xs
xsm
sm
md
lg

เกิด แก่ เจ็บ ตาย

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

ในระว่างที่นอนพักรักษาตัวอยู่ 2 เดือนกว่า ได้มีญาติมิตรสหาย แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน บางคนก็เอาดอกไม้มาเยี่ยม บางคนก็เอาผลไม้หรืออาหารบำรุงกำลังต่างๆมาให้มากมาย ต้องขอถือโอกาศนี้ขอบคุณไว้ ณที่นี้

มีกัลยาณมิตรสองคน ที่ให้ความกรุณาเป็นพิเศษ

คนแรก คืออาจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส แห่งคณะนิติศาตร์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งติดตาม
เยี่ยมเยียนและแนะนำการรักษาตัวอย่างสม่ำเสมอตลอดมา นอกจากนั้นอาจารยแสวงยังปรนปรือด้วยอาหารบำรุงอีกมากมาย

ที่สำคัญที่สุดอาจารย์แสวงได้หาหนังสือต่างๆให้ เพื่อได้อ่านระหว่างนอนพักรักษาตัว ส่วนใหญ่เป็นหนังสือธรรม อย่างเช่นหนังสือและเทปคำเทศนาของหลวงพ่อชาเป็นต้น

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อาจารย์แสวงหามามอบให้ เป็นของ พระเดชพระคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ชื่อเรื่อง “กายหายไข้ ใจหายทุกข์”

หนังสือเล่มนี้เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยไข้ทั้งหลายจะได้หามาอ่าน เพราะท่านผู้รจนาได้ชี้เห็นถึงมีหลักธรรมในระหว่างที่ร่างกายถูกพยาธิเบียดเบียน

ท่านผู้เขียน ได้สรุปหลักธรรมระหว่างเจ็บไข้ได้ป่วยไว้ด้วยข้อความสั้นๆและง่ายๆ ความว่า “ถึงกายจะป่วย แต่ใจไม่ป่วย”

ในหนังสือเล่มนี้ มีเรื่องที่น่าสนใจอีกสองตอน ตอนหนึ่งคือเรื่อง “โพชฌงค์ : พุทธวิธีเสริมสุขภาพ “ และอีกตอนหนึ่ง คือเรื่อง “เพิ่มพลังให้ชีวิต “

สมัยนี้กำลังตื่นตัวอยู่ทั่วไปในเรื่องสุขภาพ แต่เรามักมองข้ามพุทธธรรมในเรื่อง
สุขภาพไปเสีย แต่ท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภารณ์ ได้นำหลักพุทธธรรมในเรื่องนี้มาแสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งทีเดียว

กัลยาณมิตรอีกรายหนึ่ง คือคุณวิบูลย์ อิงคากุล และภริยาคือ คุณบุญชู อิงคากุล แห่งบริษัท ที่ปรึกษากฎหมายอินเตอร์เนท จำกัด ได้มอบหนังสือเรื่อง “ ปรากฎการณ์แห่งชีวิต” ของอาจารย์ระวี ภาวิไลและคณ ะ มาให้อ่าน

ผมเป็นแฟนติดตามอ่านหนังสือเกือบทุกเล่มของอาจารย์ระวี ภาวิไล เพราะติดใจในวิธีคิดและวิธีแสดงออกด้วยการพูดและการเขียน ของท่านผู้นี้

ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องปรัชญา และเรื่องหลักพุทธธรรม ดังนั้นข้อคิดของท่านจึงมีภูมิหลังที่กว้างไกลและลุ่มลึกเสียด้วย

หนังสือเล่มนี้ระบุไว้ว่า เป็นข้อคิดของอาจารย์ระวี ภาวิไลและคณะ คงเป็นเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการเสวนาของกลุ่มผู้ใกล้ชิดและได้ศึกษาในเรื่องพุทธธรรมร่วมกันมา แต่อาจารย์ระวีคงเป็นแกนนำของการเสวนาของกลุ่มนี้นั่นเอง

เมื่อได้นำเทปบันทึกการสนทนาธรรมไปถอด จึงได้มีการแก้ไขสำนวนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หลังจากนั้นได้มีการค้นหาอ้างอิงตามคัมภีร์ ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาตามลำดับอีกด้วย
หนังสือธรรมเล่มนี้ จึงมีความสมบูรณ์ในเรื่องการอ้างอิงเป็นอย่างยิ่ง

ในหนังสือเล่มนี้ อาจารย์ระวีได้อธิบายให้เห็นว่า ชื่อหนังสือที่ว่า “ ปรากฎการณ์แห่ง
ชีวิต “นั้นแท้ที่จริงคือ เรื่อง “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” นั่นเอง

