวัติศาสตร์แล้ว ความสามารถในการวิเคราะห์ปัจจุบันจะช่วยมองเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยดูการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในสังคมของตนเอง
ความรู้ในส่วนนี้ซึ่งได้แก่ความสามารถที่จะวิเคราะห์ปัจจุบันโดยมีมิติแห่งประวัติศาสตร์ และมีวิสัยทัศน์ของอนาคตเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำที่บริหารประเทศ การขาดมิติใดมิติหนึ่ง เช่นการขาดมิติแห่งประวัติศาสตร์ ก็จะทำให้การมองปัจจุบันไม่กระจ่าง การรู้แต่ประวัติศาสตร์ มุ่งเน้นแต่การมองความรุ่งเรืองของอดีตโดยไม่มองปัจจุบัน หรือมองอย่างผิวเผินก็ย่อมเป็นปัญหา การไม่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคมโลกและสังคมที่ตนดำรงชีวิตอยู่ จะเป็นจุดบอดอย่างมหาศาลสำหรับการเป็นผู้นำทางการเมือง
ประการที่สอง ความสามารถ ความรู้เป็นประโยชน์ในตัวของมันเอง เป็นประโยชน์ของการเป็นฐานในการวิเคราะห์วิจัย เป็นประโยชน์สำหรับการเขียนตำราและการถ่ายทอดวิชาในสถาบันการศึกษา แต่สำหรับผู้นำจะต้องมีความสามารถใช้ความรู้ดังกล่าวเพื่อประยุกต์กับการบริหาร มีคำกล่าวบ่อยๆ ว่า คนบางคนมีแต่ความรู้แต่ทำงานไม่เป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่เก่งในทางทฤษฎีแต่ไม่มีความสามารถในการปฏิบัติ และในแง่ความเป็นจริงทฤษฎีที่ไม่มีพื้นฐานจากการปฏิบัติก็เสมือนกับคัมภีร์ที่มีภาษาวาทศิลป์ที่สวยหรูแต่นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้มากนัก ในแง่หนึ่งความสามารถคือการนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คนที่เก่งจะต้องมีทั้งความรู้และการทำงาน
ความสามารถของผู้นำจะต้องสามารถจัดการกับการแก้ปัญหาอันเป็นปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น วาตภัย อุทกภัย แผ่นดินไหว โรคระบาด ฯลฯ โดยต้องสามารถแก้ปัญหาได้อย่างฉับพลัน แต่ที่สำคัญก็คือต้องสามารถแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม เนื่องจากการแจกแจงทรัพยากรไม่สามารถกระทำได้อย่างลงตัว ทักษะในการบริหาร ทักษะในการจัดการ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำ ผู้นำต้องมีทั้งความรู้ทางทฤษฎี และความสามารถในการปฏิบัติ มิฉะนั้นก็มีความเหมาะสมเป็นเพียงผู้บรรยายในสถาบันการศึกษาเท่านั้น ขณะเดียวกันความสามารถจะเกิดขึ้นสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่มีพื้นฐานความรู้ เพราะปัญหาหลายอย่างไม่สามารถจะใช้สามัญสำนึกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันซับซ้อนของเศรษฐกิจซึ่งโยงใยกับเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การไม่ให้น้ำหนักต่อวิชาการและแนวโน้มที่จะใช้วิธีการเก่าๆ ยกแต่เรื่องของอดีตมาใช้ในการบริหาร ย่อมจะนำความเสียหายมาสู่สังคมได้ ความรู้และความสามารถจึงเป็นของคู่กันสำหรับผู้นำทางการเมือง
