xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มทุนหลีกไป ประชาชนมาแล้ว !

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ขึ้นหัวเรื่องเช่นนี้ ไม่มีจุดมุ่งหมายอื่น นอกจากบอกความจริง เท่าที่ผู้เขียนคิดว่าตนเองรู้และเข้าใจ

ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกันกับท่านผู้อ่านก็แล้วกัน

ทำไมกลุ่มทุนต้องหลีกไป ?

จะเข้าใจได้ชัดก็ต้องมองประวัติวิวัฒนาการทางการเมืองของประเทศเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจบริหารประเทศตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการทหารเป็นหลัก กลไกอำนาจรัฐตกอยู่ในการควบคุมของกลุ่มขุนนางติดอาวุธ

การใช้อำนาจของกลุ่มขุนทหารดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีจุดเว้นวรรคเป็นบางช่วงแต่ก็มีการสานต่อกันอีก เนื่องจากกลุ่มขุนทหารเป็นผู้กุมอำนาจรัฐที่แท้จริง เมื่อใดที่กลุ่มขุนทหารไม่พอใจในกระบวนการใช้อำนาจของรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นทั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลจากการยึดอำนาจของกลุ่มขุนทหารด้วยกันเอง ก็สามารถเคลื่อนกำลังล้มล้างรัฐบาลได้

เรียกกันสั้นๆว่ากระทำการรัฐประหาร

ประเทศไทยในยุคกลุ่มทหารครองเมืองมีการกระทำการรัฐประหารเป็นว่าเล่น อำนาจบริหารประเทศผูกขาดอยู่ในมือของกลุ่มขุนนางติดอาวุธ จนกระทั่งถึงวันที่ 14 เดือนตุลาคม พ.ศ.2516 ได้เกิดขบวนการเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตย ต้องการการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย มีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นแม่บทกฎกติกา กำกับการขับเคลื่อนทางการเมืองของประเทศไทย

“ขบวนการการเมืองภาคประชาชน”ได้ก้าวขึ้นสู่เวทีอย่างองอาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ของประเทศไทย เมื่อสามารถขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาการทางการเมืองของไทยไปสู่ขั้นใหม่ ด้วยการขับไล่สามทรราชลงจากอำนาจ ขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย ผ่านพ้นยุคกลุ่มขุนนางติดอาวุธครองเมืองได้สำเร็จเป็นเบื้องต้น

ขบวนการการเมืองภาคประชาชน เหตุปัจจัยใหม่ที่เป็นคุณสำหรับการขับเคลื่อนกระบวนการวิวัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการระเบิดใหญ่ของขบวนการผู้ใช้แรงงาน ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม แสดงพลังเรียกร้องเสรีภาพและสิทธิประชาธิปไตย

กระนั้นก็ตาม การขับเคี่ยวกันของกลุ่มอำนาจต่างๆในสังคมไทย บวกกับความสับสนของขบวนการทางการเมืองภาคประชาชน ในที่สุดได้นำไปสู่การกระทำรัฐประหารและเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนอย่างโหดเหี้ยมทารุณในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

การหวนกลับของกลุ่มอำนาจขุนนางติดอาวุธหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เป็นการตอกย้ำถึงความวกวนของเส้นทางวิวัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย ว่าการถอยออกจากเวทีประวัติศาสตร์ของกลุ่มอำนาจติดอาวุธและการเคลื่อนตัวเข้าสู่เวทีประวัติศาสตร์ของภาคประชาชนนั้น ไม่อาจดำเนินไปได้แบบเส้นตรง ทุกอย่างที่มันเป็นไป ล้วนแต่เป็นผลจากการ “ทำหน้าที่”ของเหตุปัจจัยทั้งภายในภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับความรู้ความเข้าใจ ความตื่นตัว หรือ “ปัญญารู้แจ้ง”ของขบวนการการเมืองภาคประชาชน

อย่างไรก็ดี การ “ถอยหลัง”ของการเมืองไทยหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม ไม่ได้ถอยกลับไปที่เดิมแต่ประการใด เนื่องจากในระยะหลังจากนั้นไม่นาน (หลังการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล “หอย”ใน พ.ศ.2521) กลุ่มทหารที่ครองอำนาจยอมรับแนวคิดปฏิรูปทางการเมือง มากกว่าที่จะย้อนกลับไปสู่ยุคเผด็จการเหมือนเช่นในอดีต