“...หากธรรมชาติ ไม่มีเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ธรรมหรือคำสอนของพระ
พุทธองค์ก็จะไม่มีประโยชน์ มนุษย์ก็ไม่จำเป็นต้องออกแสวงหา หรือไม่จำเป็นต้อง
สนใจศึกษาและปฏิบัติในเรื่องของธรรมแต่ประการใด” (หน้า 11 )

ในปัญหาที่ว่าชีวิตคืออะไร กลุ่มผู้สนทนาหลักธรรมครั้งนี้ ได้ขี้ให้เห็นว่า ชีวิต ก็คือ ขันธ์ 5 ๙ึ่งจำแนกเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

ไม่เคยเห็นคำอธิบายขันธ์ 5 ที่ใด ที่ให้คำอธิบายเรื่องนี้ ได้สั้นและกระทัดรัด ทั้งยังตรงความหมายอีกด้วย เหมือนในหนังสือเล่มนี้

ท่านอธิบายไว้สั้นๆว่า รูป คือธรรมชาติที่ไม่รู้คือกาย เวทนา คือรู้สึก สัญญา คือรู้จัก สังขาร คือรู้คิด และวิญญาณ คือรู้แจ้ง (หน้า 22)

เมื่อมองขันธ์ 5 เพียงสั้นๆและง่ายๆอย่างนี้ ก็สามารถมองทะลุแก่นธรรมสำคัญของพุทธศาสนาได้ทีเดียว

จากนั้นคณะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็ได้อธิบายถึงสภาวะสำคัญต่างๆของชีวิต คือ การเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย เป็นลำดับไป

เริ่มต้นที่การเกิด ซึ่งในระดับโลกุตตระ ต้องถือว่า การเกิดเป็นทุกข์ ทั้งนี้เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นในความเกิด อุบัติตามขึ้นมา ความเกิดจึงเป็นทุกข์

นี่เองเป็นหลักที่เรียกว่าอนัตตา ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า อนัตตา ไม่ใช่การไม่มีตัวตนทีเดียว ซึ่งในหนังสือนี้เรียกแนวคิดอย่างนี้ว่าเป็นหลักนิรัตตา ซึ่งผิดกับหลักอนัตตาของพระพุทธศาสนา

หลักอนัตตานั้นถือว่าอย่าได้เกิดความยึดถือในตัวตน เพราะการยึดถือนี่เอง เป็นต้นเรื่องของ การเกิด

ท่านพุทธทาสจึงสอนให้ อย่ายึดติดในความเป็น “ตัวกู และ ของกู” เพราะการมีตัวกูและของกูนั่นเอง ทำให้เกิดเป็นอุปทานที่ยึดมั่นถือมั่นว่า เป็น ”เรา” เป็น”เขา” และเป็น “ของเรา” และ “ของเขา” ขึ้นมา

ฉะนั้นการเกิดจึงเป็นอุบัติของความยึดมั่นถือมั่นว่า “ตัวกู”และ “ของกู” นั่นเอง

ส่วนการแก่ นั้นเป็นไปตามหลักของความเปลี่ยนแปลง หรือหลักอนิจจัง ประกอบกับหลักทุกขัง คือความไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้

หนังสือเล่มนี้ อาจารย์ระวิ ยังมีคำแนะนำในประเด็นสำคัญว่า แก่อย่างไร จึงไม่ทุกข์

คำแนะนำนั้นมีข้อความสั้นๆและกระทัดรัด คือแนะนำว่า “ยึดมั่นมาก ก็ทุกข์มาก ยึดมั่นน้อย ก็ทุกข์น้อย ไม่ยึดมั่นเลย ก็ไม่ทุกข์เลย” (หน้า84 )

คำแนะนำนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ฟังได้ง่าย ! แต่ปฏิบัติได้ยากเสียจริง ๆ !

ในสภาวะต่อมาเป็น ความเจ็บ ซึ่งเป็นเรื่องของพยาธิที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นไปได้ เพราะร่างกายก็อยู่ภายใต้หลักอนิจจัง คือความเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลายด้วยกันทั้งนั้น

ในข้อนี้อาจารย์ระวีมีคำแนะนำ ให้รับรู้ทางกายที่เกิดเป็นทุกข์ทางกายเท่านั้น โดยอย่าให้จิตไปยึดถือความทุกข์ทางกายนั้น ให้มาเป็นเรื่องกังวลหรือเป็นทุกข์ในทางจิต

คำแนะนำของอาจารย์ระวีในเรื่องนี้ นับว่าตรงกับหลักของท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ ที่ยกมาอ้างข้างต้นแล้ว ที่ว่า “ถึงกายจะป่วย แต่ใจไม่ป่วย”

