xs
xsm
sm
md
lg

ไทยจะแข่งสิงคโปร์แน่นะ

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้โดยเจ้าของคอลัมน์


เป็นอันว่า พื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ จะถูกเนรมิตให้เป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย โดยการออกเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

ที่จุดประเด็นด้วยชื่อ "นครสุวรรณภูมิ" ในตอนแรกก็จะเปลี่ยนเรียกชื่อใหม่ว่า "สุวรรณภูมิมหานคร"

รัฐบาลวาดแผนจะให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ทันสมัยไม่ใช่แค่แข่งกับกรุงเทพมหานคร แต่จะทาบรัศมีสิงคโปร์และฮ่องกงกันทีเดียว

ป่านนี้ผู้คนและเจ้าของที่ดินในพื้นที่ซึ่งถูกขีดให้อยู่ในอาณาจักรของจังหวัดใหม่ก็คงคึกคักตารุกกับผลประโยชน์ที่จะเกิดจากราคาที่ดีของพื้นที่รอบสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ซึ่งประกอบด้วย

2 เขตจากพื้นที่กทม.คือลาดกระบังและประเวศกับอำเภอบางพลีและกิ่งอำเภอบางเสาธงของจังหวัดสมุทรปราการ รวมพื้นที่ประมาณ 520 ตารางกิโลเมตร

เมื่อรายชื่อผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่รอบสนามบินถูกสื่อมวลชนเปิดเผยออกมาว่าล้วนเป็นคนใกล้ชิดและเกี่ยวโยงกับแกนนำพรรคไทยรักไทย ก็ย่อมถูกมองว่ามีการใช้่ประโยชน์จากข้อมูลเกี่ยวกับแผนเชิงนโยบายกันก่อนหน้านี้แล้ว

นั่นเป็นโอกาสสำหรับคนรู้ทิศทางขับเคลื่อนของรัฐบาลที่จะได้ประโยชน์ไป และตามตามด้วยการลงทุนงบประมาณของประเทศอีกมหาศาลตามแผน

แต่สำหรับผู้คนเมืองหลวงที่ต้องเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีต่างพากันสงสัยว่า ถ้าการบริหารประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชากร เหตุใดโครงการก่อสร้างระบบการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนส่วนต่อขยายจากเชิงสะพานสาธรข้ามไปถึงฝั่งธนบุรี ซึ่งเริ่มสร้างมา 2 ปีกว่า และโครงสร้างรองรับการวางรางเพื่อการเดินรถไปจวนถึงถนนเพชรเกษมแล้ว

มาติดขัดที่ข้อเสนอการร่วมทุนกับเอกชน ไม่สามารถผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

จนกทม.ตกลงจะลงทุนเองเพื่อให้เส้นทางเดินรถไฟฟ้าช่วงสาธร-ตากสิน เปิดใช้งานได้โดยเร็ว

แต่การขออนุมัติงบประมาณ 2,300 ล้านบาทเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา สมาชิกสภากทม.หรือ ส.ก.สังกัดพรรคไทยรักไทยพากันไม่เข้าประชุม โดยอ้างว่ารายละเอียดไม่พอ

ก็ต้องติดตามดูว่าการประชุมสภากทม.ในวันที่ 26 เดือนนี้ ซึ่งฝ่ายบริหารกทม.จะเสนอขออนุมัติงบเพื่อเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าเพื่อเปิดให้ใช้งานได้กลุ่ม ส.ก.ของพรรคไทยรักไทย จะอ้างเหตุอะไรในการขัดขวางโครงการนี้

นี่ขนาดว่าปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณย่านสะพานสาทร และสะพานกรุงเทพเป็นที่ชัดเจนจนคนฝั่งธนที่ "ทน" มานานแล้ว และระบบขนส่งมวลชนจะเข้ามาช่วยลดการใช้รถส่วนตัวช่วยลดปัญหาการจราจรและช่วยประหยัดการใช้น้ำมัน

