xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญ คตง. และวุฒิสภา

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

                    6 ตุลาคม 2548

เรียน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคตง. และประธานวุฒิสภา

ผมเพิ่งกลับมาถึงบ้านหลังจากจากไปหนึ่งเดือนเต็มๆ รู้สึกสลดใจที่ประเด็นเรื่องคุณหญิงจารุวรรณ ยังคุกรุ่นอยู่ ผมไม่รู้จักและไม่ได้เชียร์คุณหญิงจารุวรรณ ผมจำนามสกุลและชื่อตำแหน่งที่ถูกต้องที่กำลังเป็นปัญหาของคุณหญิงไม่ได้เสียด้วยซ้ำ

แต่ผมรู้และเข้าใจหลักรัฐธรรมนูญในระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขดี ผมเคยเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญและครูสอนหลักรัฐธรรมนูญมานาน ผมมีความเป็นห่วงว่าท่านทั้งหลาย ทั้งสามสถาบัน ทั้งที่ได้เคลื่อนไหวมาแล้ว และกำลังเคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้ กำลังพากันสร้างเยี่ยงอย่างและตัวอย่างที่เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ผมไม่อยากเดาว่าพวกท่านกระทำเช่นนี้ได้อย่างไร

ครั้นจะว่าท่านไม่เข้าใจหลักรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วย “พระราชอาญาสิทธิ์-พระราชอำนาจ: Royal Prerogative” ของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ :Constitutional Monarchy ผมก็ไม่อยากจะปลงใจเชื่อ เพราะวุฒิภาวะและความรับผิดชอบของท่าน นั้นสูงยิ่ง ถึงจะไม่แตกฉานแจ้งจบ ท่านก็อาจจะสั่งให้ผู้ใดตรวจสอบศึกษาแทนจนถึงข้อยุติได้

อีกประการหนึ่ง ผมไม่อาจกล่าวหาว่าท่านทั้งหลายเข้าใจ แต่แกล้งไม่เข้าใจ เพราะท่านตกอยู่ใต้อิทธิพลที่เหนือกว่า ที่คอยบงการท่านอยู่เบื้องหลัง ผมอยากจะเชิดชูและเคารพในความเป็นอิสระของท่านทั้ง 3 สถาบัน ถ้าหากท่านปราศจากอิสระแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเราจะมีสถาบันอย่างท่านไว้ให้เปลืองภาษีของราษฎรทำไม

ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ผมขอทบทวนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ เฉพาะที่เกี่ยวกับประเด็นการแต่งตั้งผู้ว่าสตง.ดังต่อไปนี้

1. บรรทัดฐานที่ 1 เรื่องพระราชอำนาจ มีคำพูดหรือวลีที่ไม่อาจแก้ไข ทัดทานหรือทบทวนได้ว่า “The King Can Do No Wrong: การกระทำใดๆของพระมหากษัตริย์ล้วนถูกต้อง และไม่มีความผิดใดๆทั้งสิ้น” ดังนั้นจึงมีธรรมเนียมให้มีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ เมื่อมีแล้วให้ถือว่าเป็นที่สุด

2. บรรทัดฐานที่ 2 เรื่องพระราชอาญาสิทธิ์ หรือ Royal Prerogative มีถ้อยคำเป็นภาษาอังกฤษง่ายๆว่า

"The Royal Prerogative remains a significant source of constitutional law which is largely immune from scrutiny by the courts." (พระราชอาญาสิทธิ์ยังดำรงความเป็นรากฐานต้นตอสำคัญของกฎหมายหรือระบบรัฐธรรมนูญที่อยู่นอกเหนือการตีความของศาลใดๆ)

ถ้าหากเราถือว่าหลักข้างต้นทั้งสองเป็นบรรทัดฐานของการปกครอง

ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราก็ไม่สมควรหักล้างด้วยการกระทำหรืองดการกระทำใดๆ ที่จะมีผลให้บรรทัดฐานนั้นต้องเสื่อมคลอนไป เพราะการณ์เช่นนั้นจะกระทำให้พระบรมเดชานุภาพเสื่อมคลอนไปด้วย

เราสมควรนำหลักดังกล่าวมาใช้ในกรณีของคุณหญิงจารุวรรณได้ ด้วยการพิจารณาข้อเท็จจริงว่า ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าคุณหญิงจารุวรรณดำรงตำแหน่งเมื่อใด ก่อนหรือหลังการรับเรื่องเข้าพิจารณาหรือการมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ผมเองไม่ทราบวันเดือนปีที่แน่นอน แต่ทราบว่าได้มีพระบรมราชโองการก่อนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

จึงได้โทรศัพท์ไปถามเพื่อยืนยันได้ความว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องเข้ากระบวนพิจารณาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 และมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2547

ผมตรวจสอบวันที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าปรากฏว่าได้แก่วันที่ 31 ธันวาคม 2544

เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ผมจึงไม่อาจสรุปเป็นอย่างอื่นได้นอกจากว่า ศาลรัฐธรรมนูญกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งในการรับเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาและการมีคำวินิจฉัยในวาระต่อมา ที่ถูกศาลจะต้องไม่รับเรื่องที่มีพระบรมราชโองการแล้วเข้าสู่การพิจารณา มิฉะนั้นจะเป็นการจาบจ้วงล่วงละเมิดพระราชอำนาจ

การที่สถาบันทั้งสามไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ดี คตง.ก็ดี วุฒิสภาก็ดี ไม่ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตาม ยังพากันเต้นแร้งเต้นกาอยู่ ล้วนแล้วแต่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรทั้งสิ้น

ทางที่ถูกควรพากันสงบนิ่ง เคารพในพระบรมราชโองการ ดำเนินการเป็นไปตามพระราชอำนาจ

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเสาหลักค้ำจุนระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือประเทศในยุโรปอื่นๆ สำหรับไทยเรา ยังมีบรมราชประเพณีและหลักทศพิธราชธรรมของพระมหากษัตริย์เข้ามาเสริมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีกด้วย

เหตุไฉนจึงไม่ภูมิใจรักษา กลับพากันมากัดกร่อนด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนกลุ่มเล็กๆน้อยๆดั่งนี้


                    ด้วยความนับถืออย่างยิ่ง

                    ปราโมทย์ นาครทรรพ
กำลังโหลดความคิดเห็น