xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิ” สู้คุ้มไหม?

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้โดยเจ้าของคอลัมน์

คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกนักข่าวที่พากันมาถามว่า ที่ต่อสู้อยู่ขณะนี้คิดว่าคุ้มไหม?

ผู้้ถามคงเข้าใจถึงความเหน็ดเหนื่อยและความเสี่ยงที่ต้องสู้กับผู้มีอำนาจรัฐและอิทธิพลทางการเมือง

“ต้องถามตัวคุณเองว่า วันข้างหน้าถ้าผลของการต่อสู้ของผม ทำให้สื่อมวลชนมีเสรีในการเสนอข่าวสาร คุณว่าคุ้มหรือไม่ ส่วนผมทำหน้าที่โดยไม่ทรยศต่อตัวเอง ถ้าตายไปก็สามารถบอกลูกหลานของเราได้ว่า ได้ทำหน้าที่แล้ว”

นั่นเป็นคำตอบในฐานะสื่อมวลชนที่ไม่ยอมแพ้ต่อการปิดกั้นการทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร และจุดประเด็นที่น่าสงสัยให้สังคมรับรู้ แม้ยังไม่มีคำตอบจากผู้นำรัฐบาลก็ตาม

“เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ขณะนี้นับเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ของพัฒนาการทางการเมืองภาคประชาชนยุคใหม่ของชนชั้นกลางที่ไม่มีการ “จัดตั้ง” แต่ความกระหายในการอยากรู้ข้อเท็จจริงและเบื้องหลังความไม่ถูกต้องของเครือข่ายนักธุรกิจการเมืองซึ่งไม่สามารถรับรู้จากสื่อส่วนใหญ่

สวนลุมพินีในทุกเย็นวันศุกร์ จึงกลายเป็นแหล่งที่ผู้คนพากันไปชุมนุมรับฟังการดำเนินรายการของคู่สนทนาสุดฮิต สนธิ ลิ้มทองกุล และสโรชา พรอุดมศักดิ์ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนใกล้หลักแสนเข้าไปทุกที

อีกทั้งหัวเมืองใหญ่ที่พากันไปชุมนุมดูการถ่ายทอดสดจากระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งล่าสุดก็ถูกสกัดกั้นการรับสัญญาณเป็นส่วนใหญ่

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ และเนื้อหาจากการพูดของคุณสนธิ ย่อมเป็นที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้ได้มีโอกาสการรับรู้ได้รับฟังสดๆ จากสถานที่จริง หรือการถ่ายทอดทางเอเอสทีวี หรือเครือข่ายวิทยุชุมชน 97.75 ส่วนคนที่ไม่สะดวกในการรับฟังสดก็พากันแสวงหาโอกาสรับรู้จากแผ่นวีซีดี แม้มีความพยายามสกัดกั้นทุกวิถีทางก็ตาม

ขณะที่ รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร เป็นที่ชื่นชมของสังคมที่ได้รับรู้และบอกต่อขยายวงไปเรื่อยๆ

ปฏิกิริยาตอบโต้กลับมาจากผู้นำรัฐบาล จึงมีในทุกรูปทั้งการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งแล้วรวม 2,000 ล้านบาท ต่อคุณสนธิ และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรการทางศาลเพื่อหวังให้หยุดการพูด

ขณะที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนออกมาแสดงปฏิกิริยา โดยเน้นไปที่การพูดที่อ้างว่า เป็นการพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง

ทั้งๆ ที่ถ้าฟังเนื้อหาการพูดของคุณสนธิจะรู้ได้ว่า เจตนาเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

น่าสนใจที่มีการชี้แจงอย่างเอาจริงเอาจัง และถ่ายทอดซ้ำทางโทรทัศน์หลายช่อง กรณีรัฐบาลประกอบพิธีทำบุญประเทศที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อแก้ข้อปุจฉาที่ถูกหยิบยกถาม

