xs
xsm
sm
md
lg

ซัมซุง...กรณีศึกษาสำคัญด้านบริหารธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ปัจจุบันกลุ่มซัมซุงได้รับการยกย่องไปทั่วโลกว่าเป็นสุดยอดในด้านความสำเร็จของกลยุทธ์บริหารธุรกิจ โดยนายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ถึงกับกล่าวปราศรัยในงานวันชาติสิงคโปร์เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ว่าประเทศสิงคโปร์ควรเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอดในการแข่งขันในเชิงธุรกิจ เพราะเป็นการยากที่สิงคโปร์จะสามารถแข่งขันบนพื้นฐานของประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนการผลิตเท่านั้น

นายลีเซียนลุงยังได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาสำคัญ คือ บริษัทซัมซุงซึ่งได้แข่งขันบนพื้นฐานของนวัตกรรมแทนที่จะแข่งขันในด้านราคา โดยซัมซุงวางตลาดโทรศัพท์มือถือแบบแปลกๆ ใหม่ๆ มากมาย จนแทบจะกล่าวได้ว่าวางตลาดโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ทุก 2 – 3 วัน ทำให้บริษัทแห่งนี้มีผลกำไรมากมาย ขณะที่คู่แข่งค่ายญี่ปุ่นแทบจะไม่มีกำไร เนื่องจากต้องไปแข่งขันในตลาดล่างกับสินค้าจีน

สำหรับบริษัทซัมซุงซึ่งชื่อมีความหมายว่า “ดาว 3 ดวง”ก่อตั้งขึ้นโดยนาย Lee Byung Chull ซึ่งเป็นลูกชายของเศรษฐีที่ดิน เขาก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่เมื่ออายุเพียงแค่ 26 ปี เนื่องจากได้รับมรดกจากครอบครัว แต่การดำเนินธุรกิจในระยะแรกไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก

ภายหลังสงครามเกาหลีสงบลงในปี 2496 กลุ่มซัมซุงได้ขยายขอบข่ายธุรกิจมากขึ้นตามลำดับ เช่น โรงงานน้ำตาล ธุรกิจสิ่งทอ ธนาคาร ประกันภัย ฯลฯ จนเขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในเกาหลีใต้ในขณะนั้น (ปัจจุบันบุตรชายของเขายังคงรักษาตำแหน่งเป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดในเกาหลีใต้เอาไว้ได้)

บริษัทซัมซุงเริ่มเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต่ำมาสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง โดยเมื่อประมาณปี 2510 ได้หันมาเน้นธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ โดยเริ่มแรกได้เน้นวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) เป็นต้นว่า ไปซื้อโทรทัศน์สีของบริษัทญี่ปุ่นเพื่อนำมารื้อดูว่าประกอบด้วยชิ้นส่วนอะไรบ้าง จากนั้นศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการผลิต โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี ก็สามารถผลิตโทรทัศน์สีแข่งกับบริษัทญี่ปุ่นได้

เมื่อนาย Lee Byung Chull เสียชีวิตลงเมื่อปี 2530 บริษัทซัมซุงได้ปรับเปลี่ยนประมุขจากรุ่นที่ 1 มาสู่รุ่นที่ 2 โดยผู้นำคนต่อมา คือ นาย Lee Kun Hee แม้ว่าจะเป็นลูกชายคนสุดท้อง โดยมีพี่ชาย 2 คน แต่กลับได้รับความไว้วางใจจากบิดาตั้งแต่ก่อนเสียชีวิตให้เป็นผู้สืบทอดกิจการ เนื่องจากเป็นลูกชายที่มีความสามารถมากที่สุด

นาย Lee Kun Hee จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยวาเซดะของญี่ปุ่นและจบการศึกษาปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน เขามีบุคลิกค่อนข้างแปลก คือ ชอบทำงานอยู่กับบ้าน จึงแทบจะไม่เดินทางมายังสำนักงานใหญ่ของบริษัทเลย ขณะเดียวกันก็ทำงานไม่เป็นเวลา บางครั้งสั่งเรียกประชุมผู้บริหารกลางดึก

สำหรับบุคลิกส่วนตัวแล้ว เขาเกลียดการเข้าสังคม ไม่ชอบให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนใดๆ ทั้งสิ้น ชอบใช้เวลาว่างดูภาพยนตร์ที่บ้านหรือมิฉะนั้นก็เล่นกับสุนัข สิ่งที่ชอบมากเป็นพิเศษ คือ การขับรถปอร์เช่บนสนามรถแข่งส่วนตัว โดยเขาให้เหตุผลว่าการขับรถยนต์เร็วๆ ทำให้ร่างกายตื่นตัว ช่วยลดความเครียดในร่างกาย

