xs
xsm
sm
md
lg

"หอเตือนภัยสึนามิ "24จุดอันดามันเสร็จ15.ธ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต- "สุรนันทน์" คุยกลางปีหน้า ระบบเตือนภัยล่วงหน้าของไทย ได้มาตรฐานระดับโลก หลังติดตั้งทุ่นตรวจจับสึนามิเสร็จ ขณะที่หอเตือนภัยบนบกทุกจังหวัดในฝั่งอันดามัน 24 จุดจากทั้งหมด 62 จุด เสร็จแน่ภายใน 15 ธ.ค. พร้อมซ้อมใหญ่พร้อมกัน 16 ธ.ค.

วานนี้ (23 พ.ย.)นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องติดตามความคืบหน้า การติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พังงา และตัวแทนจากจังหวัดกระบี่ ระนอง ตรัง ร่วมให้ข้อมูล และชี้แจงความคืบหน้าการติดตั้งระบบเตือนภัย ติดตั้งป้ายเตือนและการจัดซ้อมแผนอพยพ ที่ห้องประชุมท่าอากาศยานภูเก็ต

นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้การติดตั้งหอเตือนภัยล่วงหน้า ในจังหวัดภูเก็ตมีความคืบหน้าไปมากแล้ว คาดว่าภายในเดือน ธ.ค. จะดำเนินการติดตั้งได้เสร็จทั้งหมด และสามารถซ้อมใหญ่ได้ภายในวันที่ 16 ธ.ค.2548

นอกจากจะมีการติดตั้งในส่วนของจังหวัด และกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ ( ICT )แล้ว ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ได้จัดสร้างหอสังเกตการณ์ตามชายหาดต่างๆจำนวน 12 หอ นอกจากนั้น ยังมีในส่วนของกรมกิจการทหารเรือ ที่จะสร้างเพิ่มเติมอีก 18 หอ ซึ่งในส่วนของจังหวัดภูเก็ต มั่นใจว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาจะสามารถเตือนภัยได้ครอบคลุมทั้งจังหวัด

ส่วนเรื่องของการติดตั้งป้ายเตือนภัยและจุดหลบภัย จะเร่งให้เสร็จโดยเร็ว แต่เท่าที่ทราบจะดำเนินการโดยหลายหน่วยงาน ทั้ง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต( อบจ.ภูเก็ต ) จุดนี้อยากให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เป็นเจ้าภาพเพื่อให้ป้ายออกมาเป็นรูปแบบเดียวกัน

ขณะที่นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดพังงา จะติดตั้งหอเตือนภัย จำนวน 23 จุด เป็นการดำเนินการโดยกระทรวง ICT จำนวน 16 จุด ส่วนที่เหลือใช้งบประมาณจากการบริจาคของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งในส่วนของกระทรวง ICT จะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน พ.ย. 8 จุด ซึ่งเป็นจุดที่อยู่บนบก ส่วนจุดที่อยู่ตามเกาะต่างๆ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.2549

สำหรับจังหวัดพังงา จากการสำรวจพบว่า มีความจำเป็นที่จะต้องขอติดตั้งเพิ่มอีกจำนวน 9 จุด ในพื้นที่ต่างๆเพื่อให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ในส่วนที่จังหวัดรับผิดชอบและดำเนินการเสร็จแล้ว คือ ที่บ้านน้ำเค็ม ซึ่งเป็นลักษณะของหอกระจายข่าว ที่เชื่อมสัญญาณกับสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ที่ช่วงปกติจะใช้เป็นสื่อในการถ่ายทอดข่าวสารให้กับประชาชนได้รับทราบ

"เรื่องของการติดตั้งป้ายเตือนภัย อยากให้น่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตั้งให้เสร็จก่อนวันที่ 26 ธ.ค.ซึ่งเป็นช่วงที่มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 1 ปีสึนามิ"

นายวินัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่จังหวัดพังงาจะขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลอีกเรื่อง คือ การสร้างหอหลบภัย เนื่องจากจังหวัดพังงาเป็นที่โล่ง การวิ่งหนีจากจุดชายหาดไปยังที่ปลอดภัย มีระยะทางไกลมากและไม่แน่ใจว่า จะหนีทันหรือไม่ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างจุดหลบภัยชั่วคราว โดยจะก่อสร้างเป็นอาคารจำนวน 8 จุด ก่อสร้างบนฝั่งจำนวน 5 จุดและตามเกาะ 3 จุด ใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท

ส่วนการก่อสร้างหอเตือนภัยในพื้นที่จังหวัด ระนอง กระบี่ ตรัง และจังหวัดสตูล ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการก่อสร้าง ให้เสร็จภายในเดือนนี้ ยกเว้นในส่วนของการก่อสร้างหอเตือนภัยตามเกาะต่างๆ ที่จะต้องยืดระยะเวลาออกไปจนถึงเดือนก.พ.2549 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะที่เกาะ พีพี จะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนนี้เช่นกัน

นายสุรนันทน์ กล่าวว่า ในส่วนของการก่อสร้างหอเตือนภัยในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน ในทุกจังหวัดจำนวน 62 หอ ใช้งบประมาณ 38,655,000 บาท ได้ก่อสร้างไปแล้ว และเชื่อว่าจะเสร็จก่อนกำหนดการแน่นอน ซึ่งในระยะแรกคาดว่าการก่อสร้างหอเตือนภัยล่วงหน้าจะทำได้เพียง 24 ต้น ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ภายในเดือน ธ.ค.นี้

จากรายงานของทุกจังหวัด พบว่า มีความคืบหน้าไปมากแล้วโดยเฉพาะในส่วนที่มีการก่อสร้างบนบก ที่จะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ ส่วนการก่อสร้างใน 24 จุดสำคัญ จะเร่งให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งภายใน 15 ธ.ค.2548 ทุกจุดที่สร้างเสร็จจะสามารถรับสัญญาณผ่านทางดาวเทียมได้ และในวันที่ 16 ธ.ค.นี้จะให้มีการซ้อมเปิดสัญญาณและซ้อมหนีภัยพร้อมกันทั้ง 6 จังหวัด

นอกจากจะมีการเชื่อมสัญญาณเตือนภัย กับหอเตือนภัยที่รัฐบาลเป็นผู้สร้างแล้ว ในส่วนของหอเตือนภัยที่จังหวัดหรือท้องถิ่นเป็นผู้สร้างก็จะมีการเชื่อมสัญญาณเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะมีการเชื่อมสัญญาณผ่านทางดาวเทียมแล้วในส่วนของหอเตือนภัยในระดับท้องถิ่น ควรที่จะมีการเชื่อมสัญญาณจากวิทยุแห่งประเทสไทยด้วยเช่นเดียวกับที่จังหวัดพังงาดำเนินการ

จุดนี้จะเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญอีกจุด คือ การเชื่อมสัญญาณเตือนภัยจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเข้าไปยังโรงแรมต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะนักท่องเที่ยวที่พักอยู่ตามโรงแรมต่างๆจะได้ทราบด้วยในกรณีที่มีการเตือนภัยเกิดขึ้น

นายสุรนันทน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วนอีกอย่าง คือ เรื่องของการติดตั้งป้ายหนีภัย ซึ่งในเรื่องของการติดตั้งป้ายนั้นขอให้เน้นในเรื่องของความเป็นสากล และรูปแบบการติดตั้งจะต้องเหมือนกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แต่จะต้องทำออกมาให้เหมือนกันและเป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งในเรื่องของการติดตั้งป้ายนั้นภายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ก็จะเร่งดำเนินการให้เสร็จเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภายในปีนี้ระบบเตือนภัยต่างๆ ที่อยู่บนบกจะเสร็จสมบูรณ์ และจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวได้มาก ประมาณกลางปีหน้าระบบเตือนภัยของไทยจะเป็นที่ยอมรับในระดับโลกและเป็นระบบเตือนภัยที่ได้มาตรฐานในระดับโลกแน่ เพราะจะมีการติดตั้งทุ่นตรวจจับคลื่นสึนามิในทะเลประมาณกลางปีหน้า ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดของโครงการ ทั้งเรื่องของรูปแบบ งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง แต่เชื่อว่ากลางปีหน้าไทยจะมีทุ่นตรวจจับคลื่นสึนามิแน่ เมื่อมีทุ่นกลางทะเล ก็จะทำให้เราทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้หนีได้ทันแน่นอน

นายสุรนันทน์ กล่าวถึงความต้องการของจังหวัดพังงา ที่จะขอสนับสนุนงบประมาณ ในการก่อสร้างหอหลบภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยจำนวน 8 จุด ว่า เรื่องนี้รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุน แต่จะต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง เพราะจังหวัดพังงานั้นมีความแตกต่างจากที่อื่น สถานที่หลบภัยอยู่ไกลจากชายหาดต้องใช้ระยะทางในการหนีภัยไกลมาก จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างหอหลบภัยสูง 4 ชั้น ซึ่งแต่ละจุดจะรับคนได้ประมาณ 500 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น