xs
xsm
sm
md
lg

ทางสู่สันติสุขบุคคล, สังคม และสันติภาพโลก (4)

เผยแพร่:   โดย: ป.เพชรอริยะ

สัมมาทิฐิ คือความเห็นถูกต้องในสภาวธรรม เห็นถูกต้องในเรื่องใดบ้างนั้นวันนี้จะอธิบายในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่จะเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของสภาวะธรรมชาติ

ประเด็นที่ 1 การที่เรารู้ชัดแล้วว่าขันธ์ 5 (รูป 1 นาม 4 ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ตกอยู่ในอำนาจกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนแปลงแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา (เกิดขึ้นแล้ว แปรปรวนในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด) หาตัวตนไม่ได้ และก็สามารถเห็นเป็น สุญญตา คือว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน

ประเด็นที่ 2 เรารู้ชัดแล้วว่าอายตนะ 12 ได้แก่ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส (โผฏฐัพพะ) ใจได้ธรรมารมณ์

ประเด็นที่ 3 เรารู้ชัดแล้วว่าธาตุ 18 ได้แก่

ตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณ หรือวิญญาณรู้ทางตา หูได้ยินเสียง เกิดโสตวิญญาณ หรือวิญญาณรู้ทางหู จมูกได้กลิ่น เกิดฆานะวิญญาณ หรือวิญญาณรู้ทางจมูก ลิ้นได้รส เกิดชิวหาวิญญาณ หรือวิญญาณรู้ทางลิ้น กายได้สัมผัส (โผฏฐัพพะ) เกิดกายะวิญญาณหรือวิญญาณรู้ทางกาย ใจ หรือโมโน ได้ธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ หรือวิญญาณรู้ทางใจ

ประเด็นที่ 4 เรารู้ชัดแล้วว่าอินทรีย์หรือความเป็นใหญ่ 22 ได้แก่ จักขุประสาทหรือประสาทตา, โสตประสาทหรือประสาทหู, ฆานประสาทหรือประสาทจมูก, ชิวหาประสาทหรือประสาทลิ้น, กายประสาทหรือประสาทกาย ทั้ง 5 อย่างนี้เป็นรูปธรรม ส่วนมโนหรือใจเป็นนามธรรม

อิตถีภาวะหรือเพศหญิง, ปุริสะภาวะหรือเพศชาย, ชีวิต, สุขเวทนา, ทุกขเวทนา, โสมนัสเวทนาหรือความทุกข์ใจ, โทมนัสเวทนาหรือความทุกข์ใจ, อุเบกขาเวทนาหรือความวางใจเป็นกลาง ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา, สภาวะโสตาปัตติมัคคญาณ, สภาวะโสตาปัตติผลญาณ, ถึงหรหัตตมัคคญาณ และสภาวะหรหัตตผลญาณ (อภิ.วิ. 35/236)

ทั้ง 4 ประเด็นนี้มีอยู่ในมนุษย์ในทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย รวมเรียกอย่างสั้นๆ ว่าขันธ์ 5 ล้วนแล้วตกอยู่ใต้อำนาจกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ยกเว้น สภาวะอรหันตผลญาณเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นสภาวะเหนือกฎไตรลักษณ์ เป็นสภาวะอสังขตธรรม หรือนิพพานหรือ (สภาวะธรรมาธิปไตย) หรือสภาวะอมตธรรม อันเป็นลักษณ์ทั่วไป ผู้เข้าถึงสภาวะนิพพานนี้ย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับสากลจักรวาล หรือกฎธรรมชาติที่มีมาแต่เดิมก่อนที่มนุษย์จะเกิดขึ้นนั่นเอง

พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม สภาวธรรมเหล่านี้ก็มีอยู่ก่อนแล้ว เป็นเช่นนั้นเองแห่งธรรมทั้งปวง (ตถตา) ทั้งนรก, สวรรค์ หรือนิพพาน ล้วนมีอยู่แล้วภายในใจมนุษยชาติทุกคน เว้นแต่ว่าเลือกสภาวะใดเป็นทางดำเนินชีวิตเท่านั้นเอง

