xs
xsm
sm
md
lg

ที่เรียกว่า "ข่าว" ในโทรทัศน์

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ในหลายๆ โอกาสของช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมได้เขียนถึงความล้าหลังของงานข่าวในโทรทัศน์ไทย ตลอดทั้งความจำเป็นในการปฏิรูปงานข่าวในสื่อประเภทนี้ให้มีความเป็นวิชาชีพสูงขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นใหม่ๆ ในสังคม ในบางครั้ง ผมก็ได้ให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ในระดับของแนวความคิดและรูปธรรมนานาชนิด แต่ก็คงจะไม่ค่อยจะได้รับความเอาใจใส่อะไรจากบุคคลในระดับผู้บริหาร ผู้จัดการ หรือผู้ปฏิบัติการในวงการโทรทัศน์สักเท่าไรนัก

ทว่าความจริงที่ว่ามีสื่อหลายชนิดได้ให้ความสนใจ ด้วยการนำบทความชุด "การปฏิรูปข่าวโทรทัศน์เพื่อเหยื่อสึนามิ" ที่วิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนของวงการข่าวโทรทัศน์ไทย ทั้งในแง่ของความไม่ใส่ใจและความล่าช้าในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสึนามิเมื่อปลายปีกลาย จากคอลัมน์นี้ไปตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำอีกหลายครั้ง ทั้งโดยพลการและขออนุญาตจากผู้เขียน อีกทั้งมีสื่อบางแห่งให้ความสนใจขนาดที่ตั้งใจส่งคนมาเชิญผมไปเขียนคอลัมน์ประจำเกี่ยวกับโทรทัศน์ รวมทั้งออกคำชักชวนให้ไปพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อทำนองนี้ตามสถานที่และสื่อต่างๆ หลายครั้ง

ถึงแม้ว่าจะไม่มีเวลาตอบสนองเจตนาดีของท่านทั้งหลายได้สักเท่าไรนัก ทว่าก็คงจะถือได้เหมือนกันว่า เหล่านี้เป็น "สัญญาณ" ชนิดหนึ่ง ที่บ่งบอกเราว่ารายการเกี่ยวกับข่าวในโทรทัศน์ไทยนั้นคงจะตกอยู่ในสภาพที่คนจำนวนไม่ใช่น้อยๆ ชักจะสุดแสนที่จะทนทานกันแล้วจริงๆ อย่างน้อยๆ ปรากฏการณ์เล็กๆ นี้ก็คงเป็นอาการที่แสดงว่ามีความต้องการที่จะได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อเสนอแนะใหม่ๆ กันอย่างจริงจังและสม่ำเสมอจริงๆ แล้ว

ในวันนี้ ผมจึงจะทดลองตอบสนองความต้องการที่ว่านั้นดู ทั้งนี้ ขอออกตัวสักเล็กน้อยเสียก่อนเช่นเคยว่า ผมเองนั้นไม่ค่อยได้ดูข่าวโทรทัศน์เท่าไรนัก ฉะนั้น ข้อสังเกตต่างๆ ต่อไปนี้จึงมีพื้นฐานอยู่ที่การเป็นคนดูแบบห่างๆ มากกว่าคนดูแบบใกล้ชิด ทั้งนี้ ก็เพราะว่าคนเราต่างมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันตนเองเหมือนกัน เนื่องจากหากจะตั้งหน้าตั้งตาเป็นคนดูแบบใกล้ชิด ก็เกรงว่าตนเองอาจจะถึงขนาดล้มป่วยลงได้ เพราะเท่าที่ดูอย่างผ่านๆ เป็นครั้งคราว ก็รู้สึกว่าสุขภาพจิตของตนเองจะรับไม่ค่อยไหวอยู่แล้ว

