xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์แห่งโลกภายใน (74)

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

การกระทำอิทธิฤทธิ์ทั้ง 20 วิธีนั้น จะกระทำได้ผลสำเร็จมากและน้อยย่อมต้องอาศัยเหตุปัจจัย 2 ประการ คือ กำลังของฤทธิ์มากและน้อยประการหนึ่ง และกรรมวิธีในการกระทำอิทธิฤทธิ์ที่ถูกต้องสอดคล้องกับอิทธิฤทธิ์แต่ละวิธีอีกประการหนึ่ง เมื่อครบทั้ง 2 ประการนี้แล้วอิทธิฤทธิ์นั้นก็จะปรากฏขึ้นดังปรารถนา

กำลังของฤทธิ์เป็นอย่างไร และกรรมวิธีในการกระทำอิทธิฤทธิ์เป็นอย่างไร จะได้พรรณนาต่อไปโดยลำดับ

กำลังของฤทธิ์ประกอบด้วยองค์ 4 ประการ คือ กำลังอิทธิบาทหรือรากฐานแห่งฤทธิ์ประการหนึ่ง กำลังของจิตประการหนึ่ง กำลังของฌานประการหนึ่ง และกำลังอธิษฐานอีกประการหนึ่ง ซึ่งจะพรรณนาแต่ละประการไปโดยลำดับ

ประการแรก อิทธิบาทแปลว่ารากฐานของอิทธิปาฏิหาริย์หรือรากฐานของอิทธิฤทธิ์ เป็นองค์ธรรมสำคัญเพื่อความสำเร็จทั้งปวง พระตถาคตเจ้าทรงสรรเสริญอิทธิบาทไว้เป็นอเนกอนันต์ประการ ในฐานะที่เป็นรากฐาน เป็นบาทฐานแห่งความสำเร็จทั้งปวง

คือเป็นรากฐานหรือบาทฐานของความสำเร็จในการทั้งปวง ทั้งในระดับโลกิยะและโลกุตระ การฝึกฝนอบรมจิตตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุดแห่งทุกข์จักสำเร็จได้จริงแท้ก็ต้องอาศัยอิทธิบาท และประกอบขึ้นจากอิทธิบาท การกระทำการงานทั้งปวงในระดับโลกียะไม่ว่าเรื่องเล็กน้อยใหญ่ประการใด หากประกอบด้วยอิทธิบาทแล้วการงานทั้งปวงนั้นก็จักสำเร็จดังประสงค์

อิทธิบาทประกอบด้วยองค์ 4 ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา

ฉันทะ คือ ความพึงใจ ความพอใจ ความตั้งใจ ที่จะทำการใดให้สำเร็จจงได้ ไม่มีวอกแวก ผันแปรเปลี่ยนแปลง มีความแน่วแน่ตรงดิ่งถึงที่สุด เป็นองค์ธรรมที่ทำให้การประกอบการงานทั้งปวงทั้งฝ่ายกาย ฝ่ายจิต ทั้งระดับโลกิยะและโลกุตระดำเนินไปได้อย่างสะดวกสบาย และมีความโปร่งโล่งเบิกบานเป็นสุข

วิริยะ คือ ความเพียร ความมานะบากบั่น ไม่ย่อหย่อน ไม่ผัดผ่อน มุ่งมั่นบรรลุถึงความปรารถนาให้สำเร็จประการเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะทุกข์ยากลำบากลำเค็ญยากเข็ญและใช้เวลามากน้อยเท่าใด

จิตตะ คือ ความใส่ใจหรือการเอาใจใส่ในการนั้น ๆ อย่างเต็มที่เต็มเปี่ยม จิตใจและการที่กระทำทั้งปวงนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แปลกแยกออกจากกัน การเป็นอย่างใดใจก็เป็นอย่างนั้น ใจเป็นอย่างใดการก็เป็นไปอย่างนั้น ความเป็นหนึ่งเดียวเช่นนี้การที่ทำกับใจก็ผนึกเป็นหนึ่งเดียวกัน รู้ถ่องแท้ทั่วถึงในการทั้งปวง ทั้งเหตุทั้งผลทั้งการเริ่มต้น การดำเนินไปจนถึงที่สุด รู้เบื้องต้น รู้ท่ามกลาง รู้ที่สุด จนสำเร็จในเบื้องต้น ในท่ามกลางและในที่สุด

วิมังสา คือ ความใคร่ครวญทบทวนเหตุผล เป็นองค์ธรรมเพื่อการยกระดับความรู้ความชำนาญให้สูงขึ้นเป็นลำดับ ๆ ไป จนรู้และเข้าใจเหตุแห่งความล้มเหลวผิดพลาดทั้งปวง รู้และเข้าใจเหตุแห่งความสำเร็จทั้งปวง รู้และเข้าใจถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการที่ทำนั้นอย่างถ่องแท้ รู้เหตุ รู้ผล ของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปในการทั้งปวงที่ทำอยู่นั้น

อิทธิบาทจึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่าอิทธิบาท 4 เมื่อบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้วย่อมก่อเกิดเป็นองค์ธรรมที่เป็นเอกภาพ คือเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการทั้งปวง มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

แม้กระทั่งเกี่ยวกับการขยายเวลาอายุขัยของคนก็ต้องอาศัยอิทธิบาท ดังที่พระตถาคตเจ้าได้ตรัสว่า “ดูกรอานนท์ ผู้หนึ่งผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่ ทำให้มาก ทำให้เป็นประหนึ่งยาน ทำให้เป็นประหนึ่งวัตถุที่ตั้งไว้เนือง ๆ อบรมไว้ ปรารภด้วยดีโดยชอบแล้ว ผู้นั้นเมื่อปรารถนาก็พึงดำรงชีวิตได้ตลอดกัลป์หรือเกินกว่ากัลป์”

เมื่อครั้งที่ท่านเจ้าคุณพุทธทาสป่วยหนักใกล้จะถึงกาลดับขันธ์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาท่านเจ้าคุณว่าอย่าเพิ่งดับขันธ์ ขอให้อยู่ช่วยจรรโลงพระศาสนาก่อน ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณพุทธทาสได้รับอาราธนาโดยมีเงื่อนไขว่าจะอยู่เพียงเท่าที่เหตุปัจจัยจะอำนวยให้อยู่ได้

ในคืนวันนั้นท่านเจ้าคุณก็ได้เจริญอิทธิบาท 4 เป็นผลให้อาการป่วยหนักใกล้จะดับขันธ์นั้นสร่างหายอย่างรวดเร็ว และดำรงอายุสังขารต่อมาอีกหลายปี จนกระทั่งถึงวาระปลงอายุสังขารก่อนสิ้นปีที่รุ่งปีขึ้นก็ถึงกาลดับขันธ์ เป็นที่อัศจรรย์

หรือเมื่อครั้งที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงประชวรมีพระอาการมาก ในวันที่ 14 สิงหาคม 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จไปเยี่ยมและได้อาราธนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ว่าพระอาจารย์อย่าเพิ่งละสังขาร ขอให้อยู่ช่วยหม่อมฉันก่อน สมเด็จพระสังฆราชทรงพยักหน้ารับคำอาราธนา

หลังจากนั้นก็ทรงเจริญอิทธิบาท 4 เป็นลำดับมา เป็นผลให้พระสุขภาพอนามัยของพระองค์ดีขึ้นแบบดีวันดีคืน จนสามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติอีกครั้งหนึ่ง เป็นที่อัศจรรย์

นี่คือตัวอย่างในยุคใกล้ ๆ ที่ประจักษ์ชัดแก่มหาชนแล้วว่ากำลังแห่งอิทธิบาทหรืออิทธิบาท 4 นั้นมีผล มีอานิสงส์มาก สมดังที่พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสสอนไว้ นับเป็นประจักษ์พยานหลักฐานที่ชัดเจนและโด่งดังมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 นี้

กำลังอิทธิบาทหรือกำลังอันเป็นรากฐานแห่งอิทธิฤทธิ์มากและน้อยเพียงใดย่อมส่งผลให้กำลังของอิทธิฤทธิ์เป็นผลมากหรือน้อย อ่อนหรือเข้มตามไปด้วย อุปมาดั่งความแข็งแรงของร่างกายมากน้อยประการใด ย่อมมีผลต่อกำลังที่จะยกน้ำหนักของบุคคลนั้นมากและน้อยประการนั้น

การกระทำอิทธิฤทธิ์ทั้งปวงจะต้องเจริญอิทธิบาท 4 ให้ครบถ้วน ให้บริสุทธิ์ ให้บริบูรณ์ก่อนเสมอไป เมื่อบริสุทธิ์ บริบูรณ์แล้วก็เพิ่มความเข้มข้น เพิ่มพลังของอิทธิบาทนั้นให้มากขึ้นเป็นลำดับ ๆ ไปจนเต็มที่ นี่คือการเจริญอิทธิบาทเพื่อความเข้มข้นเข้มแข็งแกร่งกล้าของอิทธิฤทธิ์

