xs
xsm
sm
md
lg

ถวายคืนพระราชอำนาจ-ขอพระราชทานรธน.

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

การต่อสู้ระหว่างสนธิกับทักษิณชักจะดุเดือดและขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งจริงๆแล้ว ผมเห็นว่าน่าจะดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตย แต่ผมเสียใจและเสียดายที่ผู้นำการเมือง นักวิชาการรัฐศาสตร์ หรือแม้แต่สื่อกลับพากันเมินเฉยไม่จับหรือเปิดประเด็นเพิ่มให้ลึกซึ้งกว้างขวาง กลับเห็นว่าเป็นเรื่องทะเลาะวิวาท “เจ็กโฮ้วผะเจ็กตือ” ไปเสียฉิบ

สำหรับผม ซึ่งมีเรื่องอีกหลายกะบุงเกวียนที่อยากจะติเพื่อก่อรัฐบาล เกิดความลำบากใจ ไม่อยากจะตีพิมพ์ต่อประจำในผู้จัดการ เพราะผู้อ่านจะพากันลำเอียง โดยเหมาเอาง่ายๆว่าผมลำเอียง

สังคมไทยของเราเป็นสังคมลำเอียงเข้าข้างผู้ชนะหรือผู้มีอำนาจอย่างฉกาจ ฉกรรจ์ ผมเองต้องอดทนตกเป็นเบี้ยล่างมาตลอด แม้แต่บางครั้งในวงศาคณาญาติของตนเองก็ไม่วาย

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2548 เวลาบ่ายสามโมงเศษๆ ผมเพิ่งมีโอกาสเปิดคอมพ์ฟังเมืองไทยรายสัปดาห์ฯ ครั้งที่ 8 ประจำวันศุกร์ที่ 11 พ.ย. นี้ของสนธิ

ผมเริ่มเปิดเฉพาะตอนที่ 3 เรื่อง สนธิอ่านคำกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต และกล่าวนำผู้ฟังกระทำปฏิญาณจะต่อสู้โดยวิถีทางที่สันติและสอดคล้องกับหลักรัฐ ธรรมนูญ ให้เกิดการถวายคืนพระราชอำนาจ เพื่อให้ในหลวงพระราชทานรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่เอื้ออำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประเทศชาติและปวงราษฎรอย่างแท้จริง

สี่ห้าปีที่ผ่านมานี้ เพื่อนรักคนหนึ่งคือศาสตราจารย์ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้เคลื่อนไหวและแสดงทัศนะดังกล่าวอยู่เนืองๆ เพราะดร.อมรเชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อบกพร่องอย่างแสนสาหัส และจะนำบ้านเมืองไปสู่มิคสัญญีไม่ช้าก็เร็ว

ในปี 2516-7 ดร.อมร เป็นเพื่อนร่วมร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในคณะเดียวกับผม เรามีความเห็นไม่น้อยที่ขัดกันอยู่เนืองๆ ในที่นี้ผมจะไม่แจกแจงว่ามีอะไรบ้างหรือเพราะเหตุผลใด แต่เหตุผลล่าสุดของดร.อมรนั้นหนักแน่น ถึงขนาดไปปลุกปล้ำให้ลูกศิษย์ลูกหาตั้งพรรคการเมือง จะเข้าไปต่อสู้ในสภาด้วยเรื่องเดียว คือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อถวายคืนพระราชอำนาจ

แทนที่ผมจะพูดว่า จะบ้าหรือ? ผมกลับให้กำลังใจดร.อมร ทั้งๆที่ผมจำได้ดีว่าในปี 2517 ผมเคยปรารภเรื่องนี้ และในปี 2534 เดือนพฤศจิกายน ผมได้ตีพิมพ์ความเรียงสั้น 9 บท ภายใต้หัวข้อ “อนาคตประชาธิปไตยภายใต้เงา ร.ส.ช.” มีอยู่ 2 บท คือ “ควรทูลเกล้าฯถวายฎีกา และขอพระราชทานรัฐธรรมนูญหรือไม่” อีกบทหนึ่ง และหลายๆตอนซึ่งเป็นเรื่องเชื่อมโยงผมได้กล่าวถึงเรื่องเงื่อนไขและเงื่อนเวลาและความเป็นไปได้ที่จะถวายพระราชอำนาจคืนแด่พระมหากษัตริย์

ปฏิกิริยาอย่างเดียวทีผมได้รับจากสื่อและนักวิชาการเป็นอย่างไร

บัดนี้ เวลาได้ผ่านไปแล้ว 14 ปีเต็มๆ บัดนี้ ร.ส.ช.และสุจินดา ไม่มีแล้ว เหลือแต่ความทรงจำของพฤษภาทมิฬในปีต่อมา บัดนี้เมืองไทยมีแต่ ท.ร.ท. กับทักษิณ และความคาดหวังหลากหลายว่าทักษิณจะทิ้งอะไรไว้แน่

ผมจะพูดถึงเรื่องนี้ในฉบับหน้า แต่ในฉบับนี้ ขอนำของเก่ามาเล่าใหม่สักหนึ่ง
ตอน ขอให้ท่านผู้อ่านคิดเอาเองว่ามีอะไรเปลี่ยนหรือมีอะไรที่ยังหลงเหลืออยู่ และอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต

“ อนาคต : ทางเลือกของคนไทย"