ก่อนอื่น รายการข่าวในโทรทัศน์ที่จะพูดถึงวันนี้หมายถึง (1) รายการข่าวทั่วไป (2) รายการสนทนาเกี่ยวกับข่าวที่เชิญบุคคลภายนอกไปทำหรือร่วมรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเภทที่เรียกๆ กันทุกวันนี้ว่า "เล่าข่าว" บ้าง "คุยข่าว" บ้าง หรืออะไรอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน และ (3) รายการวิเคราะห์ข่าว ทั้งนี้ ในวันนี้ เราจะไม่พูดถึงรายการข่าวนำเข้า ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่สมควรแยกไปพูดถึงเป็นการต่างหาก และข่าวในกลุ่มรวมการเฉพาะกิจต่างๆ เนื่องจากเป็นรายการภาคบังคับ ซึ่งสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งไม่สามารถมีบทบาทในการดำเนินการใดๆ ได้โดยตรง

สำหรับรายการข่าวทั่วไปของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ นั้น กล่าวโดยรวมๆ ก็ทำได้ในระดับพอหลับหูหลับตาดูๆ กันไป ซึ่งแต่ละสถานีดูจะไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนัก นอกจากว่าบางแห่งอาจจะโดดเด่นกว่าที่อื่นสักหน่อย ก็ตรงที่มีภาพประกอบสดๆ มาประกอบ โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับการประชุมนัดสำคัญต่างๆ ของรัฐสภา องค์กรอิสระ และคณะรัฐมนตรี

ทว่าจุดอ่อนของรายการประเภทนี้ก็คือ แต่ละสถานีมักจะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ไม่มีจุดเด่นที่แสดงความสามารถในการแข่งขันของแต่ละแห่งอย่างชัดเจน ที่สำคัญก็คือ ผลงานประเภทนี้ของสถานีแต่ละแห่งมักจะครอบคลุมประเภทข่าวไม่ค่อยทั่วถึง โดยมักจะเน้นข่าวการเมืองในความหมายที่ผิวเผิน โดยเฉพาะการติดตามว่านักการเมืองคนนั้นคนนี้พูดว่ากระไรในเรื่องนั้นเรื่องนี้เสียเป็นส่วนมาก อีกทั้งมักจะมีอคติอย่างชัดเจนตรงที่มักจะเน้นข่าวจากฝ่ายรัฐบาลมากกว่า

การนำเสนอข่าวจากฝ่ายค้านยังมีน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวจากตัวแทนของกลุ่มที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตัวอื่นๆ นั้นแทบจะไม่ค่อยมี ทั้งๆ นี่คือจุดสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ข่าวทั่วไปของโทรทัศน์ไม่ค่อยมีข่าวเศรษฐกิจและข่าวสังคมเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ข่าวประเภทหลังนี้คือ "อีกด้านหนึ่ง" ที่สำคัญกว่าข่าวการเมืองมาก เนื่องจากเป็น "ของจริง" ที่เป็นทั้งภาพสะท้อน ผลกระทบ และเป้าหมายของการเมือง ข่าวเหล่านี้แหละคือจุดที่เราจะใช้ "ตรวจสอบ" ฝ่ายการเมืองได้มีความสามารถเพียงใด มีผลประโยชน์รวมและส่วนตัวปะปนอยู่ตรงไหนบ้าง และมีความล้มเหลวที่ไหน

เช่น นโยบายลดแลกแจกแถมที่สร้างความสุรุ่ยสุร่ายต่างๆ ได้นำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจส่วนรวมและส่วนบุคคลในระยะสั้น กลาง ยาวอย่างไร หรือนโยบายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเล่นแร่แปรธาตุต่างๆ จะส่งผลกระทบในทางบวกและลบแก่ใครอย่างไรและเมื่อใด เป็นต้น

ในแง่ของข่าวเศรษฐกิจ เมื่อใดที่มีก็มักจะเป็นข่าวพื้นๆ ที่ระบุอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ความเคลื่อนไหวในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแหล่งข่าวส่วนมากอยู่ในวงการรัฐบาล