อันที่จริงการเจ็บไข้หรือพยาธินั้น เป็นความเปลี่ยนแปลงหรือปวดร้าวทางกาย จึงไม่ควรให้ความทุกข์ทางกาย มาชักนำให้เพิ่มเป็นทุกข์ทางใจเพิ่มขึ้นไปอีก

ในหนังสือเรื่อง “ปรากฎการณ์แห่งชีวิต” เล่มนี้ คณะผู้เขียนได้พูดถึงเรื่องที่เรียกว่า
การุณยฆาต หรือ Euthanasia หรือเรื่อง Mercy Killing คือการทำให้ผู้ป่วยอาการหนักสิ้นชีวิต เพื่อจะได้พ้นทุกข์ทรมานของการเจ็บป่วยขั้นสุดท้าย

หลักธรรมในพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า การฆ่าคือการทำให้ชีวิตตกล่วงไป ย่อมถือว่าเป็นปาณาติบาต โดยไม่มีข้อยกเว้นว่า จะเป็นการกระทำด้วยความกรุณาให้พ้นจากสภาวะทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บก็ตาม

นี่ต้องเป็นจุดยืนของพุทธศาสนิกชนทุกคน ในเรื่องการุณยฆาต!

มาถึงวาระที่ 4 เป็นวาระสุดท้าย คือ ความตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่พ้น ชีวิตมนุษย์ต่างต้องจบด้วยความตายด้วยกันทั้งนั้น

ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียน คืออาจารย์ระวี ภาวิไลและคณะได้เสนอข้อคิดในแง่มุมต่างของความตาย ไว้อย่างหลากหลาย

เริ่มตั้งแต่ปัญหาที่ว่า เมื่อไรตาย ? และตายอย่างไร ? ต่อมาก็พิจารณาถึงเรื่องที่ว่า กายตาย จิตตายไหม ?

ต่อมาก็ถึงเรื่องที่เถียงกันไม่จบ คือ ตายแล้ว ไปไหน? ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้สรุปไว้อย่างสั้นๆ ได้ว่า ชีวิตใหม่ที่สืบต่อไปนั้น เป็นไปตามอำนาจของกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว (หน้า 120)

มีข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เราต่างก็ไม่รู้ว่าคนที่ตายไปแล้วไปไหน! พบเห็นอะไรบ้าง! เพราะคนที่ตายไปแล้ว ไม่เคยกลับมาเล่ายืนยันให้ฟังได้ว่าเมื่อตายไปแล้ว ได้มีประสบการณ์อย่างไรบ้าง !

ฉะนั้นเรื่องตายแล้วไปไหน จึงเป็นปัญหาโลกแตก ซึ่งก็พูดกันได้ไปต่างนานา แต่ต่างฝ่ายต่างไมรู้ความจริงว่า หลังตายแล้วเป็นเช่นไรกันแน่ด้วยกันทั้งนั้น !

อันที่จริง เมื่อพิจารณาเรื่องการเกิด เกี่ยวเนื่องกับปัญหาเรื่องชาติก่อน ชาตินี้ และชาติหน้ามีไหม? และอย่างไร? อาจารย์ระวีได้กล่าวตัดประเด็น โดยชี้ให้เห็นว่า :

“....ยังมีพุทธพจน์ แนะนำให้สำหรับผู้ที่แม้จะสนใจในเรื่องนี้เลยก็ได้
โดยทรงแนะนำให้ตั้งตน หรือปฏิบัติตนอยู่แต่ในคุณงามความดีในปัจจุบัน
โดยไม่ต้องไปรับรู้หรือสนใจว่าจะมีชาติก่อนหรือชาติหน้าก็ยังได้ ซึ่งจะทำให้เกิด
ความอุ่นใจในกาลทั้งปวง” (หน้า 52 )

มีคำกล่าวบรรยายถึงความตาย ว่าเป็นสภาวะที่ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี
หนีไมพ้น” คำบรรยายความตายเช่นนี้นับว่าถูกต้อง เป็นสภาวะที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามต่างต้องเผชิญด้วยกันทั้งนั้น

หลักพุทธธรรมได้ชี้ให้เห็นถึงความจริงของชีวิตว่าเป็นเรื่องของสังสารวัฎ เป็นการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งหนีไม่พ้นจากการเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งเป็น “ปรากฎการณ์ของชีวิต” นั่นเอง

อาจารย์ระวีจบหนังสือเล่มนี้ ด้วยการแสวงหาสิ่งที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บไม่ตาย ไม่โศก ไม่เศร้าหมอง ก็คือการแสวงหานิพาน ซึ่งเป็นสภาวะสูงสุดของหลักพุทธธรรม

แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า การแสวงหานิพาน ก็ต้องแสวงหาจากการเรียนรู้ ในเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ให้ได้ทะลุปรุโปร่งเสียก่อน !
กำลังโหลดความคิดเห็น