xs
xsm
sm
md
lg

100 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ไทยและนอร์เวย์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2448 ซึ่งปัจจุบันครบรอบ 100 ปี โดยความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการลงทุน ดำเนินไปด้วยความราบรื่นตลอดมา รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ของประเทศทั้งสองก็มีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี

สถาปนาความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์ครบ 100 ปี

ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับนอร์เวย์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2448 ต่อมาในปี 2495 จึงมีการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตในระดับอัครราชทูต และได้ยกฐานะความสัมพันธ์ขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2503 จากนั้นนอร์เวย์ได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตมาประจำประเทศไทยตลอดมา

ส่วนไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล เมื่อเดือนสิงหาคม 2530 จากสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนอร์เวย์เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2546 คนไทยมีถิ่นพำนักในนอร์เวย์จำนวน 4,962 คน

สำหรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ในปี 2547 ทั้งสองประเทศมีปริมาณการค้ามูลค่า 194 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17% เมี่อเปรียบเทียบกับตัวเลขปี 2546 โดยไทยส่งออก 79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าสินค้า 115 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ก่อตั้งหอการค้าไทย-นอร์เวย์

มีการก่อตั้งหอการค้าไทย-นอร์เวย์ขึ้นเมื่อปี 2539 ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 50 บริษัท เป็นต้นว่า ABB, Hydro, Jotun, Norconsult Telematics, SAS, ScanEast, Statoil ฯลฯ มีเว็บไซต์ คือ www.norcham.or.th

หน่วยงาน Norwegian Trade Council ก่อตั้งสำนักงานสาขาในกรุงเทพมหานคร โดยมีบุคลากรในไทย 5 คน เน้นให้บริการข่าวสารการตลาด การลงทุน การหาผู้ร่วมทุน การเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย การแสดงสินค้า การสัมมนา ฯลฯ

มีการก่อตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Economic Commission) ระหว่างไทยและนอร์เวย์ขึ้นเมื่อปี 2528 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศในด้านการค้า เศรษฐกิจ การประมง อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยตัวแทนฝ่ายนอร์เวย์ คือ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และตัวแทนฝ่ายไทย คือ กระทรวงการต่างประเทศ

รัฐบาลนอร์เวย์ยังจัดตั้งกองทุน Norfund เมื่อปี 2540 มีมูลค่า 1,500 ล้านโครน เพื่อลงทุนในธุรกิจเอกชนที่มีความเสี่ยงสูงในลักษณะแสวงหากำไร มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนา โดยกองทุนแห่งนี้เข้ามาลงทุนในกองทุน Siam Investment Fund เป็นเงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทั้งหมด 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนในบริษัทไทยที่ต้องการปรับปรุงกิจการภายหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

ลงทุนในธุรกิจผลิตปุ๋ยและกระดาษในไทย

สำหรับบริษัทนอร์เวย์ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เป็นต้นว่า บริษัท Telenor ถือหุ้นในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ DTAC ที่เรารู้จักกันดี ขณะที่บริษัท Norsk Hydro ของนอร์เวย์ร่วมทุนกับบริษัทโรจนกสิกิจของไทยก่อตั้งบริษัท Hydro Thai จำกัด เมื่อปี 2520 เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยไข่มุกตราเรือไวกิ้ง ต่อมาก่อตั้งโรงงานผสมปุ๋ยเคมีขนาดใหญ่ขึ้นในประเทศไทยและเปิดดำเนินการเมื่อปี 2538

สำหรับบริษัท แพนเอเชียเปเปอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเดิมชื่อบริษัท ชินโฮเปเปอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่ม Shin Ho ของเกาหลีใต้ ต่อมากลุ่ม Shin Ho ประสบวิกฤตการณ์ทางการเงิน จึงขายหุ้นให้แก่กลุ่มของบริษัท Norske Skog ของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ใหญ่ที่สุดในโลก