รายการนี้จึงถูกคนฝั่งธนบุรีและสังคมโดยรวมมองว่า พรรคไทยรักไทย กำลังเล่นแง่ทางการเมือง เพราะกลัวจะเป็นผลงานของคนพรรคประชาธิปัตย์โดยเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นผู้รับกรรมหรืออย่างไร

เมื่อนึกถึงความคำโอ้อวดของแนวคิดรัฐบาลที่วาดฝันว่าจะเนรมิต "สุวรรณภูมิมหานคร" เทียบชั้นกับสิงคโปร์ น่าสงสัยว่า เราจะเทียบกับสิงคโปร์ในด้านใด

ขณะที่นักการเมืองไทยหลายคนมักมองเห็นการคุมสื่อมวลชนของรัฐบาลสิงคโปร์ด้วยการตัั้งบริษัทกลางเป็นเจ้าของสื่อต่างๆ รวมทั้งการคุมแนวการเสนอข่าวและความคิดเห็นได้ แล้วอ้างว่าทำให้เกิดเอกภาพในชาติ ทำให้การพัฒนาประเทศประสบความสำเร็จ

ความจริงระบบและวิธีการบริหารจัดการนั้น อาจมีได้หลายรูปแบบและมีข้อถกเถียง ความสำคัญมันอยู่ที่ประสิทธิภาพ คุณธรรม และเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องหรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมกันแน่

ก็แม้ว่าเสรีภาพของสื่อมวลชนสิงคโปร์จะสู้ของไทยเราไม่ได้ (ผลการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์เป็นมาอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง)

แต่ถ้าเราดูประสิทธิภาพการบริหารเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเขาก็ยังเป็นที่ยอมรับของสากล

ผลการสำรวจระดับนานาชาติ ด้านต่างๆ สิงคโปร์ก็มักเป็นประเทศในเอเชียที่ได้อันดับระดับต้นๆ

ล่าสุดองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยได้เปิดเผยสำรวจการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชั่นประจำปี 2548 ปรากฏว่า ประเทศสิงคโปร์ได้ 9.4 คะแนน (คะแนนเต็ม 10) เป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 5 จากการสำรวจ 159 ประเทศ

ขณะที่ประเทศไทยเรามีภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชั่นที่ 3.8 เป็นอันดับ 7 ในเอเชีย และเป็นอันดับที่ 59 ของประเทศทั้งหมด

อีกทั้งศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็เพิ่งระบุว่า ธรรมาภิบาลขององค์กรภาคธุรกิจของไทยอยู่ในระดับ 70%
นับว่าพอจะเข้ามาตรฐานสากล แต่ระดับธรรมาภิบาลของภาครัฐบาลนั้น "สอบตก"

ดังนั้นการเปรียบเทียบกับสิงคโปร์จึงมิใช่มองแค่ขนาด แม้ "สุวรรณภูมิมหานคร" จะมีพื้นที่ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ และจะทุ่มเทเงินเพื่อสร้างความทันสมัยลงไปแล้วคิดว่าเราจะเหนือกว่า

เพราะหากความยิ่งใหญ่ของโครงการตามมาด้วยข้อสงสัย การตัดสินใจใช้งบประมาณเหมาะสมเพียงใดหรือเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใด ก็จะเป็นความฉาวโฉ่ภาค 2 ต่อเนื่องจากตำนานผลประโยชน์การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

การใช้สิงคโปร์เป็นตัวอ้างอิงเปรียบเทียบเชิงแข่งขันก็นับว่าน่าท้าทาย เพราะเป็นประเทศที่มีการยอมรับในความสำเร็จในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ การใช้เทคโนโลยี และการยกระดับคุณภาพประชากร โดยเฉพาะความโปร่งใสในการบริหารจัดการ

เราจึงต้องแข่งกันที่บริหารอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น