xs
xsm
sm
md
lg

สังคมที่เสมือนเรือที่ปราศจากหางเสือ

เผยแพร่:   โดย: ลิขิต ธีรเวคิน

หลายคนจะอ่านข่าว ฟังข่าว หรือดูข่าวในแต่ละวันด้วยหัวใจที่ห่อเหี่ยว เพราะข่าวที่ได้รับทราบนั้นมีเรื่องการข่มขืนและฆ่า แม่ทิ้งลูกที่เกิดใหม่ประหนึ่งทิ้งขยะลงถัง พ่อแท้ๆ ข่มขืนลูกของตัวเอง ปู่ข่มขืนหลาน นอกจากนั้นยังมีข่าวเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน กลไกการบริหารที่พิกลพิการ การละเมิดหลักนิติธรรมกระทำอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย หรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าละอายหรือผิดทำนองคลองธรรม ฯลฯ

นอกจากสิ่งที่กล่าวมาเบื้องต้นคนที่อยู่ในวัยรุ่นหนุ่มสาวก็หลงอยู่ในวัตถุนิยม บริโภค และเงินตรานิยม แทบทุกคนจะมีโทรศัพท์มือถือและใช้สินค้าราคาแพง การคบหาอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบผิวเผิน จิตสำนึกเกี่ยวกับสังคม หรือความเอาใจใส่ต่อสังคม การเมืองและเศรษฐกิจมีน้อยมาก ในแง่หนึ่งคนรุ่นใหม่จำนวนมากสนใจแต่เรื่องของตัวเอง ใช้ชีวิตสนุกเป็นพื้นฐาน ที่สำคัญคนจำนวนไม่น้อยไม่มีนิสัยการอ่านหนังสือซึ่งเห็นได้จากอัตราจำนวนการอ่านหนังสือที่ต่ำมากในสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความพยายามที่จะสร้างสังคมที่มีความรู้เป็นฐานนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าคนไม่นิยมการอ่านหนังสือ คนที่ไม่อ่านหนังสือย่อมไม่สามารถรับข่าวสารข้อมูล หรือมีความคิดที่สามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างลึกซึ้งนอกเหนือจากการคิดที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

มีคำกล่าวที่ว่า เด็กและเยาวชนในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะเด็กและเยาวชนในปัจจุบันจะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ตามอายุขัย และมีภาระความรับผิดชอบบ้านเมืองต่อจากคนรุ่นเก่า โครงสร้างทางการปกครองบริหาร ค่านิยมทางสังคม โครงสร้างทางเศรษฐกิจและธุรกิจ และที่สำคัญวัฒนธรรมในอนาคตจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับคนรุ่นปัจจุบันว่าจะพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ไปในทางใด ในแง่หนึ่งอนาคตของสังคมจะเป็นอย่างไร ผู้นำประเทศจะเป็นอย่างไร ประชาชนในสังคมจะเป็นอย่างไร สามารถจะเห็นได้จากคนรุ่นที่เรียกว่าเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ถ้าคนที่อยู่ในรุ่นเยาว์วัยในปัจจุบันมุ่งเน้นแต่ความสนุกสนาน หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตัวเองโดยไม่สนใจสังคมแม้แต่น้อย ก็คงไม่สามารถจะรับช่วงภารกิจที่วางรากฐานโดยคนรุ่นก่อนได้

คำถามที่สำคัญก็คือ อะไรคือตัวแปรที่จะกำหนดคุณลักษณะของประชาชนและผู้นำในอนาคต กล่าวได้ว่าตัวแปรสำคัญมีอยู่สองตัวคือการศึกษาและวัฒนธรรม ในส่วนของการศึกษานั้นมีอยู่สองส่วนด้วยกัน ส่วนที่หนึ่งคือความรู้ทางวิชาการอันจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต เช่น ความรู้ทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรม ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ฯลฯ ส่วนที่สองของการศึกษาคือเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม อันได้แก่การเป็นคนดีของสังคม มีกรอบของศีลธรรมและจริยธรรมที่จะกำหนดความประพฤติ ซึ่งในส่วนนี้เกิดขึ้นได้หลายทางเริ่มตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน กลุ่มเพื่อน เพื่อนร่วมงาน จนถึงสังคมโดยรวม

ข้อเท็จจริงที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในปัจจุบันการสอนศีลธรรมและจริยธรรมไม่ใช่สิ่งที่ให้ระดับความสำคัญสูงในกระบวนการการกล่อมเกลาเรียนรู้ทั้งในครอบครัวและในโรงเรียน ขณะเดียวกันพฤติกรรมการปฏิบัติของคนในสังคมก็มิได้นำตัวแปรเรื่องศีลธรรมเข้ามาเป็นข้อพิจารณา ในยุคโลกาภิวัตน์นี้จุดเน้นอยู่ที่ความก้าวหน้าทางวิชาการและวัตถุ ความจำเริญทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งทางธุรกิจ แต่ก็เหมือนหลายๆ สังคมในยุคปัจจุบัน สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมที่ไม่ให้น้ำหนักกับศีลธรรมมากมายนัก และนี่เป็นสิ่งที่อันตราย การสำรวจวิเคราะห์หลักสูตรการศึกษา และวิธีการเรียนการสอน รวมตลอดทั้งบทเรียนเกี่ยวกับศีลธรรมและจริยธรรม จะทำให้สามารถมองเห็นภาพอนาคตได้ว่าสังคมใดสังคมหนึ่งกำลังจะก้าวไปสู่ทิศทางใด ซึ่งต้องกล่าวว่าภาพที่เห็นจะไม่น่าพิสมัยนัก นอกจากที่กล่าวมาเบื้องต้นการสำรวจและวิเคราะห์วัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ จะทำให้เห็นภาพกระจ่างขึ้น เพราะวัฒนธรรมเป็นตัวแปรที่สำคัญคู่กับการศึกษา