ประการที่สาม ความเป็นผู้นำทางการเมือง บุคคลที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองจะต้องมีคุณสมบัติของผู้นำ คนที่มีความรู้ความสามารถอาจไม่ใช่คนที่มีความเป็นผู้นำทางการเมือง ความเป็นผู้นำทางการเมืองนั้นคือความสามารถในการทำตนให้เป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่น จะด้วยผลงาน ด้วยวาทศิลป์ ด้วยประวัติอันดีเยี่ยม หรือด้วยเหตุใดก็ตามที่ทำให้คนเชื่อว่าบุคคลผู้นี้มีความเหมาะสม ซึ่งภาษาไทยเรียกว่า มีบารมี แต่ความเป็นผู้นำไม่ได้อยู่แค่การเป็นที่ยอมรับเท่านั้น ต้องอยู่ในฐานะที่จะชักจูงคนอื่นให้ทำงานรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่ เพื่อจะบรรลุเป้าหมาย ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถเป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อผสมผสานกับคุณลักษณะของความเป็นผู้นำทางการเมืองย่อมจะได้เปรียบ แต่ในความเป็นจริงก็คือ มีหลายกรณีที่บุคคลบางคนอาจจะมีความรู้ความสามารถ แต่ขาดความเป็นผู้นำทางการเมือง การตัดสินใจไม่เด็ดขาด โลเล เกรงอกเกรงใจ หรือมีบุคลิกที่เด็ดขาดเกินไปจนทุกคนไม่กล้าแสดงออก นั่นก็ไม่ใช่การเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดี
ผู้นำทางการเมืองก็คือผู้ซึ่งสามารถจะใช้เพระเดชและพระคุณในเวลาเดียวกัน ทำให้คนทั้งรักและทั้งเกรงด้วยคุณสมบัติส่วนตัว ความจริงจังกับการทำงาน มีวุฒิภาวะ สุขุมคัมภีรภาพ มีความยุติธรรม มีความใจกว้าง แต่ยึดมั่นในหลักการความถูกต้องจนมีความน่าเชื่อถือทางการเมือง (political credibility) ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้จะขึ้นอยู่กับบุคลิกซึ่งมาจากการอบรมสั่งสอนในครอบครัวและประสบการณ์ชีวิต นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับระบบการเมือง ถ้าเป็นระบบการเมืองที่มีการต่อสู้ เช่น การต่อสู้กับผู้มารุกรานดังเช่นกรณีของเหมา เจ๋อตุง เลนิน โฮจิมินห์ ก็จะมีลักษณะความเป็นผู้นำทางการเมืองที่ห้าวหาญ อดทน บึกบึน และเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นผู้นำทางการเมืองในระบบการเมืองแบบเปิดต้องอาศัยศิลปะในการออมชอม โน้มน้าว ชักจูง ถ้าใช้บุคลิกหรือการปฏิบัติการในลักษณะผิดรูปผิดฝาก็จะเกิดปัญหา
ตัวอย่างเช่น เหมา เจ๋อตุง เป็นผู้นำทางการเมืองที่มีความสามารถในการปลุกระดมมวลชน ใช้อุดมการณ์ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจีนให้พ้นจากแอกของกลุ่มการเมืองที่เป็นนายทุน และศัตรูต่างชาติคือญี่ปุ่น แต่ความเป็นผู้นำในส่วนนั้นมีความจำเป็นน้อยลงเมื่อยึดแผ่นดินใหญ่ได้เพราะต้องใช้ความเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ บริหารบุคลากร พัฒนาเศรษฐกิจ ปรับปรุงระบบการศึกษา เปิดประตูประเทศเพื่อรับวิทยาการใหม่ๆ ฯลฯ ในส่วนนี้ผู้นำทางการเมืองอย่างเติ้ง เสี่ยวผิง จูหรงจี จึงเหมาะสมกับกาลสมัยมากกว่าผู้นำที่เป็นนักปฏิวัติ ปัญหาก็คือผู้นำการเมืองบางคนมีบุคลิกที่หลงยุคแม้ระบบการเมืองจะเป็นแบบเปิด ยังคงใช้วิธีการแบบเดิมๆ ภายใต้ระบอบการเมืองแบบเผด็จการ