การเมืองของไทยจึงได้ก้าวเข้าสู่ยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” โดยกลุ่มผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศ ประกอบด้วยตัวแทนพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและนายทหารตัวแทนกลุ่มขุนทหาร ซึ่งมักจะเข้าไปนั่งในตำแหน่งสำคัญๆในรัฐบาล โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

จนถึงต้นทศวรรษ พ.ศ. 2530 กลุ่มทุนใหญ่นามพรรคชาติไทยยุค พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ สบโอกาสเมื่อคณะรัฐบาลที่นำโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ลาออก เข้าเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ดำเนินนโยบายแสวงประโยชน์กลุ่มทุนครั้งใหญ่ เป็นเหตุให้กลุ่มขุนทหารรุ่นใหม่ไม่พอใจ ก่อรัฐประหาร และนำมาซึ่งเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ใน พ.ศ.2535

การเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งเป็น “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ผู้นำรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มทหารต้องถอยลงจากเวทีประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง

ขณะเดียวกัน ก็เป็นระยะสิ้นสุดภารกิจของขบวนการการเมืองภาคประชาชน ในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ เมื่อการเมืองไทยก้าวเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง

กระนั้น กลุ่มนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กลับแสดงออกถึงความอ่อนหัดและขาดศักยภาพในการบริหารประเทศ ไม่สามารถใช้อำนาจบริหารให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากคอยแต่พะวงอยู่กับการสร้างฐานอำนาจของพรรคและกลุ่มตน หนำซ้ำ ยังมีการแสวงประโยชน์จากการใช้อำนาจ ปรากฏให้เห็นกันดาษดื่น เป็นที่ครหาของประชาชนไทยในทุกระดับชั้น

ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บวกกับความไม่พอใจของประชาชน ได้กลายเป็นประเด็นโต้แย้งกันในสภาฯ และนำไปสู่การต่อสู้กันด้วย “น้ำลาย”ในสภาฯแบบซ้ำซาก เป็นเหตุนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้การเมือง “ไม่นิ่ง” ขาดเสถียรภาพ ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม

เกิดการประท้วงทางการเมืองเป็นระลอกๆ จนถึง พ.ศ.2537 จึงเริ่มมีกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองด้วยวิถีทางรัฐธรรมนูญ มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการ จนกระทั่งเกิดเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน”ใน พ.ศ.2540

กระแสสังคมในตอนนั้น หวังและเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่นำประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคการเมือง “นิ่ง” ผู้นำมีความเข้มแข็ง รัฐบาลมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารประเทศได้ดี พัฒนาประเทศให้เจริญได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน รวมทั้งมีความโปร่งใสมากพอสำหรับการตรวจสอบ เพราะได้กำหนดบทบาทกลไกที่เรียกว่าองค์กรอิสระคอยทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างรัดกุม ไว้แล้วในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับที่บางฝ่ายยกย่องว่า “ดีที่สุดในโลก”

เหมือนกับเป็นเรื่องบังเอิญ การประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีขึ้นภายหลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทไม่นาน ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอำนาจทุนในประเทศไทยอย่างลึกซึ้งและในบัดดล

การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทครั้งนั้น ได้กลายเป็นวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ของเอเชียและของโลก เฉพาะในประเทศไทย กลุ่มทุนเก่าที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนธนาคารประสบความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ตกเป็นของทุนข้ามชาติไปเกือบหมด

ตรงกันข้าม กลุ่มทุนใหม่ที่นำโดยกลุ่มธุรกิจของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลับได้รับประโยชน์มหาศาลจากวิกฤตการเงินครั้งนี้ ผงาดขึ้นแทนที่กลุ่มทุนเก่าชั่วข้ามคืน นับเป็นความผกผันทางประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน

จึงเหมือนกับว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการเข้าใช้อำนาจบริหารประเทศของกลุ่มทุนใหม่ พอดิบพอดี

เมื่อขาดฐานทุน(กลุ่มทุนเก่า)ที่แข็งแกร่ง พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่อยู่ในสภาพที่ต่อกรกับพรรคไทยรักไทยได้ นักการเมืองเลือกตั้งจากค่ายต่างๆถูกกวาดต้อนไปรวมไว้ในพรรคไทยรักไทยจนหมดสิ้น

