xs
xsm
sm
md
lg

รีบเปิดเสรีบริการเพื่อใคร

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้


หนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฉบับใหม่พาดหัวข่าวปกว่า "บัณฑูรเขย่าวงการ หนุนราคาหุ้น KBANK"

นั่นเป็นผลจากได้รับการเล่าเบื้องหลังการปรับยุทธศาสตร์การบริหารครั้งสำคัญของเครือธุรกิจธนาคารกสิกรไทย

คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย บอกผมว่าที่ต้องปรับระบบใหม่ก็เพื่อ "ให้รอด"

"วงการธนาคารกำลังจะเผชิญวิกฤตอำนาจที่หนักกว่าเดิม"

ซีอีโอค่ายเคแบงก์ขยายความว่า ทุกวันนี้อย่านึกว่ารอดจากวิกฤตแล้ว เพราะปัญหาที่เจอหลังวิกฤตปี 2540 นั้น วงการธุรกิจเกิดหนี้เสียจนสินทรัพย์แบงก์ตกต่ำระดับชาติ

"ที่ทนบาดแผลไหว และเติมเลือดทัน-ก็รอด ที่เติมเลือดไม่ทัน-ก็ตาย โจทย์ก็มีตื้นๆ แค่นั้น แต่คลื่นระลอกใหม่ที่ประหลาดกว่า เมื่อให้เปิดประเทศ มันก็มากันเยอะแยะ ผลจากเอฟทีเอมันมาเคาะประตูแล้ว และมันต้องเปิดไม่มีทางห้ามไหว"

คุณบัณฑูรมองเห็นวิกฤตจากการแข่งขันจากต่างชาติที่กำลังจะมาแรง จึงต้องเร่งปรับตัวก่อน และชี้ว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที ที่จะรองรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการให้บริการทางการเงินของฝรั่ง ซึ่งผ่านประสบการณ์มากกว่าจะได้เปรียบกว่า

ธุรกิจของสถาบันการเงินที่สนองความต้องการของบุคคล และกิจการธุรกิจยุคปัจจุบัน จึงไม่ใช่แค่การรับเงินฝาก และเอามาปล่อยเงินกู้เป็นหลักเหมือนอย่างในอดีต

เพราะคนมีเงินออมที่เหลือจาก "ทำมาหาใช้" ก็มีแสวงหาช่องทางหาผลประโยชน์จากเงินที่ "ทำมาหาเก็บ"

ธนาคารพาณิชย์ยุคใหม่จึงพากันหาทางสร้างรายได้ที่เก็บจากการคิด "ค่าธรรมเนียม" ต่างๆ จากลูกค้าที่ไปใช้บริการ เช่น บริการธุรกิจบัตรเครดิตหรือการลงทุนผ่านแบงก์ ซึ่งนับวันรายได้จากค่าบริการจะเป็นรายได้สำคัญมากขึ้นกว่ารายได้จาก "ค่าดอกเบี้ย"

ยุทธศาสตร์ใหม่ของค่ายกสิกรไทย ก็คือการรวมศูนย์เชิงยุทธศาสตร์ และใช้เทคโนโลยีระบบใหม่มารองรับการคิดรูปแบบผลิตภัณฑ์ และการให้บริการเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีการจำแนกทุกกลุ่ม ทุกช่วงอายุ และทุกความต้องการทางการเงิน

กิจการในเครือซึ่งมีธนาคารกสิกรไทยเป็นพี่ใหญ่ ล้อมรอบด้วยบริษัทธุรกิจด้านการเงินในเครืออีก 5 บริษัท ต่อไปนี้จะถูกกระบวนการสื่อสารการสร้างแบรนด์รวมให้รับรู้ด้วย K ตัวสัญลักษณ์ และด้วยคำขวัญเดียวกัน "บริการทุกระดับประทับใจ"

