อุบลราชธานี-โครงการพัฒนาด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานีคืบหน้า อาคารสำนักงานบริการตม.-ศุลกากรแบบครบวงจรคาดแล้วเสร็จสมบูรณ์ราวกลางปี 49 ขณะที่หลายฝ่ายกำลังผลักดัน ให้มีการเปิดบริการรถยนต์โดยสารระหว่างอุบลฯ-ปากเซ
นายสุธี บุญมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานบริเวณด่านพรมแดนสากลไทย-ลาว ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานีว่า ขณะนี้การก่อสร้างในส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นอาคารที่ทำการด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขนาดสูง 3 ชั้น ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างพรมแดน เพื่อใช้เป็นช่องทางให้บุคคล และยานพาหนะผ่านเข้า-ออก เพื่อขอออกบัตรผ่านแดนและเดินทางเข้าออกประเทศใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว
ภายในอาคารหลังเดียวกัน ยังเป็นที่ตั้งของด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจพืช และตรวจสัตว์ป่า ซึ่งจะให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียวด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะสามารถรองรับการเดินทางเข้าออกได้เฉลี่ยวันละ 1,500-2,000 คน รวมทั้งสามารถออกใบรับรองนำเข้าและส่งสินค้าออกได้ครบวงจร
สำหรับโครงการก่อสร้างระยะที่ 2 ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของกองงานราชการ และคลังเก็บสินค้า นั้นใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 187 ล้านบาทกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเช่นกัน และคาดว่าเปิดใช้งานได้ราวกลางปี 2549
ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี นับเป็นด่านสากลมาตรฐาน 1 ใน 3 ด่านของพรมแดนไทย-ลาว ระหว่าง จ.อุบลราชธานี กับแขวงจำปาสักของลาว ขณะที่อีก 2 ด่านคือ จ.มุกดาหาร กับแขวงสะหวันนะเขต และด่าน จ.หนองคายกับบ้านท่านาแล้ง กำแพงนครเวียงจันทน์ โดยด่านช่องเม็กมีบทบาทสูงในการส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศลาวทางตอนใต้
นายสุธี กล่าวอีกว่า ล่าสุดได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้เปิดเดินรถโดยสารระหว่าง จ.อุบลราชธานีกับเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก เพื่อใช้เดินทางท่องเที่ยวผ่านประเทศลาวเข้าสู่ประเทศเวียดนามทางตอนใต้เช่นกัน ส่วนจะสามารถเปิดบริการรถโดยสารเส้นนี้ได้หรือไม่ต้องประสานงาน และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การอำนวยความสะดวก เพื่อให้บริการธุรกรรมทางด้านการเงิน สำหรับผู้ประกอบการชายแดนด้านนี้ ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ขอใช้พื้นที่ที่ทำการด่านช่องเม็ก เพื่อให้บริการด้านธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ คาดว่าจะเปิดได้ภายในเดือนธันวาคมศกนี้
สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนผ่านด่านช่องเม็ก ปัจจุบันมีมูลค่าการค้าแต่ละปีเกือบ 3,000 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยเป็นผู้ได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด