xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อฝรั่งเศสอุปถัมภ์ภาพยนตร์ไทย

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ก่อนหน้านี้ ผมก็ได้เขียนถึง "ตำนานภาพยนตร์ของฝรั่งเศส" (วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2548) โดยได้เล่าถึงพัฒนาการ เหตุผล และผลกระทบของนโยบายภาพยนตร์ที่ออกจะพิเศษของฝรั่งเศสว่า เป็นกลไกในการปกป้องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฝรั่งเศส ไม่ให้ถูกรุกรานโดยภาพยนตร์จากบรรษัทข้ามชาติจากฮอลลีวูดมากจนเกินไปนัก

ทั้งนี้ เพราะฝรั่งเศสมีความเชื่อว่าภาพยนตร์เป็นศิลปะมวลชนที่มีความสำคัญต่อการรักษาและต่ออายุ "อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม" (cultural identity) ของชาติ หากไม่ได้รับการปกป้อง ในที่สุด ภาพยนตร์ฝรั่งเศสก็จะค่อยๆ หายสาบสูญไป เพราะกลไกตลาดไม่เอื้ออำนวยต่อการแข่งขันอย่างเสรีระหว่างอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ไม่เท่ากัน

มาบัดนี้ สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติของเมืองไทย ซึ่งในขณะนี้คุณสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้เปิดเผยว่าทางสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศส (French Development Agency หรือ FAD) ได้แสดงความจำนงที่จะให้ทางสมาพันธ์ฯ กู้เงินจำนวน 300 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้เพื่อให้สมาพันธ์ฯ นำไปปล่อยกู้สำหรับการทำภาพยนตร์ต่อไป

คุณสมศักดิ์บอกว่า หากสามารถตกลงกันได้ เงินกู้ดังกล่าวนี้ก็จะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่คนทำภาพยนตร์อิสระ ที่ไม่มีความสัมพันธ์กับโรงถ่ายภาพยนตร์ ทว่าจะเป็นเงินกู้ที่มุ่งมอบให้แก่คนทำภาพยนตร์กลุ่มอื่นๆ จะเป็นใครก็ได้ที่มีศักยภาพในอันที่จะส่งมอบเงินกู้คืนได้ ทั้งนี้ จุดสำคัญก็คือ โครงการนี้ไม่ได้เน้นที่การแสวงหาผลกำไรในแบบฉบับของโครงการที่ส่งเข้าสู่การพิจารณาของโรงถ่ายภาพยนตร์ที่หวังผลทางการพาณิชย์ ทว่าจะเน้นเพียงจุดที่ว่าผู้กู้เงินจะสามารถคืนเงินที่กู้ไปคืนได้เท่านั้น

ในปีแรก เงินกู้นี้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด ครั้นตกถึงปีที่สอง อัตราดอกเบี้ยก็จะเสียเพียงร้อยละ 2เท่านั้น สำหรับระยะเวลาในการกู้เงิน จะคำนวณจาก "วัฏจักรการทำภาพยนตร์" เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่โครงการได้รับเงินกู้ จนกระทั่งถึงช่วงที่ภาพยนตร์ในรูปแบบของวีซีดีและดีวีดีออกวางตลาด

คุณสมศักดิ์บอกว่า ผู้กำกับที่มีโอกาสทำงานกับโรงถ่ายภาพยนตร์ใหญ่ๆ อยู่แล้วไม่ควรจะขอกู้เงินจำนวนนี้ บริษัทสหมงคลฟิล์มของผมจะไม่ยุ่งกับเงินก้อนนี้ และผมก็หวังว่าบริษัทใหญ่ๆ อื่นๆ ก็จะปฏิบัติเช่นเดียวกัน

ส่วนคุณสุรศักดิ์ สุพิทักษ์เสรี รองเลขาธิการของสมาพันธ์ฯ อธิบายว่า เงินกู้ก้อนนี้จะเป็นประโยชน์มากที่สุดแก่ภาพยนตร์ที่ใช้งบประมาณไม่มากนัก "ภาพยนตร์ที่ใช้งบประมาณระหว่าง 1-2 ล้านบาท ซึ่งถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้กำไรอะไรจากการนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ แต่ก็สามารถจ่ายเงินกู้คืนได้จากรายได้การขายลิขสิทธิ์วีซีดีและดีวีดี" เขาบอกด้วยว่า นี่คือ "ฝันที่เป็นจริง" ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ซึ่งเดิมทีมัวไปตั้งความหวังว่าจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลไทย

ปริศนาที่น่าพิจารณาก็คือ ในสมัยนี้ เงินกู้โครงการละหนึ่งถึงสองล้านนี้ดูเหมือนว่าไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการทำภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่องหนึ่ง (ไม่ว่าจะประหยัดกันสักเพียงใดก็ตาม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกลุ่มที่ทำภาพยนตร์ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือของตนอยู่แล้ว ครั้นจะเช่า ก็ใช่ว่าจะหาอุปกรณ์ที่ต้องการจริงๆ ได้ง่ายๆ และในราคาประหยัด

อย่างไรก็ตาม คุณเฟรเดอริค อัลลิออด เจ้าหน้าที่ฝ่ายโสตทัศนศิลป์ของสถานทูตฝรั่งเศส ระบุว่า "ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะให้ความเห็นใดๆ เพราะเรากำลังดูรายละเอียดของโครงการนี้อยู่ แต่เราก็หวังว่าจะหาข้อสรุปจนเป็นข้อตกลงได้ในเร็วๆ นี้"

ทว่าข้อมูลเบื้องต้นจากสมาพันธ์ฯ ระบุว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเงินจำนวนนี้ โดยจะมีสองกลุ่ม กลุ่มแรก สมาพันธ์ฯ จะเป็นผู้จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาโครงการ ทว่าก็ไม่ได้บอกว่าการพิจารณาโครงการที่ว่านี้มีขั้นตอนอย่างไร การตัดสินของคณะกรรมการชุดนี้มีขอบเขตอย่างไรบ้าง มีอำนาจถึงขนาดที่เป็นผู้ตัดสินอย่างเด็ดขาดหรือไม่ว่าโครงการใดมีคุณค่าเพียงพอ มีสิทธิ์ในการเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ และในที่สุดเป็นผู้ตัดสินว่าควรจะถูกปฏิเสธหรือได้รับเงินกู้ ส่วนกลุ่มที่สอง จะประกอบด้วย 3 ฝ่ายคือ สมาพันธ์ฯ สถานทูตฝรั่งเศส และผู้แทนจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศส

ทว่าข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาในโอกาสเดียวกันนี้ ยังไม่ได้บอกว่าคณะกรรมการกลุ่มที่สองนี้จะทำหน้าที่อะไรอย่างชัดเจน คำถามที่น่าสนใจมากก็คือ อำนาจในการกำหนดนโยบายทางศิลปะ เช่น การคัดเลือกและแก้ไขรายละเอียดด้านการผลิตนั้นอยู่ที่ใคร เพราะเรื่องนี้มีนัยค่อนข้างสูงว่าเรื่องราวประเภทใดจะได้รับการเน้นให้ผลิตออกมาเป็นภาพยนตร์และเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์อะไรและของใคร

ประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกันก็คือ เงิน 300 ล้านบาทนี้จะมีทุกปีหรือไม่ และจะมีต่อเนื่องกันกี่ปี และ "ข้อผูกพัน" ของฝ่ายไทย กล่าวคือ ทั้งสมาพันธ์ฯ และคนที่ได้รับเงินกู้ไปทำภาพยนตร์มีอะไรบ้าง

หากเงินกู้ดังกล่าวนี้มีต่อเนื่องกันหลายๆ ปี เช่นสิบปี จนรวมกันเข้าเป็นจำนวน 3,000 ล้านบาท และหากเงินกู้สำหรับภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีมูลค่าเฉลี่ย 2 ล้านบาท ก็หมายความว่าในระยะสิบปีต่อไปนี้ เงินกู้จำนวนนี้จะเปิดโอกาสให้คนทำภาพยนตร์เล็กๆ สามารถผลิตผลงานออกมาได้ถึง 1,500 เรื่อง ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจเหมือนกัน อาจจะน่าสนใจมากถึงขนาดที่ทำให้ผู้กำกับมือใหม่ๆ ที่มีศักยภาพดีๆ สามารถเกิดในวงการได้ไม่ใช่น้อยทีเดียว

เมื่อรวมๆ กันเข้าแล้ว วงการที่เกี่ยวข้องกับศิลปะภาพยนตร์ของเรา นับตั้งแต่ภาพยนตร์ในรูปแบบต่างๆ ไปจนกระทั่งถึงภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ และภาพยนตร์โฆษณา ก็คงจะประสบกับความคึกคักได้ไม่ใช่น้อยๆ ฉะนั้น เงินกู้จำนวนขนาดนี้อาจจะมีพลังในการค้นหาศักยภาพทางศิลปะจากสื่ออย่างภาพยนตร์จากหนุ่มๆ สาวๆ ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทยเลยก็ว่าได้

ในขณะที่เรายังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศสจึงหันมาให้ความสนใจแก่ภาพยนตร์ไทย ที่แน่นอน เหตุผลประการหนึ่งคือข้อเท็จจริงที่ว่าในระยะประมาณ 5-10 ปีมานี้ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยรุ่นใหม่ๆ ได้แสดงศักยภาพให้ชาวโลกประจักษ์ไม่ใช่น้อยๆ

ภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยได้รับการคัดเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ มิหนำซ้ำ ภาพยนตร์จำนวนหนึ่งยังสามารถพิชิตรางวัลนานาชนิดจากการประกวดภาพยนตร์ในเทศกาลเหล่านี้ด้วย จุดนี่น่าสนใจก็คือ ผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ จำนวนหนึ่งตั้งใจทำภาพยนตร์เพื่อตลาดต่างประเทศเป็นเฉพาะก็มี และภาพยนตร์อีกจำนวนหนึ่งสามารถบุกตลาดในต่างประเทศได้

จนกระทั่งในปีนี้ รายได้จากการขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยในต่างประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนกระทั่งผมสามารถสรุปได้ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้เข้าสู่ "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญแล้วในบทความเรื่อง "เมื่อภาพยนตร์ไทย โก อินเตอร์" (ผู้จัดการรายวัน วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2548)

ในทางทฤษฎี เราอาจจะตั้งเป็นข้อสมมติฐานได้ว่าสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศสอาจจะกำลังพยายามที่จะขยายผล จากแนวความคิดของตนในเรื่องการใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการดำรงรักษาและปรุงแต่ง "อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม" ของตนไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ อาจจะด้วยความเชื่อที่ว่า "ความหลากหลายทางวัฒนธรรม" (cultural diversity) ในวัฒนธรรมภาพยนตร์โลกจะเป็นเครื่องมือในการปกป้องการขยายอิทธิพลของฮอลลีวูดก็ได้ ทั้งนี้ คงต้องตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศสให้ละเอียดจึงจะสามารถหาคำตอบได้

หรือว่าสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศสอาจจะมองเห็นว่าภาพยนตร์ไทยมีศักยภาพสูงพอที่จะนำไปฉายในฝรั่งเศสอย่างกว้างขวาง ทั้งบนจอภาพยนตร์และโทรทัศน์ เพื่อให้สอดรับกับโลกานุวัตรทางวัฒนธรรมมากขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ เพราะต้นทุนในการทำภาพยนตร์ในเมืองไทยนั้นออกจะต่ำ (ในเชิงเปรียบเทียบ) หากเงินกู้เพียงก้อนละ 1 ถึง 2 ล้านบาทสามารถผลิตภาพยนตร์ไทยได้ 1 เรื่อง ในแต่ละปี เงินกู้ 300 ล้านบาทก็จะผลิตภาพยนตร์ไทยได้ 150-300 เรื่อง ภาพยนตร์ที่มากมายขนาดนี้อาจจะได้รับการคัดเลือกเพื่อนำออกไปฉายในฝรั่งเศสอีกทีหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศสจะกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างไร

เช่น สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศสเป็น "เจ้าของ" ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาจากเงินกู้ของตนหรือไม่ หรือว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในฝรั่งเศส (และยุโรป) เป็นคนแรกในอัตราที่ตนเป็นผู้กำหนดมาตรฐานขึ้น เหล่านี้คือ "คำถาม" ที่ทางสมาพันธ์ฯ คงจะต้องไปหามาเพื่อเปิดเผยแก่สาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง

หากเราไม่ระมัดระวังในการกำหนดเงื่อนไขอย่างละเอียดถี่ถ้วน เงินกู้จำนวนนี้อาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยเท่าที่ควรก็ได้ เนื่องจากเงินกู้ต่อโครงการต่ำมาก ฉะนั้น หากผู้ให้กู้กลายเป็นผู้มีสิทธิได้ใช้ลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นๆ ด้วยเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมในทางธุรกิจ

ลงท้าย อาจจะกลายเป็นว่า สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศสกำลังว่าจ้างให้คนไทยทำภาพยนตร์ราคาถูกๆ ให้ตนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการพาณิชย์ต่างๆ ได้ ทว่าลงท้ายแล้ว คนทำภาพยนตร์ไทยนั้นๆ กลับต้องนำ "เงินกู้" มาคืนอีกต่างหาก นี่ก็จะกลายเป็นการทำสัญญาที่เสียเปรียบ ไม่ค่อยคุ้มกับประโยชน์ที่ได้รับก็เป็นไปได้