ปัจจุบันบริษัท แพนเอเชียเปเปอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์รายเดียวของไทย ขนาดกำลังผลิต 125,000 ตัน/ปี ตั้งโรงงานในจังหวัดสิงห์บุรี มีกรรมวิธีการผลิตโดยนำกระดาษหนังสือพิมพ์เก่ามารีไซเคิลเพื่อผลิตเยื่อกระดาษ จากนั้นนำไปผสมกับเยื่อใยยาวเข้าในสัดส่วน 10% เพื่อผลิตเป็นกระดาษหนังสือพิมพ์

ส่วนบริษัท Statoil ซึ่งเป็นบริษัทผลิตปิโตรเลียมรายใหญ่ที่สุดของนอร์เวย์ เข้ามาร่วมลงทุนกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในโครงการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเมื่อปี 2533 อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2541 บริษัทแห่งนี้ถอนตัวออกจากธุรกิจในประเทศไทยทั้งหมดเนื่องจากนโยบายของบริษัทแม่

นางจิตริยา ปิ่นทอง เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล ได้ให้ทัศนะว่านอร์เวย์เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดี เนื่องจากมีแหล่งน้ำมัน ทำให้ประเทศมีรายได้จากน้ำมันจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูง คือ 33 - 70% และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราสูงถึง 25% ดังนั้น จึงมีเงินจำนวนมากสำหรับนำมาใช้อุดหนุนด้านสวัสดิการสังคม

อุตสาหกรรมนอร์เวย์กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ โดยกรุงออสโลเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การเงิน และอุตสาหกรรมอาหาร ภาคตะวันตกและเหนือเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมน้ำมันภาคใต้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมกระดาษ

ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวนอร์เวย์เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 80,000 คน/ปี โดยเฉพาะคนสูงอายุที่หนีอากาศหนาว ซึ่งแม้ไทยเผชิญปัญญาสึนามิ แต่คาดว่าในปี 2548 ปริมาณนักท่องเที่ยวจากนอร์เวย์จะไม่ลดลงจากปี 2547

สำหรับปัญหาสำคัญของการส่งออกสินค้าไทยมายังนอร์เวย์ คือ ด้านมาตรฐานคุณภาพอาหาร โดยปัจจุบันการนำเข้าวัตถุดิบในด้านอาหารของไทยยังมีปัญหาเกี่ยวกับสารเจือปนและเชื้อโรค โดยเมื่อกลางปี 2548 หน่วยงานราชการของนอร์เวย์ได้สั่งห้ามนำเข้าผักชีและตะไคร้จากประเทศไทยเนื่องจากตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ซาโมเนียล่า

ปัจจุบันมีชาวนอร์เวย์เดินทางไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศจำนวนปีละประมาณ 7,000 คน แม้นอร์เวย์มีระบบประกันสุขภาพและคุณภาพการรักษาพยาบาลอยู่ในระดับสูง แต่ถ้าการรักษาในนอร์เวย์ต้องรอคอยเป็นเวลาเกิน 6 เดือน ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรักษาในต่างประเทศได้ โดยปัจจุบันสามารถขอเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีไปรักษาในสหภาพยุโรปและตุรกี

สำหรับความร่วมมือในการประสานงานให้คนนอร์เวย์มารักษาพยาบาลในประเทศไทยนั้น ยังมีปัญหาอยู่บ้าง โดยหน่วยงานของนอร์เวย์ยังมีความวิตกกังวลว่าหากสถานพยาบาลของไทยรักษาผิดพลาด ก็ยากที่จะหาผู้รับผิดชอบเพื่อชดเชยความเสียหาย จึงต้องการให้มีระบบรับประกันเพื่อความมั่นใจ

มีข้อสังเกตว่าแม้คนนอร์เวย์มีรายได้สูง สามารถจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในต่างประเทศได้แต่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในต่างประเทศ เนื่องจากมีทัศนคติ ว่า ตนเองเสียภาษีในอัตราสูงอยู่แล้ว จึงควรได้รับการรักษาพยาบาลฟรีในต่างประเทศโดยเบิกเงินจากรัฐบาล

สุดท้ายนี้ สถานทูตไทยในนอร์เวย์มีแผนจัดกิจกรรม Thailand Day ขึ้นในช่วงกลางปี 2549 เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทย นับเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเองเพื่อบุกตลาดนอร์เวย์
กำลังโหลดความคิดเห็น