สำหรับข่าวสังคม ในขณะที่ข่าวประเภทนี้มักจะมีไม่มากนัก อะไรที่พอจะเข้าข่ายข่าวสังคมมักจะมีข่าวอาชญากรรมมากขึ้นทุกที เช่น คนติดยาบ้าจนทำร้ายคนอื่น คนมีความทุกข์อันแสนสาหัสจนกระทั่งต้องฆ่าตัวตาย รวมทั้งเรื่องราวของอุบัติเหตุต่างๆ อย่างเช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม รถชนกัน เป็นต้น ข่าวสังคมที่มีนัยสัมพันธ์กับความล้มเหลวของนโยบายของรัฐยังมีน้อยมาก ซึ่งหากข่าวโทรทัศน์สามารถเชื่อมโยงจุดนี้ได้ดีๆ และบ่อยๆ รัฐบาลก็จะตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงนโยบายของตนให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น แทนที่จะสร้างปัญหาใหม่ หรือซ้ำเติมปัญหาเก่าๆ

ในส่วนของข่าวทั่วไปนั้น ข่าววัฒนธรรมในความหมายอย่างกว้างยังมีไม่เพียงพอ เช่น ความเคลื่อนไหวในระบบแห่งการผลิตความคิดและศิลปะต่างๆ กล่าวได้ว่าไม่มีเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้น วงการแห่งความคิดที่กระจัดกระจายอยู่ตามวัด มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย นักคิดอิสระเก่งๆ ตลอดทั้งผู้ผลิตภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ นั้นแทบจะไม่มีพื้นที่ในระบบข่าวของโทรทัศน์เลย

ที่เป็นเช่นนี้ อาจจะเป็นเพราะว่ารายการประเภทนี้ทำยากกว่ามาก การวางระบบผลิตข่าวพวกนี้ต้องกระทำโดยบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางพอสมควร ไม่เช่นนั้น ก็จะมองไม่เห็นโอกาสและประเด็นที่จะจับเรื่องราวต่างๆ อย่างนี้มาทำเป็นข่าว ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญมากของวงการข่าวโทรทัศน์ที่ไม่ยอมลงทุนกับข่าวกลุ่มนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นความสามารถและศักยภาพต่างๆ ของบุคคลและสถาบันที่มีความหมายในเชิงอนาคต

สำหรับข่าวที่อยู่ในกลุ่มวัฒนธรรม จะมีก็แต่ข่าวเกี่ยวกับธุรกิจบันเทิง โดยเน้นที่บรรดาดาราทั้งหลาย เท่านั้นที่ได้รับความเอาใจใส่อย่างจริงจังพอสมควร ถึงขนาดที่มีรายการข่าวบันเทิงแยกออกมาต่างหาก ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะเป็นข่าวตลาดที่สามารถให้ผลประโยชน์ข้างเคียงแก่ทางสถานี ต้นทุนถูก ผลิตง่าย มิหนำซ้ำ ในบางกรณี เป็นการโฆษณาแอบแฝงที่ทางสถานีนั้นๆ มีผลประโยชน์ร่วมอยู่โดยตรงหรือโดยอ้อม

สำหรับรายการสนทนาเกี่ยวกับข่าวที่มีการเชิญบุคคลภายนอกไปทำหรือไปร่วมรายการนั้น ในระยะหลังๆ มานี้ดูจะทำกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ไม่ค่อยได้ลงทุนกับการพัฒนาบุคลากรข่าวของตนเองมานาน การจะพัฒนาแบบฉับพลันทันทีก็ไม่ทันใช้งาน การว่าจ้าง (หรือแม้กระทั่งขายเวลา) ให้บุคคลภายนอกมาทำรายการประเภทนี้จึงกลายเป็น “ทางออก” ที่มีต้นทุนต่ำดี มิหนำซ้ำ สามารถทำสัญญาได้เป็นช่วงๆ หากไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาดหรือด้านอื่นๆ ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ในรอบต่อไป