หลายส่วนของวัฒนธรรมไทยเป็นเรื่องที่ดีและเป็นตัวอย่างของโลกได้ คนไทยโดยทั่วไปเป็นคนมีน้ำใจ เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่รังเกียจศาสนาและเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้คนในสังคมไทยยังไม่ชอบความสุดโต่งจึงไม่มีคนคลั่งศาสนาเท่าใดนัก และนี่คือตัวแปรสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการผสมผสานกลมกลืนคนต่างเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ และศาสนา ประสบความสำเร็จอย่างมากในสังคมไทย คนไทย 65 ล้านคน ประกอบด้วยคนไทยเชื้อสายไต เชื้อสายมอญ เชื้อสายลาว เชื้อสายจีน เชื้อสายเวียดนาม เชื้อสายเขมร เชื้อสายมาเลย์ เชื้อสายอินเดีย และเชื้อสายชาวอัสดงคต

สังคมไทยเป็นสังคมที่อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง และมีระบบที่เปิดกว้าง ทำให้มีผู้นำประเทศประกอบด้วยคนไทยเชื้อสายต่างๆ จะมีข้อยกเว้นอยู่ก็คือทาง 3 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งมีลักษณะพิเศษเนื่องจากประวัติความขัดแย้งอันยาวนาน รวมทั้งตัวแปรที่แตกต่างไปจากปัญหาสามัญโดยทั่วไป การแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้จึงต้องใช้วิธีการมองปัญหาที่แตกต่างออกไป วิธีการแบบทั่วไปโดยขาดความรู้เข้าใจอย่างแท้จริงย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ในขณะที่ส่วนที่เป็นบวกของวัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งที่คนไทยควรภูมิใจนั้นมีอยู่มาก ก็มีในส่วนที่เป็นลบที่จะต้องหาทางแก้ไขต่อไป คนในสังคมจำนวนไม่น้อยรักสนุกจนเกินขนาด หลงงมงายเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติจนเกินพอดี เน้นความสัมพันธ์มนุษย์โดยการประจบสอพลอจนดูไม่งาม บางครั้งการให้ความเคารพต่อผู้อาวุโสจะด้วยความเสแสร้งหรือเป็นความจริงใจก็ตามมีมากจนเกินเลยเช่นมักจะพูดว่า ผู้ใหญ่บอกว่า ผู้ใหญ่สั่งว่า การอ้างผู้ใหญ่โดยไม่คำนึงถึงความถูกความผิดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมไทย ในบางสังคมจะยึดหลักการความถูกต้องในการทำงานมากกว่าการอ้างผู้ใหญ่ และก็เป็นที่ทราบกันว่าการอ้างผู้ใหญ่ก็เพื่อสยบการต่อต้านหรือคัดค้าน รวมทั้งการหาความชอบธรรมกับการกระทำที่ตนอยากให้เกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประเด็นเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมกลายเป็นประเด็นที่ไม่ให้น้ำหนักแต่อย่างใด ในหมู่ผู้ปฏิบัติการทางการเมืองคำว่าอุดมการณ์และการเสียสละต่อชาติบ้านเมืองไม่มีการกล่าวถึงมากนัก และนี่เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะคนรุ่นเยาว์วัยในปัจจุบันย่อมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมที่เป็นส่วนลบนี้

สังคมที่มีความรู้เป็นฐานแต่ขาดจริยธรรมและศีลธรรมย่อมเป็นสังคมที่ไม่พึงปรารถนา คนที่มีความรู้แต่ไม่มีศีลธรรมและจริยธรรมจะกลายเป็นเรื่องที่น่าอันตราย และในแง่หนึ่งกล่าวได้ว่าความพยายามที่จะสร้างสังคมที่มีความรู้นั้นคงเกิดขึ้นไม่ง่ายนักถ้าคนรุ่นเยาว์วัยไม่กระตือรือร้นในการขวนขวายหาความรู้ด้วยการอ่านหนังสือ การไม่มีนิสัยรักการอ่านหนังสือย่อมจะนำไปสู่ความรู้ไม่ได้

คำถามคือ แล้วจะมีทางออกอย่างไร?

ประการแรก การสอนเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม ควรจะเป็นนโยบายสำคัญของหน่วยงานต่างๆ ในสังคม สถาบันทางศาสนาก็ดี ครอบครัวก็ดี สถาบันการศึกษาก็ดี รวมทั้งสังคมโดยรวมก็ดี จะต้องให้น้ำหนักกับตัวแปรที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้

ประการที่สอง กฎหมายและการบังคับกฎหมายเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดจะต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะมิฉะนั้นสังคมก็จะกลายเป็นสังคมที่ไม่มีขื่อแป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวกับการละเมิดหลักการของศีลธรรม เช่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง การข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น

สังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่อันตรายยิ่ง ถ้าไม่ระมัดระวังอาจจะนำไปสู่สังคมที่อุดมโภคาทางวัตถุ แต่ยากจนข้นแค้นในทางศีลธรรมและจริยธรรม และนี่คงไม่ใช่สังคมที่คนไทยโดยทั่วไปต้องการให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นห่วงอนาคตของลูกหลาน

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
www.dhiravegin.com
e-mail: likhit@dhiravegin.com
กำลังโหลดความคิดเห็น