xs
xsm
sm
md
lg

มูดี้ส์ห่วงเอ็นพีแอล เมินปรับเครดิตไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูดี้ส์ฯห่วงภาคการธนาคารไทยอ่อนแอ ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลยังอยู่ในระดับสูง แม้ฐานะการคลังแข็งแกร่งสามารถจัดเก็บรายได้เกินเป้าและทำงบสมดุลได้เป็นปีแรก และเชื่อเมกะโปรเจกต์ไม่กระทบฐานะการคลัง ระบุยังไม่ปรับเครดิตของไทย ด้านนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดฯ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัว 3.9 % โดยราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยหลักกดดันให้เงินเฟ้อพุ่งแตะ 7 %

นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยภายหลังตัวแทนจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เข้าพบนายทนง พิทยะ รมว.คลัง วานนี้ (7 ต.ค.)ว่า ทางมูดี้ส์ฯได้เข้าสอบถามข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อนำไปประเมินผลและจัดอันดับเครดิตให้กับประเทศไทยในปลายปี 2548 โดยประเด็นที่มูดี้ส์ฯ ให้ความสำคัญมากคือ เรื่องการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ(เมกะโปรเจกต์)และภาคการคลังการธนาคารของประเทศไทย

โดยเรื่องภาคการธนาคารนั้น มูดี้ส์ฯได้แสดงความเป็นห่วง เนื่องจากยังมองว่ายังไม่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะแข่งขันกับสถาบันการเงินของประเทศอื่นได้ ประกอบกับมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในระบบค่อนข้างสูง

พร้อมกันนี้ ตัวแทนมูดี้ส์ฯ ได้สอบถามในเชิงความเห็นกับรมว.คลัง ว่า หากเกิดปัญหากับภาคการเงินขึ้นเหมือนในอดีต รัฐบาลจะจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร ซึ่งทาง รมว.คลังได้ชี้แจงว่า หากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลให้สถาบันการเงินล้มลงทั้งระบบเหมือนวิกฤติภาคการเงินที่ผ่านมา รัฐบาลคงเข้าไปช่วยเหลือเหมือนที่เคยทำในอดีต แต่ไทยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้แล้ว ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับเรื่องของเสถียรภาพเป็นอย่างมาก โดยจะยึดเสถียรภาพก่อนเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

สำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์นั้น มูดี้ส์ฯ มองว่ารัฐบาลใช้เม็ดเงินงบประมาณ เพื่อการลงทุนในปีงบประมาณ 2549 น้อยเกินไป ซึ่งทาง สศค.ได้ให้ข้อมูลว่าการลงทุนในปี 2549 จะทำให้เงินลงทุนเข้าสู่ระบบสูงถึง 255,000 ล้านบาท แม้ว่าจะใช้เงินงบประมาณในการลงทุนเพียง 9.4 หมื่นล้านบาท แต่จะมีเงินลงทุนจากแหล่งอื่นหลายส่วน โดยแหล่งเงินลงทุนจำนวน 1.7 ล้านล้านบาท จะมาจากเงินงบประมาณ 39 % รายได้ของรัฐวิสาหกิจ 13 % เงินทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ 42 % และจะเป็นการกระจายการลงทุนใน 4-5 ปี และจะมีการทบทวนโครงการทันที หากดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเกิน 2.5 % ของจีดีพี

นอกจากนี้ มูสดี้ส์ฯ ยังได้สอบถามถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล(มาตรการมงฟอร์ต)ด้วย ซึ่ง ทางสศค.ได้ให้ข้อมูลไปว่า จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามประมาณการ คือสูงกว่า 4 % โดยมาตรการเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการ 5 % จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 0.05 % ในขณะที่มาตรการเพิ่มข้าจ้างขั้นต่ำ 6 บาท จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 0.04 % มาตรการ SML จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 0.12 % และมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 0.3 %

นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า มูดี้ส์ฯ ได้แสดงความพอใจต่อฐานะการคลังของประเทศไทย ที่สามารถจัดเก็บได้เกินเป้าหมาย และสามารถจัดทำงบประมาณแบบสมดุลได้เป็นปีแรก โดยผลการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2548 (ต.ค.47- ก.ย.48) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิเป็นจำนวน 1,255,926 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่วางไว้ 1,250,000 ล้านบาท จำนวน 5,926 ล้านบาท

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า มูดี้ส์ฯ ยังได้สนใจเรื่องนโยบายการขยายฐานภาษีของรัฐบาล และการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ ที่แปลงสภาพเป็นบริษัท จำกัด(มหาชน)ซึ่ง รมว.ได้ยืนยันว่า รัฐบาลจะยังเป็นผู้ถือหุ้นหลักอยู่ นอกจากนี้ทางมูดี้ส์ฯ ยังได้เข้าใจมากขึ้นถึงการใช้ตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศไปใช้ในการวิเคราะห์ด้วยว่า จะนำหนี้รัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน เข้ามาคำนวณด้วยเพราะเป็นหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน ซึ่งการตัดตัวเลขดังกล่าวทิ้ง จะมีผลในทางบวกต่อประเทศไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วมูดี้ส์ฯ จะประกาศผลการพิจารณาเครดิตให้ประเทศไทยได้ทราบภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนหลังจากการเก็บข้อมูลไปแล้ว ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่า มูดี้ส์ฯ จะปรับเครดิตให้กับประเทศไทยอย่างไร แต่ที่ผ่านมามูดี้ส์ฯ ได้ให้อันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ ระยะยาวของรัฐบาล และเพดานอันดับความน่าเชื่อถือ พันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศของไทย Baa1 ซึ่งเป็นระดับที่ได้ปรับเพิ่มตั้งแต่ปี 46 จนถึงปัจจุบันนี้

สำหรับตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ค.48 อยู่ที่ 3.233 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 44 % ของจีดีพี เป็นหนี้ของภาครัฐมีอยู่จำนวน 1.805 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกันมีอยู่จำนวน 316,974 แสนล้านบาท

ด้านนายเจอร์ราร์ด ลีอองส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้ากลุ่มวิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 49 จะขยายตัวประมาณ 3.9 % เพิ่มขึ้นจากปี 48 ที่ขยายตัว 3.4 % โดยการที่เศรษฐกิจขยายตัวเพียงเล็กน้อยมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และอาจสูงถึง 60 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น และอาจจะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแตะที่ระดับ 7% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 49 แต่เฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 4.5-4.9 %

ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงเป็นช่วงขาขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีนี้ โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท.คาดว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งละ 0.25 % ในการประชุมวันที่ 19 ต.ค.และ 14 ธ.ค.นี้ และมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นถึง 5 % ในช่วงปลายปี 49 ได้จากปัจจุบันที่อยู่ 3.25 % ส่วนอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ด้านเงินฝากน่าจะอยู่ที่ 3.5 % และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 8 % จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 6 %

"การปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศแคบลง และคาดว่าในช่วงกลางปีหน้าอัตราดอกเบี้ยไทยมีโอกาสจะแซงสหรัฐฯ จากตอนนี้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐสูงกว่าของไทย 0.50 % แต่เชื่อว่าสหรัฐต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก แม้ว่าจะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐเองยังมีความร้อนแรงอยู่มาก"

สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงโดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้จะต้องจับตาดูภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีน และสหรัฐฯ เพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายประเทศในเอเชีย เนื่องจากจะมีผลต่อการส่งออก ทำให้ผู้ส่งออกต้องมีการกระจายตลาดการค้าไปในประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกา เพื่อรักษาการเติบโตของการส่งออกให้ต่อ

ด้านนางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาวะเศรษฐกิจโลก และเชื่อว่าจีนจะปรับตัวด้านอัตราแลกเปลี่ยนในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า โดยการเพิ่มค่าเงินหยวนขึ้นอีก 2-3 % ซึ่งจะส่งผลให้เงินในภูมิภาคปรับตัวแข็งค่าขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทของไทยที่อาจจะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย โดยอาจแตะที่ระดับ 40.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 40.90-41.00 บาทต่อดอลลาร์ สหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น