จริงๆ แล้ว เงินจำนวนเพียง 300 บาทต่อปีนี้ไม่ใช่ว่าจะมากมายอะไร ทว่าผมก็พอจะมองเห็นประโยชน์ได้ว่า คงจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพทางศิลปะของคนหนุ่มสาวที่อยากจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ในเมืองไทยได้มากจริงๆ

คำถามก็คือ จะเป็นไปได้ไหมว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น กระทรวงวัฒนธรรม สถาบันการเรียนการสอนด้านภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของเรา สมาพันธ์ฯ หรือแม้กระทั่งหอภาพยนตร์แห่งชาติ จะช่วยกันร่างข้อเสนอโครงการเพื่อตั้งกองทุนเพื่อวัตถุประสงค์ในทำนองนี้ขึ้นมา เพื่อดำเนินการเสียเอง เพราะหากดำเนินการดีๆ นอกจากจะก่อให้เกิดคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรมเป็นอย่างสูงแล้ว ในระยะยาว จะมีผลในการสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้แก่ประเทศเราได้ด้วย เพราะจำนวนไม่น้อยของเยาวชนของเราในปัจจุบันดูจะมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ค่อนข้างสูง ทว่ายังไม่ค่อยมีใครถือเป็นธุระที่จะวางระบบสนับสนุนอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ แทนที่จะทำกันแบบงูๆ ปลาๆ แบบขอไปที ก็ต้องวางระบบด้านการตลาดรองรับไว้ด้วย เช่น การออกกฎหมายบังคับให้สถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยรับภาพยนตร์ที่ผลิตโดยกองทุนไปฉายจำนวนเท่านั้นเท่านี้ต่อปี ที่สำคัญเช่นกันก็คือ การวางระบบด้านการตลาดเพื่อจัดจำหน่ายสู่ต่างประเทศ เนื่องจากความสนใจในประเทศไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ ภาพยนตร์ที่ผลิตจากเงินกู้ของกองทุนอาจจะสามารถค้นพบตลาดในต่างประเทศได้ง่ายกว่าที่คิด ทั้งนี้ ก็เพราะว่าเมื่อต้นทุนต่ำ ราคาที่เราจำหน่ายก็สามารถต่ำได้ด้วย ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเรามีสูงในด้านนี้

ตลาดสำคัญที่มีโอกาสจะเจาะได้ไม่ยากนักก็คือโทรทัศน์ ทั้งนี้ ก็เพราะว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่สูบรายการต่างๆ อย่างสิ้นเปลือง ผู้บริหารโทรทัศน์ทั่วโลกล้วนพยายามเสาะแสวงหารายการที่มีคุณภาพดี (พอสมควร) ในราคาที่ค่อนข้างต่ำเพื่อนำไปใช้ในการทำผังรายการของตนทั้งสิ้น

อย่าลืมว่า ในขณะที่โทรทัศน์เมืองไทยอาจจะบ้านำเข้ารายการบางชนิดของต่างประเทศเป็นว่าเล่น โทรทัศน์ในต่างประเทศก็กำลังอยากได้รายการดีๆ จากเมืองไทยเพื่อนำไปเผยแพร่ในประเทศของเขาเหมือนกัน จุดสำคัญก็คือ การผลิตต้องได้มาตรฐาน การคัดเลือกเนื้อหาต้องรสนิยมของตลาด และการตั้งราคาก็สามารถแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้

ไม่ว่าเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลของเราดูจะไม่ค่อยเอาใจใส่กับการพัฒนางานทางศิลปะและวัฒนธรรมสมัยใหม่อย่างภาพยนตร์เท่าที่ควรเช่นนี้ ผมคิดว่าพวกเราต้องขอบคุณสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศสที่หันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาศักยภาพในการผลิตภาพยนตร์ของคนไทย

ก็หวังว่านี่จะเป็นการจุดประกายอันทรงพลังที่เปิดโอกาสให้คนหนุ่มคนสาวของเราจำนวนหนึ่งสามารถกลายเป็น "ผู้กำกับ" ภาพยนตร์ที่ใครๆ ต้องหันมามองด้วยความตื่นเต้นในอนาคตที่ไม่ไกลเกินไปนัก เมื่อถึงเวลานั้น บางทีรัฐบาลไทยจะหันมาให้ความสนใจต่อการตั้งกองทุนต่างๆ ในการพัฒนาภาพยนตร์ไทยมากขึ้น

ทุกวันนี้ แม้กระทั่ง ระบบการศึกษาเกี่ยวกับภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของเรา หรือ "หอภาพยนตร์แห่งชาติ" ที่ล้วนทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจว่ากำลังอยู่ในสภาพที่แร้นแค้นกันสักเพียงใด ทั้งๆ ที่ศักยภาพมีสูงมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น