ข้อสังเกตก็คือทิศทางของรายการพวกนี้จะเป็นไปตามพื้นเพของผู้ทำรายการ เช่น ถ้าเป็นคุณสมัคร สุนทรเวชกับคุณดุสิต ศิริวรรณ ก็จะตั้งหน้าตั้งตาให้ความสำคัญกับการเข้าข้างกลุ่มที่มีอำนาจอยู่แล้ว อีกทั้งยังตั้งป้อมวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มที่มีอุดมการณ์ ความคิดเห็น และผลประโยชน์ไม่เหมือนกับกลุ่มที่มีอำนาจอยู่แล้วอย่างเป็นตุเป็นตะ ทั้งนี้ โดยการทำรายการมีลักษณะเป็นการใช้วาทศิลป์สั้นๆ ประเภท “กระบี่ประโยคเดียว” เพื่อยกย่องคนที่ตนชอบหรือเสียดสีคนที่ตนไม่ชอบแบบง่ายๆ ไม่ปะติดปะต่อ และบ่อยๆ ด้วยน้ำเสียงที่แสดงอารมณ์ โดยไม่ค่อยมีการนำเสนอเหตุผลและข้อมูลที่เป็นกลางประกอบเท่าที่ควร

กล่าวได้ว่านี่คือรายการ “ความคิดเห็น” ล้วนๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับการทำรายการแบบวิพากษ์วิจารณ์ข่าวทางวิทยุที่รุ่งเรืองในสมัยก่อนที่มักจะเน้นข่าวชาวบ้านทะเลาะเบาะแว้งกัน ทว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีขอบเขตการแพร่กระจายกว้างขวางทั่วประเทศ การนำวัฒนธรรมการพูดแบบผ่านๆ ที่เป็นความคิดเห็นล้วนๆ และค่อนข้างด้านเดียวมาเสนอ โดยเฉพาะในเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองระดับสูง ทั้งระดับชาติและระหว่างชาตินั้น ดูจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเมืองไทย

นักศึกษาในโครงการบัณฑิตศึกษาต่างๆ น่าจะนำรายการอย่างนี้ไปวิเคราะห์ในวิทยานิพนธ์โดยละเอียดว่ารายการเช่นนี้ผลิตเนื้อหาอะไรและวิธีการอย่างไร จะส่งกระทบอะไรอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งป้อมเป็นนักสรรเสริญหรือแม้กระทั่งเป็นนักขอโทษแทนรัฐบาลตลอดเวลานั้น ดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งต้องนำเสนอข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะอย่างเป็นกลางและรอบด้าน ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับข่าวสาร เพราะสื่อที่ดีในสังคมเปิดใดๆ คงไม่ใช่โฆษกของรัฐบาลที่หาความเพลิดเพลินจากการยกย่องหรือด่าทอใครๆ เป็นกิจวัตรวันละหลายเวลาเช่นนี้

จุดที่น่าสนใจก็คือ ในระยะสองสามปีมานี้ รายการประเภทที่เรียกๆ กันว่า "เล่าข่าว" บ้าง "คุยข่าว" บ้างอย่างนี้ ชักจะมีมากขึ้นทุกที แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่มีรายการไหนๆ เลยที่จะสามารถสร้างความอัศจรรย์ใจได้เท่ากับรายการที่กล่าวถึงนี้

ข้อสังเกตก็คือรายการประเภทนี้แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพราะเกือบร้อยทั้งร้อยอาศัยการซื้อหนังสือพิมพ์สักสิบฉบับ สิริราคารวมกันทั้งสิ้นสักร้อยสองร้อยบาทมากางดู แล้วก็เลือกอ่านๆ และให้คนดูโทรทัศน์ได้ฟังสักจำนวนหนึ่ง พร้อมๆ กับการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวประกอบเรื่องราวต่างๆ แบบนิดๆ หน่อยๆ และในบางครั้งก็ส่งเสียงหัวเราะเล็กๆ น้อยๆ เสริม หรือเพื่อให้เกิดสีสันเพิ่มเติมอีกสักนิด ก็กาง "หลักฐาน" คือหน้าหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ข่าวนั้นๆ ให้ดูด้วย ก็เป็นอันว่าสิ้นสุดกิจกรรม

จากมุมมองของหนังสือพิมพ์อันเป็นที่มาของรายการประเภทนี้ การผลิตรายการแบบนี้จะเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้นอกจากเป็นการทำงานแบบสุกเอาเผากินขนานแท้และดั้งเดิมทีเดียว ในบางกรณี ข่าวที่หนังสือพิมพ์ได้มาด้วยความยากลำบาก โดยอาจจะต้องฝ่าอันตรายต่างๆ ไม่ใช่น้อย รายการโทรทัศน์พวกนี้ก็นำมาเอ่ยถึงแบบสั้นๆ และผิดๆ ถูกๆ สุดแต่ความสะดวกของตนเอง

นอกจากนี้ นักข่าวหนังสือพิมพ์ที่ทำงานหนักในการผลิตข่าวและบทวิเคราะห์ข่าวแต่ละเรื่องคงจะงุงงงไม่ใช่น้อยว่าการทำงานแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ สบายๆ คล้ายๆ การแต่งหน้าแต่งตัวเพื่อร่วมในการแสดงละครสักฉากหนึ่งเช่นนี้ จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้นำเอางานของตนไปขายต่อได้มากมายเป็นหลายหมื่นหลายแสนบาทต่อเดือน โดยเฉพาะคนแบบคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดาที่ตั้งหน้าตั้งตา "เดินสาย" เข้าช่องนู้นออกช่องนี้บ่อยๆ เหมือนกับการเข้าห้องน้ำนั้น ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น "ดารา" ไปเรียบร้อยแล้ว

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ รายการคุยๆ เล่าๆ ข่าวอะไรแบบนี้จะวางตัวเป็นกลางๆ เน้นความสนุกสนานเป็นใหญ่ หากจะต่อว่าใครก็มักจะทำแบบทีเล่นทีจริง ตอดนิดตอดหน่อย จนกระทั่งคนดูโทรทัศน์อาจจะสับสนเหมือนกันว่าเรื่องที่เองได้ยินเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ทั้งๆ ที่ข่าวส่วนมากมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคมได้จริงๆ แต่ก็จะถูกนำเสนอแบบเล่นๆ จนกระทั่งมีผลกับใครๆ ในลักษณะที่ชั่งน้ำหนักไม่ค่อยได้ว่า อะไรสำคัญหรือไม่สำคัญเพียงไหน และเพราะอะไร ทว่าคนดูโทรทัศน์ก็ ดูจะชื่นชอบรายการแบบนี้ จนว่ากันว่าเงินโฆษณาเข้าสู่รายการข่าวโทรทัศน์มากขึ้นในระยะหลังๆ ก็เพราะรายการประเภทนี้

นักข่าวหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าๆ ที่เห็นโลกมานานคงจะอดรู้สึกทึ่งกับความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้ ใครเลยจะนึกว่าข่าวเป็นสิ่งที่เอามาขายกันแบบทีเล่นทีจริงได้ มิหนำซ้ำ คนขายข่าวแบบนี้ยังกลายเป็นคนดังถึงขนาดที่มีแฟนคลับมาคอยกรี๊ดให้อีกต่างหาก นี่แหละคือความมหัศจรรย์ของสื่อ "มวลชน" อย่างโทรทัศน์

จุดที่น่าวิเคราะห์ดูเหมือนกันก็คือรายการที่อาศัยการนำข่าวในหนังสือพิมพ์มาขายต่อแบบง่ายๆ อย่างนี้ส่งผลกระทบต่อเกียรติคุณ ยอดจำหน่าย รายได้จากการโฆษณา และขีดความสามารถในการแข่งขันของหนังสือพิมพ์หรือไม่ อย่างไร และเพียงใด และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มันเข้าข่ายผิดมารยาท หรือแม้กระทั่งผิดจริยธรรมทางวิชาชีพหรือไม่

เราต้องไม่ลืมว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีรายได้มากมายมหาศาลกว่าหนังสือพิมพ์มาก คำถามก็คือทำไมไม่ยอมนำเงินมาลงทุนผลิตข่าวดีๆ ของตนเอง เพราะนี่คือจุดที่จะแสดงเกียรติภูมิแห่งความเป็นสื่อที่แท้จริงของโทรทัศน์ จริงๆ แล้ว สื่อที่มีระดับการลงทุนและรายได้ต่ำกว่ามากอย่างหนังสือพิมพ์ต่างหากที่ต้องหันมานำข่าวจากโทรทัศน์ไปอ้างอิง ไม่ใช่กลับกันเช่นนี้

ในส่วนที่เกี่ยวกับรายการวิเคราะห์ข่าวนั้น กล่าวได้ว่ามีน้อยจนน่าตกใจ ส่วนมากรายที่เข้าข่ายว่าอยู่ในกลุ่มนี้มักจะเป็นการเชิญคนจากที่นั่นที่นี่มาพูดๆ อย่างอิสระ แล้วก็แยกวงกลับบ้านกันไป ทั้งนี้ โดยไม่มีข้อสรุปว่าอะไรเป็นอะไรและจะทำอะไรต่อไปเสียด้วยซ้ำ ทางออกอย่างหนึ่งอาจจะเป็นว่าสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งมีผู้เชี่ยวชาญประจำของตนสำหรับการวิเคราะห์ข่าวแต่ประเภทของตนเอง แทนที่จะเชิญบุคคลอื่นๆ เข้ามาพูดในรายการอย่างพร่ำเพรื่อเพียงเพราะว่าต้นทุนถูกเท่านั้น

หลังจากที่รายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ถูกถอดถอนด้วยแรงกดดันทางการเมืองแล้ว ก็แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีรายการประเภทวิเคราะห์ข่าวอะไรที่มีอยู่ในวงการโทรทัศน์เทียบชั้นได้เลย เพราะตลอดเวลากว่าสองปีที่ช่อง 9 รายการที่ว่านั้นได้นำเสนอข้อมูล บทวิเคราะห์ และประเด็นปัญหาขนาดมหภาคใหญ่ๆ ของสังคมไทยจากมุมมองที่ท้าทายกระบวนทัศน์ต่างๆ ทั้งเก่าและใหม่ว่าด้วยเศรษฐกิจการเมืองไทยในลักษณะที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน

การสำรวจเนื้อหาของรายการดังกล่าวที่นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือหนาสามสี่ร้อยหน้าได้ถึงสี่เล่มเป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่านี่คือนวัตกรรมในการวิเคราะห์ข่าวทางโทรทัศน์เลยทีเดียว ไม่เฉพาะในขอบเขตของเมืองไทยเท่านั้น ทว่าในระดับสากลด้วย ในโลกนี้คงจะมีไม่กี่กรณีที่รายการวิเคราะห์ข่าวทางโทรทัศน์เพียงรายการเดียวจะมีขอบเขตและเนื้อหาอันลึกล้ำจนสามารถท้าทาย "ภาวะที่ดำรงอยู่" และจุดชนวนความคิดสำหรับการตั้งคำถามกับอำนาจรัฐโดยตรงด้วยสันติวิธีได้อย่างน่าสนใจขนาดนี้
ในส่วนของการวิเคราะห์ข่าวประเภทอื่นๆ ทางโทรทัศน์นั้น ดูเหมือนว่าข่าวเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ก็น่าพิจารณาเหมือนกัน ข้อสังเกตก็คือสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ยังไม่ค่อยยอมพัฒนาบุคลากรของตนอย่างเต็มที่เท่าไรนัก ส่วนมากเป็นพวกมือปืนรับจ้างที่ "เดินสาย" จากภายนอก หรือแม้กระทั่งการนำ "นักวิเคราะห์" จากบริษัทที่มีอาชีพรับจ้างซื้อขายหลักทรัพย์เข้ามาร่วมเป็น "ผู้ผลิต" ข่าวประเภทนี้โดยตรงเลยทีเดียว ทั้งนี้บุคคลเหล่านี้มีผลประโยชน์โดยตรงจากการเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์โดยรวม และในบางกรณีหลักทรัพย์รายตัวด้วยซ้ำไป

