xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลขี้เกียจ…..

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ


ผมสัญญาว่าจะเขียนเรื่องรัฐบาลขี้เกียจ..ให้จบ

ปรากฏว่า ไปติดหล่ม ”ปรากฏการณ์สนธิ” คุ้มหรือเปล่า ก็ไม่รู้

แต่ถ้าหากเรารู้หลักอิทัปปัจจยตา เรื่องทั้งหมดที่กำลังพูดกันอยู่นี้ ในที่สุดก็กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน กล่าวคือ

ก็เป็นเพราะ รัฐบาลขี้เกียจ จึงเกิดปรากฏการณ์สนธิ

ก็เป็นเพราะ รัฐบาลขี้เกียจ จึงเกิดปรากฏการณ์ ครูชุมนุมคัดค้านการโอน

ก็เป็นเพราะ รัฐบาลขี้เกียจ จึงเกิดปรากฏการณ์ศาลปกครองระงับการขายหุ้น

ก็เป็นเพราะ รัฐบาลขี้เกียจ จึงเกิดปรากฏการณ์ไม่ลงพระปรมาภิไธย คตง.

ก็เป็นเพราะ รัฐบาลขี้เกียจ จึงเกิดปรากฏการณ์ ป.ป.ช.

ก็เป็นเพราะ รัฐบาลขี้เกียจ จึงเกิดปรากฏการณ์ กสช.
ฯลฯ

ขี้เกียจอย่างเดียวไม่พอ แถมยัง มักได้ และมักง่ายอีกด้วย

ความมักได้กับความมักง่ายนี้ ทำให้เกิดความ active แข็งขัน แบบ ไม่พูดพร่ำทำเพลง โครงการใดมีผลประโยชน์ก็จ้ำเอาๆ เรียกว่าขยันทำมาหากิน แต่ขี้เกียจศึกษาหา ความผิดความถูก ผลดีผลเสีย ต่อส่วนรวมหรือชาติบ้านเมือง แม้แต่กฎระเบียบขัด ผู้คนท้วงติงก็ไม่ฟัง

อีกอย่างหนึ่ง เรื่องที่ตนจะไม่ได้ไม่เสียและไม่มีผลประโยชน์ ก็สักแต่ว่าปัดสวะให้พ้นๆตัวไป ไม่คำนึงถึงแบบอย่างที่เคยมีมา ไม่คำนึงว่าสิ่งทีดีที่พึงปรารถนาควรรีบช่วยกันสร้างให้ประชาชน มิใช่ปล่อยตามยถากรรมในน้ำมือของข้าราช การระบบเช้าชาม-เย็นชาม ฯลฯ

ปรากฏการณ์ หรือความขัดข้องต่างๆ จึงเกิดได้บ่อยๆด้วยประการฉะนี้

แต่วันนี้เราจะพูดแต่เรื่องการโอนครูและการปฏิรูปศึกษาเพียงอย่างเดียว

ก่อนอื่น คนไทยอย่ามัวหลงใหลได้ปลื้มว่าการศึกษาของเราก้าวหน้า เด็กของเราเก่ง ได้รางวัลโอลิมปิกคณิต-วิทยาศาสตร์กันเยอะ นั่นเป็นข้อยกเว้นสำหรับเด็กฐานะดี เข้าโรงเรียนดี มีครูดี-สอนพิเศษดี หรือมีสมองดีเป็นพิเศษ ถึงระบบจะเลวอย่างไร เด็กพวกนี้ก็สามารถเอาดีด้วยโอกาสและความสามารถพิเศษของตนได้

แต่เด็กที่ยากจนกระจัดกระจายอยู่ในโรงเรียนที่ต่ำต้อยทั่วประเทศไทยเป็นอย่างไร เขาโง่เง่าเต่าตุ่นกว่าหรือ เขาไม่สมควรเผยอหน้าไขว่คว้า เช่นนั้นหรือ

เราอย่าติดยึดสถิติหรือตัวชี้วัดของฝรั่งจนเกินไป เราชอบโม้ว่าเรามีผู้รู้หนังสือเกือบร้อยทั้งร้อย เรามีการศึกษาภาคบังคับก่อนหน้าใครในเอเชีย ตั้งแต่ปี 1921 โน่น ยูเนสโกสรรเสริญไทยเป็นตัวอย่าง สิงคโปร์เขาทิ้งเราไปถึงไหนๆ เขาเพิ่งจะมีการศึกษาภาคบังคับ 6 ปีเมื่อปี 2003 นี่เอง มิหนำซ้ำเขาไม่สน ลาออกจากยูเนสโกมาแต่ปีมะโว้ จะมีประโยชน์อะไร ถ้าอ่านออกเขียนได้แต่ยังโง่เขลายากจน หมักหมมอมโรค ปล่อยให้ถูกหลอกและกดขี่อยู่ไม่เว้น ยอมรับเสียเถอะว่านี่เป็นเพราะระบบเลว

ถ้าจะบอกว่าระบบของเราดี เด็กของเราเฉลี่ยแล้วต้องเก่งทุกๆวิชา เหมือนกับลูกศิษย์ของครูสังคม ทองมี ที่เก่งวิชาศิลปะ วาดรูปประกวดได้รางวัลนานาชาติกันเกือบทั้งโรงเรียน ครับ..โรงเรียนไกลปืนเที่ยงจังหวัดเลยของครูสังคม ทองมี

ครูสังคม ทองมี มีตัวตนและจิตวิญญาณผูกติดอยู่กับโรงเรียนในท้องถิ่น โดยไม่คำนึงว่า จะอยู่ใต้สังกัดอะไร

ถ้าหากเรามีครูและโรงเรียนอย่างนี้ ทุกหนทุกแห่ง ทุกวิชา ความล้มเหลวและล้าหลังของการศึกษาบ้านเราคงจะไม่สาหัสถึงเพียงนี้

สาหัสแค่ไหน

เร็วๆนี้ มีประกาศสัมฤทธิผลของการเรียนภาษา อังกฤษทั่วโลก โดยวัดจากการสอบ TOEFL ปรากฏว่าวันนี้เด็กของเราแพ้เด็กเวียดนามกับ ลาว เรียบวุธไปหมดแล้ว เหลือแต่เขมร

เรื่องนี้ รัฐบาล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีศึกษา ฝ่ายค้าน หรือแม้แต่กระทรวงพากันคิดหรือไม่ คงไม่ เพราะฝรั่งไม่ใช่พ่อ มันจะว่าอะไรก็ชั่งหัวมัน

แท้ที่จริงใครๆวิจารณ์ท่านก็ไขหูทั้งนั้น เพราะท่านขี้เกียจคิด ขาดโยนิโสมนสิการ แม้แต่คำวิจารณ์ข้างล่างนี้ ท่านก็หูตึง ไม่ได้ยิน

“เดี๋ยวนี้เขาว่าเด็กๆไม่เรียน เด็กๆ แม้แต่ถึงขั้นมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยได้- ใช้ความเหมือนคำว่า- ไม่ได้ความ เมื่อไม่ได้ความ อนาคตของชาติอยู่ไหน”
ฯลฯ

“แต่ก่อนนี้เมืองไทย พวกที่เรียนเลขเมื่อ 50 ปี นับว่าเรียนเก่ง ต่อมาค่อยๆด้อยลง”

ถ้าหาก มีหิริโอตัปปะกันบ้าง อย่างน้อย ถึงนายกรัฐมนตรี ไม่ลาออก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯก็อยู่ไม่ได้แล้ว เพราะนั่นคือจริยธรรมของผู้นำในระบบประชาธิปไตย

เพราะนั่นคือ พระราชดำรัสของในหลวง เมื่อ 4 ธันวาคม 2547 กำลังจะครบปีพอดี

ก่อนเฉลยปริศนา 4 ข้อในหัวเรื่อง ผมขอเล่าให้ฟังว่า ผู้นำองค์กรครูได้แสดงความคับอกคับใจเรื่องการโอนครูให้ผมฟัง ผมเห็นว่าฟังได้ จึงให้กำลังใจเขาว่า ผมสนับสนุน อยากทำอะไรที่คิดดีแล้วก็ทำเถิด แต่ระวังอย่าให้สังคมเข้าใจผิดว่า ครูคัดค้านการกระจายอำนาจและประชาธิปไตย ครูดูถูก อบต. อบจ.หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครูดูถูกผู้แทนที่ราษฎรที่เลือกขึ้นมาฯลฯ เขาสัญญาว่าไม่ เรื่องนี้ชัดเจน ครูต้องการร่วมมือกับท้องถิ่นและตัวแทนของประชาชน แต่จะต้องหารูปแบบที่ไม่เป็นการทำลายการศึกษา

ในชีวิตนี้ไม่มีอะไรที่ผมเกาะติดเท่าการศึกษา ผมติดต่อกับเครือข่ายผู้นำครูประชาธิปไตยทั่วโลกอยู่เป็นประจำ เพื่อเอาไว้สนับสนุนครูไทย เรื่องนี้ผู้นำองค์กรครูทราบดี และผมก็เปิดกว้างให้กับผู้นำครูไทยตลอดเวลา ผมใช้คำว่าเปิดกว้างเพื่อแสดงว่าผมเน้นความสมัครใจและความเป็นอิสระต่อกัน ผมไม่เคยไปอี๋อ๋อหรือปลุกปั่นเขา ถ้าไม่มีอะไรบางทีเป็นปีก็ไม่ได้เจอกัน หลายอย่างที่พวกเขาเรียกร้องผมก็ไม่เห็นด้วยและตำหนิเขาอย่างตรงไปตรงมาเสมอ ครั้งหนึ่งที่หอประชุมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ใหญ่ทั้งอดีตปัจจุบันของกระทรวงถูกครูโห่ ผมเป็นคนเดียวที่เขายกเว้น ทั้งๆที่ผมวิพากษ์เขาหนักกว่า ทั้งนี้เพราะเขาเชื่อว่าผมจริงใจ แน่นอน กลุ่มครูที่ตามผู้นำที่มีเป้าหมายการเมืองส่วนตัวก็มีอยู่เหมือนกัน แต่เราจะต้องหวังดีและไม่ค่อนขอดคอยจับผิดครู เหมือนสมุนบางคนของรัฐบาล หากเราไม่ช่วยกันสนับสนุนผู้ที่กำอนาคตลูกหลานเรา เรามีทางเลือกอื่นหรือ อย่างน้อยเราก็ต้องเชื่อว่าครูส่วนใหญ่มีจิตวิญญาณเป็นครู เป็นผู้เสียสละและทำงานหนัก ถ้าไม่เหลืออดจริงๆ คงไม่มีใครทิ้งชั้นมาชุมนุมประท้วง

มีเวลาตั้งเกือบ 5 ปี รัฐบาลมัวทำอะไรอยู่ ดีแต่เปลี่ยนรัฐมนตรีคนแล้วคนเล่า ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานไม่สนใจจัดการ เมื่อเกิดปัญหาจวนตัวจึงค่อย เต้นเหมือนไฟลนก้น

ผมขอเปลี่ยนถ้อยคำ และเฉลยปริศนาทั้ง 4 ต่อไป ดังนี้

1. รัฐบาลขี้เกียจคิด เปลี่ยนเป็น รัฐขี้เกียจคิด เพื่อแสดงว่ามิใช่รัฐบาลไทยรักไทยเท่านั้น รัฐบาลประชาธิปัตย์ ความหวังใหม่และชาติไทย ก็ด้วย กระทรวงศึกษาและระบบราชการก็ด้วย สภาทั้งสองก็ด้วย ไม่เชื่อขอให้องค์กรครูไปติดต่อพรรคไทยรักไทย ขอดูสุนทรพจน์ของหัวหน้าหรือบรรดาผู้นำและกรรมการที่พูดถึงหรือประชุมเรื่องนี้ ขอดูรายงานการประชุม ขอดูเอกสาร ข้อมูล สถิติ การศึกษาวิจัยและหนังสือของพรรคที่ใช้เป็นคู่มือ หรือประชาสัมพันธ์ โทรไปที่ 1212 ของไทยรักไทย ไปประชาธิปัตย์ ไปกระทรวง ฯลฯ ปรากฏว่าไปที่ไหนก็คว้าน้ำเหลว ไม่มี ไม่มี ไม่มี เรื่องสำคัญอย่างนี้จะให้พึ่งแต่อัจฉริยะของผู้นำ หรือกฎหมาย 3-4 วรรคเป็นบรรทัดฐานได้อย่างไร พรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตยเขาไม่เป็นอย่างนี้ดอก เขาไม่ขี้เกียจ เขาประชุมนับครั้งไม่ถ้วน เขาตั้งกรรมการศึกษาอย่างละเอียด เขาเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดและรองลงมา มีเหตุผลและข้อมูลอ้างอิงทุกๆทางให้เปรียบเทียบกัน และคณะกรรมาธิการในสภาก็ยิ่งต้องขยันกว่านี้ เพราะจะต้องเป็นผู้กลั่นกรองและนำมาให้สภาเลือก

2. ติดกับปฏิรูป เปลี่ยนเป็น ติดหล่มปฏิรูป เพื่อให้เห็นว่าการศึกษาก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ต้องติดหล่มรัฐธรรมนูญ ติดหล่มกฎหมาย(ลูก)ประกอบรัฐธรรมนูญ ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ หรือปฏิบัติแล้วเสีย ปฏิรูปการศึกษานี้ รับมรดกมาจากประชาธิปัตย์ แต่รัฐขี้เกียจ ทั้งรัฐบาลเก่าและรัฐบาลใหม่ ปล่อยให้ข้าราชการและนักวิชาการที่ร้อนวิชากับอยากจะเอาใจผู้มีอำนาจลากจูงไปเหมือนวัวควาย ปฏิรูปออกมาแล้วการเรียนการสอนไม่ดีขึ้น นักเรียนไม่ดีขึ้น ครูไม่ดีขึ้น เป็นการปฏิรูปโต๊ะเก้าอี้ ยายที่ทำการ เพิ่มงบประมาณและขยายตำแหน่ง ล้วนแต่จะดูดเงินออกจากห้องเรียนทั้งสิ้น

3. เอียงวูบเข้าข้างหัวคะแนน เปลี่ยนเป็น สูบแต่หัวคะแนน เพื่อให้เข้ากับ
บุคลิกของพรรคไทยรักไทย ที่เล่นการเมืองโดยวิธีดูด ดูดทุกอย่างที่ขวางหน้า คำว่าสูบนี้ก็แปลว่าดูดนั่นเอง บรรดาครูทั้งหลายมารายงานว่า ตั้งแต่เลือกตั้งอบต.อบจ.มาแล้ว พรรคไทยรักไทย ดูดๆๆสูบๆๆๆ ไม่มีเลือก คือซื้อทั้ง2 ฝ่ายที่แข่งขันกัน ใครชนะก็เอาไว้เป็นพวก ใครแพ้ก็เอาไว้เป็นหัวคะแนน งบที่ประเคนไปให้นั้น รวมทั้งงบศึกษาที่จะโอนไปตามรัฐธรรมนูญเกรงว่าจะไปแจกหาเสียงวุฒิสมาชิกหมด ดร.บุญทัน ดอกไธสง อดีตรองประธานวุฒิสภาเห็นว่าการต่อสู้ของครู เป็นการต่อสู้เพื่อสถาน ภาพเดิม คือกระทรวงศึกษา แต่ก็เห็นใจ เพราะเห็นว่าการเมืองแบบสูบหรือดูดนี้ได้ทำลายวุฒิสภาจน dysfunctional แปลว่าทำหน้าที่มิได้อยู่แล้ว วุฒิสภาที่จะเลือกใหม่มีนาคมนี้จะยิ่งกว่า เพราะจะเป็นทายาทอสูรถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเงื่อนไขและเงื่อนเวลาดังนี้ คำคัดค้านของครูจึงมีน้ำหนัก

4. เหยียบแบนการศึกษา เปลี่ยนเป็น บี้แบนการศึกษา เพื่อแสดงว่าไม่มีตัวบุคคลที่ต้องการเหยียบการศึกษา แต่การศึกษาต้องบี้แบนเพราะ ระบบ คือระบบการเมืองที่ขี้เกียจคิด มักได้และมักง่าย ตกอยู่ใต้เวทมนต์และกลไกของกระทรวงศึกษา ซึ่งดูดเงินจากห้องเรียนไปให้การบริหารที่ไร้ปัญญาที่แม้จะบริหารเนื้อที่ ห้องทำงานและระเบียงของกระทรวงเอง ก็ไม่เป็น(ดูรูป)

เพราะฉะนั้น การชุมนุมของครูในวันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้ จะต้องไม่หยุดอยู่แค่การแก้กฎหมาย ให้ครูอยู่ใต้สถานภาพเดิมเท่านั้น ครูกับรัฐบาลคือรัฐมนตรีว่าการศึกษาจะต้องร่วมกันตั้งคณะกรรมการที่ไม่ขี้เกียจและสามารถคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาให้ตลอด จนกระทั่งสามารถจัดโครงสร้างที่จะส่งเสริมการกระจายอำนาจ ประชาธิปไตย และการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ปราศจาก 3 สิ่งนี้ ทำอย่างไร นักเรียน โรงเรียน และชุมชนของเราก็ไม่มีวันดีขึ้น

ปราศจาก 3 สิ่งนี้ ทำอย่างไร ความยุติธรรมทั่วถึง คุณภาพและมาตรฐาน ความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและชุมชน ก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ในวงการศึกษาไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น