xs
xsm
sm
md
lg

ทูลเกล้าถวายฎีกา-ขอพระราชทานรธน.

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ขณะนี้เวลา 20.15 นาฬิกา คืนวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2548 ผมเขียนบทความสำหรับวันอังคารเสร็จแล้ว กำลังจะเขียนต่อสำหรับวันพุธ เพื่อจะเปรียบเทียบรัฐบาลในอดีตกับรัฐบาลปัจจุบันของนายกฯทักษิณ ผมต้องเปลี่ยนใจ เมื่อได้เปิดเทปฟังคำสนธิกราบบังคมทูลเป็นครั้งที่ 2

ผมต้องสารภาพว่า อารัมภบทของสนธิ และคำถวายสัตย์ปฏิญาณร่วมของผู้ที่เข้าประชุม มีพลัง เนื้อหาและความเข้มข้นที่ฟังแล้วสะท้าน ประหนึ่งว่าจะเป็นสัญญาณว่าเมืองไทยกำลังจะเกิดความเคลื่อนไหว ขบวนการหรือกระบวนการใหม่ ทำให้ผมนึกถึงแชมเปี้ยนของ popular หรือ progressive movement ของอเมริกันเมื่อกลางศตวรรษที่แล้วที่ใช้วาทะและรหัสคล้ายๆกับที่สนธินำมาใช้ ต่างกันก็แต่ที่อเมริกาไม่มีในหลวง เลยไม่มีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์

ในขณะเดียวกัน ผมก็อดนึกถึงนักจัดรายการวิทยุปลุกระดมหนักแผ่นดินของฝ่ายขวาจัด ก่อนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้ ผมเชื่อว่าในหลวงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของแผ่นดิน ในขณะเดียวกัน ผมก็ตระหนักดีว่า พระองค์ท่านทรงอยู่ในฐานะลำบาก จะทรงห้ามหรือสนับสนุนฝ่ายใดที่หวังพึ่งพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ก็มิได้

ในหลวงปัจจุบัน ในสายตาของชาวต่างประเทศพระองค์ทรงเป็น the most popular monarch ในประเทศพระองค์เป็นที่เคารพบูชาของปวงชนอย่างลึกซึ้ง ผมกำลังจะกล่าวถ้อยคำสองประโยคที่เสี่ยงต่อความเข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงจำต้องบอกให้ทราบเสียก่อนว่านี่เป็นความคิดที่มาจากตะวันตก มิใช่ของผม แต่เป็นเรื่องที่ผมอยากจะให้พวกเราช่วยกันคิด ก่อนประโยคแรกผมต้องอธิบายให้ชัดเสียก่อนว่า popular monarch นั้นเป็นคนละอย่างและมิใช่สัญลักษณ์ของ popular monarchism

ประโยคแรก ก็คือ popular monarchism is not always conducive to democracy แปลว่าระบอบกษัตริย์นิยมจัดอาจจะไม่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยเสมอไป

ประโยคที่สองก็คือ weak democracy is always bad for the monarchy แปลว่า
ประชาธิปไตยที่อ่อนแอนั้นเป็นอันตรายต่อระบบกษัตริย์ ผมเป็นห่วงประโยคที่สองมากกว่าประโยคที่หนึ่ง เพราะผมคิดยังไงๆก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าเรามีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากขอเวลาไปคิดต่ออีกอย่างน้อย 72 ชั่วโมง ก่อนที่ผมจะพูดต่อเรื่องระบบทักษิณกับการถวายคืนพระราชอำนาจ

ผมขอนำข้อเขียนเก่าเรื่อง “ควรทูลเกล้าถวายฎีกา และขอพระราชทานรัฐธรรมนูญหรือไม่” มาเพื่อให้ท่านผู้อ่านพิจารณาไปพลางก่อน ดังนี้

<<< ในการอภิปรายที่ธรรมศาสตร์ เรื่อง ทิศทางการเมืองไทย ในวันที่ 1 พฤศจิกายน นั้น ผู้เขียนได้ถูกเตือนล่วงหน้าว่า ถ้าไม่จำเป็นอย่าพูดถึงในหลวง ผู้เขียนหรือคนไทยทั่วๆไป หรือแม้แต่ชาวโลกต่างก็พากันพูดเสมอว่า เมืองไทยโชคดียิ่งทีมีในหลวง ในหลวงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประเทศชาติและประชาชนไทย

ผู้เขียนจึงได้พูดดังนี้ “ที่เตือนผมว่าอย่าพูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะได้หรือไม่ ผมเป็นคนหนึ่งที่ประณามและคัดค้านมาตลอดเวลา ในการที่มีกลุ่มการเมืองหรือบุคคลคณะหนึ่งคณะใด เพื่อการแสวงหาอำนาจก็ดี เพื่อกีดกันการแสวงหาอำนาจของผู้อื่นก็ดี ได้กล่าวแอบอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าหากมีความจำเป็นจะต้องพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมจะพูดถึงโดยความสำนึกว่า สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง เป็นที่เคารพบูชาของคนไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองสถาบันหนึ่ง มีความสำคัญและมีความหมายต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง”

ผู้เขียนทราบดีว่า ผู้ที่ห้ามต้องการให้ผู้เขียนพูดอะไร แต่เกรงว่า หนึ่ง ผู้เขียนอาจจะเป็นอันตราย หรือไม่ก็ สอง พูดแล้วคนอาจจะเข้าใจผิด เอาไปอ้างผิด เอาไปเคลื่อนไหวในทางสับสนซึ่งจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี สำหรับข้อที่หนึ่งนั้น ผู้เขียนได้น้อมเกล้าเอาพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นเครื่องปลอบกำลังใจ “ เรานี่เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ควรคำนึงถึงชาติศาสนา มิควรให้เสียทีที่เกิดมา ในหมู่ประชาชาวไทย” ข้อที่ 2 นั้น เป็นสาเหตุที่ต้องมาเขียนความเรียงสั้นนี้