ก็เป็นโอกาสให้ประชาชนได้รับฟังข้อมูลเหตุผลจากฝ่ายทางการเพื่อพิจารณา

นับว่าเป็นการใช้สิทธิและใช้สื่อต่างๆ ของรัฐดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องปิดกั้นการนำเสนอของสื่อที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

เพียงแต่ผู้กุมอำนาจรัฐมักจะทนไม่ได้เมื่อถูกเปิดโปงข้อมูลความไม่ถูกต้อง หรือการทุจริตที่ทำให้เสียความน่าเชื่อถือ

ทั้งๆ ที่ความมั่นคงของรัฐบาลไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐ

หากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมีผลกระทบต่อรัฐบาล ก็เป็นหน้าที่ตามวิชาชีพ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้เป็นหลักประกันเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

เสรีภาพของสื่อมวลชนจึงเท่ากับเสรีภาพในการได้รับรู้ข่าวสารของประชาชน

ไม่ใช่ถูกสกัดกั้นให้รับรู้เฉพาะเรื่องที่รัฐบาลอยากให้รู้เรื่องที่ดีๆ ของตัวผู้นำเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เองรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ซึ่งไม่มีโอกาสออกอากาศทางโทรทัศน์ ช่อง 9 จึงได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะได้รับรู้เรื่องราวอีกด้านหนึ่งของผู้นำรัฐบาลที่ไม่เคยได้รับรู้มากก่อนในช่องทางปกติ

แต่กับกรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งจัดระเบียบการทำข่าวสายอาชญากรรมหลายประการ เช่น ห้ามการนำผู้เสียหายหรือผู้ต้องหามาแถลงข่าว หรือห้ามนำผู้ต้องหาไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพแล้วมีนักข่าวอยู่ด้วย

นั่นอาจไม่ถือเป็นการจำกัดเสรีภาพในการทำข่าวหรือจำกัดโอกาสในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนดังที่เคยเป็นมาในอดีต

เพราะบ่อยครั้งการโชว์ผลงานของตำรวจว่าจับผู้ต้องหาได้ก็เป็นการล่อแหลมต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังเป็นผู้ต้องหา ซึ่งในที่สุดอาจชนะคดีกลายเป็นผู้บริสุทธิ์

ขณะที่การขยันให้สัมภาษณ์แม้กระทั่งบอกแผนที่จะดำเนินการต่อ ก็มีโอกาสทำให้เสียรูปคดี และเป็นการทำให้ผู้ต้องการรู้แนวทางการต่อสู้ หรือหลบหนีไปก่อน

รายการนี้ย่อมมีผลกระทบต่อวิถีการทำงานแบบเดิมของนักข่าวสายอาชญากรรม ก็น่าจะมีการปรับตัวพอสมควร

ซึ่งผิดกับกรณีข่าวเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ความทุจริตและขาดคุณธรรมของนักการเมือง หากเกิดขึ้นและสิ่งชี้ชัดหรือมีหลักฐานยืนยัน นี่เป็นหน้าที่สื่อมวลชนที่ต้องมีเสรีภาพในการตีแผ่ให้สังคมรับรู้

การทำหน้าที่เฝ้าระวังและเปิดโปงว่าให้สังคมได้รับความกระจ่างและรู้ทัน จะทำให้นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจไม่กล้าเหิมเกริม

ความขัดแย้งทางความคิด และตีแผ่พฤติการณ์ที่ไม่โปร่งใสและถูกตั้งข้อสงสัยในความสุจริต ถ้าจะสู้กันต้องพิสูจน์กันด้วยการชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงให้ประชาชนหายสงสัยผ่านสื่อ

ผู้ที่เห็นแก่ประเทศชาติ จึงควรถามหาความถูกต้องด้วย เพราะมิใช่เพียงการทะเลาะกันแบบส่วนตัวแล้วบอกให้เลิกๆ ไปโดยไม่ต้องแก้ไข
กำลังโหลดความคิดเห็น