ฉะนั้น บ่อยๆ เราจึงจะได้ยิน "คำแนะนำ" ให้มีการซื้อบ่อยๆ ขายบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้บรรดาโบรกเกอร์ได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ยังผลให้การเล่นหุ้นระยะสั้น (มาก) กลายเป็น "วัฒนธรรม" ของตลาดหลักทรัพย์ไทยไปเสียแล้ว มิหนำซ้ำ ในกรณีมีการนำเสนออย่างโจ่งแจ้งว่าหุ้นตัวไหนน่าสนใจและมี "ราคาเป้าหมาย" เท่าไร โดยไม่ค่อยนำเสนอข้อมูลประกอบข้อสรุปของตนอย่างครบถ้วน คุณสมบัติด้าน "ความเป็นกลาง" ของผู้ผลิตข่าวกลุ่มนี้จึงค่อนข้างอ่อน

ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจของโลกและของประเทศจะไม่ค่อยเอื้ออำนวยสักเท่าไรก็ตาม เราก็จะได้ยิน "คำทำนาย" ว่าตลาดหลักทรัพย์กำลังพุ่งไปข้างหน้าเท่านั้นเท่านี้จุด เสมือนว่าการถือครองหลักทรัพย์เอาไว้ในวันนี้จะได้รับ "มูลค่าเพิ่ม" บางระดับในอนาคตอย่างแน่นอนเสมอ

ครั้นเมื่อดัชนีของตลาดหลักทรัพย์โดยรวม หรือหลักทรัพย์รายตัว ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ทำนายเอาไว้ นักพยากรณ์เหล่านี้ก็มักจะทำเป็นหลงลืมคำพูดของตนได้อย่างหน้าตาเฉย ถึงจะมีคำอธิบายย้อนหลังอย่างไร ก็ฟังไม่ค่อยขึ้น ว่าแล้ว ก็ทำนายอนาคตอันสดใสเพื่อเชิญชวนให้ใครๆ ซื้อๆ ขายๆ บ่อยอีกเช่นเคย ฉะนั้น ใครที่ชอบเล่นหุ้นก็ต้องควานให้พบโบรกเกอร์ที่ทั้งเก่ง มีวิสัยทัศน์และจริยธรรม อีกทั้งวางระบบในการกลั่นกรองข้อมูลประกอบการตัดสินใจของตนเองให้ดีด้วย

บทสำรวจแบบเร็วๆ ข้างต้นนี้ชี้ว่า วงการข่าวโทรทัศน์จะต้องปรับปรุงตัวเองกันขนานใหญ่ ทั้งในแง่ของปรัชญาการทำงานเกี่ยวกับการผลิตข่าวให้แสดงวิสัยทัศน์เชิงอนาคตมากขึ้น การเพิ่มระดับเม็ดเงินที่ลงทุนกับบุคลากรสำหรับการผลิตข่าวของตนเองอย่างจริงจัง แทนที่การสมยอมกับวัฒนธรรมการเดินสายที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อเกียรติภูมิของแต่ละสถานีโดยตรง และให้ความสำคัญกับการทำรายการข่าวเพื่อการตรวจสอบอำนาจรัฐและพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้มากและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ก็ตาม คุณภาพของข่าวโทรทัศน์เป็นดัชนีที่บ่งบอกว่าสังคมของเราจะเดินหน้าหรือถอยหลังเลยทีเดียว!
กำลังโหลดความคิดเห็น