ใครได้เห็นโฆษณาชุด K KEROES ก็เป็นการสื่อให้สังคมรับรู้ว่า จะให้บริการที่เป็นเลิศด้วยเทคโนโลยีผนวกกับความใส่ใจ

ขณะเดียวกันก็เป็นการสื่อสารภายในกับพนักงานทั้งเครือ ตระหนักในการสร้างประสิทธิภาพบริการให้สมกับที่ประกาศต่อตลาด

การกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์การตลาดหรือ Positioning ดังกล่าว ที่นำโดยคุณบัณฑูรครั้งนี้ โดยการผนึกรวมศูนย์การยุทธศาสตร์ทั้งเครืออย่างเป็นเอกภาพเช่นนี้ และมีเป้าหมายชัดเจนในการปรับระบบเพื่อเผชิญการแข่งขัน ซึ่งกำหนดโจทย์ให้เห็นภาพวิกฤตชัดเจน แสดงถึงวิสัยทัศน์การบริหาร และดำเนินการเชิงรุกแบบ "ขยับตัวก่อน"

นับว่าสอดรับกับสถานการณ์ตามที่มีการเสวนาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

ชื่อเรื่อง "ลักไก่หรือห่วงใยชาติ : เรื่องการเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว"

หากการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ 18 ตุลาคม พิจารณาเห็นชอบกับร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้ 20 สาขาธุรกิจเปิดให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานได้ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตได้แก่

1. การธนาคาร 2. การทำกิจการให้กู้ยืมเงิน 3. การประกันชีวิตและการประกันภัย 4. การทำกิจการโรงรับจำนำ 5. การทำกิจการคลังสินค้า 6. การทำกิจการโรงเรียน 7. การทำกิจการโรงมหรสพ 8. การค้าหลักทรัพย์ 9. การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 10. การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน

11. การจัดการกองทุนรวม 12. การเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล 13. การเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 14. การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ 15. การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ 16. การเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองในการออกแบบ และเสนอขายหลักทรัพย์และการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ 17. การเป็นตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการจำหน่ายหลักทรัพย์และการเป็นตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด 18. การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ 19. การเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม และ 20. การเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ทั้งที่ในบัญชี 3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 อาชีพของ 20 รายการข้างต้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของอาชีพบริการที่ยกเว้นไว้ให้คนไทย เพราะยังไม่มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ จึงไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาทำได้โดยเสรี

มีนักกฎหมายในวงเสวนาคัดค้านการเปิดเสรีอาชีพในคนต่างด้าวครั้งนี้ และชี้ว่านี่จะเป็นการเปิดเสรีมากกว่าเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก จึงเป็นการเปิดเสรีฝ่ายเดียวโดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบเสียหายต่อธุรกิจของไทยเพียงใด

การแก้จะออกกฎกระทรวงครั้งนี้ ไม่มีการรับฟังความเห็นจากวงการที่มีโอกาสรับผลกระทบ และน่าคิดว่านี่เป็นการแก้ไขกฎเกณฑ์ก่อนที่จะมีการเจรจาเปิดการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกาขึ้นต่อไป

น่าสงสัยว่านี่เท่ากับเป็นการสมยอมก่อนไปเจรจาต่อรองหรือไม่

ลำพังคลื่นเศรษฐกิจจากกติกาการค้าเสรี และกระแสโลกาภิวัตน์ก็ทำเอาธุรกิจบริการหลายสาขาโดนกดดัน และอยู่ในสภาพสู้เป็นรองอยู่แล้ว

แม้ว่าในที่สุดด้วยระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีที่ไทยเราอยู่ในกลไกนี้ เราก็ไม่มีทางปิดประตูไม่รับกระแสคลื่นจากสากลได้

แต่รัฐบาลเองก็ไม่ควรเป็นฝ่ายชิงเปิดประตูรับ "กติกาเสรี" โดยไม่มี "เงื่อนไข" ก่อนการเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ถึงที่สุดก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น