ประการที่สอง กำลังจิตก็เช่นเดียวกับกำลังของกาย ร่างกายจะแข็งแรงแกร่งกล้าเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและการฝึกฝนทางกาย ร่างกายจะสามารถยกน้ำหนักได้ถึง 120-150 กิโลกรัม ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของร่างกาย และการฝึกฝนในการยกน้ำหนัก ยิ่งฝึกฝนมาก อบรมมาก พยายามมาก ก็มีกำลังมาก สามารถยกน้ำหนักได้มาก

กำลังจิตขึ้นอยู่กับกำลังของสมาธิ เมื่อผ่านการฝึกฝนอบรมจิตโดยหนทางเจโตวิมุตติไปโดยลำดับแล้วกำลังสมาธิจะส่งผลให้กำลังของจิตที่บางเบาไร้พลังให้ก่อตัวมีพลังมากขึ้นโดยลำดับ ๆ

กำลังของจิตในที่นี้ก็คือนามกาย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือร่างกายของจิตนั่นเอง ร่างกายของจิตมีความสมบูรณ์เต็มที่จนเทียบได้แต่เหนือกว่าร่างกายธรรมดาก็ในยามที่นามกายได้แปรเปลี่ยนเป็นทิพยกายเมื่อถึงทิพยภูมิคือจตุตถฌานแล้ว

ความจริงกำลังของจิตหรือนามกายก็ได้เริ่มหรือค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นการฝึกฝนอบรมจิต นับแต่ย่างก้าวเข้าสู่แดนอุคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตแล้ว เป็นแต่ว่ายังไม่เข้มแข็งแกร่งกล้า แต่จะค่อย ๆ เข้มแข็งแกร่งกล้าขึ้นโดยลำดับเมื่อบรรลุถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และสมบูรณ์เต็มที่จนมีสภาพเหมือนกับร่างกายธรรมดา แต่มีภาวะที่เป็นทิพย์ ประณีต ผ่องใสไร้รูป แต่มีอินทรีย์และพละทำนองเดียวกับกายธรรมดา นั่นคือเมื่อถึงทิพยภูมิที่นามกายแปรเปลี่ยนเป็นทิพยกายแล้ว เมื่อนั้นกำลังของจิตก็จะสมบูรณ์เต็มที่ อีกนัยหนึ่งก็คือร่างกายของจิตมีความครบถ้วนสมบูรณ์ มีพละกำลังสมบูรณ์ที่จะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว

บางท่านแม้การฝึกฝนอบรมจะอยู่ในขั้นอุคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตหรือแม้แค่ปฐมฌาน แต่สามารถกระทำการที่เหนือกว่าความเป็นสามัญของมนุษย์ได้เป็นครั้งเป็นคราวบ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง นั่นก็เป็นเพราะความเข้มแข็งแกร่งกล้าของนามกายที่ก่อตัวแล้วนั่นเอง นั่นคือแม้ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่แต่ก็พอทำการบางสิ่งบางอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้

ทำนองเดียวกับเด็กเล็ก ๆ ก็สามารถหยิบฉวยสิ่งของเล็ก ๆ น้อยได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

ประการที่สาม กำลังฌานหรือนัยหนึ่งก็คือขีดความสามารถในการออกกำลังของจิต ซึ่งแต่ละฌานก็มีขีดความสามารถไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน นั่นคือ

เมื่อเข้าสู่ปฐมฌานกำลังของฌานจะประกอบด้วยวิตก วิจาร ปิติ และสุข หรือกล่าวโดยย่อว่ากำลังของฌานประกอบด้วยปิติและสุข แต่เป็นปิติและสุขที่เกิดแต่วิเวก กำลังของฌานที่ประกอบด้วยปิติและสุขอันเกิดแต่วิเวกนี้เหมาะที่จะกระทำอิทธิฤทธิ์บางประการ

เมื่อเข้าสู่ทุติยฌานกำลังของฌานจะประกอบด้วยปิติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ กำลังของฌานนี้ก็ย่อมเหมาะที่จะกระทำอิทธิฤทธิ์อีกบางประการ

เมื่อเข้าสู่ตติยฌานกำลังของฌานจะประกอบด้วยสุข โดยมีอุเบกขาเจริญขึ้นมา กำลังของฌานชนิดนี้ย่อมเหมาะที่จะกระทำอิทธิฤทธิ์อีกบางประการ

เมื่อเข้าสู่จตุตถฌานกำลังของฌานจะประกอบด้วยอุเบกขา กำลังของฌานชนิดนี้สมบูรณ์เต็มเปี่ยมมีสมรรถนะที่จะกระทำอิทธิฤทธิ์ทั้งปวงได้

กำลังของฌานใดเหมาะสมที่จะกระทำอิทธิฤทธิ์ประเภทใดจะได้พรรณนาต่อไปในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมวิธีในการกระทำอิทธิฤทธิ์