ประการที่สี่ การมีจริยธรรม คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้นำทางการเมืองคือ จริยธรรม เพลโตเคยกล่าวไว้เมื่อสองพันปีที่แล้วว่า ผู้ปกครองที่ดีที่สุดคือกษัตริย์ที่เป็นนักปรัชญา (Philosopher-King ) ขงจื๊อกล่าวว่าผู้มีอำนาจจะต้องมีคุณธรรม ทั้งนี้เนื่องจากขงจื๊อเกรงว่าถ้าผู้มีอำนาจไม่มีคุณธรรมก็จะกลายเป็นทรราช ลอร์ด แอคตัน (Lord Acton) เคยเตือนไว้ว่า อำนาจมีแนวโน้มที่จะทำให้คนเสียคน และอำนาจเด็ดขาดก็จะทำให้คนเสียคนเด็ดขาดยิ่งขึ้น (Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely) ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือความวิตกกังวลของนักคิดเรื่องอำนาจ หลักมีอยู่ว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจถ้าไม่มีระบบคอยตรวจตราถ่วงดุล เช่นการถ่วงดุลระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ที่เรียกว่า balance of powers, separation of powers หรือ checks and balances ก็จำต้องมีจริยธรรมของผู้ปกครองบริหารเป็นเครื่องชี้แนวทาง สิ่งที่เราเคยชินมากที่สุดก็คือ ทศพิธราชธรรม คือ ทาน ศีล ปริจจาคะ อาชชวะ มัททวะ ตบะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ อวิโรธนะ หรือจักรวรรดิวัตร คือ ธรรมาธิปไตย ธรรมมิการักขา อธรรมการ ธนานุประทาน สมณพราหมณ์ปริปุจฉา เป็นต้น ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้ผู้นำที่มีอำนาจเดินไปตามทิศทางที่ถูกต้องภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จะมีหลักการสำคัญคือ หลักนิติธรรม (the rule of law) ธรรมรัฐาภิบาล (good governance) มารยาททางการเมือง วิญญาณความเป็นประชาธิปไตย (democratic spirit) ค่านิยมและปทัสถานประชาธิปไตย (democratic ethos) เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว
ที่สำคัญที่สุด ผู้นำภายใต้ระบบการเมืองแบบเปิดจะยึดหลักการที่อับราฮิม ลินคอล์น ได้กล่าวไว้คือ ประชาธิปไตยเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ผู้นำทางการเมืองมาจากประชาชน จึงต้องทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ผู้นำมีโอกาสบริหารประเทศก็โดยการยินยอมของประชาชน เป็นสัญญาประชาคม (social contract) เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของมวลชนส่วนใหญ่ (general will)
ผู้นำทางการเมืองในอุดมคติที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ของคนในสังคมทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ มีระบบสังคมที่คนอยู่ได้อย่างมีความสุข มีความเอื้ออาทรต่อกัน และที่สำคัญคือ ระบบการเมืองที่คนมีสิทธิมีเสียง มีสิทธิเสรีภาพ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม และที่สำคัญที่สุดเป็นสังคมที่มนุษย์จะปลอดจากความจนและความเขลา และสามารถธำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ถ้าจะกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้นำในอุดมคตินั้น คงจะมีหลายประการด้วยกัน แต่ที่เด่นๆ มีอยู่ 4 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ
ประการแรก ผู้นำจะต้องมีความรู้ กล่าวคือ มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาต่างๆ และจะต้องมีข้อมูลอย่างพร้อมสรรพเพื่อใช้ประกอบในการวิเคราะห์หาสาเหตุ ขณะเดียวกันต้องสามารถที่จะใช้ข้อมูลและใช้ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา วิเคราะห์สาเหตุต่างๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่และหาหนทางแก้ไข ขณะเดียวกันจะต้องมีวิสัยทัศน์มองไปข้างหน้า วางแผนเพื่อการพัฒนาต่อไปในอนาคต ความรู้ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากการขวนขวายหาอ่านเอาเอง สังเกตสังกา ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งในสังคมที่ตนมีชีวิตอยู่และสังคมต่างประเทศ