เดิมซัมซุงมีภาพลักษณ์เป็นสินค้าตลาดล่าง โดยมีภาพลักษณ์ว่าเป็นสินค้า Made in Korea ย่อมมีคุณภาพรองลงมาจากสินค้าญี่ปุ่นที่ Made in Japan ซึ่งบริษัทซัมซุงต้องพยายามแก้ไขสถานการณ์ โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะต้องพยายามพัฒนาให้ซัมซุงก้าวเข้าสู่การเป็นพรีเมี่ยมแบรนด์ โดยหากเป็นรถยนต์ ก็เปรียบเสมือนกับเป็นรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์หรือ BMW

ในระยะแรกกลยุทธ์ของซัมซุงที่จะยกระดับตนเองไม่ประสบผลสำเร็จนัก เหตุการณ์สำคัญในช่วงนั้น คือ นาย Lee Kun Hee ประมุขของกลุ่มซัมซุง ได้ทำพิธีฉลองความสำเร็จของบริษัทซัมซุงเมื่อปี 2538 พร้อมกับแจกโทรศัพท์มือถือให้เป็นของกำนัลแก่บรรดาเพื่อนฝูงและบรรดาพนักงานคนสำคัญที่ไปร่วมงาน แต่ถัดจากนั้นเพียงไม่กี่วัน เขาได้รับเสียงบ่นมากมายจากบุคคลที่ได้รับแจกโทรศัพท์มือถือว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพต่ำมาก สร้างความอับอายขายหน้าแก่เขาเป็นอย่างมาก

เนื่องจากโทรศัพท์มือถือเหล่านั้นได้ทำการผลิตขึ้นที่โรงงาน Gumi ดังนั้น นาย Lee Kun Hee ได้สั่งให้นำบรรดาสินค้าคงคลังทั้งหมดที่เก็บอยู่ภายในโรงงานแห่งนั้น ซึ่งมีทั้งโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์แบบไร้สาย และเครื่องแฟ็กซ์ จำนวนมากมายถึง 150,000 เครื่อง และมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1,250 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น มากองรวมกันไว้ที่สนามหญ้า พร้อมกับติดป้ายประกาศเอาไว้เป็นข้อความว่า “นับแต่นี้ต่อไปซัมซุงจะผลิตเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพสูงเท่านั้น”

จากนั้นนาย Lee Kun Hee ได้สั่งการให้บรรดาผู้บริหารและพนักงานทั่วไปอีก 2,000 คน ยืนเป็นสักขีพยานโดยให้ใช้ค้อนทุบทำลายสินค้าคงคลังเหล่านั้นทั้งหมด จากนั้นให้นำไปโยนเข้าในกองไฟ พร้อมกับบันทึกภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นเอาไว้เพื่อเป็นภาพประวัติศาสตร์ของบริษัท

นอกจากนี้ เขาปรับเปลี่ยนการบริหารภายในบริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ครั้งใหญ่ โดยได้แต่งตั้งผู้บริหารคนใหม่ คือ นาย นาย Yun Jong Yong ซึ่งเดิมเป็นผู้บริหารบริษัทซัมซุงสาขาญี่ปุ่น ทำให้เขาทราบกลยุทธ์ของบริษัทญี่ปุ่นเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลยุทธ์ของบริษัทโซนี่ซึ่งเป็นคู่ปรับคนสำคัญ พร้อมกับสั่งการว่าให้เขาทำการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นแต่ลูกเมียของเขาเท่านั้น

ภายหลังรับตำแหน่ง นาย Yun Jong Yong ได้กำหนดกลยุทธ์ตาม “ทฤษฎีปลาดิบ” หรือ “Sashimi Theory” โดยอุปมาอุปไมยว่าปลาที่เพิ่งจับได้นั้น จะมีราคาแพงมากเนื่องจากมีความสด สามารถนำไปแปรรูปเป็นปลาดิบเพื่อจำหน่ายในภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นระดับ 5 ดาว

หากนำปลาดังกล่าวไปจำหน่ายในวันรุ่งขึ้นแล้ว ราคาจะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากความสดลดลง ต้องนำไปปรุงอาหารไม่ว่าทอดหรือนึ่งในภัตตาคารทั่วไป และหากจำหน่ายปลาในวันที่สามแล้ว ความสดยิ่งลดลงไปอีก ต้องจำหน่ายในราคาเพียงแค่ 1 ใน 4 ของราคาปลาสดเท่านั้น

สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แล้ว อุปมาอุปไมยก็มีลักษณะเช่นเดียวกับสินค้าปลา โดยนาย Yun Jong Yong กล่าวว่าหากบริษัทใดวางตลาดสินค้าใหม่ก่อนคู่แข่งแล้ว สามารถจำหน่ายได้ราคาสูง จะมีกำไรมากมายเนื่องจากไม่มีคู่แข่ง แต่หากวางตลาดล่าช้าแล้ว แทบไม่มีกำไร เนื่องจากการแข่งขันสูงมาก ดังนั้น นโยบายสำคัญของซัมซุง คือ เน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมใหม่ก่อนคู่แข่ง เปรียบเสมือนกับการจำหน่ายปลาสด