ในวันนั้น ผู้เขียนได้ตอบคำถามว่า รัฐธรรมนูญร.ส.ช.จะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่คนไทยไม่ควรท้อถอย ควรช่วยกันเคลื่อนไหว และควรหาที่พึ่ง ผู้เขียนมิได้พูดถึงที่พึ่งต่อ แต่นายธีรยุทธ บุญมี ได้อภิปรายต่อตอนหนึ่งว่า “และประชาชนไทยมีที่พึ่งสูงสุด ซึ่งมีอำนาจเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วประเทศที่สูงกว่า รสช.หลายสิบเท่าอยู่ด้วย” ส่วนพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้กล่าวถึงลักษณะพิเศษของไทย คือ “ชาติไทยของเรานั้น มีสถาบันที่เราได้เคารพบูชาเป็นหลักยึดถือในปัจจุบันนี้”

ส่วนพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้กล่าวถึงลักษณะพิเศษของไทย คือ “ชาติไทยของเรานั้น มีสถาบันที่เราได้เคารพบูชาเป็นหลักยึดถือในปัจจุบันนี้”

ตกเป็นหน้าที่ของผู้เขียน ที่จะต้องอภิปรายตรงๆ ในที่ประชุมว่า

“เรื่องเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหลายคนถามผมว่า สมควรจะมีการทูลเกล้าถวายฎีกาหรือไม่ สมควรจะมีการขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยหรือไม่ สมควรจะมีการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญหรือไม่ คำตอบก็คือ ถ้ามีเหตุผล และมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ก็สมควร”

ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียด ในบทความเรื่อง “รัฐธรรมนูญ 2534 : บทพิสูจน์ความเป็นไทย” จึงขอลอกมาเสนอ โดยแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงข้อความเลย นอกจากคำผิดและเลขกำกับหัวข้อ ทั้งนี้เพื่อทำให้อ่านง่าย

“บัดนี้ ผู้เขียนคิดว่า เราได้มาถึงตอนที่สำคัญที่สุด คือตอนที่เราจะต้องพิสูจน์ความเป็นคนไทยกัน ด้วยการพลิกผันปัญหาให้เป็นโอกาส แก้ข้ออึดอัดขัดข้องในปัจจุบันให้เป็นความราบรื่นดีงามในอนาคต สัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งอย่างหนึ่งของความเป็นคนไทย ก็คือ ความสัมพันธ์ของปวงราษฎรกับพระมหากษัตริย์ ความเชื่อมั่นศรัทธาในทศพิธราชธรรม และความที่ราษฎรทุกคนมีสิทธิที่จะถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่งสุดท้ายของตน ในเรื่องที่ตนคิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับตน ไม่ว่าคนอื่นจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือไม่สมควรเพียงใดก็ตาม พระมหากษัตริย์ไทยจึงไม่เหมือนกษัตริย์ที่ใดในโลก เพราะประชาชนมีสิทธิถือว่าในหลวงเป็นสมบัติของเขา เป็นพ่อของเขา เป็นพระของเขา และเป็นพระเจ้าของเขา ทุกๆอย่างรวมกัน เพราะฉะนั้นราษฎรไทยในอดีตจึงมีสิทธิทูลเกล้าถวายฎีกาต่อในหลวงเรื่องผักบุ้งแพง เรื่องหนี้สิน และเมื่อไม่นานมานี้ปลายสมัยพลเอกเปรม มีนักวิชาการ 99 คน ทูลเกล้าถวายฎีกาให้พลเอกเปรมเป็นการทางการเมือง

ผู้เขียนใคร่ฝากข้อสังเกตไว้อีก 2 ข้อ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ นั่นก็คือ

พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เคยพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เรื่องรัฐธรรมนูญแก่คณะราษฎร์ ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยและเหมาะสมมากขึ้น ต่อมามีการยึดอำนาจด้วยกำลังทหารอีก รัฐธรรมนูญจึงได้เลวลง เปิดหนทางให้มีการแย่งชิงอำนาจ และทำให้เผด็จการเป็นเบี้ยบนเกือบตลอดมาในประเทศไทย

การขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย และการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่กระทำได้หรือไม่ สมควรไหม ขัดกับหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์หรือไม่ เป็นการดึงสถาบันกษัตริย์มาเล่นการเมืองหรือไม่ ขัดกับจารีตประชาธิปไตยหรือไม่ ทั้งสองกรณี ความสงสัยที่ว่าจะขัด ความกลัวที่ว่าจะดึง ความกลัวที่ว่าจะไม่เหมาะสม เป็นความกลัวนอกตำราของผู้ที่ไม่เข้าใจทฤษฎีการเมืองประชาธิปไตย ไม่เขาใจหลักรัฐธรรมนูญ หนำซ้ำไม่เข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยและสถาบันกษัตริย์ ผู้เขียนขออธิบายโดยอัญเชิญพระราชดำรัสของในหลวงที่ทรงรับสั่งกับ ม.ร.ว. ทองน้อย ทองใหญ่ รองราชเลขาธิการ ดังนี้ >>>

ผมขอโทษที่หน้ากระดาษจำกัด ฉบับหน้าวันพฤหัสบดีจะเริ่มด้วย “พระราชดำรัสในหลวงรัชกาลปัจจุบัน” เรื่อง “สถาบันจะลงไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวได้ก็ต่อเมื่อ......”

ในปี 2534 นั้นมีผู้ชมบทความเรื่องการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญของผมว่า “บ้ายกกำลังสอง” ขอบพระคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น