ที่สำคัญนอกเหนือจากข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบัน สิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับความรู้คือการมีมิติแห่งประวัติศาสตร์ จะต้องเข้าใจที่มาที่ไปของการพัฒนาสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันมิติแห่งประวัติศาสตร์นั้นน่าจะมีการเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ด้วย เพื่อจะได้มีความเข้าใจกระจ่างยิ่งขึ้น และหรือสามารถจะดึงบทเรียนจากสังคมอื่นๆ มาใช้ประโยชน์ เมื่อนำปัจจุบันไปใส่หลังฉากของมิติประวัติศาสตร์แล้ว ความสามารถในการวิเคราะห์ปัจจุบันจะช่วยมองเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยดูการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในสังคมของตนเอง
ความรู้ในส่วนนี้ซึ่งได้แก่ความสามารถที่จะวิเคราะห์ปัจจุบันโดยมีมิติแห่งประวัติศาสตร์ และมีวิสัยทัศน์ของอนาคตเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำที่บริหารประเทศ การขาดมิติใดมิติหนึ่ง เช่นการขาดมิติแห่งประวัติศาสตร์ ก็จะทำให้การมองปัจจุบันไม่กระจ่าง การรู้แต่ประวัติศาสตร์ มุ่งเน้นแต่การมองความรุ่งเรืองของอดีตโดยไม่มองปัจจุบัน หรือมองอย่างผิวเผินก็ย่อมเป็นปัญหา การไม่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคมโลกและสังคมที่ตนดำรงชีวิตอยู่ จะเป็นจุดบอดอย่างมหาศาลสำหรับการเป็นผู้นำทางการเมือง
ประการที่สอง ความสามารถ ความรู้เป็นประโยชน์ในตัวของมันเอง เป็นประโยชน์ของการเป็นฐานในการวิเคราะห์วิจัย เป็นประโยชน์สำหรับการเขียนตำราและการถ่ายทอดวิชาในสถาบันการศึกษา แต่สำหรับผู้นำจะต้องมีความสามารถใช้ความรู้ดังกล่าวเพื่อประยุกต์กับการบริหาร มีคำกล่าวบ่อยๆ ว่า คนบางคนมีแต่ความรู้แต่ทำงานไม่เป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่เก่งในทางทฤษฎีแต่ไม่มีความสามารถในการปฏิบัติ และในแง่ความเป็นจริงทฤษฎีที่ไม่มีพื้นฐานจากการปฏิบัติก็เสมือนกับคัมภีร์ที่มีภาษาวาทศิลป์ที่สวยหรูแต่นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้มากนัก ในแง่หนึ่งความสามารถคือการนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คนที่เก่งจะต้องมีทั้งความรู้และการทำงาน
ความสามารถของผู้นำจะต้องสามารถจัดการกับการแก้ปัญหาอันเป็นปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น วาตภัย อุทกภัย แผ่นดินไหว โรคระบาด ฯลฯ โดยต้องสามารถแก้ปัญหาได้อย่างฉับพลัน แต่ที่สำคัญก็คือต้องสามารถแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม เนื่องจากการแจกแจงทรัพยากรไม่สามารถกระทำได้อย่างลงตัว ทักษะในการบริหาร ทักษะในการจัดการ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำ ผู้นำต้องมีทั้งความรู้ทางทฤษฎี และความสามารถในการปฏิบัติ มิฉะนั้นก็มีความเหมาะสมเป็นเพียงผู้บรรยายในสถาบันการศึกษาเท่านั้น ขณะเดียวกันความสามารถจะเกิดขึ้นสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่มีพื้นฐานความรู้ เพราะปัญหาหลายอย่างไม่สามารถจะใช้สามัญสำนึกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันซับซ้อนของเศรษฐกิจซึ่งโยงใยกับเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การไม่ให้น้ำหนักต่อวิชาการและแนวโน้มที่จะใช้วิธีการเก่าๆ ยกแต่เรื่องของอดีตมาใช้ในการบริหาร ย่อมจะนำความเสียหายมาสู่สังคมได้ ความรู้และความสามารถจึงเป็นของคู่กันสำหรับผู้นำทางการเมือง