ความจริงปัจจัยที่จะทำให้เกิดการการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางการเมืองมีหลายอย่างเชื่อมโยงกันทั้งภายในและนอกประเทศ เช่น ความเคลื่อนไหวของกระแสใหญ่ของโลก สื่อมวลชนเสรีทั้งสากลและของไทย การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ซึ่งจะทำให้องค์ประกอบต่างๆทางการเมืองเปลี่ยนไป แต่ทีเราพูดเน้นเฉพาะแต่การยึดอำนาจ ร.ส.ช. และรัฐธรรมนูญ ก็เพราะเป็นส่วนสำคัญขององค์ประ
กอบและสถาบันที่มีอำนาจและพลัง ถ้าขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี ส่วนอื่นก็จะดีตามไปด้วย ระบบก็จะดีตามไปด้วย

แต่จากการเฝ้ามอง แม้แต่ผู้ใกล้ชิดยังเกรงว่าจะขับเคลื่อนไปผิดทาง ดร.อุกฤษ ประธานสภานิติบัญญัติแสดงปาฐกถาที่โรงแรมโอเรียนเต็ลเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมนี้เองว่า อาจจะเกิดร.ส.ช. 2-3-4 และเวียนว่ายอยู่ในวงจรอุบาทว์อีก ครั้นจะรีบเลือกตั้ง เพราะอายต่างประเทศก็ดี เพราะคนในและคนนอกเร่งก็ดี สักแต่ว่าจะมีเลือกตั้ง ถ้าเป็นการเลือกตั้งโจร ก็จะได้สภาโจร

ผู้เขียนอยากมองโลกในแง่ดี และคิดว่าเรามีทางเลือก เพราะคนไทยเป็นคนฉลาด ครั้นถึงคราวจะอับจน ก็รู้จักคิด รู้จักพูดกันให้ รู้เรื่อง ใช้ความเป็นคนไทยหันหน้าเข้าหากัน จึงขอเสนอทางเลือกให้พิจารณาดังนี้

1. ช่วยกันเคลื่อนไหว สนับสนุนให้สภานิติบัญญัติออกรัฐธรรมนูญที่เป็นกลาง
และเป็นประชาธิปไตยให้ได้

ถ้าสำเร็จ เสนอให้นำไปทำประชามติ และช่วยกันสนับสนุน ประชาชนจะได้เข้าใจ และช่วยกันรักษา

2. ถ้าไม่สำเร็จ เสนอให้ทำประชามติ ให้โอกาสทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น
เสนอสูตรและทางเลือกให้ประชาชนเรียนรู้ รับรู้ และช่วยกันคิดอย่างถี่ถ้วน

3. ถ้าไม่สำเร็จ เสนอให้ร.ส.ช. สภานิติบัญญัตินำทูลเกล้าขอพระบรมราช
วินิจฉัยอย่างที่มีตัวอย่างมาแล้วในรัชกาลที่ 7

4. ถ้าไม่สำเร็จ เสนอให้ร.ส.ช. และสภานิติบัญญัติสลายตัว เพื่อสร้างสูญญากาศ
ทางการเมือง อันเป็นเงื่อนไขที่จะถวายพระราชอำนาจคืนให้พระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงสั่งและหามาตรการให้ปฏิบัติตามจารีตประชาธิปไตย

5. ถ้าไม่สำเร็จ ทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ

แต่การเคลื่อนไหวทุกอย่างจะต้องใช้สันติวิธี ไม่ใช้วิธีการรุนแรงทุกอย่างโดย
เด็ดขาด จะต้องรู้จักพัฒนาพลังของบุคคลให้เป็นพลังของกลุ่ม ยกระดับวามเคลื่อนไหวจากขบวนการเป็นองค์การ เป็นสถาบัน โดยผูกพันกับกลุ่มและองค์การต่างๆอย่างเป็นระบบ

อย่าเคลื่อนไหวหรือเป็นเครื่องมือความรุนแรง การก่อจลาจล การประท้วงโดยฝูงชนที่เคียดแค้นและไม่เข้าใจ เพราะไม่เป็นคุณต่อประชาธิปไตย

ชี้ให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า แม้แต่ civil disobedience และ passive resistance ยังดีกว่าการจับตัว การลอบสังหาร การก่อวินาศกรรม การก่อการร้าย การยกกำลังเข้าต่อสู้กัน สงครามกลางเมือง

ทั้งหมดนี้ไม่พึงปรารถนา เป็นสิ่งต้องหลีกเลี่ยง เพราะขัดกับวัฒนธรรมและอุปนิสัยของคนไทย ซึ่งรักความสงบและสันติ

แต่ระดับของความโหดร้ายในการต่อสู้ทางการเมือง และความสูญเสียของสังคมต่างๆจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามแนวที่กล่าว ถ้าสังคมนั้นๆไม่มีทางเลือก”

ทั้งหมดนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2534 เพื่อนำไปพูดประกอบการอภิปรายจัดโดยสมาคมนักข่าวฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2534

ปฏิกิริยาก็คือ มันขัดกับวัฒนธรรมและอุปนิสัยของคนไทย ซึ่งรักความสงบสันติ (และขี้ขึ้นขมอง) ไม่รู้หรือบ้านเมืองนี้มีกฎหมาย (ซึ่งผู้มีอำนาจเขาถืออยู่) จะบ้าหรือ!
กำลังโหลดความคิดเห็น