ในที่สุด พรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองของกลุ่มทุนใหม่ที่มีกลุ่มชินคอร์ปของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นแกนนำ จึงได้ชัยชนะในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2544 อย่างเด็ดขาด

ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ด้วยที่นั่งเกินครึ่งในสภาผู้แทนราษฎร เป็น “สัญญาณ”ที่ดีอย่างยิ่งในสายตาของสังคมไทย ว่าการเมืองไทยตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะสามารถก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งความมีเสถียรภาพอย่างแท้จริง และผู้นำอย่าง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็มีสิทธิที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “ผู้นำยุคใหม่แห่งเอเชีย”แทนที่ผู้นำประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียได้ไม่ยาก

ทว่า ความวาดหวังเหล่านั้นก็มีอันต้องดับสลายในห้วงเวลาอันสั้น เนื่องจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยการนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ฉวยโอกาสขยายฐานธุรกิจของกลุ่มทุนใหม่ ใช้อำนาจบริหารประเทศเอื้ออำนวยความสะดวกแก่การสร้างความมั่งคั่งของกลุ่มแกนนำพรรคไทยรักไทยอย่างทั่วด้าน ชนิด “แข่งกับเวลา”

เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไป “ด้วยดี” พรรคไทยรักไทยใช้ ศักยภาพอำนาจรัฐและทุน ควบรวมกลไกในระบบรัฐสภาไว้ในมือแบบเบ็ดเสร็จ กระทั่งสามารถผูกขาดเสียงในรัฐสภา คือทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมไปถึงการควบคุมการทำงานขององค์กรอิสระให้เป็นไปในทางเอื้อประโยชน์แก่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยอย่างเต็มที่

การเมืองไทยจึงไม่ใช่ “นิ่ง”อย่างเดียว แต่กลายเป็นการเมือง “ตายด้าน” ที่กลไกรัฐตกเป็นเครื่องมือแสวงประโยชน์ของกลุ่มทุนได้โดยไม่ต้องรับการตรวจสอบ

ขณะที่สื่อของรัฐทั้งหมดและของเอกชนจำนวนหนึ่ง ก็ตกอยู่ในการกำกับดูแลของกลุ่มทุนใหญ่ “กินเมือง”นามพรรคไทยรักไทย

ผลคือ การเมืองไทยตกอยู่ในสภาวะอัมพาต สื่อมวลชนพากัน “เป็นใบ้” สร้างความผิดหวังอย่างยิ่งให้แก่สังคมไทยโดยรวม จึงปรากฏมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไปทุกหัวระแหง และค่อยๆกลายมาเป็นเสียงเปิดโปงด่าทอมากขึ้นเรื่อยๆ

ถึงจุดนี้ การเมืองภาคประชาชนจึงได้ “ตื่นตัว”ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แยกตนออกจากกระบวนการใช้อำนาจของพรรคไทยรักไทย ดำเนินการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจบริหารประเทศมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ในสายตาผู้เขียน เมื่อการเมืองของประเทศไทยขับเคลื่อนตัวเองมาถึงตรงนี้ ย่อมหมายถึงว่า หมดยุคแล้วที่กลุ่มอำนาจทั้งเก่าและใหม่ ทั้งที่เป็นกลุ่มขุนนางติดอาวุธ และกลุ่มทุนใหญ่ทั้งเก่าและใหม่จะใช้อำนาจบริหารประเทศ เพราะถึงที่สุดแล้ว พวกเขาไม่สามารถบริหารประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดีมีชีวิตดีอย่างแท้จริง

สรุปคือ พวกเขาเหล่านี้ ไม่สามารถสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง และเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ “โอกาส” พวกเขามากระทำย่ำยีประเทศชาติและประชาชนอีกต่อไป เพราะมันมีแต่จะทำให้ประเทศชาติและประชาชน “เสียโอกาส”

ณ วันนี้ ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องก้าวขึ้นเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารจริงๆเสียที ด้วยการร่วมกันสร้างพลังรู้แจ้ง ประกอบด้วยขบวนการประชาชนรู้แจ้ง และ “พรรคประชาชนรู้แจ้ง” ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาของสังคมไทย (โปรดอ่านบทก่อนๆประกอบ)