ประการที่สาม ความเป็นผู้นำทางการเมือง บุคคลที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองจะต้องมีคุณสมบัติของผู้นำ คนที่มีความรู้ความสามารถอาจไม่ใช่คนที่มีความเป็นผู้นำทางการเมือง ความเป็นผู้นำทางการเมืองนั้นคือความสามารถในการทำตนให้เป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่น จะด้วยผลงาน ด้วยวาทศิลป์ ด้วยประวัติอันดีเยี่ยม หรือด้วยเหตุใดก็ตามที่ทำให้คนเชื่อว่าบุคคลผู้นี้มีความเหมาะสม ซึ่งภาษาไทยเรียกว่า มีบารมี แต่ความเป็นผู้นำไม่ได้อยู่แค่การเป็นที่ยอมรับเท่านั้น ต้องอยู่ในฐานะที่จะชักจูงคนอื่นให้ทำงานรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่ เพื่อจะบรรลุเป้าหมาย ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถเป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อผสมผสานกับคุณลักษณะของความเป็นผู้นำทางการเมืองย่อมจะได้เปรียบ แต่ในความเป็นจริงก็คือ มีหลายกรณีที่บุคคลบางคนอาจจะมีความรู้ความสามารถ แต่ขาดความเป็นผู้นำทางการเมือง การตัดสินใจไม่เด็ดขาด โลเล เกรงอกเกรงใจ หรือมีบุคลิกที่เด็ดขาดเกินไปจนทุกคนไม่กล้าแสดงออก นั่นก็ไม่ใช่การเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดี
ผู้นำทางการเมืองก็คือผู้ซึ่งสามารถจะใช้เพระเดชและพระคุณในเวลาเดียวกัน ทำให้คนทั้งรักและทั้งเกรงด้วยคุณสมบัติส่วนตัว ความจริงจังกับการทำงาน มีวุฒิภาวะ สุขุมคัมภีรภาพ มีความยุติธรรม มีความใจกว้าง แต่ยึดมั่นในหลักการความถูกต้องจนมีความน่าเชื่อถือทางการเมือง (political credibility) ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้จะขึ้นอยู่กับบุคลิกซึ่งมาจากการอบรมสั่งสอนในครอบครัวและประสบการณ์ชีวิต นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับระบบการเมือง ถ้าเป็นระบบการเมืองที่มีการต่อสู้ เช่น การต่อสู้กับผู้มารุกรานดังเช่นกรณีของเหมา เจ๋อตุง เลนิน โฮจิมินห์ ก็จะมีลักษณะความเป็นผู้นำทางการเมืองที่ห้าวหาญ อดทน บึกบึน และเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นผู้นำทางการเมืองในระบบการเมืองแบบเปิดต้องอาศัยศิลปะในการออมชอม โน้มน้าว ชักจูง ถ้าใช้บุคลิกหรือการปฏิบัติการในลักษณะผิดรูปผิดฝาก็จะเกิดปัญหา
ตัวอย่างเช่น เหมา เจ๋อตุง เป็นผู้นำทางการเมืองที่มีความสามารถในการปลุกระดมมวลชน ใช้อุดมการณ์ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจีนให้พ้นจากแอกของกลุ่มการเมืองที่เป็นนายทุน และศัตรูต่างชาติคือญี่ปุ่น แต่ความเป็นผู้นำในส่วนนั้นมีความจำเป็นน้อยลงเมื่อยึดแผ่นดินใหญ่ได้เพราะต้องใช้ความเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ บริหารบุคลากร พัฒนาเศรษฐกิจ ปรับปรุงระบบการศึกษา เปิดประตูประเทศเพื่อรับวิทยาการใหม่ๆ ฯลฯ ในส่วนนี้ผู้นำทางการเมืองอย่างเติ้ง เสี่ยวผิง จูหรงจี จึงเหมาะสมกับกาลสมัยมากกว่าผู้นำที่เป็นนักปฏิวัติ ปัญหาก็คือผู้นำการเมืองบางคนมีบุคลิกที่หลงยุคแม้ระบบการเมืองจะเป็นแบบเปิด ยังคงใช้วิธีการแบบเดิมๆ ภายใต้ระบอบการเมืองแบบเผด็จการ