แม้ในระยะนั้นบริษัทซัมซุงมีข้อเสียเปรียบสำคัญ คือ ตามหลังบริษัทญี่ปุ่นในด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหากลับไม่รุนแรงมากอย่างที่คิด เนื่องจากในขณะนั้นเทคโนโลยีกำลังปรับเปลี่ยนจากระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล ดังนั้น แม้บริษัทญี่ปุ่นจะเชี่ยวชาญเทคโนโลยีในด้านแอนะล็อก แต่การปรับตัวสู่ระบบดิจิตอลจะต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นเองกลับไม่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้

ขณะเดียวกันบริษัทซัมซุงได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเทคโนโลยีดิจิตอล ถึงกับกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า “To become a digital convergence revolution leader” หรือ “เป็นผู้นำการปฏิวัติเพื่อควบรวมสื่อดิจิตอลเป็นหนึ่งเดียว” โดยกำหนดเทคโนโลยีเป้าหมายเอาไว้อย่างชัดเจน พร้อมกับเร่งลงทุนอย่างเต็มที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในด้านนี้ และตัดทิ้งกิจการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป

ปัจจุบันซัมซุงนับว่าประสบผลสำเร็จอย่างท่วมท้น ทำให้เป็นอันดับ 1 หรือ 2 ของโลกในหลายธุรกิจ เป็นต้นว่า

-เป็นผู้ผลิตชิพหน่วยความจำแบบ DRAM ใหญ่ที่สุดของโลก โดยเป็นชิปที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์
-เป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจำแบบ Flash Memory ใหญ่ที่สุดของโลก โดยเป็นชิปที่ใช้เก็บข้อมูลในเครื่องเล่น MP3 และกล้องดิจิตอล รวมถึงอุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ Trump Drive
-เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโนเกียและโมโตโรล่า
-เป็นผู้ผลิตจอภาพ LCD ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก

ขณะเดียวกันกลุ่มซัมซุงนับว่ามีอิทธิพลมากต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ โดยบริษัทแห่งนี้ส่งออกสินค้ามีมูลค่ามากถึง 1 ใน 5 ของยอดส่งออกของประเทศ มียอดขาย 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น สินทรัพย์ของกลุ่มซัมซุงนับว่ามีขนาดพอๆ กับงบประมาณของรัฐบาล

ขณะเดียวกันจะต้องพยายามแก้ไขจุดอ่อน โดยปัจจุบันกลุ่มซัมซุงได้ใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการซื้อสิทธิบัตรจากบริษัทอื่น โดยในปี 2547 จ่ายเงินเป็นค่าธรรมเนียมสิทธิบัตรมากถึง 60,000 ล้านบาท และคาดว่ารายจ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาท ในปี 2553

เพื่อลดภาระดังกล่าว บริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ได้ประกาศเมื่อต้นปี 2548 ว่าจะพัฒนาตนเองจาก “ผู้ซื้อ” เป็น “ผู้สร้าง” เทคโนโลยี ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทซัมซุงได้เพิ่มจำนวนนักวิจัยเป็น 24,000 คน เมื่อปี 2547 พร้อมกันนี้ จะเพิ่มจำนวนบุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการจดทะเบียนสิทธิบัตร ซึ่งนับรวมถึงนักกฎหมายในด้านสิทธิบัตรด้วย จากจำนวน 250 คน ในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 450 คน ภายในปี 2553

บริษัทซัมซุงได้พัฒนาตนเองอย่างรวดเร็วมากในด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยจากสถิติของสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า (United States Patent and Trademark Office - USPTO) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เดิมในปี 2545 บริษัทซัมซุงนับว่าเป็นผู้จดทะเบียนสิทธิบัตรในสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 11 จากนั้นได้พัฒนาขึ้นเป็นอันดับ 9 ในปี 2546 และเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันดับ 7 ในปี 2547

สำหรับตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2547 บริษัท IBM จดทะเบียนสิทธิบัตรมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 3,248 รายการ รองลงมา คือ บริษัทมัตสุชิตะ 1,934 รายการ และบริษัทแคนนอน 1,805 รายการ ส่วนบริษัทซัมซุงซึ่งอยู่อันดับ 7 จดทะเบียนสิทธิบัตรจำนวน 1,604 รายการ อย่างไรก็ตาม บริษัทซัมซุงยังไม่พึงพอใจกับสถานภาพปัจจุบันเท่าใดนัก ดังนั้น ได้กำหนดเป้าหมายให้กลายเป็นบริษัทซึ่งได้รับสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ มากที่สุด 3 อันดับแรก ภายในปี 2553

สุดท้ายนี้ แม้ซัมซุงจะประสบผลสำเร็จอย่างมหาศาล แต่บุคคลทั่วไปโดยเฉพาะประชาชนในประเทศตะวันตก มักคิดว่าซัมซุงเป็นแบรนด์ของญี่ปุ่น ซึ่งผู้บริหารของซัมซุงก็ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้เท่าใดนักเนื่องจากมีวิสัยทัศน์ว่าซัมซุงไม่ใช่แบรนด์ของเกาหลีใต้ แต่เป็นแบรนด์ของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น