นามธรรมและรูปธรรมที่ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ ย่อมเป็นสิ่งปรุงแต่ง สิ่งใดปรุงแต่งหรือมาประชุมกัน เรียกว่า สังขาร สังขารทั้งปวงยึดถือได้หรือไม่ ตอบว่าไม่ได้ มันเป็นไปตามธรรมชาติด้านสังขตธรรม มันเป็นเช่นนั้นเอง มนุษย์ผู้ไม่ศึกษา ไม่ใคร่ครวญ ไม่น้อมใจไปพิจารณาอย่างตั้งใจ อย่างเอางานเอาการ ดำรงชีวิตอย่างประมาท ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้สัจจะสภาวธรรม เขาเหล่านั้นล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เนื่องจากความไม่รู้ ความเขลา เมื่อเขารับอารมณ์รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกายและสัมผัสทางใจ คือ ธรรมารมณ์แล้ว เขาย่อมยึดติด เกาะเกี่ยว ขึ้นต่ออารมณ์ที่มากระทบนั้น อันเป็นเหยื่อล่อ อันเป็นของลวง เป็นมายา เป็นของไม่จริงตามความเป็นจริง จึงต้องรับทุกข์นั้น ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ผู้โง่เขลา ผู้ประมาทแล้ว ตกอยู่ในวัฏฏสงสาร เวียนว่ายตายเกิดทางใจ และทางรูป (กาย) ในอนาคตต่อไป เป็นไปตามหลักกรรม อันเนื่องมาจากความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง หรือผิดไปจากธรรม จึงก่อให้เกิดกิเลส กรรม วิบาก อย่างไม่สิ้นสุดนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น ทำไมคนบางคนต้องสูบบุหรี่ เพราะจิตเขาต่ำกว่าบุหรี่ สภาวะจิตของเขาไปขึ้นต่อบุหรี่ จึงถูกบุหรี่ครอบงำ เรียกเป็นภาษาปัจจุบันว่าวัตถุกำหนดจิต เมื่อความสัมพันธ์เป็นเช่นนี้ เขาผู้นั้นจะได้รับทุกข์ กินเหล้า เบียร์ ยาเสพติดต่างๆ ก็ในทำนองเดียวกัน

แต่ความเป็นจริงแล้ว วัตถุครอบงำใครไม่ได้ เพราะวัตถุนั้นไม่ว่าจะเป็นสิ่งปรุงแต่งในชื่ออะไรก็ตาม เป็นกลางเสมอไป เหตุที่ตกเป็นทาสของวัตถุนั้น เพราะอวิชชาความไม่รู้ และคุณสมบัติของจิตของบุคคลนั้นมีอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน นั่นเอง

จะเห็นว่าเกือบทุกคนเป็นคนรู้ดี รู้ชั่ว แต่พอถูกด่าก็โกรธ ถามว่าเสียงด่าดีหรือชั่ว ทุกคนตอบว่าชั่ว กุศลหรืออกุศล ทุกคนตอบว่าเป็นอกุศล ได้รับผลเป็นนรกหรือสวรรค์ ทุกคนตอบว่านรก จะเห็นชัดเจนเลยใช่ไหมว่า การที่เราไปขึ้นต่อความชั่ว เราจะชั่วด้วย เราไปขึ้นต่อนรกเราก็ตกนรกด้วย หรือเมื่อไปขึ้นต่ออกุศล เราก็จะได้รับอกุศลด้วย

ถาม เสียงเป็นวัตถุ ใช่หรือไม่? ทุกคนตอบว่าใช่ ตาเห็นรูป รูปคือวัตถุ หูได้ยินเสียง เสียงคือวัตถุ จมูกได้กลิ่น กลิ่นคือวัตถุ ลิ้นได้รส รสคือวัตถุ กายสัมผัสกาย กายคือวัตถุ ดังนี้เป็นต้น

เมื่อสภาวะจิตของเราไปขึ้นต่อวัตถุหรืออารมณ์เหตุปัจจัยภายนอกจะได้รับทุกข์ เช่น เมื่อเราขึ้นต่อระบอบการเมืองเลว เราก็จะย่ำแย่กันทั้งแผ่นดิน และถ้าเรามีปัญญารู้แจ้งตามเป็นจริง เราสามารถ (ผัสสะ) สัมพันธ์อย่างอิสระกับวัตถุ อยู่เหนือวัตถุ เป็นนายของวัตถุ ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ (ดุจน้ำบนใบบัว) ดังนี้แล้วเราจะไม่เป็นทุกข์อย่างเด็ดขาด สามารถนำไปพิสูจน์ทดลองได้

แน่นอนที่สุด ถ้าตาเราปกติ ประสาทตาปกติ เราจะหนีรูปหรือวัตถุไม่ได้ ทั้งเสียง กลิ่น รส ก็ในทำนองเดียวกัน แต่ถ้าเรามีปัญญา เราสามารถอิสระจากรูปหรือวัตถุได้ สมดังอุทานธรรมว่า “อิสระน้อย ก็เป็นทุกข์มาก, อิสระมาก ก็เป็นทุกข์น้อย, อิสระเต็มร้อย ย่อมพ้นทุกข์ทั้งปวง” จิตที่อิสระนั้นเป็นสภาวะพุทธะ ที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน นำไปพิจารณาอย่างแยบคายเถิด จะเกิดเป็นบุญกุศลมหาศาล เป็นประจักษ์พยานยืนยันอย่างมั่นใจในคำสอนแห่งพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็น อกาลิโก คือไม่จำกัดกาล ทันสมัยพิสูจน์ได้ในทุกกาลเวลา

หลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนา เพียงศาสนาเดียวที่ตรงเป็นหนึ่งเดียวกับสภาวะกฎธรรมชาติ ลางคนนอกจากไม่ศึกษาแล้ว ยังต่อต้านอีกต่างหาก หาว่าพูดไม่รู้เรื่อง เขียนไม่รู้เรื่อง ไม่ทันสมัย คร่ำครึ ชนใดคิดเช่นนั้น พูดเช่นนั้น ได้กระทำกรรมเช่นนั้น เขาจะสำนึกก็ต่อเมื่ออีก 3 นาทีสุดท้ายก่อนความตายกายแตกดับจะมาถึง แต่นั่นกว่าจะสำนึกได้ก็สายเสียแล้ว

การแปลงสภาวธรรมเป็นอักษรแม้เพียงตัวเดียวก็มีผลให้เป็นไปในทางกุศล แม้ผู้นั้นไม่ได้สาธยายธรรมะ ไม่เขียนธรรมะ และเผยแผ่ธรรมะ แต่มีจิตอันเป็นไปในทางกุศล พิทักษ์ความดีเกื้อกูล เช่น จัดสถานที่อำนวยความสะดวกให้พระภิกษุแสดงธรรม, บรรยายธรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คนมาฟังรับรู้กันมากๆ เช่น หนังสือพิมพ์, จัดพิมพ์หนังสือธรรมะ, วิทยุ, โทรทัศน์เหล่านี้ เป็นต้น ท่านเหล่านั้นเมื่อเวลาตายกายแตกดับย่อมอยู่ในสภาวะชั้นพรหม

บุคคลเหล่านี้ คณะบุคคลเหล่านี้มีใจเป็นกุศล ดำรงตนตามวิถีธรรม เข้าใจในกฎแห่งกรรม เขาไม่ประมาท สภาวะแห่งพรหม เทวดา พระอริยะเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญ กล่าวอนุโมทนาสาธุการ สมดังพุทธภาษิตที่รับรองไว้ว่า ผู้กระทำเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น

ยาทิสัง วะปะเตพีชัง ตาทิสัง ละภะเต ผลัง กัลยาณะการี กัลยาณัง ปาปการี จะ ปาปะกัง

ความว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว (สํ. ส. 15/33)

กรรมดี ได้แก่ การกระทำด้วยกุศลจิตเป็นที่ตั้ง ได้แก่ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต

กรรมชั่ว ได้แก่ การกระทำที่ตรงกันข้ามกับกรรมดีนั่นเอง

ผู้ทำกรรมดี ได้แก่ การกระทำที่มีเหตุปัจจัยที่ดี ผู้ทำดีย่อมได้รับผลดี

ผู้ทำกรรมชั่ว ได้แก่ การกระทำที่มีเหตุปัจจัยชั่วร้าย ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว ตามสมควรแก่เหตุ

ผลดี คือผลที่เป็นความดี เป็นกุศล ได้แก่ ความสะอาด เพราะมีศีล, ความสงบเพราะมีสติสมาธิ, ความสว่างเพราะมีปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริง

ผลชั่ว คือผลที่ตรงกันข้ามกับผลดี ย่อมนำมาซึ่งความเดือดร้อน

ข่าวปกหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2548 ความว่า “แม้ว อวดลึกซึ้ง คำสอนพุทธทาส” และในเนื้อข่าว ความตอนหนึ่งว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ท่านพุทธทาสมีคุณูปการต่อชีวิตตนเป็นการส่วนตัว เพราะว่าตอนที่จะกลับมาตั้งพรรคไทยรักไทยอีกครั้งหนึ่งนั้น ค่อนข้างที่จะไม่ค่อยลึกซึ้งกับธรรมะเท่าที่ควร ใช้เวลาก่อนจะตั้งพรรคโดยการไปอ่านหนังสือของท่านพุทธทาส เอาหนังสือของท่านมาเป็นสิบๆ เล่ม มานั่งอ่านและก็ทำความเข้าใจ ในการอ่านรอบแรกไม่ค่อยเข้าใจยากเหมือนกัน อ่านประมาณ 2 รอบ บางทีบางเล่มก็อ่าน 3 รอบ แล้วเข้าใจลึกซึ้ง เลยทำให้รู้สึกว่าตัวเองเข้าใจตัวเอง และเข้าใจคนอื่นมากขึ้น และรู้จักคำว่า ปล่อยวาง คืออะไร รู้จักเข้าใจคนอื่นคืออะไร” อ่านแล้วดูดี เขาเรียกว่ารู้จักเอามาพูด สร้างภาพลักษณ์เพื่อประโยชน์แห่งตน ดุจนักมายากล อันนี้คนเขารู้ทันนะ ธรรมะต้องเป็นทั้งจุดมุ่งหมายและวิธีการ หรือมีทั้งธรรมและจริยธรรม แต่...พฤติกรรมของนายกฯ คนนี้ ยังห่างไกลจากนักการเมืองโพธิสัตว์มากนัก ดุจฟ้ากับเหวลึก ทั้งตรงกันข้ามกับคำสอนของท่านพุทธทาสโดยสิ้นเชิง พระพุทธทาสกล่าวว่า”ไม่ทำตามที่สอน อย่ามาอ้อนเรียกอาจารย์” ฉลาดแกมโกงอีกแล้วนะเธอ
กำลังโหลดความคิดเห็น