ประการที่สี่ การมีจริยธรรม คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้นำทางการเมืองคือ จริยธรรม เพลโตเคยกล่าวไว้เมื่อสองพันปีที่แล้วว่า ผู้ปกครองที่ดีที่สุดคือกษัตริย์ที่เป็นนักปรัชญา (Philosopher-King ) ขงจื๊อกล่าวว่าผู้มีอำนาจจะต้องมีคุณธรรม ทั้งนี้เนื่องจากขงจื๊อเกรงว่าถ้าผู้มีอำนาจไม่มีคุณธรรมก็จะกลายเป็นทรราช ลอร์ด แอคตัน (Lord Acton) เคยเตือนไว้ว่า อำนาจมีแนวโน้มที่จะทำให้คนเสียคน และอำนาจเด็ดขาดก็จะทำให้คนเสียคนเด็ดขาดยิ่งขึ้น (Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely) ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือความวิตกกังวลของนักคิดเรื่องอำนาจ หลักมีอยู่ว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจถ้าไม่มีระบบคอยตรวจตราถ่วงดุล เช่นการถ่วงดุลระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ที่เรียกว่า balance of powers, separation of powers หรือ checks and balances ก็จำต้องมีจริยธรรมของผู้ปกครองบริหารเป็นเครื่องชี้แนวทาง สิ่งที่เราเคยชินมากที่สุดก็คือ ทศพิธราชธรรม คือ ทาน ศีล ปริจจาคะ อาชชวะ มัททวะ ตบะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ อวิโรธนะ หรือจักรวรรดิวัตร คือ ธรรมาธิปไตย ธรรมมิการักขา อธรรมการ ธนานุประทาน สมณพราหมณ์ปริปุจฉา เป็นต้น ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้ผู้นำที่มีอำนาจเดินไปตามทิศทางที่ถูกต้องภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จะมีหลักการสำคัญคือ หลักนิติธรรม (the rule of law) ธรรมรัฐาภิบาล (good governance) มารยาททางการเมือง วิญญาณความเป็นประชาธิปไตย (democratic spirit) ค่านิยมและปทัสถานประชาธิปไตย (democratic ethos) เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว
ที่สำคัญที่สุด ผู้นำภายใต้ระบบการเมืองแบบเปิดจะยึดหลักการที่อับราฮิม ลินคอล์น ได้กล่าวไว้คือ ประชาธิปไตยเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ผู้นำทางการเมืองมาจากประชาชน จึงต้องทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ผู้นำมีโอกาสบริหารประเทศก็โดยการยินยอมของประชาชน เป็นสัญญาประชาคม (social contract) เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของมวลชนส่วนใหญ่ (general will)
ผู้นำทางการเมืองในอุดมคติที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ของคนในสังคมทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ มีระบบสังคมที่คนอยู่ได้อย่างมีความสุข มีความเอื้ออาทรต่อกัน และที่สำคัญคือ ระบบการเมืองที่คนมีสิทธิมีเสียง มีสิทธิเสรีภาพ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม และที่สำคัญที่สุดเป็นสังคมที่มนุษย์จะปลอดจากความจนและความเขลา และสามารถธำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์