xs
xsm
sm
md
lg

สังคมเครียดมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้โดยเจ้าของคอลัมน์

ระยะนี้มีข่าววัยรุ่นระดับนักเรียน นักศึกษาฆ่าตัวตายหนีความเครียดต่อเนื่องหลายกรณี

มีทั้งนิสิตแพทย์กระโดดตึกตายเพราะเครียดเรื่องการเรียน นิสิตกระโดดตึกตายเพราะผิดหวังที่แฟนสาวบอกเลิกรัก และก่อนหน้านี้นักเรียนฆ่าตัวตายเพราะเสียใจที่ขาดคอมพิวเตอร์ทำรายงานสู้เพื่อนไม่ได้

บางคนก็เลยโทษว่าเป็นเพราะสื่อนำเรื่องมาเผยแพร่ทำให้เป็นแบบอย่างทำตาม

แต่จากผลการสำรวจความเห็นของ “สวนดุสิตโพล” ระบุว่า การเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นนั้น 70.11% ของวัยรุ่นเห็นว่าไม่มีผลชี้นำให้เอาอย่าง มีคนตอบว่ามีผลชี้นำแค่ 6.81%

เป็นอันว่าสื่อรอดตัวไปจากการถูกกล่าวหาว่าเสนอข่าวแล้วเกิดผลเสียต่อสังคม

นี่เป็นเรื่องปกติที่สังคมข่าวสารต้องการรับรู้เหตุการณ์ และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยสื่อนำมาถ่ายทอดฉายภาพให้เห็น

เสียงวิพากษ์จากสังคมนั้นมีแน่นอน และการแสดงออกในการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็อาศัยการเสนอข่าวและการวิจารณ์จากสื่อนั่นแหละเป็นมูลเหตุ

ภาพของคนที่ไปฟังรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ที่ถูกระงับการออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง 9 จนต้องจัดรายการ “สัญจร” ได้รับการต้อนรับจากผู้คนที่ออกจากบ้าน และที่ทำงานไปฟังกันมากขึ้นโดยลำดับ

จากจำนวนหลายพันคนในการจัดครั้งแรกๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เพิ่มเป็นหลายหมื่นคนที่ลุมพินีสถาน ในการจัดสัญจรครั้งที่ 8 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และคงจะมากขึ้นอีกในวันศุกร์ต่อๆ ไป ด้วยการบอกเล่าปากต่อปาก เช่นเดียวกับการถามหาต้องการแผ่นซีดีบันทึกภาพและเนื้อหาของรายการนี้อย่างกว้างขวาง

การสวมเสื้อยืดสีเหลืองซึ่งพิมพ์ถ้อยคำ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” เป็นการแสดงสัญลักษณ์อีกนัยหนึ่งของการแสดงว่าไม่เห็นด้วยกับหลายเรื่องที่ผู้นำรัฐบาลดำเนินการ จนถูกคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ตั้งข้อสังเกตและจี้ให้นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ตอบข้อสงสัยที่ดูจะมีประเด็นใหม่เพิ่มขึ้นทุกวันศุกร์

การพูดที่ช่วยสังเคราะห์ประเด็นที่น่าสงสัยจึงเป็นผลของเหตุที่เกิดจากการมีพฤติการณ์ในการบริหารของผู้นำรัฐบาล

นี่ต่างหากจึงเป็นสิ่งกระตุ้นให้คนในสังคมอยากรู้เรื่อง อยากรู้ข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ตรงๆ สดๆ โดยการเดินทางไปฟังที่สวนลุมพินี หรือจากการรับฟังโดยผ่านเครือข่ายคลื่นวิทยุชุมชน 97.75 หรือผ่านเว็บไซต์ของผู้จัดการออนไลน์ รวมทั้งผ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

ด้วยสภาวะโลกาภิวัตน์ ทั้งเทคโนโลยียุคใหม่ที่เอื้อต่อการรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็วหลากหลายวิธีการ

การเปิดรับข่าวสารและการแสดงออกของผู้คน จึงเปลี่ยนไปจากยุคอดีตมาก

การปิดกั้นการรับรู้หรือการข่มขู่การเผยแพร่ข่าวสารที่เกิดจากความคิดของนักการเมืองแบบเก่า จึงไม่มีทางแก้ปัญหาได้

ประเด็นที่สำคัญก็คือ หลายปัญหาและความเครียดที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลขณะนี้มิใช่เกิดเพราะสื่อ

เพียงแต่สื่อมีหน้าที่เผยแพร่ให้เกิดความรับรู้ และวิพากษ์วิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดก็ตามที่ทำอะไรไม่ชอบมาพากล ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม หรือเบียดบังผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง

ก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ข่าว และการวิจารณ์ในเชิงลบพร้อมๆ กับปฏิกิริยาความไม่พอใจของสังคมกลุ่มต่างๆ ทยอยเคลื่อนไหวต่อต้าน

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้นำรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ที่ดี ดำเนินการโดยมุ่งผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม และประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

กระแสข่าวและความนิยมชมชอบก็จะมีต่อเนื่องอย่างเป็นธรรมชาติ ส่งเสริมเสถียรภาพของรัฐบาลโดยปริยาย

ดังเช่นเรื่องราวข่าวสารที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชดำริ สื่อต่างๆ ล้วนนำเสนอเผยแพร่ด้วยความรู้สึกเป็นสิริมงคลก็เพราะที่มาของเรื่องเต็มไปด้วยเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและสังคมโดยรวม

ดังนั้น การที่ทางการเมืองจะได้ผู้บริหารมาจากภาคธุรกิจนั้น ไม่เป็นปัญหา หากรู้จักแยกแยะหน้าที่ได้ว่าเป้าหมายการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น จะต้องมุ่งเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม

น่าเสียดายที่เรามีองค์พระประมุขของชาติทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นแบบอย่างมายาวนาน และมีตัวอย่างผลงานที่อ้างอิง หากนักการเมืองทั้งหลายที่มักอ้างความจงรักภักดี และความเคารพสูงสุดจะมี “ปฏิบัติบูชา” โดยมีความคิดและการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

ปัญหาต่างๆ ที่สั่งสมมาจากอดีตก็มากพอแล้ว ยังซ้ำเติมด้วยปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นอีก

การประท้วงของกลุ่มต่างๆ ก็ยังมีและคงจะมีเพิ่มขึ้นอีก

เพราะ หลักธรรมาภิบาล ถูกถามหาผลในทางปฏิบัติในทุกระดับ ไม่ใช่แค่รัฐบาลสั่งให้หน่วยงานต่างๆ ยึดหลักนี้ในการวางแผน และปฏิบัติด้วย “ความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้”

แล้วความเครียดที่เกิดขึ้นจะโทษใคร
กำลังโหลดความคิดเห็น