แม้ว่าการกระทำอิทธิฤทธิ์จะก่อประสิทธิผลได้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อเมื่อบรรลุถึงจตุตถฌานก็จริง แต่ในการกระทำอิทธิฤทธิ์แต่ละวิธีนั้นก็ต้องกระทำโดยสอดคล้องกับกำลังของฌานของอิทธิฤทธิ์วิธีนั้น ๆ

ดังนั้นหากการกระทำอิทธิฤทธิ์วิธีใดเหมาะสมกับกำลังฌานในขั้นจตุตถฌานก็กระทำอิทธิฤทธิ์ในจตุตถฌานนั้นได้โดยตรง แต่ถ้าหากอิทธิฤทธิ์วิธีใดเหมาะสมกับกำลังฌานในขั้นตติยฌานก็ต้องเข้าฌานถึงระดับจตุตถฌานก่อน แล้วค่อยถอยฌานลงมาสู่ตติยฌาน และใช้กำลังฌานในภูมิของตติยฌานนั้นกระทำอิทธิฤทธิ์

เช่นเดียวกันหากการกระทำอิทธิฤทธิ์วิธีใดเหมาะสมกับกำลังฌานในขั้นทุติยฌานหรือปฐมฌานก็ต้องเข้าฌานถึงระดับจตุตถฌานก่อนเสมอ แล้วค่อยถอยฌานลงมาสู่ทุติยฌานหรือปฐมฌานแล้วแต่กรณีเพื่อกระทำอิทธิฤทธิ์ในภูมิของฌานนั้น ๆ ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์วิธีนั้น ๆ

ได้กล่าวมาบ้างแล้วว่าการถอยฌานออกจากฌานขั้นสูงลงมาสู่ฌานขั้นต่ำนั้นเป็นการถอยออกมาด้วยกำลังของสมาธิ ไม่ใช่ถอยลงมาเพื่อให้อารมณ์อื่นติดตามมา หรือเกิดขึ้นใหม่

แต่ทว่าในการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือเมื่อถอยฌานลงมาแล้วก็ต้องกำหนดอารมณ์ให้องค์แห่งฌานของฌานขั้นนั้นๆ ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏขึ้นบนรากฐานหรือพื้นฐานของกำลังอีกสองอย่าง คือกำลังของอิทธิบาทและกำลังของจิตหรือทิพยกาย นั่นคือเมื่อถอยมาถึงตติยฌานก็ต้องกำหนดอารมณ์สุขให้เป็นสุขกับภูมิอันเหมาะสมแก่การกระทำฤทธิ์ หรือเมื่อถอยมาถึงทุติยฌานก็ต้องกำหนดอารมณ์ปิติและสุขอันเกิดแต่สมาธิให้ปรากฏขึ้น เหมาะสมแก่การกระทำฤทธิ์ หรือเมื่อถอยมาถึงปฐมฌานก็ต้องกำหนดอารมณ์ปิติและสุขอันเกิดแต่วิเวกให้ปรากฏขึ้น เหมาะสมแก่การกระทำฤทธิ์นั้น ๆ

การฟื้นอารมณ์เหล่านี้ขึ้นมาไม่ทำให้ภูมิธรรมหรือภูมิจิตที่ถึงซึ่งจตุตถฌานแล้วอ่อนด้อยถอยลง อุปมาดั่งบุคคลที่สามารถยกน้ำหนักถึงระดับ 120-150 กิโลกรัมได้แล้ว เมื่อจะยกน้ำหนักระดับ 80 กิโลกรัม หรือ 60 กิโลกรัม หรือ 40 กิโลกรัม ก็ย่อมกระทำได้โดยไม่ทำให้ขีดความสามารถในการยกน้ำหนักระดับ 120-150 กิโลกรัมสูญเสียไป ฉันใดก็ฉันนั้น

โดยเหตุนี้การถอยฌานจากจตุตถฌานลงมาเพื่อการกระทำอิทธิฤทธิ์จึงเป็นคนละเรื่องหรือคนละกรรมวิธีกับการถอยฌานเพื่อออกจากฌานตามปกติ นั่นคือการถอยฌานออกจากฌานตามปกติจะเป็นการถอยโดยกำลังสมาธิ โดยไม่ต้องฟื้นอารมณ์ของฌานนั้น ๆ ขึ้นมาใหม่ แต่การถอยฌานออกจากฌานเพื่อกระทำอิทธิฤทธิ์จะต้องฟื้นอารมณ์ขึ้นมาใหม่ แต่ฟื้นขึ้นบนพื้นฐานของกำลังฌานในระดับจตุตถฌานที่ประกอบด้วยกำลังอิทธิบาท และกำลังทิพยกาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น