พูดทำนองนี้ ไม่ได้สะท้อนถึงความ “อยาก”อะไรส่วนตัว แต่เพราะเห็นความ “จำเป็น” และ “ความจำต้องเป็นไป”ของกระบวนการขับเคลื่อนของสังคมไทยไปสู่อนาคต ที่ดีกว่า ในยุคที่สังคมโลกเชื่อมโยงเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน กระแสทุนและวิทยาการยุคใหม่ไหลหลั่งท่วมท้นทั้งโลก

ในสภาวะ(โลก)เช่นนี้ การจัดระเบียบความพร้อมของประเทศหนึ่ง ถ้าดำเนินไปด้วยดี และอย่าง “รู้เท่าทัน” ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากทุนและวิทยาการยุคใหม่อย่างเต็มที่ นั่นหมายถึงว่า ระบบกลไกต่างๆของสังคมประเทศนั้นๆ เช่นประเทศไทยเรา จะต้องทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ในการซึมซับทุน ความรู้ และวิทยาการต่างๆ และสามารถเอื้อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนเสมอ

ดังนั้น การสร้างความพร้อมให้แก่ประเทศและประชาชนจึงเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลยุคใหม่ ก่อนอื่นใดคือการสร้างความรู้แจ้งให้แก่ประชาชน เร่งจัดตั้งกันขึ้น รับมือกับกระแสท่วมท้นของทุนกับวิทยาการสมัยใหม่ เรียนรู้และปฏิบัติอย่างจริงจัง แบบ “รู้เขา รู้เรา”เพื่อให้เกิดทักษะในการใช้ประโยชน์ทุนกับวิทยาการยุคใหม่ได้อย่างสอดคล้องกับสภาวะความเรียกร้องต้องการของประเทศชาติและประชาชนชาวไทย

ทั้งนี้ การใช้อำนาจบริหารที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจะต้องดำเนินไปอย่างโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนซ่อนซ้อนอยู่ภายในแต่ประการใด ซึ่งจะต้องมีระบบ กลไก เข้ามาทำหน้าที่กำกับควบคุม พร้อมๆไปกับยกระดับความสำนึกรับผิดชอบชั่วดีของผู้ทำหน้าที่ใช้อำนาจบริหารประเทศในทุกระดับชั้น

ที่ต้องทำความเข้าใจกันให้กระจ่างแจ้ง ก็คือ คำว่า “ประชาชน”ในที่นี้ กินความถึงประชาชนคนไทยทุกระดับชั้นและอาชีพ ไม่แยกรวยแยกจน แยกสูงแยกต่ำ

เราต้องตระหนักเสมอว่า การขับเคลื่อนของสังคมไทยจากวันนี้ไปวันหน้า จะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของประชาชนไทยทุกระดับทุกสาขาอาชีพ บนฐานของความ “รู้แจ้ง”ร่วมกัน ว่าสังคมไทยจำต้องพัฒนาไปในทางใด แบบไหน ประเทศชาติจึงจะเจริญรุ่งเรือง ประชาชนชาวไทยจึงจะอยู่ดีกินดีมีชีวิตสุข

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนของ “ประชาชน”ทุกระดับ ต้องดำเนินไปภายใต้กลไกอำนาจรัฐ หากมิใช่เป็นผู้ไปใช้กลไกอำนาจรัฐเสียเอง

สำหรับพรรคการเมือง คณะบุคคล หรือปัจเจกบุคคลที่ได้รับฉันทานุมัติจากสังคม(ตามกฎกติกาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน) เข้าไปทำหน้าที่ใช้ อำนาจบริหารประเทศ จะต้องแสดงจุดยืนของการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนถ่ายเดียวอย่างชัดแจ้งตั้งแต่เริ่มแรก ประกาศ ยึดมั่นในกฎแห่งกรรม โดยตั้งเจตนาดำเนินแนวนโยบายทุกอย่างเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ และความอยู่ดีกินดีมีสุขของประชาชนชาวไทยตั้งแต่ต้นจนจบ หากทำผิดไปจากนั้น ก็จะต้องได้รับโทษตามกฎกติกาที่กำหนดไว้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ทั้งหมดที่นำเสนอมา ก็คือการเมืองยุคใหม่ของประเทศไทย ที่ “จำต้องเป็นไป”

ในความเข้าใจของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น