xs
xsm
sm
md
lg

คลังดิ้นขอหลักฐานโกงยาสูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"วราเทพ รัตนากร" ลั่นทุจริตโครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบเชียงใหม่ไม่จริง โบ้ยผ่านมาหลายรัฐบาล ระบุผลประโยชน์จากส่วนต่าง 6,000 ล้าน ขาดเอกสารหลักฐาน ชี้ข้อมูลโรงงานในฟิลิปปินส์ที่ "สนธิ" ออกมาแฉไม่มีรายละเอียดพอ ยันรัฐบาลไม่ใช้นายหน้าจากจีน แต่ส่วนตัวอยากได้เครื่องจักรเยอรมันมากกว่าจีน

นายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง ชี้แจงกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แฉในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 9 ถึงขบวนการงาบคอมมิสชั่นส่วนต่างโครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบจ.เชียงใหม่ 6,000 ล้านบาท ว่า เป็นการนำข้อมูลจากหนังสือของ บริษัท Mazzetti and prauners Tobacco Engineering Consultant Co.Srl. ซึ่งบริษัท ดังกล่าว เป็นผู้แพ้ประมูลในการรับเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการ และได้ทำหนังสือถึง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และตน ซึ่งตนได้ส่งหนังสือดังกล่าวให้โรงงานยาสูบไปพิจารณาข้อความในหนังสือดังกล่าวแล้ว

การที่นายสนธิ นำหนังสือฉบับนี้ออกมาเปิดเผยและพยายามพูดให้เกิดความเข้าใจผิดว่า โครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบที่ จ.เชียงใหม่ มีการทุจริต และมีผู้ได้รับผลประโยชน์ในจำนวนถึง 6,000 ล้านบาทนั้น ขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เป็นการพูดหรือกล่าวอ้างที่ขาดเอกสารหลักฐาน และข้อเท็จจริง

นายวราเทพ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบที่จ.เชียงใหม่ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2534 ผ่านมาหลายรัฐบาล แต่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ จนกระทั่งในรัฐบาลนี้ เมื่อปลายปี 2547 จึงได้มีการตกลงกับรัฐบาลจีนให้เป็นผู้ดำเนินการในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจี ซึ่งบริษัทที่ชนะการประมูลคือ บริษัท CYC ได้รับการสนับสนุนและรับรองจากรัฐบาลจีน

ดังนั้น การกล่าวหาว่าบริษัทนี้ไม่มีผลงาน หรือราคาที่ประมูลได้สูงกว่าความเป็นจริงโดยเปรียบเทียบกับโครงการจากประเทศฟิลิปปินส์ ว่ามีราคาต่ำกว่านั้น เป็นการเปรียบเทียบที่มิได้นำโครงการที่มีรายละเอียดต่างกันมาเปรียบเทียบกัน โดยกล่าวอ้างลอยๆ ทั้งยังมีการระบุว่า โครงการนี้มีนายหน้าในประเทศจีน ซึ่งตนขอเรียนว่ารัฐบาลไทยไม่เคยใช้การติดต่อผ่านนายหน้าใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมีการติดต่อระหว่างรัฐบาลผ่านทางสถานทูตจีนในประเทศไทย การกล่าวหาต่างๆ ของนายสนธิจึงเป็นเท็จทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะให้โรงงานยาสูบฟ้องร้องนายสนธิ ที่ทำให้เสียหายหรือไม่ นายวราเทพ กล่าวว่าการกล่าวอ้างของนายสนธิเป็นเพียงการพูดลอยๆ ไม่มีการระบุรายละเอียด ตรงนี้ต้องให้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงการคลังดูอีกครั้งว่ามีความเสียหายสมควรฟ้องร้องหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นอกจากชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ นายวราเทพ ได้เคยให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า ขอเวลา 3 เดือนเพื่อศึกษาเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่โดยส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างบนที่ดินของโรงงานยาสูบและบาร์เตอร์เทรดเครื่องจักรกับทางเยอรมัน

**ย้อนรอยวิ่งเต้นโครงการฉาว

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า โครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งที่ 2 เป็นโครงการที่รัฐบาลทักษิณ มีเป้าหมายดำเนินการโดยวิธีการบาร์เตอร์เทรด คือ เอาสินค้าเกษตรไปแลกเครื่องจักร เดิมที แผนการเริ่มแรกจะใช้ที่ดินของโรงงานยาสูบที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เป็นจุดก่อสร้าง และใช้สินค้าเกษตรแลกเครื่องจักรจากประเทศเยอรมัน โครงการนี้มีนายสมคิดขณะเป็นรมว.คลัง เป็นผู้ริเริ่มผลักดัน
ต่อมา มีการวิ่งเต้นจากเครือญาติ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้มีการเปลี่ยนจุดก่อสร้าง ไปยังที่ดินแปลงใหม่ที่มีการกว้านซื้อไว้ก่อนหน้านี้ที่ ต .แม่โจ้ อ. สันทราย จ. เชียงใหม่ และยังวิ่งเต้นให้เปลี่ยนเครื่องจักรจากเยอรมัน มาเป็นเครื่องจักรจากจีนโดยหวังค่าคอมมิชชั่น แต่ปัญหาคือ เครื่องจักรจากจีนถึงจะมีราคาถูกกว่า แต่ก็มีกำลังการผลิตต่ำกว่า

นอกจากนั้น เครือญาตินายกรัฐมนตรี ได้บีบบอร์ดโรงงานยาสูบให้มีการเปลี่ยนแปลงข้างต้นผ่านทางนายสมคิด แต่ทางโรงงานยาสูบไม่ต้องการเปลี่ยนทั้งจุดก่อสร้างและเครื่องจักรเพราะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ทั้งในแง่การลงทุนเรื่องที่ดินซึ่งใช้ที่ดินที่โรงงานยาสูบมีอยู่แล้ว และคุณภาพเครื่องจักรที่ดีกว่า ปัญหาได้ยืดเยื้อเรื่อยมากระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อหาข้อยุติ โดยมี นายวราเทพ เป็นประธาน มีกำหนดเวลาศึกษาเรื่องทั้งหมดและตัดสินชี้ขาดภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 9 ที่สวนลุมพินี นายสนธิเปิดเผยว่า มีขบวนการหาผลประโยชน์ส่วนต่างจากโครงการดังกล่าว คิดเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท โดยมีนายเหยียนปินผู้เปรียบเสมือนประธานสาขาพรรคไทยักไทยในเมืองจีน โดยนายเหยียนปินเป็นผู้ล็อบบี้ให้รัฐบาลทักษิณ ทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐในการก่อสร้างโรงงานยาสูบกับบริษัท ซีวายซี ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่เมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนาน ประเทศจีน ในราคาค่าก่อสร้างโดยรวมที่สูง 18,000 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างอาคารโรงงาน 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 90 เปอร์เซ็นต์ หรือ 16,000 ล้านบาท เป็นค่าเครื่องจักร เมื่อเปรียบเทียบกับโรงงานขนาดเดียวกันที่บริษัทฟิลิป มอริส ลงทุนในฟิลิปปินส์เมื่อปี 2543-2544 ใช้เงินเพียง 8,800 ล้านบาท ทั้งที่เครื่องจักรทันสมัยกว่า หรือถ้าหากจะติดอัตราเงินเฟ้อหรือต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างมากก็ไม่น่าจะเกิน 12,000 ล้านบาท แล้วเงินส่วนต่าง 6,000 ล้านบาท ไปเข้ากระเป๋าใคร ซึ่งเป็นการตัดหน้า คณะกรรมการกลางทหารของจีนซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานยาสูบขนาดใหญ่ในจีน ที่สนใจจะเข้ามาก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งนี้เช่นกัน

จนกระทั่งมีเรื่องร้องเรียนจากบริษัทที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโรงงานผลิตยาสูบ ถึงความไม่โปร่งใสของ ซีวายซี เนื่องจากบริษัทนี้ไม่เคยเห็นประสบการณ์ของ ซีวายซีมาก่อน นอกจากนั้น ซีวายซี ยังไม่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่จะลดต้นทุนการผลิตได้ มีแต่เทคโนโลยีเก่าๆ ที่ใช้กับโรงงานในกรุงเทพฯ ส่วนเครื่องจักรที่ผลิตโดย ซีวายซี ก็ไม่มีใบรับรองคุณภาพ

และที่สำคัญ สาเหตุที่บริษัทแห่งนี้ ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ก็เพียงต้องการให้ข้อมูลแก่นายกฯ เพราะมีแรงจูงใจอยากปกป้องประเทศไทยจากคนที่ยโสโอหัง เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการฮั้วประมูลงาน อย่างไรก็ตาม หลังจากการยื่นหนังสือร้องเรียนเมื่อเดือนมีนาคม 2548 ไม่มีการตรวจสอบเกิดขึ้น จึงมีการยื่นอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2548 โดยทำหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่นายสมคิดก็ยังเงียบ เพราะว่านายเหยียนปิน ไปจับมือกับนักการเมืองที่เป็นเจ๊ทางเหนือ
กำลังโหลดความคิดเห็น